ข่าวสารกรุงเทพฯ

โควิด-19 : เคอร์ฟิว 24 ชม. ในไทยยังเป็นแค่ “ข่าวปลอม” แล้วมีประเทศไหนบ้างที่สั่ง “ปิดบ้าน” สกัดไวรัสโคโรนา


  • หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ครบหนึ่งสัปดาห์หลังรัฐบาลประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ในเวลา 22.00-04.00 น. ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 พบอัตราผู้ป่วยหน้าใหม่ในไทยลดลงในระดับ “ต่ำร้อย” เป็นบางช่วง จนโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ออกมาชี้ว่าเป็นผลจากมาตรการเคอร์ฟิวของรัฐบาล

ไม่ใช่เพียงรัฐบาลไทยเท่านั้นที่เลือกใช้ “เคอร์ฟิว” เป็นอาวุธรับมือ-ต่อสู้กับ “ศัตรูที่มองไม่เห็น” แต่บีบีซีไทยตรวจสอบพบว่า ปัจจุบันมีประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอีกอย่างน้อย 38 ประเทศที่สั่งห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานตามห้วงเวลาที่กำหนดแตกต่างกันไป

การประกาศเคอร์ฟิววันละ 6 ชม. ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม อยู่ภายใต้หลักการ “สุขภาพนำเสรีภาพ” โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ออกข้อกำหนดฉบับที่ 2 สั่งให้ประชาชน “ปิดบ้าน” หลัง 4 ทุ่ม

ถึงขณะนี้รัฐบาลยืนยันว่ายังไม่มีแนวคิดจะ “ยืดเวลา” เคอร์ฟิวออกไป แม้มีข่าวลือ-ข่าวปล่อยเป็นระยะ ๆ ว่าอาจมีการประกาศเคอร์ฟิว 24 ชม. ก็ตาม

ตรงกันข้าม ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้อำนวยการ เตรียมออกประกาศฉบับใหม่เพื่อผ่อนปรนการบังคับใช้มาตรการเคอร์ฟิวกับบุคคลต่าง ๆ เพิ่มเติมราว 30 กลุ่ม จากปัจจุบันมีบุคคลอยู่ 13 กลุ่มที่ได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องอยู่ใต้ข้อกำหนดฉบับที่ 2

7 วันหลังประกาศเคอร์ฟิว สถานการณ์โควิด-19 ในไทยเป็นอย่างไรบ้าง บีบีซีไทยตรวจสอบและรวบรวมสถิติที่น่าสนใจมาไว้ ณ ที่นี้

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งตระหง่านอยู่บน ถ.ราชดำเนิน ในช่วงเคอร์ฟิว

ผู้ป่วยหน้าใหม่เพิ่ม “ครึ่งพัน” ในรอบสัปดาห์ แต่มี 4 วันที่ยอดลดเหลือ “หลักสิบ”

“ตัวเลขที่ดีขึ้น เพราะเราประกาศภาวะฉุกเฉิน และมีเคอร์ฟิว…” นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวไว้เมื่อวันที่ 7 เม.ย. หลังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 หน้าใหม่เพียง 38 ราย ซึ่งถือเป็นสถิติดีที่สุดในรอบ 3 สัปดาห์ (นับจากวันที่ 18 มี.ค. ซึ่งพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 35 ราย)

ตัวเลขสุดท้ายก่อนประเทศไทยเคลื่อนเข้าสู่ภาวะเคอร์ฟิว พบว่า มีผู้ป่วยยืนยันสะสม ณ วันที่ 2 เม.ย. จำนวน 1,875 ราย ในจำนวนนี้รักษาหายกลับบ้านได้แล้ว 505 ราย และผู้เสียชีวิตสะสม 15 ราย

ขณะที่ยอดผู้ป่วยสะสม ณ วันที่ 9 เม.ย. เพิ่มเป็น 2,423 ราย โดยมีอยู่ 940 รายที่รักษาหายกลับบ้านได้แล้ว และผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 32 ราย

นั่นหมายความว่า มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 548 ราย และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 17 ราย ในรอบ สัปดาห์หลังประกาศเคอร์ฟิว

ที่น่าสนใจคือ มีอยู่ 4 วันที่ยอดผู้ป่วยหน้าใหม่ลดลงจาก “หลักร้อย” เหลือ “หลักสิบ”

