กำชับเร่งทำความเข้าใจเกี่ยวกับการให้บริการฉีดวัคซีน ลดความกังวลให้แก่ประชาชน
(4 มี.ค.63) ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร : พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3/2564 โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล (Teleconference)
ในที่ประชุมสำนักอนามัยและสำนักการแพทย์ได้รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และการเตรียมความพร้อมการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันที่ได้รับแจ้งจากการระบาดรอบใหม่ตั้งแต่ 15 ธ.ค. 63 – 3 มี.ค.64 แยกตามความเสี่ยง พบว่า กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุด เรียงตามลำดับ ได้แก่ ผู้สัมผัสในครอบครัว 196 ราย สถานบันเทิง 171 ราย ไปสถานที่ชุมชน เช่น ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 165 ราย เชื่อมโยงสมุทรสาคร 149 ราย ผู้สัมผัสในที่ทำงาน 145 ราย ผลการดำเนินการเฝ้าระวังเชิงรุก (Active Surveillance) โควิด-19 ในสถานประกอบการ ตลาด และชุมชน พื้นที่กรุงเทพมหานคร มีดังนี้ ผลการตรวจตลาด จำนวน 437 แห่ง ตรวจครบทุกแห่ง รวมจำนวน 44,328 คน พบผู้ติดเชื้อ 20 คน คิดเป็นร้อยละ0.05 ผลการตรวจสถานประกอบการ จำนวน 175 แห่ง ตรวจครบทุกแห่ง รวมจำนวน 18,437 คน พบผู้ติดเชื้อ70 คน คิดเป็นร้อยละ 0.38 ผลการตรวจชุมชน จำนวน 12 แห่ง จำนวน 4,906 คน พบผู้ติดเชื้อ 36 คน คิดเป็นร้อยละ 0.73 นอกจากนี้สำนักอนามัย ร่วมกับ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง วางแผนดำเนินการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกโควิด-19 ในพื้นที่ชุมชนเขตพื้นที่ใกล้เคียงจังหวัดปทุมธานีและสมุทรสาคร รวม 700 ชุมชน 14,200 ราย แบ่งเป็น เป้าหมายพื้นที่ 5 เขต ใกล้เคียงจังหวัดปทุมธานี ได้แก่ เขตดอนเมือง สายไหม หลักสี่ บางเขนและคลองสามวา รวม 410 ชุมชน ตรวจในชุมชน ๆ ละ 50 คน และเป้าหมายพื้นที่ 6 เขต ควบคุมสูงสุด เขตหนองแขม บางขุนเทียน บางแค จอมทอง บางบอน และภาษีเจริญ รวม 290 ชุมชน ตรวจในชุมชน ๆ ละ 50 คน ทั้งนี้ทั้ง 2 กลุ่มเป้าหมายจะเริ่มดำเนินการระหว่างวันที่ 11-31 มี.ค.นี้
ให้บริการฉีดวัคซีนด้วยความรอบคอบ คำนึงถึงความปลอดภัย
สำหรับแผนและเป้าหมายในการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของกรุงเทพมหานคร ระยะแรกเดือนมีนาคม สัปดาห์ที่ 1 กลุ่มเป้าหมายคือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน แบ่งเป็น โรงพยาบาลเอกชน 13 แห่ง โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ 3 แห่ง (โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธโร อุทิศ โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน และ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์) และศูนย์บริการสาธารณสุข 7 แห่ง ในพื้นที่ 6 เขตเสี่ยง รวม 3,278 คน สำหรับสถานที่ให้บริการฉีดคือโรงพยาบาลต้นสังกัดของบุคลากรกลุ่มเป้าหมาย ในส่วนของสัปดาห์ที่ 2 กลุ่มเป้าหมายคือ อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ในพื้นที่ 6 เขตเสี่ยง สถานที่ฉีดวัคซีนคือโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ 3 แห่ง สัปดาห์ที่ 3-5 กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน 16 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข 7 แห่ง ในพื้นที่ 6 เขตเสี่ยง โดยจะรับบริการฉีดวัคซีน ณ โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ 3 แห่ง และโรงพยาบาลเอกชน 12 แห่ง ทั้งนี้ระยะเวลาการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมายอาจมีความล่าช้า เนื่องจากการบริหารจัดการทุกขั้นตอนต้องมีความรอบคอบ และคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ได้รับวัคซีนสูงสุด
