แรงงานไทยในอิสราเอล “งานหนัก พักน้อย ไฟสงคราม” ต้นเหตุตายทุกเดือน
สงครามในอิสราเอล มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลต่อแรงงานไทยที่เข้าไปทำงานด้านการเกษตร โดยมีรายงานว่า มีแรงงานไทยเสียชีวิต 12 ราย บางส่วนบาดเจ็บและถูกจับเป็นตัวประกัน ที่ผ่านมาเคยมีแรงงานไทย เสียชีวิตจากลูกหลงมาแล้ว ซึ่งบริษัทเอกชน ที่รับร่างแรงงานไทยที่เสียชีวิตกลับไทย ให้ข้อมูลว่า เฉลี่ยมีแรงงานตายเดือนละ 3 คน มากสุดเดือนละ 8 คน เหตุมาจากทำงานหนัก พักผ่อนน้อย โดยใบส่งร่างมักระบุว่า มาจากใหลตาย
จากข้อมูลของ กระทรวงแรงงานระบุว่า มีแรงงานไทยทำงานอยู่ในอิสราเอล 29,900 คน เป็นแรงงานที่อาศัยอยู่ใกล้ฉนวนกาซา 5,000 คน
วิโรจน์ สุริยเสนีย์ ประธานกรรมการบริษัทสุริยา ฟิวเนอรัล จำกัด (สุริยาหีบศพ คลองหลวง) หน่วยงานเอกชนรับขนย้ายร่างแรงงานไทย ที่เสียชีวิตในอิสราเอลกลับบ้านเกิด เปิดเผยกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า สถานการณ์แรงงานไทยในอิสราเอล ก่อนเกิดสงครามครั้งนี้ มีการเสียชีวิตอยู่ตลอด โดยแรงงานบางคนมีโรคประจำตัว หรือเสียชีวิตกะทันหัน ทำให้ต้องส่งร่างกลับมาไทยเกือบทุกเดือน ซึ่งแรงงานไทยส่วนใหญ่ไปทำงานด้านเกษตร
แรงงานไทยที่ไปทำงานในอิสราเอล สาเหตุเสียชีวิตส่วนหนึ่งระบุว่า เกิดจากใหลตาย บางคนมีอาการป่วยเรื้อรังจนเสียชีวิต นอกจากนี้ เคยมีแรงงานไทยเสียชีวิต เพราะโดนลูกหลงจากเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกลุ่มต่อต้านกับทางการอิสราเอลมาแล้ว
ที่ผ่านมาแรงงานไทย เสียชีวิตในอิสราเอล มีอายุเฉลี่ย 35–40 ปี เป็นแรงงานมีพื้นเพทางภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์
จากการทำงานที่ผ่านมา เคยรับร่างแรงงานไทยที่เสียชีวิตในอิสราเอล มากที่สุดเดือนละ 8 ราย แต่โดยทั่วไป จะมีแรงงานเสียชีวิตประมาณเดือนละ 3–4 ราย เพราะแรงงานไทยไปทำงานในอิสราเอลกว่าแสนคน ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุไม่คาดฝันอยู่ตลอด
กรณีการส่งร่างแรงงานไทยกลับมา ทางอิสราเอลจะส่งเอกสารชื่อและผู้ที่ติดต่อได้ในไทย ทางหน่วยงานเป็นผู้ไปรับร่างที่สนามบินและนำส่งให้ญาติในประเทศไทย โดยแรงงานที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ทำงานในภาคเกษตรกรรม
กระบวนการในการรับร่างผู้เสียชีวิต แรงงานไทยที่ไปทำงานที่อิสราเอล มีการทำประกันตลอดการทำงาน และมีเงื่อนไขในการส่งร่างกลับ หากเสียชีวิต โดยมีงบประมาณในการลำเลียงร่างส่งญาติผู้เสียชีวิตอยู่ประมาณรายละ 2 หมื่นบาท
การนำส่งร่างแรงงานไทยที่เสียชีวิตในอิสราเอล เคยมีเหตุการณ์ที่ต้องนำส่งล่าช้า เนื่องจากมีปัญหาในการลำเลียงร่างที่ต้นทาง ทำให้กรณีดังกล่าว ต้องส่งร่างให้ญาติล่าช้าเป็นเดือน หรือบางกรณีก็อาจจะล่าช้าไปบ้าง เพราะหน่วยงานในประเทศต้นทางมักไม่ค่อยเปิดเผยข้อมูล ทำให้หน่วยงานที่รับงานในการนำร่างส่งต่อญาติในไทย ต้องเตรียมแผนการทำงานสำรองไว้
ที่ผ่านมาเคยรับร่างแรงงานไทยที่ถูกอาวุธจากการปะทะกัน เมื่อหลายปีก่อนกลับมา โดยตอนนั้นทางบริษัทนายจ้างส่งกลับมา 4 ร่าง ก็ไม่ได้ติดขัดในเรื่องระยะเวลา แต่ในกรณีแรงงานไทยที่เสียชีวิตในสงครามล่าสุด ยังไม่มีหน่วยงานแจ้งความประสงค์มายังบริษัท ต้องคอยติดตามว่า หน่วยงานรัฐของไทย เป็นผู้ลำเลียงร่างกลับมาเองหรือไม่
จากประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับทางอิสราเอล ในการรับร่างแรงงานไทยที่เสียชีวิตในอิสราเอล อยากให้แรงงานไทยที่จะไปทำงานดูแลด้านสุขภาพ มีแรงงานที่เสียชีวิตจากอาการใหลตายจำนวนมาก ซึ่งอาจเกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือใช้แรงงานอย่างหนัก ขณะเดียวกันแรงงานที่จะไป ต้องตรวจสอบข้อมูลการทำงานให้ดีก่อน และไม่ควรไปทำงานใกล้กับพื้นที่ในการปะทะมากเกินไป เพราะเหตุร้ายสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา.