แกะรอยเส้นทาง “ขอทาน” ในขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ | Thai PBS News ข่าวไทยพีบีเอส
ปี 2565 ไทยถูกปรับสถานะข้อมูลการค้ามนุษย์ หรือ Tip Report ให้ดีขึ้น จากเดิมในระดับ เทียร์ 2 ที่ต้องถูกจับตามอง (Tier 2 Watch List) ขึ้นมาเป็นสถานะเทียร์ 2 (Tier 2) คือไม่ถูกเฝ้าจับตา จากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา
ปี 2566 ไทยอยู่ระหว่างรวบรวมทำรายงาน Tip Report หรือการส่งรายงานเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ให้กับหน่วยงานต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
และภายในปี 2567 ไทยจะเสนอรายงานข้อมูลการค้ามนุษย์หรือ Tip Report ให้หน่วยงานเกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป
แม้ปัจจุบันไทยจะไม่ถูกจับตาและอยู่ในระดับเทียร์ 2 แล้วก็ตาม แต่กลับต้องเผชิญปัญหาค้ามนุษย์ และขอทานข้ามชาติ ทำให้การเลื่อนสถานะกลับไปเทียร์ 1 อาจไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะปัญหา “ขอทานจีน” ที่แฝงเข้ามา โดยถือวีซานักเรียนและนักศึกษาไทย
ขอทานจีน”ปัญหาใหม่”ส่อโยงขบวนการค้ามนุษย์
แม้ไทยจะมีพ.ร.บ.ควบคุมขอทาน พ.ศ.2559 บังคับใช้ และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เคยมีความพยายามเดินหน้าจัดระเบียบขอทานโดยใช้กฎหมายควบคุม แต่ยังแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้
ข้อมูลจากกองคุ้มครองสวัสดิภาพและเสริมสร้างคุณภาพ ระบุว่า ปัจจุบันไทยมีจำนวนขอทาน 7,151 คน เป็นขอทานชาวไทย 4,678 คน ชาวต่างชาติ 2,473 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวกัมพูชาและเมียนมา ที่เหลือเป็นชาวจีน 68 คน เข้ามาขอทานในประเทศไทย ในรูปแบบของขบวนการขอทาน ในลักษณะการค้ามนุษย์รูปแบบการแสวงหาผลประโยชน์
พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ยังไม่ฟันธงว่า ขอทานข้ามชาติชาวจีน ที่จับกุมได้เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์หรือไม่ แต่พบว่าตั้งแต่วันที่ 10-20 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการจับคนจีนที่เข้ามาประกอบอาชีพขอทานแล้ว 6 คน และนำตัวไปเปรียบเทียบปรับไป 3 คน จำนวนนี้ ตม. ผลักดันออกนอกประเทศ 1 คน ส่วนที่เหลือควบคุมตัวไว้สอบสวนอยู่ที่ห้องกักของ ตม.
เบื้องต้นทั้งหมดการในลักษณะเตรียมกันมาว่าบาดแผลบนใบหน้า และร่างกายเกิดจากอุบัติเหตุไฟไหม้ที่ประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดจะถูก ตม.ขึ้นแบล็ก ลิสต์ และห้ามเดินทางเข้าประเทศไทย 10 ปี
ผลการสอบสวนพบจุดเชื่อมโยงกันของขอทานจีนทั้ง 6 คน พบว่าบางคนใช้ล่ามแปลภาษาเป็นชาวไทยคนเดียวกัน และมี 2 คน พักอยู่ด้วยกันที่โรงแรมย่านวังทองหลาง ส่วนที่เหลืออีก 4 คน แยกพักที่โรงแรมในเขตกทม. เบื้องต้นเชื่อว่าน่าจะทำเป็นขบวนการ โดยมีคนไทยอยู่เบื้องหลัง