  • 3 เม.ย. 103 ราย
  • 4 เม.ย. 89 ราย
  • 5 เม.ย. 102 ราย
  • 6 เม.ย. 51 ราย
  • 7 เม.ย. 38 ราย
  • 8 เม.ย. 111 ราย
  • 9 เม.ย. 54 ราย

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

ประชาชนรีบกระโดดขึ้นรถโดยสารประจำทางช่วงเวลาประมาณ 21.00 น. เพื่อตรงกลับที่พักก่อนถึงเวลาเคอร์ฟิวในอีก ชม. ข้างหน้า

เมื่อบีบีซีไทยนำสถิติผู้ป่วยหน้าใหม่ในรอบสัปดาห์ 3 ชุด มาเปรียบเทียบกัน พบข้อมูลดังนี้

  • หนึ่งสัปดาห์ก่อนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (19-25 มี.ค.) มีผู้ป่วยหน้าใหม่ 722 ราย
  • หนึ่งสัปดาห์หลังประกาศ. พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (26 มี.ค.-1 เม.ย.) มีผู้ป่วยหน้าใหม่ 837 ราย
  • หนึ่งสัปดาห์หลังประกาศเคอร์ฟิว (3-9 เม.ย.) มีผู้ป่วยหน้าใหม่ 548 ราย

อัตราผู้ป่วยต่อ ปชก. แสนคน ภูเก็ตแซงหน้า กทม.

“ก่อนประกาศเคอร์ฟิวทั่วราชอาณาจักร มีการทดลองมาแล้วบางจังหวัด คิดว่าเป็นการส่งสัญญาณได้ระดับหนึ่ง จึงประกาศทั่วราชอาณาจักร” นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แจกแจงเหตุผลในการยกระดับมาตรการรับมือกับไวรัสมรณะ

สมมติฐานนี้จริงดังที่รองนายกฯ ว่าไว้หรือไม่ ลองพิจารณาผ่านจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่เกิดขึ้นใน 4 จังหวัดที่บรรดา “พ่อเมือง” ชิงประกาศเคอร์ฟิวก่อนหน้ารัฐบาล ซึ่งจะเห็นได้ว่าแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดเดียวที่ยังไม่พบผู้ป่วยเพิ่มเติมนับจากประกาศเคอร์ฟิว

ที่มา : บีบีซีไทยตรวจสอบรวบรวมข้อมูลจากการแถลงข่าวรายวันของ ศบค. โดยเปรียบเทียบระหว่างวันประกาศเคอร์ฟิวของจังหวัดนั้น ๆ กับข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 9 เม.ย.

ก่อนประกาศเคอร์ฟิวทั้งประเทศ ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใน 63 จังหวัด แต่ขณะนี้ไวรัสมรณะได้เข้าโจมตีประชาชนใน 67 จังหวัด เหลือเพียง 10 จังหวัดเท่านั้นที่ยังไม่ถูก “ตีเมืองแตก” ประกอบด้วย กำแพงเพชร, ตราด, น่าน, บึงกาฬ, พังงา, พิจิตร, ระนอง, สิงห์บุรี และอ่างทอง

กทม. ยังเป็นจังหวัดที่มียอดผู้ป่วยสะสมมากที่สุด 1,242 ราย ตามด้วยภูเก็ต 161 ราย และนนทบุรี 142 ราย ทว่าเมื่อกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทดลองคิดอัตราผู้ป่วยต่อประชากรแสนคน กลับพบว่าภูเก็ตแซงหน้าเมืองกรุงไปโดยอัตราอยู่ที่ 38.95 ต่อ 21.90

ในระยะหลังมานี้ ผู้ป่วยหน้าใหม่ที่พบใน กทม. และนนทบุรี ลดน้อยลง แต่ไปปูดในต่างจังหวัดมากขึ้น ศบค. ชี้ว่า มีอยู่ 41 จังหวัดที่ผู้ป่วยรายแรกของจังหวัดเดินทางมาจาก กทม. ขณะที่ผู้ป่วยรายแรกของ 25 จังหวัดมีความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

ผู้แหกกฎ “ปิดบ้าน” ถูกดำเนินคดีกว่า 4 พันราย

แม้มีการกำหนดบทลงโทษรุนแรงสำหรับผู้ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถึงกระนั้นก็ยังมี “ผู้แหกกฎ” ทั้งออกนอกเคหสถาน และรวมกลุ่มชุมนุมมั่วสุมจัดปาร์ตี้ จนถูกจับจริง-ปรับจริง-ติดคุกจริง โดยมีอยู่ 3 วันที่มีผู้ถูกดำเนินคดีทะลุ “หลักพัน” คือวันที่ 6-8 เม.ย.

