ข่าวสารกรุงเทพฯ

5 เหตุการณ์เด่นรอบโลกปี 2566 – BBC News ไทย


ที่มาของภาพ, GETTY IMAGES

ปี 2023 มีเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนของโลกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ที่เริ่มเข้ามาแทนที่บทบาทของมนุษย์มากขึ้น อีกด้านหนึ่งสงครามความขัดแย้งในหลายภูมิภาคได้ปะทุขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เกิดความสูญเสียต่อมนุษยชาติมากมาย และยังไม่มีทีท่าจะยุติ บีบีซีไทยชวนย้อนดูเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นรอบโลกในปี 2023 นี้

ปัญญาประดิษฐ์เปลี่ยนโลก กับการมาถึงของ ChatGPT

เรื่องของปัญญาประดิษฐ์ได้รับการพูดถึงอย่างมากในปี 2023 เพราะนอกจากจะมีบทบาทสำคัญต่อแวดวงไอทีแล้ว ยังรุกคืบมาสร้างผลกระทบต่อวงการอื่น ๆ เช่น วงการศิลปะ การศึกษา ดนตรี การท่องเที่ยว การเมือง รวมไปจนถึงสื่อมวลชน หลังจากได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยปัญญาประดิษฐ์ที่ได้รับความสนใจอย่างมากก็คือ แชทจีพีที (ChatGPT)

แชทจีพีที หรือ Chatbot Generative Pre-trained Transformer ซอฟต์แวร์ที่ได้รับการพัฒนาให้สามารถตอบโต้กับมนุษย์ในรูปแบบปัญญาประดิษฐ์ โดยมีผู้พัฒนาคือ โอเพนเอไอ (Open AI) ที่มี แซม อัลต์แมน เป็นซีอีโอ และมีไมโครซอฟต์เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ แม้ว่าจะเปิดตัวมาตั้งแต่เดือน พ.ย. ปี 2022 แต่ปีนี้ก็มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้น

เริ่มจากต้นปี ในเดือน ม.ค. ยอดผู้ใช้งานของแชทจีพีทีทะยานสู่ 100 ล้านผู้ใช้งาน หลังจากที่เปิดใช้งาน 2 เดือนเท่านั้น นับเป็นสถิติของแอปพลิเคชันที่โตเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ (ก่อนที่จะถูกโค่นด้วยแพลตฟอร์ม “เทรดส์” ในเดือน ก.ค.)

ข้อมูลล่าสุดชี้ว่า มีผู้ใช้งานแชทจีพีทีทั่วโลกถึง 180.5 ล้านคน (ณ สิ้นสุดเดือน ส.ค. 2023) นอกจากนี้ มูลนิธิวิกิพีเดีย เว็บไซต์สารานุกรมเสรีออนไลน์ ยังเปิดเผยด้วยว่า แชทจีพีที เป็นคำที่ผู้คนทั่วโลกเข้าชมเนื้อหามากกว่า 84,000 ล้านครั้งในปี 2023

ที่มาของภาพ, GETTY IMAGES

อย่างไรก็ดี ความสามารถของแชทจีพีทีได้ก่อให้เกิดการตั้งคำถามทางจริยธรรมจากผลงานที่สร้างมาจากแชทจีพีทีและเอไออื่น ๆ รวมทั้งลิขสิทธิ์ทางปัญญาด้วย ซึ่งในไทยเอง ก็เริ่มเห็นวงการสื่อ นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาใช้งานบ้างแล้ว และนั่นก็เริ่มสร้างความกังวลในหมู่คนทำงานสร้างสรรค์ไม่น้อย

สำหรับพัฒนาการล่าสุด เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา โอเพนเอไอ ออกมาประกาศว่า แชทจีพีที สามารถเชื่อมต่อกับข้อมูลล่าสุดในอินเทอร์เน็ตได้แล้ว จากเดิมที่ระบบพัฒนาโดยใช้ข้อมูลที่อัพเดตถึงปี 2021 เท่านั้น นั่นหมายความว่า ผู้ใช้งานระดับพรีเมียมจะสามารถถามคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันและข่าวสารล่าสุดกับแชทบอตตัวนี้ได้ด้วย

