เยาวราช : ไชนาทาวน์ กทม. ที่ “สูญเสียตัวตน” กับการเข้ามาของคลื่นทุนจีน
เจ้าของกิจการร้านอาหาร พ่อค้า แม่ค้า ในเยาวราช ตัดพ้อที่กลุ่ม “ทุนจีน” และคนจีนแผ่นดินใหญ่ใช้วีซาท่องเที่ยวเข้ามาประกอบธุรกิจแย่งชิงตลาดกับคนไทย กลายเป็นข่าวใหญ่ที่สังคมให้ความสนใจ และเกิดขึ้นพร้อมกับการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ที่เชื่อว่า จะทำให้ปัญหาธุรกิจ “นอมินี” ของชาวจีนตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของกรุงเทพฯ ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก
สำหรับ สมชัย กวางทองพานิชย์ วัย 61 ปี พ่อค้าเชือกในสำเพ็ง และนักประวัติศาสตร์ชุมชนย่านเยาวราช บอกกับบีบีซีไทยว่า ปัญหานี้มีมานานเป็น 10 ปีแล้ว แต่ปัญหาเชิงอัตลักษณ์ชุมชนที่หายไป เป็นสิ่งที่น่าวิตกมากกว่า
“มันมีมานานแล้ว แล้ววันหนึ่งคุณก็ตื่นเต้นเรื่องจีนเทา ไม่ต้องจีนเทาหรอก แค่จีนแดงธรรมดา คุณก็สู้ไม่ไหวแล้ว” สมชัย กล่าว
“มันมีเป็นสิบปีแล้วนะ ผมพูดในฐานะผมสอนเรื่องนี้อยู่แล้ว คุณกำลังสู้กับกลุ่มคนที่มีความกระตือรือร้นอย่างล้นเหลือที่จะทำการค้า แล้วมาทั้งระบบ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า คนขายส่ง คนขายปลีก มันเป็นแบบนี้ทั่วโลก หลายประเทศก็เจอปัญหาแบบนี้”
วานนี้ (16 ม.ค.) นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ชี้แจงกรณีคนต่างชาติถือวีซานักท่องเที่ยว แต่เข้ามาประกอบธุรกิจร้านอาหารในไทยไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ห้ามคนต่างชาติทำ หากต้องการประกอบธุรกิจขายอาหาร หรือเครื่องดื่มในไทย ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เขายังเตือนคนไทยที่ถือหุ้นแทนคนต่างด้าว หรือร่วมเอาชื่อเข้าเป็นผู้ถือหุ้นโดยไม่ได้ลงทุนจริง หรือให้การสนับสนุนร่วมประกอบธุรกิจกับคนต่างด้าว โดยแสดงว่าเป็นธุรกิจของคนไทย เพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจ โดยหลีกเลี่ยงกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 10,000-50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน
ด้านนายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมธุรกิจการค้า ยอมรับว่า ไทยกำลังเผชิญการกลับมาของธุรกิจนอมินี ซึ่งตรวจสอบได้ยาก เพราะต้องมีคนแจ้งเบาะแสเข้ามา
“ช่วงโควิดอาจจะมองว่านอมินีซบเซาไป เพราะจีนไม่ค่อยได้เข้ามา เพราะเขาปิดประเทศ มันก็จะเงียบ ๆ ไปพักหนึ่ง เพราะฉะนั้นประเด็นเรื่องนอมินีที่มากับจีน ก็จะเริ่มเข้ามา”
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ตั้งแต่ปี 2558-2565 ผลการตรวจสอบนิติบุคคลที่เข้าข่ายความผิดนอมินี พบว่ามีการออกหนังสือให้ผู้ถือหุ้นให้ชี้แจงข้อเท็จจริง 500-600 ราย และดำเนินคดีแล้ว 66 ราย
ส่วนการออกใบอนุญาตและหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว มี.ค. 2543- ธ.ค. 2565 มีการออกใบอนุญาตและหนังสือรับรองให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจไปแล้ว 13,915 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาต 6279 ราย หนังสือสนธิสัญญา 2,048 ราย
คนต่างด้าวที่แจ้งเลิกประกอบธุรกิจและถูกเพิกถอนใบอนุญาต 3509 ราย คงอยู่ 10,406 ราย
ไชนาทาวน์จีนแท้ (จีนแผ่นดินใหญ่)
ประเด็นทุนจีนถือวีซาท่องเที่ยวเข้ามาทำธุรกิจแข่งกับคนไทย กลายเป็นที่พูดถึงหลังร้านหม้อไฟชื่อดังในเยาวราช โพสต์ระบายความในใจว่า มีนายทุนจีนเข้ามาทำธุรกิจร้านอาหารแข่งกับคนไทย จนพ่อค้าแม่ค้าในพื้นที่เสียประโยชน์
“ไทยกับจีนเหมือนประเทศพี่น้อง ถือวีซาท่องเที่ยวก็เปิดร้านได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านนวด… ลองมาเดิน เยาวราช-สำเพ็ง ตอนนี้ จากเดิมเคยเป็นร้านคนไทยเชื้อสายจีน ตอนนี้ กลายเป็นร้านคนจีนแท้ ๆ” เพจเฟซบุ๊ก “อาม่งหม่าล่า หม้อไฟสาขาเยาวราช” ระบุในโพสต์
ด้านพ่อค้าในย่านสำเพ็งคนหนึ่ง ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ไม่เพียงคนจีนเข้ามาเปิดร้านค้าและร้านอาหารแข่งกับคนไทยเท่านั้น แต่ยังตัดราคาจนทำให้พ่อค้าแม่ค้าคนไทยลูกค้าน้อยลงด้วย
“คนไทยจะขายยังไง เขาลดราคาได้เยอะกว่าเรา เขาเปิดร้านใหญ่แล้ว ร้านเล็ก ๆ น้อย ๆ กระทบหมด เขามีทุนเยอะกว่า เราจะไปซื้อทีก็ต้องกู้หนี้ยืมสิน”
“เราขายอาหารจีนในโซนเยาวราช เจอนักธุรกิจที่เป็นชาวจีน และชาวต่างชาติเยอะขึ้น และการที่เราเป็นพลเมืองไทย การที่อาศัยในไทยเราต้องเสียภาษีบุคคล เสียภาษีท่องเที่ยว โดยคู่แข่งเราไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายพวกนี้ แต่เขาสามารถหาต้นทุนที่มันถูกกว่าเราได้” น.ส. ทอฝัน เจ้าของร้านอาหารในเยาวราช กล่าว
สมชัย ในฐานะผู้อาศัยและสังเกตการณ์ความเปลี่ยนแปลงในเยาวราชมาโดยตลอด ยอมรับว่า “กองทัพ” ทุนจีน ไม่เพียงเข้ามาในแหล่งท่องเที่ยวไทย แต่ไปทั่วโลก แต่เพิ่งมาเป็นประเด็นพูดถึงมากขึ้น จากกรณี “ทุนจีนสีเทา” และอิทธิพลของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์
“เขามาเห็นห้องแถวไหนว่าง เขาก็มาเปิดเลย” เขากล่าว
แต่ถ้ามองถึงความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงของเยาวราช เขามองว่าปัญหาใหญ่กว่า คือ “การสูญเสียตัวตน ไม่ใช่จีนเข้ามาทำนะ ผมว่าคนไทยเอง หรือคนนอกที่เข้ามาทำ มันไม่มีอัตลักษณ์ที่ชัดเจนตั้งแต่แรก ไม่มีการออกแบบว่า อะไรคือเรื่องราว (โดดเด่น) ของเยาวราช”
“พอมันไม่มีเอกลักษณ์ คุณเอาอะไรมาขายก็ได้ เพราะเยาวราชมันหลุดคาแรกเตอร์ (ตัวตน) ไปแล้ว”
เยาวราชผ่านจุดพีคไปแล้ว
