‘ไทย’ จ่อปิดดีล ‘ไมโครซอฟท์’ ‘เศรษฐา’ใช้เวทีเอเปค MOU พลังงานสะอาด
“เศรษฐา”ร่วมการประชุมผู้นำเอเปคที่สหรัฐ 11-17 พ.ย.นี้ แสดงศักยภาพเศรษฐกิจไทย สบช่องจบเทคคอมปานีสหรัฐพาเรดลงทุนไทย โชว์บิ๊กโปรเจค“แลนด์บริดจ์” ด้าน“นภินทร”ร่วมกล่าวถ้อยแถลงการเชื่อมโยงภูมิภาคเวทีรัฐมนตรีการค้า “บัวแก้ว”เปิด5ประเด็นไทยผลักดันร่วมเอเปค
“เศรษฐา”ร่วมการประชุมผู้นำเอเปคที่สหรัฐ 11-17 พ.ย.นี้ แสดงศักยภาพเศรษฐกิจไทย สบช่องจบเทคคอมปานีสหรัฐพาเรดลงทุนไทย โชว์บิ๊กโปรเจค“แลนด์บริดจ์” ด้าน“นภินทร”ร่วมกล่าวถ้อยแถลงการเชื่อมโยงภูมิภาคเวทีรัฐมนตรีการค้า “บัวแก้ว”เปิด5ประเด็นไทยผลักดันร่วมเอเปค
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค (APEC) คือ กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าและการลงทุน มีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก กำลังจะมีการประชุมใหญ่ประจำปีโดย
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลังและคณะมีกำหนดเดินทางไปร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี 2023 ระหว่างวันที่ 11 – 17 พ.ย.นี้ ที่ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ โดยในปีนี้เจ้าภาพสหรัฐจัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก“สร้างอนาคตที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นสำหรับทุกคน”
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีว่ากำหนดการพบหารือกับผู้นำประเทศต่างๆหลายประเทศ รวมทั้งทวิภาคีกับผู้นำ 4 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ เกาหลีใต้
สำหรับการหารือกับผู้นำประเทศต่างๆนายกรัฐมนตรีจะมุ่งไปที่ การค้า การลงทุน การยกระดับเขตการค้าเสรี (FTA) ความเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยประเทศไทยจะเสนอโครงการลงทุนครั้งใหญ่ผ่านโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ (แลนด์บริดจ์) เพื่อชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดียผ่านโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งรัฐบาลไทยจะผลักดัน และส่งเสริมให้มีการลงทุนให้เกิดขึ้นจริงเพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าในภูมิภาคผ่านเส้นทางที่ผ่านโครงการแลนด์บริดจ์ในประเทศไทย
แลนด์บริดจ์ยกระดับการค้าภูมิภาค
“โครงการแลนด์บริดจ์นั้นถือว่าเป็นโครงการสำคัญซึ่งหากเกิดขึ้นจะสามารถอำนวยความสะดวกในการขนส่งและเพิ่มความแข็งแรงในซัพพลายเชนและการขนส่งของอินโด-แปซิฟิก ซึ่งจะช่วยเชื่อมการขนส่งสองฝั่งมหาสมุทรทั้งแปซิฟิกและอินเดีย และเชื่อมโยงระหว่างตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันออก รวมทั้งภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งโครงการนี้หากมีการลงทุนเกิดขึ้นจริงจะเป็นประโยชน์กับทุกประเทศ ไม่ใช่เฉพาะมหาอำนาจอย่างจีน และสหรัฐเท่านั้น ”
ส่วนประเด็นอื่นๆที่จะมีการหารือในเวทีเอเปคกับผู้นำต่างๆ เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยว ความยั่งยืน สานต่อเป้าหมายกรุงเทพฯ รวมทั้งย้ำความมุ่งมั่นของไทยเรื่องการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล การส่งเสริมการค้าดิจิทัล/e-commerce และนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมทั้งการส่งเสริม ESG ที่เกี่ยวข้องกับความครอบคลุมและความเท่าเทียม การขจัดความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำ
นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้มีกำหนดการหารือกับภาคเอกชนรายใหญ่ระดับโลก เป็นโอกาสให้เกิดการค้าการลงทุนในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาที่มีความสำคัญและประเทศไทยมีศักยภาพ สาขายานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ดิจิทัล และการเงินและการธนาคาร เป็นต้น
ถกเทคคอมปานีสรุปแผนดึงทุน
