ข่าวสารกรุงเทพฯ

แรงงานไทยในอิสราเอล เปราะบางมากต่อสงคราม: Yahel Kurlander


การปะทุขึ้นของสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่ทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ทั้งในฝั่งอิสราเอลและปาเลสไตน์ได้รับความเดือดร้อนเท่านั้น แต่แรงงานต่างชาติ รวมไปถึง ‘แรงงานไทยในอิสราเอล’ โดยเฉพาะในจุดสู้รบแถบฉนวนกาซา (Gaza) ก็ต้องตกเป็นเหยื่อของสงครามเช่นกัน โดยในส่วนแรงงานไทยนั้น ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตราว 20 คน ถูกจับเป็นตัวประกันอย่างน้อย 14 คน และจำนวนมากต้องหนีออกนอกพื้นที่ พร้อมรอรับการอพยพกลับประเทศไทย

ความขัดแย้งและการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่ปะทุขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตลอดหลายทศวรรษ และเฉกเช่นกัน นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่แรงงานไทยในอิสราเอลต้องสังเวยชีวิตให้กับสงคราม เช่นการปะทะกันครั้งล่าสุดในปี 2021 ก็มีแรงงานไทยต้องเสียชีวิตไป 2 คน

สำหรับแรงงานไทย อิสราเอลถือเป็นประเทศหนึ่งที่ดึงดูดให้พวกเขาเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปทำงานเพื่อโอกาสรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองและครอบครัวที่ดีขึ้น โดยมีคนไทยเดินทางไปใช้แรงงานต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 ขณะที่ฝั่งอิสราเอลเองก็มีความต้องการแรงงานต่างชาติ รวมถึงแรงงานไทย ไปช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่น้อย กระทั่งในปี 2012 รัฐบาลอิสราเอลกับรัฐบาลไทยก็ได้ลงนามข้อตกลงทวิภาคีว่าด้วยการจ้างแรงงานไทยไปทำงานชั่วคราวในภาคการเกษตรที่ประเทศอิสราเอล (Agreement between the Israeli and Thai government regarding the recruitment of Thai workers for temporary work in the agricultural sector in Israel) เป็นฉบับแรก ซึ่งทำให้การจัดหาว่าจ้างแรงงานไทยไปยังอิสราเอลทำได้อย่างสะดวกและเป็นระบบระเบียบมากขึ้น

แต่ถึงแม้จะเต็มไปด้วยโอกาสทางเศรษฐกิจ แต่อิสราเอลก็เป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งเรื้อรัง ซับซ้อน และปะทุขึ้นเป็นความรุนแรงได้ทุกเมื่อ แรงงานไทยที่ตัดสินใจไปทำงาน ณ ที่นั้นจึงถือเป็นกลุ่มคนที่มีชีวิตแขวนบนเส้นด้าย แม้ในเวลาปกติที่ไร้การสู้รบ แรงงานไทยในอิสราเอลก็ต้องเผชิญความท้าทายในชีวิตและการทำงานเยอะอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเรื่องการปรับตัว หรือการถูกเอารัดเอาเปรียบ ละเมิดสิทธิ เฉกเช่นแรงงานไทยที่ทำงานในอีกหลายประเทศ แต่สำหรับแรงงานไทยในอิสราเอล ความไม่แน่นอนในชีวิตพวกเขายังถูกซ้ำเติมจากสถานการณ์ความขัดแย้งที่พวกเขาอาจโดนลูกหลงได้ทุกเมื่อ และยังถือว่ามีชีวิตที่เปราะบางต่ออันตรายจากสงครามมากกว่าคนหลายๆ กลุ่มก็ว่าได้

ความเดือดร้อนของแรงงานไทยในอิสราเอลจากการปะทุขึ้นของสงครามครั้งนี้ทำให้เรื่องราวของแรงงานไทยในอิสราเอลเป็นที่สนใจขึ้นมาไม่น้อย 101 จึงเจาะลึกถึงเรื่องราวชีวิตของแรงงานไทยที่นั่น ด้วยการพูดคุยกับ ยาเฮล เคอร์แลนเดอร์ (Yahel Kurlander) อาจารย์ชาวอิสราเอล ประจำภาควิชาสหวิทยาการและการบริการมนุษย์ แห่งวิทยาลัยเทล-ไฮ (Department of Multi-Disciplinary Studies and Human Services, Tel-Hai Academic College) ในประเทศอิสราเอล ผู้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องแรงงานไทยในอิสราเอลมายาวนานกว่า 10 ปี รวมทั้งยังทำงานขับเคลื่อนด้านสิทธิให้กับแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง

ชีวิตแรงงานไทยเปราะบางมากต่อสงคราม: Yahel Kurlander ผู้ศึกษาชีวิต แรงงานไทยในอิสราเอล
Yahel Kurlander ผู้ศึกษาชีวิต แรงงานไทยในอิสราเอล
ภาพจาก telhai.ac.il

ทราบว่าตอนนี้คุณยังอยู่ในอิสราเอล สถานการณ์ที่นั่นเป็นอย่างไรบ้าง

ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณที่มาสัมภาษณ์ฉันในวันนี้ ฉันรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่จะได้บอกเล่าเรื่องราวสถานการณ์ต่างๆ ให้คนไทยได้รับฟัง

ฉันเพิ่งกลับมาอิสราเอลได้ประมาณหนึ่งเดือนหลังจากที่เดินทางไปประเทศไทยเพื่อไปเยี่ยมเยือนพี่น้องแรงงานไทย และพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนไทยหลายๆ คน พอกลับมาได้ไม่นานก็เกิดสงครามขึ้นอย่างที่รู้กัน ในขณะที่ฉันคุยกับคุณอยู่นี้ ฉันไม่ได้อยู่ที่บ้านตัวเอง เพราะฉันก็เป็นคนหนึ่งที่ถูกอพยพหนีภัยออกจากพื้นที่มาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ตอนนี้ฉันและครอบครัวก็ยังปลอดภัยและสบายดีอยู่ ขณะที่ในพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศ โดยเฉพาะแถบกาซา ตอนนี้ มันช่างน่าสยดสยองเหนือคำบรรยาย ผู้คนที่เป็นผู้บริสุทธิ์ทั้งในฝั่งอิสราเอลและปาเลสไตน์ต่างต้องสังเวยชีวิตในเหตุการณ์นี้ และแน่นอนว่าในนั้นก็มีคนต่างชาติ รวมไปถึงแรงงานไทยที่บ้างถูกสังหาร บ้างถูกลักพาตัว แต่สำหรับแรงงานไทย ฉันยังไม่แน่ใจเรื่องจำนวนนัก และบอกได้ว่าตลอดชีวิตของฉัน ฉันไม่เคยเห็นการสู้รบที่เลวร้ายถึงขั้นนี้มาก่อน และคนที่ได้รับผลของมันก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นประชาชนที่ไม่ได้รู้อิโหน่อิเหน่

ในเวลานี้คุณมีโอกาสได้พูดคุยติดต่อกับแรงงานไทยในอิสราเอลบ้างหรือเปล่า รู้สถานการณ์ไหมว่าพวกเขาเป็นอย่างไรกันบ้าง

ตอนนี้ฉันยังไม่มีโอกาสได้เดินทางไปดูสถานที่หลบภัยของแรงงานไทย แต่ฉันมีแผนที่จะไปในเร็วๆ นี้เพื่อจะได้ดูว่าฉันสามารถช่วยอะไรได้บ้าง เพราะฉะนั้นฉันเลยยังไม่มีโอกาสได้พูดคุยกับแรงงานไทยโดยตรง แต่ก็ได้ทราบสถานการณ์ผ่านทางกลุ่มเอ็นจีโอและกลุ่มนักวิชาการต่างๆ ที่กำลังทำงานช่วยเหลือแรงงานไทยในพื้นที่ กลุ่มคนเหล่านี้กำลังพยายามให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะด้วยการจัดหาที่พักพิง และสิ่งของอุปโภคบริโภค ก่อนจะมาคุยกับคุณไม่นาน ฉันก็กำลังวุ่นกับการจัดหาล่ามให้กับพวกเขา เพื่อให้สามารถสื่อสารกับแรงงานไทยได้เข้าใจมากขึ้น แต่เบื้องต้นจากที่กลุ่มคนทำงานกลุ่มนี้เล่ามา แรงงานไทยจำนวนมากกำลังประสบความบอบช้ำทางจิตใจอย่างหนัก จากการที่เพื่อนแรงงานบางคนเสียชีวิต รวมไปถึงความหวาดกลัวต่อสถานการณ์การสู้รบ สรุปได้ว่าสถานการณ์ที่แรงงานไทยเผชิญตอนนี้กำลังน่าวิตกกังวลมาก โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่แถบกาซา

อย่างไรก็ตาม หากมองภาพรวมแรงงานไทยในอิสราเอลทั้งประเทศที่คาดว่ามีอยู่ประมาณ 26,000 คน ต้องบอกว่าส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ปลอดภัย เพราะโดยพื้นฐานแล้ว แรงงานไทยส่วนใหญ่ทำงานอยู่ที่เมืองอราวา (Arava) ซึ่งเป็นพื้นที่ทะเลทรายที่ถือว่าปลอดภัยจากสงคราม ขณะที่ในพื้นที่กาซานั้นมีจำนวนอยู่ราว 5,000-7,000 คน ซึ่งกลุ่มนี้ถือว่ากำลังน่ากังวล

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่แรงงานไทยในอิสราเอลต้องเผชิญภาวะแบบนี้เพราะความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ก็ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง และมีการปะทะกันบ่อยครั้ง อย่างก่อนหน้านี้ในปี 2021 ก็มีแรงงานไทยที่เสียชีวิตระหว่างเกิดการสู้รบไปเหมือนกัน และเรื่องแบบนี้ก็มีเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ ถ้าจะบอกว่ามันเป็นภาพสะท้อนหนึ่งของความจริงที่ว่า แรงงานไทยในอิสราเอลต้องเผชิญความเสี่ยงในชีวิตจากความขัดแย้งที่อาจปะทุได้ทุกเมื่อตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา เราพูดอย่างนั้นได้หรือไม่

ถูกต้องเลย เบื้องต้นคือหลายพื้นที่ที่แรงงานอาศัยและทำงานอยู่คือพื้นที่เสี่ยงที่จะมีขีปนาวุธมาลงได้ทุกเมื่อ และปัญหาคือพื้นที่บริเวณนี้ไม่ได้มีสถานที่หลบภัยที่มากพอ ด้วยความที่ส่วนใหญ่เป็นท้องสวนไร่นาในพื้นที่ห่างไกล และหลายจุดก็ยังมีขนาดเล็กเกินไป หรือมีการเอาสิ่งของเข้าไปตั้งวางเกะกะ จนไม่สามารถรองรับคนเข้าไปหลบภัยได้เพียงพอ

ยิ่งไปกว่านั้น ตัวที่พักอาศัยของแรงงานเองก็มักเป็นที่พักในลักษณะไม่ถาวร เช่น เป็นรถคาราวาน หรือคอนเทนเนอร์ ซึ่งมันย่อมไม่ได้ปลอดภัยเท่ากับที่พักที่เป็นตัวอาคารที่มีผนังหนาแน่น ปัจจุบันอิสราเอลมีกฎหมายที่บังคับให้อาคารที่สร้างใหม่ทุกหลังต้องมีห้องหลบภัยอยู่ เหมือนอย่างห้องที่ฉันกำลังนั่งคุยกับคุณอยู่ตอนนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อมีเหตุระเบิดหรืออะไรก็แล้วแต่ คนอยู่ในตัวอาคารจะมีความปลอดภัยสูงกว่า แต่ถ้าเป็นที่พักไม่ถาวรอย่างคาราวานหรือคอนเทนเนอร์ที่แรงงานอาศัยกันนั้น พวกเขาย่อมไม่มีห้องหลบภัย และแน่นอนว่าเปราะบางมากเมื่อถูกโจมตีด้วยอาวุธ นี่คือสภาวะที่เกิดขึ้นในพื้นที่กาซาเป็นหลักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