พล.ต.ต.อำนาจ ยังกล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบประวัติของกลุ่มบุคคลทั้งหมด พบว่า ชาวจีน 1 คน ใช้วีซ่านักท่องเที่ยว ต่อมาได้ทำเรื่องขอเปลี่ยนวีซานักศึกษา เพื่อศึกษาต่อทางออนไลน์ ให้ได้สิทธิอยู่ประเทศไทยได้นานขึ้น
จากนั้นคนจีนขอทาน จะกระจายไปนั่งขอทานตามแหล่งชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว โดยอาศัยภาพลักษณ์ที่น่าสงสารเป็นจุดดึงดูดให้คนให้ทาน และขอทานได้ถึงวันละ 10,000-17,000 บาท
อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาระบุชัดว่า กลุ่มขอทานจีนเกี่ยวข้องกับขบวน การค้ามนุษย์ข้ามชาติหรือไม่
แต่ วราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตั้งข้อสังเกตว่า คนกลุ่มดังกล่าวอาจเป็น “เหยื่อ” ของขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติเพราะการตรวจสอบพบว่า บางคนเดินทางเข้ามาด้วยพาสปอร์ตที่หมดอายุ เข้าประเทศโดยไม่ถูกต้อง จึงจำเป็นต้องสอบสวนขยายผลต่อว่าเข้ามาได้อย่างไร
วราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
ธุรกิจขอทานชาว “กัมพูชา”-เมียนมา” เส้นทางเดิมในไทย
แม้ขอทานจีนจะเริ่มทะลักเข้ามาอยู่ในหลายจุดของไทย แต่อดีต-ปัจจุบันขอทานจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะชาวกัมพูชาและเมียนมา คือ กลุ่มที่เข้ามาปักหลักขอทานอยู่ในหลายจังหวัดของไทย โดยใช้เด็กและผู้หญิงและคนชรา
วีกลม หรือ “ลุงวี” วัย 56 ขอทานชาวกัมพูชาหลังค่อม เดินเอาหัวลงพื้นในลักษณะเกือบ 90 องศา ที่เคยเข้ามาขอทานอยู่ในพื้นที่ อ.พานทอง จ.ชลบุรี และโด่งดังในติ๊กต็อก ก่อนที่คนในโลกโซเชียลจะรู้ว่า ไม่ใช่คนไทย ขอทานรายนี้เคยมีรายได้จากการขอทานถึงหลักแสนบาท
วีกลม เคยบอกว่า สาเหตุที่เข้ามาขอทานในประเทศ ไทยเพราะคนไทยใจดี แม้จะถูก ตม.ผลักดันกลับประเทศกัมพูชาถึง 4 ครั้ง พร้อมเมียและลูก แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ต.ค.2566 มีคนพบว่า ชายคนดังกล่าวได้กลับมาปักหลักขอทานอยู่ที่ตลาดใหม่ ชลบุรีอีกแล้ว
สำหรับชาวกัมพูชาที่เข้ามาขอทานเมืองไทย มีหลายประเภท ทั้งที่เดินทางมาคนเดียว และอพยพมาทั้งครอบครัว และจำนวนไม่น้อยตกเป็นเหยื่อของขบวน การค้ามนุษย์ ถูกบังคับให้ขอทาน โดยขบวนการดังกล่าวจะมีนายหน้าชาวกัมพูชาและไทยอยู่เบื้องหลัง
วีกลม หรือ “ลุงวี” วัย 56 ขอทานชาวกัมพูชาหลังค่อม เดินเอาหัวลงพื้น
ข้อมูลจากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ระบุว่า ชาวต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาในประเทศไทยเพื่อมาขอทาน ส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ โดยผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของแก๊งของทางจะถูกบังคับให้ขอทานวันละ 8-12 ชั่วโมง หากใครเงินไม่ได้ก็อาจถูกทำร้ายทุบตี
สำหรับตัวเลขรายได้จากการขอทานขึ้นอยู่กับสถานที่ เช่น ย่านเศรษฐกิจสำคัญของกรุงเทพฯ จะมีรายได้เฉลี่ยวันละ1,000-2,000 บาท ในขณะที่บางรายมีรายได้วันละ 6,000-7,000 บาทต่อวัน