โดยในส่วนของบริษัทเอกชนที่มีจะมีการหารือแบบ One-on-one ส่วนหนึ่งเป็นการพบกับบริษัทที่ได้มีหารือกันเมื่อการเดินทางไปยังสหรัฐฯเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ได้แก่ บริษัท ผู้บริหารจากบริษัทไมโครซอฟต์ และผู้บริหารจากกูเกิล
ทั้งนี้เมื่อสัปดาห์ก่อนนายกรัฐมนตรีได้มีการหารือกับตัวแทนบริษัทไมโครซอฟท์ (Microsoft) นำโดย Ahmed Mazhari – President Microsoft Asia เพื่อเตรียมการ ในการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) เรื่องการลงทุนพลังงานสะอาด การเพิ่มศักยภาพแรงงาน และการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในประเทศไทย
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมาเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการต่างประเทศให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจลงนามในข้อตกลงการดำเนินการเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด – แปซิฟิก เพื่อความเจริญรุ่งเรืองว่าด้วยความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน และการเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงฯของ IPEF ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีจะใช้โอกาสนี้ในการเสนอโครงการแลนด์บริดจ์ที่ประเทศไทยจะผลักดันการลงทุนให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำคัญในซัพพายเชนของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกด้วย
เปิด5ประเด็นไทยเร่งผลักดัน
ด้านนางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า โอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในการที่นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมเอเปคที่สหรัฐและได้มีการเข้าร่วมการประชุมเพื่อผลักดันความร่วมมือในกรอบอินโด-แปซิฟิกจะช่วยส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก โดยจากการหารือกับตัวแทนของสหรัฐ และหอการค้าสหรัฐฯในประเทศไทย (The American Chamber of Commerce in Thailand (AMCHAM) ยืนยันว่าสหรัฐให้ความสำคัญกับประเทศไทยเนื่องจากมีความสัมพันธ์มายาวนาน และมีบริษัทเอกชนของสหรัฐที่มาลงทุนในไทยหลายบริษัท และบริษัทขนาดใหญ่ของไทยไปลงทุนในสหรัฐจำนวนมาก
นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า การประชุมเอเปคปีนี้ ไทยได้มีการระดมสมองหลายฝ่าย ถึงบทบาทของนายกรัฐมนตรีและประเด็นสำคัญที่ไทยอยากผลักดันในการร่วมประชุมเอเปคปีนี้ และได้ข้อสรุปออกมา 5 ประเด็น ได้แก่
- การลงทุน เน้นให้ความสำคัญกับการค้าเสรี (เอฟทีเอ) มาก ทั้งเอฟทีเอในภูมิภาคและในระดับทวิภาคี และรัฐบาลจะดำเนินการผลักดันเอฟทีเออย่างต่อเนื่อง และเนื่องจากปีที่แล้วไทยได้รือฟื้นเอฟทีเอของภูมิภาคหรือ FTAAP
- ความเชื่อมโยง รัฐบาลไทยจะเน้นย้ำถึงโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งในบริบทของเอเปค
- ความยั่งยืน ประเทศไทยคาดว่าจะนำประเด็นพลังงานสีเขียวที่เชื่อมโยงเกี่ยวกับการทำธุรกิจไปนำเสนอ เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ
- เศรษฐกิจดิจิทัล แต่เดิมเวทีเอเปคมักพูดถึงความสะดวกของการโอนเงินตราต่างประเทศ ปัจจุบันเอไอเริ่มมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจดิจิทัลแล้ว แต่ยังสร้างผลกระทบกับคนในสังคมอยู่ ไทยเห็นว่าโลกควรมีธรรมาภิบาลด้านเอไอ และไทยอยากให้เอเปคเห็นความสำคัญของเรื่องนี้มากขึ้น และ
- ความครอบคลุมและความเท่าเทียม ภูมิภาคจะร่วมกันผลักดันบทบาทของสตรีและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง
ไมโครซอฟท์-กูเกิลอุบแผนดีล
“นอกจากการประชุมเอเปคแล้ว นายกฯยังมีกำหนดการอื่น ๆ อีก เช่น การพบปะภาคเอกชนไทยและภาคเอกชนสหรัฐ การจัดโต๊ะกลม และการหารือระดับทวิภาคีกับผู้นำประเทศที่สำคัญต่อไทยเท่าที่เป็นไปได้ นายกฯเศรษฐายังได้รับเชิญพิเศษ ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ใน
ฟอร์รัมความยั่งยืน โดยจะเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบีซีจี ประมาณ 20-30 นาที ในวันที่ 14 พ.ย.”