อุปสรรคเรื่องภาษาก็เป็นอีกสาเหตุสำคัญ อย่างแรงงานไทยจำนวนมากก็มักไม่เข้าใจภาษาอังกฤษและภาษาฮีบรู ทำให้พวกเขาไม่เข้าใจสัญญาณเตือนภัยเวลาที่เกิดเหตุขึ้นมา และทำให้ไม่สามารถหลบหนีได้ทัน

ได้ยินคำบอกเล่าจากแรงงานไทยบางส่วนว่า นายจ้างไม่อนุญาตให้หยุดงานทั้งที่สงครามรุนแรงขึ้นแล้ว คุณเคยได้ยินเรื่องแบบนี้ไหม มันถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งต้นเหตุที่ทำให้แรงงานไทยตกอยู่ในความเสี่ยงสูงหรือเปล่า

ฉันว่านี่ก็อาจเป็นอีกปัญหาหนึ่ง เพราะที่ผ่านมาฉันก็เคยได้ยินว่ามีนายจ้างบางคนที่ไม่ยอมแจ้งแรงงานว่าสถานการณ์การสู้รบกำลังเกิดขึ้น และให้แรงงานทำงานต่อไป แต่ในการสู้รบครั้งนี้ ฉันเองยังไม่ได้ยินถึงเรื่องนี้ และพยายามจะเชื่อว่ามันไม่เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น เพราะสถานการณ์ตอนนี้เลวร้ายมากจริงๆ แต่มันก็ยากที่วางใจเชื่อได้แบบนั้นเพราะที่ผ่านมา มีบางกรณีที่พบว่า แม้แรงงานจะกำลังเจ็บป่วยอยู่ แต่นายจ้างก็ไม่อนุญาตให้หยุดงาน และยังมีอีกหลายกรณีที่ฉันพบจากการศึกษาวิจัยว่าแรงงานไทยถูกนายจ้างละเมิดสิทธิในหลายรูปแบบ เพราะฉะนั้นเป็นไปได้ว่าการไม่ยอมให้แรงงานไทยหยุดงานในภาวะตอนนี้อาจมีจริง ซึ่งแน่นอนว่าการทำแบบนี้ผิดกฎหมาย

ตามหลักแล้ว แรงงานมีสิทธิปฏิเสธการทำงานได้ในภาวะแบบนี้เพื่อไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย เข้าใจว่าบางคนอาจไม่กล้าปฏิเสธ แต่ต้องบอกว่ามันเป็นสิทธิที่พวกคุณทำได้ ภายใต้ข้อตกลงทวิภาคีว่าด้วยการจ้างแรงงานไทยไปทำงานชั่วคราวในภาคการเกษตรที่ประเทศอิสราเอล ซึ่งรับประกันสิทธิให้แก่แรงงานไทยหลายด้าน ทั้งสิทธิในการทำงาน สิทธิด้านความปลอดภัย และสิทธิมนุษยชน และมันก็รวมถึงสิทธิในการหลบพักพิงในพื้นที่ปลอดภัยในช่วงเวลาที่ความขัดแย้งปะทุขึ้น

ชีวิตแรงงานไทยเปราะบางอย่างยิ่งต่อสงคราม: Yahel Kurlander ผู้ศึกษาชีวิต แรงงานไทยในอิสราเอล
แรงงานไทยในอิสราเอล
ภาพถ่ายโดย Emmanuel DUNAND / AFP (16 มีนาคม 2021)