ทั้งนี้มีประชาชนบางส่วนเห็นว่าตนเองมีคุณสมบัติอยู่ในกลุ่มของผู้ป่วยเรื้อรังที่สามารถเข้ารับวัคซีนได้นั้น ไม่ต้องติดต่อเพื่อขอรับบริการแต่อย่างใด ขอให้รอรับการติดต่อกลับจากสถานพยาบาลที่ท่านทำการรักษาอยู่เท่านั้น เนื่องจากโรงพยาบาลที่ทำการรักษาจะเป็นหน่วยงานที่ส่งข้อมูลของผู้ป่วยที่พิจารณาแล้วเห็นว่ามีความเหมาะสมที่จะได้รับวัคซีนเข้าสู่ระบบของกระทรวงสาธารณสุข และหากถึงคิวจะได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่เพื่อให้มารับการฉีดวัคซีนอีกครั้ง และในส่วนของกลุ่มประชาชนทั่วไปที่มีคุณสมบัติอายุ 18-59 ปี และประสงค์จะรับวัคซีนนั้น ในขณะนี้ยังไม่สามารถลงทะเบียนผ่านระบบแอปพลิเคชั่นหมอพร้อมได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ ขอให้รอการประกาศจากทางกระทรวงสาธารณสุขก่อนจึงจะสามารถเข้าไปลงทะเบียนได้
ที่ประชุมมอบหมายให้สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย และสำนักงานประชาสัมพันธ์เร่งประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้ประชาชนมีความเข้าใจในกระบวนการเข้ารับวัคซีนเพื่อลดความกังวลและตอบข้อสงสัยของประชาชน และให้การบริหารจัดการวัคซีนเป็นไปอย่างมีระบบ ไม่ให้เกิดความแออัดในสถานพยาบาล ซึ่งจะเป็นสาเหตุของการแพร่ระบาดของโรคได้
เร่งแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ตะวันออก
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า จากการลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับประชาชน หารือแนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่กรุงเทพตะวันออก โดยเฉพาะในพื้นที่เขตหนองจอกและเขตลาดกระบัง เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร พบว่าในช่วงปลายปีจนถึงต้นปีเกษตรกรจะประสบปัญหาภัยแล้ง น้ำไม่เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรม ซึ่งหากประชาชนไม่มีน้ำในการทำเกษตรกรรมผลผลิตก็จะเสียหาย จึงได้ลงพื้นที่เพื่อดูสภาพพื้นที่จริง รวมถึงพูดคุยกับประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน เบื้องต้นกำหนดให้มีการสำรวจพื้นที่เพื่อทำการขุดลอกคลองและวางแผนผันน้ำมาช่วยเหลือเกษตรกรที่ทำนา เนื่องจากเกษตรกรที่ทำนาช่วงนี้ข้าวอยู่ในระยะออกรวงแล้ว หากไม่มีน้ำให้สูบเติมในนาข้าวก็จะเกิดความเสียหายและขาดทุนเนื่องจากเกษตรกรอาจจะเกี่ยวข้าวไม่ได้เพราะข้าวจะไม่มีน้ำหนัก เบื้องต้นจึงได้เร่งช่วยเหลือโดยขุดคลองอย่างเร่งด่วนเพื่อผันน้ำมาให้เกษตรกร ซึ่งหลังจากดำเนินการขุดลอกคลองทั้งหมดแล้วก็จะทำการก่อสร้างทำนบกั้นน้ำชั่วคราวและติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรได้ ซึ่งในการดำเนินการดังกล่าวสามารถช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่เขตหนองจอก แขวงขุมทอง เขตลาดกระบัง และเขตคลองสามวา รวมทั้งหมดประมาณ 147,975 ไร่
ทั้งนี้ ในอนาคตหากกรุงเทพมหานครขุดลอกคลองตามแผนที่ดำเนินการไว้ในพื้นที่เขตลาดกระบังครบถ้วน รวมถึงการก่อสร้างทำนบชั่วคราว ตั้งเครื่องสูบน้ำสองจุดบริเวณปากคลองเจ๊กและคลองลำพะองเพื่อผันน้ำเข้าพื้นที่เกษตรกรรมบริเวณแขวงทับยาวก็จะช่วยให้ประชาชนมีน้ำใช้ในการเกษตรได้อีกประมาณ 3,950 ไร่ ถือเป็นการช่วยเหลือให้ประชาชนมีน้ำใช้ในการทำการเกษตรช่วงฤดูแล้งได้
—————–(ชลธิชา/พัทธนันท์ สปส. รายงาน)
แหล่งที่มาข้อมูล : http://www.prbangkok.com/th/hotnews/view/MDY1cDBzNnM0NHIyb3Ezc3E2NnEyNDk0cDRyOTQzcjQ1MzMyMg==#&gid=1&pid=1