สมชัย ที่อาศัยในเยาวราชมาตลอดชีวิตมองว่า เยาวราชได้ผ่านพ้น “จุดสูงสุด” ไปแล้ว จากที่เคยรุ่งเรือง โดยอาศัยความเป็นชุมชนจีน “เราไปเมืองจีน เราพูดภาษาจีนได้ คุณก็ไปเปิดร้านนำเข้าของมาขายได้”
แต่เวลานี้ “มันไปไกลกว่านั้นแล้ว คุณสั่งซื้อของจากต่างประเทศเข้ามาได้เลย คนกลางไม่จำเป็น และเราเจอศึกนี้มาหลายปีแล้ว แล้วคุณมาบอกว่าเป็นปัญหาจีนเทา แค่จีนธรรมดาคุณก็เหนื่อยแล้ว”
สิ่งที่ สมชัย ในฐานะนักประวัติศาสตร์เยาวราช อยากสะท้อนต่อปัญหานี้ คือ อัตลักษณ์ที่หายไปของเยาวราช ได้เปิดทางสู่การเข้ามาทำธุรกิจแบบ “ฉาบฉวย” ไม่ว่าจะเป็นคนไทยด้วยกันเอง หรือคนจีนแผ่นดินใหญ่
“เมื่อก่อนคุณนึกกินของอะไรบางอย่าง คุณนึกถึงเยาวราช ตอนนี้ คุณอาจไม่ต้องมาเยาวราช ข้าวมันไก่บางเจ้าอาจอร่อยกว่าเยาวราชก็ได้”
เขาเล่าย้อนถึงความโดดเด่นด้านอาหารการกินของเยาวราช มีที่มาจากจุดเริ่มต้นการเป็นชุมชนของชาวจีนที่ข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทย ซึ่งช่วงแรกเริ่ม ชีวิตของชาวจีนในไทยไม่ได้สุขสบายนัก การรับประทานอาหารจึงเป็น “ความสุขเดียวที่เสพได้”
“คนจีนที่มาอยู่ในเมืองไทย หาเงินส่งกลับบ้าน นอนที่ไหนก็ได้ ขอให้มีที่ซุกหัวนอน กินอะไรก็ได้ กินข้าวกับเกลือ กินข้าวกับกรวด ส่งเงินกลับไปจีน” สมชัย เล่า พร้อมระบุว่า บรรพบุรุษรุ่นปู่ของเขามีอาชีพทำเชือกขาย เริ่มจากอาศัยที่อยุธยา ก่อนเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในสำเพ็ง
“การกินเป็นความสุขเดียวที่เขาเสพได้ เสพกับการกิน จะมีคนคอยตำหนิร้านนี้ว่าไม่ดียังไง ร้านพวกนี้จะรับฟังและปรับตัว เกิดเป็นการแข่งขัน ทำให้เขาพยายามทำให้ดีกว่าคนอื่น”
แต่ปัจจุบัน ร้านอาหารที่คงรสดั้งเดิมสมัยบรรพบุรุษหายากขึ้นทุกที หรือไม่ก็เปลี่ยนไปใช้กรรมวิธีทำอาหารที่เน้นความรวดเร็ว สำเร็จรูป เพื่อตอบโจทย์นักท่องเที่ยวมหาศาลที่เข้ามา
“คุณฉีกขนบหมดเลย เอาง่ายเข้าว่า มันเลยเสียอัตลักษณ์ของมันไป” เขาพูดด้วยน้ำเสียงเปี่ยมอารมณ์ กับบีบีซีไทย ก่อนจะกล่าวต่อว่า แม้จะเป็นคนในย่านนี้ ทำมาค้าขายในแถบนี้ แต่เขาหา “ของอร่อย” ในเยาวราชทานไม่ค่อยได้แล้ว
“ผมเคยอยู่ด้วยความภาคภูมิใจว่า อาหารตรงนี้ตรงนั้นอร่อย มันหายไปไหนหมดก็ไม่รู้… ถ้าถามตัวผม มันมีที่อื่นดีกว่านี้เกือบทั้งหมด”
ส่วนคำกล่าวว่า “คิดถึงอาหาร ต้องคิดถึงเยาวราช” นั้น สมชัย มองว่า เป็น “อุปทานหมู่” ว่าอาหารในเยาวราชต้องอร่อย ยกตัวอย่างขนมปังปิ้งที่คนต่อแถวยาวเพื่อรับประทาน คนรุ่นใหม่เวลามาต่อแถวก็จะถ่ายรูปหรือเซลฟี่ให้เพื่อนดูให้เห็นแถวยาว ๆ เพราะมองว่า “การมีแถวคืออร่อยมาก คนเข้าแถวเยอะ คุณกำลังอยู่ในร้านที่ดีที่สุดร้านหนึ่งของเยาวราช” แต่ “ขนมปัง มันมีจุดยึดโยงไหนกับเยาวราช”