นอกจากความท้าทายในแง่ความไม่ปลอดภัยจากสถานการณ์ความขัดแย้งแล้ว ดูเหมือนว่าแรงงานไทยในอิสราเอลยังต้องเผชิญความท้าทายในเรื่องอื่นอีกมาก แต่ก่อนไปลงรายละเอียดในเรื่องเหล่านั้น ขอถามคุณก่อนว่า คุณมาเริ่มสนใจศึกษาเรื่องราวของแรงงานไทยในอิสราเอลได้อย่างไร

นี่เป็นคำถามที่ดีมากเลยนะ (หัวเราะ) ฉันศึกษาเรื่องนี้มาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ถ้าถามว่าจุดเริ่มต้นความสนใจเรื่องนี้มาจากไหน มันเป็นเพราะฉันเติบโตมาในหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยพื้นที่เกษตรกรรม ครอบครัวฉันเองก็ทำธุรกิจฟาร์ม มีทั้งฟาร์มโคนม ฟาร์มผลไม้ แล้วในช่วงทศวรรษ 1990 ครอบครัวฉันก็เริ่มจ้างแรงงานไทยมาทำงาน มันเลยเหมือนกับว่าฉันเติบโตมากับแรงงานไทยที่ทำงานให้กับครอบครัวฉัน ทุกวันนี้พวกเขากลับประเทศไทยไปแล้ว แต่ฉันก็ยังติดต่อกับพวกเขาอยู่ ล่าสุดเมื่อไม่นานนี้ที่ฉันไปประเทศไทย ฉันก็ได้ไปเยี่ยมพวกเขามาด้วย แล้วตอนนี้พอพวกเขารู้ข่าวว่าอิสราเอลกำลังเกิดการสู้รบ พวกเขาก็ยังส่งข้อความมาแสดงความเป็นห่วงเป็นใยต่อครอบครัวเราอยู่

ในกรณีครอบครัวฉัน เรามีความสัมพันธ์ที่ดีมากต่อแรงงานไทย และการที่ชีวิตฉันมีโอกาสได้คลุกคลีกับแรงงานไทยมาตั้งแต่เด็กนี่เองที่ทำให้ฉันเกิดความสนใจในเรื่องสิทธิสวัสดิภาพการทำงานของแรงงานไทยในอิสราเอล

คุณได้เรียนรู้อะไรบ้างจากพวกเขา

เรียนรู้เยอะเลยทีเดียว เรื่องหนึ่งเลยคือเรียนรู้ว่ามีแค่คนไทยเท่านั้นที่จะเข้าใจคนไทยด้วยกันดีที่สุด พวกเขาเคยพูดกับฉันว่า คุณพยายามดีที่สุดแล้วในการทำงานให้ความช่วยเหลือต่างๆ แก่แรงงานไทย แต่คุณก็ต้องเข้าใจว่าถึงอย่างไรคุณก็ไม่ใช่คนไทย คุณเป็นคนอิสราเอล เป็นคนขาว เป็นคนยิว เพราะฉะนั้นมันเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะเข้าใจคนไทยอย่างถ่องแท้ ซึ่งเขาพูดถูกนะ เพราะฉะนั้นฉันถึงไม่ทำตัวจองหอง คอยอวดว่าฉันรู้ดีและเข้าใจพวกเขามากกว่าใครๆ และคอยคิดแทนพวกเขา ฉันจะไม่ทำอย่างนั้น แต่ในการจะทำอะไรก็แล้วแต่ ฉันมักจะถามพวกเขาเสมอว่าพวกเขาคิดอะไร ต้องการอะไร และให้พวกเขามีสิทธิในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง นอกจากนั้น ฉันยังต้องคอยทำงานร่วมกับนักวิชาการชาวไทยอยู่เสมอ เพื่อที่ฉันจะได้เข้าใจและช่วยเหลือแรงงานไทยได้ดีขึ้น ฉันตระหนักเสมอว่าฉันเป็นแค่นักวิชาการคนหนึ่งที่พยายามทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุดก็เท่านั้น

จากที่คุณได้ศึกษาและทำงานคลุกคลีกับแรงงานไทยมา คุณเห็นความท้าทายอื่นใดอีกบ้างที่พวกเขาต้องเผชิญในการมาทำงานที่อิสราเอล