ดังนั้นจึงพบว่ามีการนำเด็กเล็ก คนพิการ หรือใช้วิธีการอุ้มสุนัขมาขอทานด้วย ข้อมูลยังระบุอีกว่า นอกจากวิธีการดังกล่าวแล้ว ยังมีการเช่าเด็กจากครอบครัวของชาวกัมพูชาด้วยกันเองมาขอทาน โดยปล่อยไว้ตามจุดต่างๆ ในอดีตราคาค่าเช่าเด็กเพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการขอทานราคาอยู่ที่วันละ 1,500-3,000 บาท
ข้อมูลยังระบุอีกว่า เส้นทางหลักที่ขอทานกัมพูชา หรือขบวนการค้ามนุษย์ชาวกัมพูชา นำคนเข้ามามีทั้งการลักลอบผ่านเส้นทางธรรมชาติและรถโดยสาร ในพื้นที่ด้านเขตคลองลึก จ.สระแก้ว และด้านอ.คลองใหญ่ จ.ตราด
ส่วนพื้นที่ภาคเหนือที่ด้านจ.เชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอนเป็นอีกจุดหนึ่งที่มีขอทานจากฝั่งเมียนมา เข้ามาไม่น้อยไปกว่ากรุงเทพ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญ หรือบริเวณตลาดนัด ถนนคนเดิน เจ้าหน้าที่กรมพัฒนาและสวัสดิการสังคม(พส.) พบว่า มีการใช้เด็กทารกเป็นเครื่องมือในการขอทาน แม้จะมีการจับกุมและผลักดันกลับออกนอกประเทศ แต่อีกไม่นานคนกลุ่มนี้ก็จะกลับเข้ามาใหม่
แม้ที่ผ่านมาจะมีการบังคับใช้กฎหมาย จัดทำแนวทางการเปรียบเทียบปรับตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ.2559 ในลักษณะแบบขั้นบันได ครั้งที่ 1 จำนวน 500 บาท ครั้งที่ 2 จำนวน 2,000 บาท ครั้งที่ 3 จำนวน 5,000 บาท และครั้งที่ 4 จำนวน 10,000 บาท เป็นการป้องปรามผู้ทำการขอทานให้เกิดความเกรงกลัวต่อการกระทำความผิด แต่คนเหล่านี้ก็ยังย้อนกลับมา
อ่านข่าว กางสถิติขอทานไทย-ต่างด้าวพุ่งหลังโควิดปี 66 เกิน 500 คน
แหล่งท่องเที่ยว “ทำเลทอง”ธุรกิจขอทาน
นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กล่าวว่า ในปี 2561-2563 พบว่ามีขอทานจีนเข้ามา 68 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มีความพิการทางร่างกาย มีประวัติเข้ามาในประเทศไทยหลายครั้งต่อปี โดยล่าสุดปี 2566 พบขอทานชายจีน 6 คน มีความพิการร่างกาย จังหวัดที่พบขอทานมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร สุรินทร์ สมุทรปราการ และปทุมธานี
นางจตุพร กล่าวว่า ขอทานต่างด้าวที่พบส่วนใหญ่ในขณะนี้เป็นกลุ่มวัยแรงงานไม่ใช่คนแก่สูงอายุเหมือนเช่นในอดีต จากข้อมูลพบว่า ส่วนใหญ่ถือวีซานักท่องเที่ยว โดยพม.ต้องทำงานร่วมกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และตำรวจท้องที่ ในการปราบปรามจับกุม
ขอทานเหล่านี้มักอาศัยอยู่ในย่านนักท่องเที่ยว ชุมชน ย่าน ศาลา แดง ย่านสะพานพระปิ่นเกล้า มีรายได้จากการขอทานสูงถึงวันละ 10,000 บาท
นางจตุพร บอกว่า ขอให้เข้าใจว่าอาชีพขอทานเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศ ไทย และไม่ควรให้การช่วยเหลือโดยการให้เงิน แต่ควรเน้นเรื่องของการสร้างอาชีพ เพื่อให้อยู่รอดได้ในสังคมมากกว่า หากอยากทำบุญขอให้ไปทำตามสถานสงเคราะห์หรือหน่วยงานภาครัฐดีกว่าเอาเงินให้ขอทาน
ปฎิเสธไม่ได้ว่า “ขอทาน” ไทยและต่างชาติที่เข้ามาหากินในประเทศไทย โดยอาศัยช่องทางของคนไทยใจดีและมีเมตตา ได้ส่งผลให้ธุรกิจขอทานเฟื่องฟูจนทำให้ขบวนการค้ามนุษย์เติบโตขึ้นจนยากจะปราบปราม