ผ่านมา 6 คืน มีบุคคลกว่า 1.35 แสนคนที่ถูกตรวจสอบ และมียานพาหนะกว่า 1.01 แสนคันถูกตรวจค้น โดยเจ้าหน้าที่เลือกตักเตือนไป 1,351 ราย และเลือกดำเนินคดี 4,460 ราย

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทสส. ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ตรวจเยี่ยมจุดตรวจสกัดในวันแรกของการประกาศเคอร์ฟิวเมื่อ 3 เม.ย.

สำหรับผู้ฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ตกเป็นข่าวครึกโครมตามสื่อต่าง ๆ หนีไม่พ้นกรณี “ลูกสาวผู้ว่าฯ พิษณุโลก” ถูกศาลจังหวัดมุกดาหารพิพากษาจำคุก 6 เดือน ปรับ 1 หมื่นบาท แต่จำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน ปรับ 5 พันบาท โทษจำคุกรอลงอาญาไว้ 1 ปี ในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยเธอโดนจับที่จุดตรวจขณะขับรถเก๋งบีเอ็มดับเบิลยูในเวลาเคอร์ฟิว

ในแต่ละคืน ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และสาธารณสุขได้สนธิกำลังกันกว่า 1.8 หมื่นนาย เพื่อตั้งจุดตรวจสกัด 926 ด่านทั่วประเทศ

เคอร์ฟิว 24 ชม. ยังเป็นแค่ “ข่าวปลอม”

ตั้งแต่วันแรกที่รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ มีทั้งคำขู่-คำปลอบหลุดจากปากคำคนในรัฐบาลเป็นระยะ ๆ ว่าอาจต้องเพิ่มยาแรง หรือลดยาลง ซึ่งจะสัมพันธ์กับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย

ขณะเดียวกันมีข่าวลือหนาหูเรื่องการประกาศเคอร์ฟิว 24 ชม. ดังขึ้นเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะเมื่อปลัดกระทรวงมหาดไทยส่งโทรสาร “ด่วนที่สุด” ถึงผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ลงวันที่ 5 เม.ย. ให้ทุกจังหวัดเตรียมพร้อมในการดำเนินการในกรณีศูนย์โควิด-19 “ยกระดับปฏิบัติการ” จนผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์พากันตีความไปว่าเป็นคำสั่งให้เตรียมพร้อมก่อนประกาศเคอร์ฟิวทั้งวันทั้งคืนหรือไม่ แต่ถึงกระนั้นบรรดาผู้เกี่ยวข้องก็ยังชักแถวออกมาปฏิเสธข่าว

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

สภาพค่ำคืนบนสะพานลอยเชื่อมต่อรถไฟฟ้ากลาง กทม. ไม่มีคนสัญจร มีเพียงเจ้าเหมียวข้างถนน

3 เม.ย. : “ถ้ามาตรการนี้ยังไม่ได้ผล หรือยังมีผู้ฝ่าฝืน หรือดีและป้องกันได้ดี ก็จะประเมินเหตุการณ์วันต่อวัน อาจจะขยับเป็น 8 ชม. 10 ชม. ต่อไปก็ได้” – นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

6 เม.ย. : “นายกฯ ยืนยันว่ายังไม่ได้ตัดสินใจอะไร แต่นายกฯ ต้องเตรียมการมีแผนล่วงหน้าในเชิงรุก ทุกอย่างคือแผน เมื่อถึงกำหนดเวลาที่จะปฏิบัติคือคำสั่ง เป็นข้อกำหนดที่จะประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ ขณะนี้ถือว่าเป็นข่าวปลอม” นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

6 เม.ย. : “ยังไม่มีการประกาศเคอร์ฟิว 24 ชม. ซึ่งการประกาศเคอร์ฟิวระหว่าง 22.00-04.00 น. ที่ผ่านมา ยังต้องการให้ประชาชนปรับตัว แต่ถ้าสามารถทำได้และตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง ไม่จำเป็นต้องยกระดับมาตรการแต่อย่างใด” – นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.