สิ่งที่ฉันรู้สึกว่าน่ากังวลที่สุดคือเรื่องสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพกายและสุขภาพใจ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพใจ แน่นอนว่าอย่างในช่วงเวลานี้ที่พวกเขาเผชิญภาวะสงคราม พวกเขาก็ย่อมมีภาวะจิตใจย่ำแย่ แต่จะว่าไปมันไม่ใช่แค่เรื่องสงครามเท่านั้น เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมายังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้พวกเขามีสุขภาพจิตย่ำแย่ อย่างเช่น ความคิดถึงบ้าน หรือการถูกใช้งานอย่างหนัก ขณะที่หลายคนก็มีเหตุมาจากการถูกกดขี่ อย่างการถูกเบี้ยวค่าแรง ได้รับค่าแรงน้อยกว่าที่ควรจะได้ ไม่ได้เงินโอที หรือไม่ได้รับอนุญาตให้ลาป่วย ความเจ็บป่วยทางใจนี้ทำให้แรงงานไทยหลายคนหันไปพึ่งสุรา ยาเสพติด ซึ่งย่อมไม่เป็นผลดีต่อร่างกายพวกเขา บางคนก็ไปเล่นการพนัน และที่เลวร้ายที่สุดคือหลายคนมีความพยายามฆ่าตัวตาย และบางกรณีก็ฆ่าตัวตายสำเร็จ ทุกครั้งที่ฉันได้รับรู้เรื่องเหล่านี้ เป็นอะไรที่บีบหัวใจฉันมาก และฉันก็พยายามช่วยเหลือพวกเขาทุกทางเพื่อเยียวยาสุขภาพจิตใจ อย่างล่าสุดก็มีความคิดที่จะทำสายด่วนสุขภาพจิตให้แรงงานไทยโดยมีการให้บริการในภาษาไทย  

นี่คือสภาพการณ์ที่แรงงานไทยในอิสราเอลเผชิญมายาวนาน และมันก็ซ้ำร้ายกว่านั้นอีกหากเป็นแรงงานหญิง ฉันเคยทำงานวิจัยที่เจาะจงเรื่องแรงงานหญิงไทยโดยเฉพาะ พบว่าพวกเขามักขาดซึ่งพื้นที่ปลอดภัย โดยจำนวนมากตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศด้วย และยังตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการถูกคุกคามในอีกหลายรูปแบบ เพราะฉะนั้นฉันอยากจะขอฝากถึงผู้หญิงไทยว่าอย่ามาทำงานในอิสราเอลเสียดีกว่า ฉันเสียใจที่ต้องพูดอย่างนี้ คือตัวฉันเองเป็นเฟมินิสต์ด้วย และฉันก็อยากเห็นแรงงานหญิงได้รับสิทธิสวัสดิภาพที่เท่าเทียมกับแรงงานชายในทุกเรื่อง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือมันไม่ใช่อย่างนั้น แรงงานหญิงที่นี่ไม่ได้มีหลักประกันสิทธิสวัสดิภาพที่ดีเพียงพอ

ก่อนหน้านี้คุณบอกว่าแรงงานไทยได้รับประกันสิทธิตามข้อตกลงทวิภาคีระหว่างรัฐบาลไทยกับอิสราเอล แต่จากที่ฟัง แรงงานไทยก็ยังเผชิญปัญหาการถูกละเมิดสิทธิหลายเรื่องอยู่ ถ้าอย่างนั้นแปลว่าข้อตกลงนี้ยังไม่สามารถให้หลักประกันสิทธิต่อแรงงานไทยในอิสราเอลได้อย่างแท้จริงหรือไม่

เรื่องข้อตกลงทวิภาคีนี้เป็นประเด็นที่ฉันศึกษาตอนเรียนปริญญาเอก แต่ตอนนั้นยังเป็นข้อตกลงฉบับแรก (ปี 2010) ตอนนี้เราทำข้อตกลงฉบับใหม่กันไปแล้ว (ปี 2020) อย่างไรก็ตาม ฉันก็ยังสามารถบอกเล่ารายละเอียดของมันให้ฟังได้อยู่