นางสาวแจ็คกี้ หวาง Country Director กูเกิล ประเทศไทย กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงดีลร่วมกับรัฐบาลไทยว่า ในระยะยาวจะมีโครงการความร่วมมือกับรัฐบาลไทยมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดใดๆ ได้ ต้องรอให้งานประชุมเอเปค จบก่อน ถ้าหากมีความคืบหน้าเพิ่มเติมจะแจ้งให้ทราบแน่นอน
แหล่งข่าวระดับสูงจากไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ให้ข้อมูลกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การเซ็น MOU กับรัฐบาลไทยเป็นไปตามที่นายกฯ ได้ชี้แจงผ่านใน Xซึ่งจะมีรายละเอียดคืบหน้าของความร่วมมือเร็วๆ นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความร่วมมือด้านClean energyระหว่าง ไมโครซอฟท์ กับรัฐบาลไทยมีความเป็นไปได้ที่จะเกี่ยวข้องกับโซลูชั่น “Microsoft Cloud for Sustainability” ซึ่งเป็นกลุ่มบริการของไมโครซอฟท์ที่ช่วยให้ องค์กรรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG – environmental, social, governance) อย่างทั่วถึง
โซลูชั่นนี้ ช่วยขับเคลื่อนการวางแผนงานด้านความยั่งยืน ยกระดับประสิทธิภาพของเทคโนโลยีในองค์กร และลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งภายในองค์กรเองและในเครือข่ายธุรกิจและหน่วยงานที่ทำงานร่วมกัน
เอเปคพาณิชย์ร่วมเชื่อมการค้าภูมิภาค
นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เตรียมเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีการค้าและรัฐมนตรีการต่างประเทศเอเปค ครั้งที่ 34 ร่วมกับนายปานปรีย์ พหิทธานุกรรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะกล่าวถ้อยแถลงของไทยในวาระการประชุมเรื่อง “การสร้างภูมิภาคที่ยืดหยุ่นและเชื่อมโยง (Interconnected) ที่ส่งเสริมความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ” ก่อนสรุปผลการดำเนินงานในด้านต่างๆ เสนอที่ประชุมผู้นำเอเปค วันที่ 16-17 พฤศจิกายนนี้
นางสาวโชติมา กล่าวว่า สหรัฐตั้งเป้าหมายให้มีการรับรองเอกสารผลลัพธ์ 2 ฉบับ ได้แก่ 1.ถ้อยแถลงรัฐมนตรีเอเปค ประจำปี 2566 และ 2. ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค หรือ “Golden Gate Declaration” โดยมีประเด็นการค้าและการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นการสานต่อการทำงานและผลลัพธ์ของการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคของไทยเมื่อปี 2565 เช่น การขับเคลื่อนนโยบายทางการค้าที่ครอบคลุมและยั่งยืน การสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีกับการทำงานขององค์การการค้าโลก (WTO) และการค้ากับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 2566) การค้าระหว่างไทยกับเอเปค มีมูลค่า 10.4 ล้านล้านบาท (302.8 พันล้านดอลลาร์) โดยไทยส่งออกไปเอเปค มูลค่า 5.1 ล้านล้านบาท (150.6 พันล้านดอลลาร์) และไทยนำเข้าจากเอเปค มูลค่า 5.3 ล้านล้านบาท (152.2 พันล้านดอลลาร์)