6 เม.ย. : “ไม่ได้เกี่ยวกับการที่จะประกาศเคอร์ฟิว 24 ชม. แต่อย่างใด แต่เป็นการทำหนังสือแจ้งให้จังหวัด โดยให้ผู้ว่าฯ ได้เตรียม 5 เรื่อง…” – นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

คำบรรยายภาพ,

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เป็นผู้รายงานสถานการณ์โควิด-19 ให้ประชาชนได้รับทราบทุกวัน

8 เม.ย. : การประชุมศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก ที่มี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รอง ผบ.ทบ. เป็นประธาน ได้อ้างถึงข้อสั่งการของ ผบ.ทบ. ว่า นายกฯ จะไม่ประกาศห้ามออกนอกเคหสถานตลอด 24 ชม. เนื่องจากเป็นห่วงบุคคล 4 ประเภทคือ คนแก่อยู่ตามลำพัง, คนป่วยติดเตียง, คนพิการ และคนหาเช้ากินค่ำ

9 เม.ย. : “ตอนนี้ยังไม่มีการปรับเวลาแต่อย่างใด ยังคงที่ไว้ที่ 22.00-04.00 น. แต่ขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือด้วย” – นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.

นอกจากไทย ยังมีอีกอย่างน้อย 38 ประเทศที่ประกาศเคอร์ฟิว

สถานะของไทยบน “แผนที่โลกโรคโควิด-19” ถูกจัดว่ามีผู้ป่วยสะสมมากเป็นอันดับที่ 44 ของโลก โดยที่ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่เลือกใช้เคอร์ฟิวเป็นมาตรการหยุดยั้งการขยายวงของไวรัสมรณะ แต่รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอีกอย่างน้อย 38 ประเทศก็เลือกใช้มาตรการนี้เช่นกัน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ในจำนวนนี้มีอยู่ 5 ประเทศที่เคอร์ฟิว 24 ชม. คือ

  • เอลซัลวาดอร์ มีประชากรราว 6 ล้านคน ประกาศเคอร์ฟิว 30 วันนับจาก 21 มี.ค. ปัจจุบันมีผู้ป่วยสะสม ณ 10 เม.ย. ที่ ม.จอห์นส์ฮอปกิน ประเทศสหรัฐฯ บันทึกไว้ที่ 103 ราย และเสียชีวิต 5 ราย
  • บาฮามาส มีประชากรราว 3.95 แสนคน ประกาศเคอร์ฟิวถึง 14 เม.ย. นี้ ปัจจุบันมีผู้ป่วยสะสม 40 ราย
  • บาร์เบโดส ประเทศหมู่เกาะเล็ก ๆ ด้านตะวันออกสุดของทะเลแคริบเบียน ซึ่งมีประชากรราว 2.85 แสนคน เคอร์ฟิวระหว่างวันที่ 3-14 เม.ย. ปัจจุบันมีผู้ป่วยสะสม 63 ราย และเสียชีวิต 3 ราย
  • เกรเนดา มีประชากรราว 1 แสนคน ประกาศเคอร์ฟิวถึง 20 เม.ย. ปัจจุบันมีผู้ป่วยสะสม 12 ราย
  • ตุรกี มีประชากรราว 78.6 ล้านคน ทว่ารัฐบาลห้ามเฉพาะประชาชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี และเกิน 65 ปีออกนอกเคหสถาน ปัจจุบันมีผู้ป่วยสะสม 42,282 ราย และเสียชีวิต 908 ราย

นอกจากนี้ยังมีอีก 5 เมืองใน 4 ประเทศที่ผู้บริหารท้องถิ่นห้ามประชาชนออกนอกบ้านทั้งวันทั้งคืนเช่นกัน

ส่วนประเทศที่เหลือเลือกเคอร์ฟิวเป็นบางช่วง ตั้งแต่ 6-18 ชม.

ที่มา : บีบีซีไทยตรวจสอบและรวบรวมข้อมูล ณ วันที่ 10 เม.ย. จากคำประกาศของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของสถานทูต สำนักข่าว และสื่อท้องถิ่นที่เป็นภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ครอบคลุมเฉพาะคำสั่งห้ามออกนอกเคหสถานที่ยังมีผลอยู่ในปัจจุบัน และไม่นับรวมคำสั่งล็อกดาวน์



Source link