หลักๆ แล้วข้อตกลงทวิภาคีนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่การจัดหาแรงงานไทย เพราะก่อนหน้านั้น นายจ้างทำการจัดหาแรงงานไทยผ่านบริษัทจัดหาแรงงาน ซึ่งมีค่าธรรมเนียมในการจัดหาที่สูงมาก แต่เมื่อข้อตกลงนี้เกิดขึ้น การจัดหาแรงงานก็ต้องมาทำผ่านทางกระทรวงแรงงาน และมีองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ช่วยดูแล ซึ่งทำให้ค่าธรรมเนียมการจัดหาแรงงานไทยลดลงเกินกว่าครึ่ง ทำให้อิสราเอลสามารถจ้างแรงงานไทยได้มากขึ้น ตรงนี้ถือเป็นความสำเร็จหนึ่งของข้อตกลงฉบับนี้ แต่หากว่าด้วยเรื่องสิทธิสวัสดิภาพของแรงงานไทย แม้ว่าในข้อตกลงจะมีการให้หลักประกันสิทธิ แต่ในทางปฏิบัติ แรงงานไทยก็ยังโดนละเมิดกันอยู่มากในหลายแง่

ชีวิตแรงงานไทยเปราะบางอย่างยิ่งต่อสงคราม: Yahel Kurlander ผู้ศึกษาชีวิต แรงงานไทยในอิสราเอล
แรงงานไทยในอิสราเอล
ภาพถ่ายโดย MENAHEM KAHANA / AFP (10 พฤศจิกายน 2009)

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอิสราเอลวันนี้ คุณคิดว่าสถานการณ์แรงงานไทยในอิสราเอลจะมีแนวโน้มไปในทิศทางไหนต่อ

สงครามครั้งนี้จะเป็นตัวเปลี่ยนเกมของทุกสิ่งทุกอย่างในอิสราเอล รวมถึงเรื่องแรงงานต่างชาติ แต่มันบอกได้ยากว่าจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน ถ้าเป็นเรื่องแรงงาน ตอนนี้หลายคนก็กำลังอยู่ระหว่างการได้รับการอพยพกลับประเทศไทย ซึ่งเราก็ไม่รู้ได้ว่าพวกเขาจะกลับมาทำงานที่อิสราเอลอีกหรือเปล่าเมื่อสถานการณ์สงบลง ขณะที่บางคนก็อาจตัดสินใจเปลี่ยนนายจ้าง เปลี่ยนที่ทำงาน ซึ่งก็เป็นสิทธิที่สามารถทำได้

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ฉันพยายามส่งเสียงเรื่องสิทธิสวัสดิภาพของแรงงานต่างชาติในอิสราเอลต่อรัฐสภาและรัฐบาลมาโดยตลอด แม้ส่วนตัวฉันเองจะต่อต้านรัฐบาลอิสราเอลก็ตาม แต่หลังจากนี้ที่ทุกอย่างในอิสราเอลจะเปลี่ยนไป ฉันก็ไม่แน่ใจนักว่าเรื่องสิทธิสวัสดิภาพแรงงานจะเดินไปทางไหนต่อ เรื่องหนึ่งที่ฉันกังวลก็คือเรื่องค่าธรรมเนียมการจัดหาแรงงานต่างชาติ ว่าอาจมีการฉวยโอกาสนี้ทำให้ค่าธรรมเนียมกลับไปพุ่งสูงเหมือนในช่วงก่อนมีข้อตกลงทวิภาคี ซึ่งที่ผ่านมามีคนบางกลุ่มที่พยายามหาช่องทำรายได้ในด้านอื่นทดแทน เช่นมีการอ้างว่าเป็นการเก็บเงินค่าเดินทางสำหรับการพาแรงงานต่างชาติมา หรือมีการตั้งค่าธรรมเนียมสำหรับแรงงานที่ขอเปลี่ยนนายจ้าง รวมถึงการเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะต่างๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่ฉันกำลังศึกษาวิจัยในเชิงลึกอยู่เหมือนกัน และไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นแบบไหนก็แล้วแต่ ฉันก็จะเดินหน้าผลักดันสิทธิสวัสดิภาพของแรงงานไทยต่อไป โดยจะให้ความสำคัญสูงสุดกับเรื่องการแก้ปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพใจของแรงงาน

คุณมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายอย่างไรต่อเรื่องการยกระดับสิทธิสวัสดิภาพของแรงงานไทยบ้าง

เริ่มแรกเลย ฉันอยากเห็นการเกิดขึ้นของสหภาพแรงงานไทยในอิสราเอล ซึ่งฉันเชื่อว่ามันจะทำให้เสียงของแรงงานไทยดังขึ้น ที่ผ่านมามีความพยายามจากบางภาคส่วนที่จะจัดตั้งสหภาพแรงงานนี้ขึ้นมา ซึ่งฉันก็หวังว่ามันจะประสบความสำเร็จในที่สุด

นอกจากนี้ หัวใจสำคัญที่ต้องเดินหน้าแก้ไขคือเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย แม้ว่าอิสราเอลจะมีตัวบทกฎหมายว่าด้วยเรื่องสิทธิของแรงงานต่างๆ ที่ดีอยู่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้ และฉันก็ยินดีที่จะเห็นการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาในเรื่องนี้จากหลายภาคส่วน ทั้งรัฐบาล ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป

และขอพูดถึงรัฐบาลอิสราเอลโดยเฉพาะ สิ่งที่อยากฝากไปถึงรัฐบาลคือตามหลักแล้ว พวกเขาย่อมมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในสวัสดิภาพของแรงงานไทย เพราะแรงงานไทยเดินทางมาทำงานตามความต้องการของประเทศอิสราเอล พวกเขามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคเกษตรกรรมของประเทศเรา เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะขาดพวกเขาไป ถือว่าเราเป็นหนี้บุญคุณพวกเขาด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นฉันอยากให้รัฐบาลอิสราเอลดูแลสิทธิและสวัสดิภาพของแรงงานไทยให้ดีกว่านี้ และต้องให้ความช่วยเหลือพวกเขาอย่างเต็มที่ ซึ่งรวมถึงการให้ความช่วยเหลือภายใต้สถานการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในอิสราเอลตอนนี้

ท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอิสราเอลตอนนี้ คุณอยากฝากอะไรถึงแรงงานไทยบ้าง

อันดับแรกเลย ต้องขอบอกแรงงานไทยทุกคนว่า ฉันขอเป็นกำลังใจให้พวกคุณ และขอให้พวกคุณตระหนักรู้เสมอว่าพวกคุณมีสิทธิอย่างเต็มที่ในการตัดสินใจออกจากพื้นที่อันตราย ถ้าคุณรับรู้ได้ว่าพื้นที่ที่คุณอยู่นั้นไม่ปลอดภัย ให้รีบติดต่อคนหรือหน่วยงานที่สามารถช่วยเหลือคุณออกมาได้ และคุณก็มีสิทธิเต็มที่ที่จะเลือกได้ว่าจะทำงานที่เดิมต่อ อยากย้ายที่ทำงาน อยากพักการทำงานไปก่อน หรืออยากกลับประเทศไทย แล้วหากคุณมีปัญหาหรือข้อสงสัยใดๆ ก็ตาม สามารถขอคำปรึกษาจากหน่วยงานเอ็นจีโอต่างๆ ได้

ในสถานการณ์แบบนี้ เราทุกคนล้วนรู้สึกเจ็บปวดเหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นหากมีอะไร พวกเรายินดีจะให้ความช่วยเหลือ และขอให้ทุกคนดูแลตัวเองอย่างดี  


หมายเหตุ: สัมภาษณ์ ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2023





Source link