ในปี 2023 ยังมีความเคลื่อนไหวสำคัญของแชทจีพีที เมื่อแซม อัลต์แมน หนึ่งในผู้ก่อตั้งโอเพนเอไอ ถูกคณะกรรมการบริษัท ไล่ออกจากบริษัท โดยให้เหตุผลว่า อัลต์แมน “ไม่สื่อสารอย่างสม่ำเสมอ” กับคณะกรรมการ ทำให้พวกเขา “เสียความเชื่อมั่น” แต่ในที่สุดเรื่องราวก็จบลงภายในไม่กี่วันเมื่อ อัลต์แมน ได้กลับมาเป็นซีอีโออีกครั้ง

การต่อสู้ของ “เทรดส์” VS “เอ็กซ์” หรือทวิตเตอร์เดิม

ในเดือน ก.ค. มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งบริษัท เมตา เจ้าของเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ประกาศเปิดตัว “เทรดส์” (Threads) แอปพลิเคชันสังคมออนไลน์ใหม่ โดยเป็นแอปฯ ที่ผู้ใช้สามารถโพสต์ข้อความได้สูงสุด 500 ตัวอักษร และมีฟีเจอร์ต่าง ๆ คล้ายกับทวิตเตอร์

ซักเคอร์เบิร์ก มองว่า การเปิดตัวแอปฯ เทรดส์ จะสามารถเอาชนะแพลตฟอร์มเดิมอย่างทวิตเตอร์ ซึ่งอีลอน มัสก์ เป็นเจ้าของได้ หลังเปิดให้ดาวน์โหลดใช้งาน 10 ชั่วโมงแรก มีผู้ใช้งานทั่วโลกเกิน 10 ล้านคน

ในการเปิดตัวแพลตฟอร์ม เทรดส์ สื่อมวลชนทั่วโลกพุ่งเป้าถึงความคล้ายคลึงกับ ทวิตเตอร์ โดยบางสื่อเรียก เทรดส์ ว่า “มือสังหารทวิตเตอร์” จากฟังก์ชั่นการใช้งานที่แม้คล้ายกันแต่ทำออกมาได้เหนือคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นความยาวของข้อความที่พิมพ์ได้ถึง 500 ตัวอักษร ขณะที่ทวิตเตอร์ได้ 280 ตัวอักษร ความยาวของวิดีโอที่โพสต์ได้ยาวกว่าทวิตเตอร์ โดยเทรดส์โพสต์ได้ 5 นาที แต่ทวิตเตอร์โพสต์ได้ยาว 2.20 นาที

นอกจากนี้ เทรดส์ยังเน้นการทำงานเชื่อมต่อกับแอปฯ อินสตาแกรม ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่านี่เป็นข้อได้เปรียบของเทรดส์ที่เหนือคู่แข่ง

การเปิดตัว เทรดส์ ยังสร้างประวัติศาสตร์เป็นออนไลน์แพลตฟอร์มที่มียอดผู้สมัครใช้งานถึง 100 ล้านผู้ใช้งานเร็วที่สุด คือใช้เวลาเพียง 5 วัน โค่นแชมป์เก่าอย่างแชทจีพีที ที่มียอดผู้ใช้งานแตะร้อยล้านในเวลา 2 เดือน และจนถึงเดือน ธ.ค. ปีนี้ เทรดส์มีผู้ใช้งานรวมทั้สิ้น 141 ล้านผู้ใช้งาน ซึ่งยังตามหลังทวิตเตอร์ที่มีผู้ใช้งานที่ยังเคลื่อนไหวทางออนไลน์อยู่ 240 ล้านผู้ใช้

หลังจากเทรดส์เปิดตัวได้ไม่กี่สัปดาห์ ในช่วงปลายเดือน ก.ค. อีลอน มัสก์ อภิมหาเศรษฐีหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เจ้าของทวิตเตอร์ ซึ่งเขาเพิ่งซื้อกิจการมาเมื่อปี 2022 ก็ประกาศเปลี่ยนชื่อและโลโก้ของทวิตเตอร์จากนกสีฟ้าเป็นเครื่องหมาย “X” ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่มัสก์ซื้อทวิตเตอร์มา

การเปลี่ยนแปลงนี้ มัสก์ระบุว่า เป็นการทำให้แพลตฟอร์มมีความโปร่งใสมากขึ้น ด้วยการเปิดเผยอัลกอริทึมของแพลตฟอร์มต่อสาธารณะ รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับวิธีที่ทวิตเตอร์ใช้ข้อมูลผู้ใช้

ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากทวิตเตอร์ภายใต้การบริหารของอีลอน มัสก์ เกิดวิกฤตหลายด้าน นับตั้งแต่เข้ามาซื้อกิจการ ไม่ว่าจะเป็นการลดลงของโฆษณาที่ทำให้รายได้ของทวิตเตอร์หายไปครึ่งหนึ่ง ปัญหาด้านการบริหารที่ลดจำนวนพนักงานจาก 8,000 เหลือ 1,500 คน คำสั่งจำกัดการมองเห็น และการกระตุ้นให้ผู้ใช้สมัครใช้บริการแบบชำระเงิน

ที่มาของภาพ, GETTY IMAGES

การดำดิ่งสู่ใต้ทะเล 3,800 เมตร ของ “เรือดำน้ำไททัน”

ในเดือน มิ.ย. ทั่วโลกต่างติดตามการค้นหาเรือดำน้ำสำรวจไททานิค ที่ชื่อว่า “ไททัน” ซึ่งขาดการติดต่อกับเรือหลักเหนือผิวน้ำ หลังดำลงใต้ทะเลราว 1 ชั่วโมง 45 นาที เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2566

เรือดำน้ำไททัน ซึ่งตั้งชื่อสอดคล้องกับเรือไททานิคอันโด่งดัง เป็นของบริษัท โอเชียนเกต เอ็กส์เพดิชันส์ บริษัทเอกชนที่จัดบริการนำเที่ยวใต้ทะเลลึก เพื่อชมซากเรือไททานิค จุดที่ดำลงไปนั้น จะอยู่ใต้ทะเลลึก 3,800 เมตรที่พื้นมหาสมุทรแอตแลนติก ห่างจากชายฝั่งรัฐนิวฟันด์แลนด์ของแคนาดา ราว 600 กิโลเมตร ซึ่งเป็นจุดที่เรือไททานิคล่ม

เรือดำน้ำที่สูญหาย มีผู้โดยสารทั้งสิ้น 5 คน ประกอบไปด้วย ประธานเจ้าหน้าที่บริษัท โอเชียนเกต เจ้าของเรือดำน้ำ และเป็นผู้ให้บริการนำเที่ยวชม นักสำรวจชาวฝรั่งเศส และแขกของเรือ 3 คน ซึ่งเป็นนักธุรกิจชาวอังกฤษ และนักธุรกิจชาวปากีสถาน พร้อมด้วยบุตรชาย

ที่มาของภาพ, HAND OUT

ปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือเรือดำน้ำ มีการระดมสรรพกำลังทั้งทางเรือและทางอากาศจากหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ และแคนาดา รวมถึงกองทัพเรือ และบริษัทที่ประกอบกิจการใต้ทะเลลึกเชิงพาณิชย์ รวมถึงมีการใช้เครื่องบินทางทหาร เรือดำน้ำ และทุ่นคลื่นโซนาร์

นอกจากนี้ยังมีการค้นหาใต้น้ำด้วยยานใต้น้ำแบบอาร์โอวี (ROV) ตลอดทั้งวัน รวมพื้นที่การค้นหาทั้งทางน้ำและทางอากาศ กว่า 25,900 ตารางกิโลเมตร

อย่างไรก็ดี ความพยายามทั้งหมดสิ้นสุดในวันที่ 6 ของการค้นหา หรือวันที่ 23 มิ.ย. เมื่อหน่วยยามชายฝั่งของสหรัฐฯ ระบุว่า พบเศษชิ้นส่วนของเรือดำน้ำขนาดเล็ก “ไททัน” จำนวน 5 ชิ้น ห่างจากบริเวณหัวเรือไททานิคราว 1,600 ฟุต และผู้โดยสารทั้ง 5 คนในเรือดำน้ำไททัน เสียชีวิตทั้งหมด

กองทัพเรือสหรัฐฯ ยังระบุอีกว่า ได้ตรวจพบ “เสียงจากการถูกบีบอัดอย่างรุนแรงเฉียบพลัน” เพียงไม่นานหลังเรือดำน้ำไททันสูญหายไป หลังลงไปใต้ทะเล 1 ชั่วโมง 45 นาที ซึ่งข้อมูลนี้ได้ส่งต่อให้ยามชายฝั่งสหรัฐฯ เพื่อใช้ตีวงการค้นหาให้แคบลงมานานแล้ว

ที่มาของภาพ, GETTY images

คำบรรยายภาพ,

ซากของเรือดำน้ำไททันที่ถูกเก็บกู้ขึ้นมา

สงครามอิสราเอล-ฮามาส

ภาพความสนุก การเต้นรำอย่างเป็นสุข ของเหล่าคนหนุ่มสาวในช่วงย่ำรุ่ง ที่ปรากฏในวิดีโอที่ผู้คนเผยแพร่ในสังคมออนไลน์ ของเทศกาลดนตรีข้ามคืนในเขตห่างไกลของอิสราเอลใกล้ฉนวนกาซา ได้กลับกลายเป็น “เทศกาลนองเลือด” ในอีกไม่กี่อึดใจหลังจากนั้น

นี่คือฉากแรก ๆ ของการโจมตีครั้งใหญ่ที่สุดของกลุ่มติดอาวุธฮามาส ที่เข้าโจมตีอิสราเอลในช่วงเช้าวันที่ 7 ต.ค. ฮามาส เรียกปฏิบัติการนี้ว่า อัล-อักซอ ฟลัด (Operation Al-Aqsa Flood) และเป็นการโจมตีที่เกิดขึ้นในวันซิมหัต โทราห์ (Simchat Torah) อันถือเป็นวันศักดิ์สิทธิที่สุดของชาวยิว

เช้าแห่งวันเริ่มต้นของสงครามครั้งใหม่ จรวดจำนวนมากจากฝั่งกาซาถูกยิงข้ามไปยังชายแดนทางตอนใต้ของอิสราเอลตั้งแต่เวลาราว 06.30 น. เพื่อเปิดทางให้สมาชิกติดอาวุธแทรกซึมเข้าไปในอิสราเอลจากหลายทิศทาง บางส่วนเข้าไปในชุมชนใกล้ฉนวนกาซา สังหารประชาชน พร้อมกับจับทั้งชาวอิสราเอลและต่างชาติในอิสราเอลเป็นตัวประกันนับร้อยคน

การโจมตีของฮามาสเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตในฝั่งอิสราเอลราว 1,200 คน ในที่นี้รวมถึงแรงงานชาวไทยที่เสียชีวิต 39 ราย

ทันทีที่กลุ่มฮามาสก่อเหตุโจมตีทั้งภาคพื้นดินและทางอากาศ นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ระบุว่า อิสราเอล “เข้าสู่สงครามแล้ว” พร้อมประกาศว่า กลุ่มฮามาสที่ปกครองฉนวนกาซาจะต้อง “ชดใช้ด้วยราคาที่ไม่เคยพบมาก่อน”

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ,

อิสราเอลตอบโต้ฮามาสด้วยการโจมตีทางอากาศไปที่ฉนวนกาซา ภาพนี้ถูกบันทึกในวันที่ 9 ต.ค. สองวันหลังฮามาสโจมตีอิสราเอล

หลังจากนั้นอีก 2 วัน กระทรวงกลาโหมอิสราเอลสั่ง “ปิดล้อม” ฉนวนกาซาอย่างสมบูรณ์ พร้อมหยุดส่ง “พลังงานไฟฟ้า อาหาร และเชื้อเพลิง” ทั้งหมด ท่ามกลางปฏิบัติการโจมตีเป้าหมายกลุ่มฮามาสในกาซาที่ยังดำเนินอย่างต่อเนื่อง โดยอิสราเอลเปิดการโจมตีทางอากาศและระดมทิ้งระเบิดอย่างหนักเพื่อตอบโต้ฮามาสเป็นเวลาถึง 3 สัปดาห์ ก่อนเริ่มขยายปฏิบัติการภาคพื้นดินเข้าไปในฉนวนกาซาเมื่อวันที่ 28 ต.ค.

กองกำลังป้องกันอิสราเอล (IDF) ประกาศว่า กองกำลังทหารอิสราเอลทางบกได้ “ขยายปฏิบัติการ” เข้าไปในกาซา และทหารได้ “ปฏิบัติการอย่างทรงพลังในทุกมิติ” เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการทหาร พร้อมกับอ้างว่า ได้เข้าทำลายเป้าหมายอุโมงค์ใต้ดิน 150 จุด ที่อิสราเอลมองว่าเป็น “อุโมงค์ก่อการร้าย”

21 พ.ย. หรือหลังจากเหตุโจมตีวันที่ 7 ต.ค. กว่า 6 สัปดาห์ อิสราเอลและฮามาส บรรลุข้อตกลงการพักรบชั่วคราว โดยในช่วงเวลาดังกล่าว ฮามาสได้ปล่อยตัวประกันที่อยู่ในการควบคุม 105 คน แลกกับการพักการต่อสู้ และอิสราเอลปล่อยผู้หญิงและเด็กชาวปาเลสไตน์ที่ถูกขังอยู่ในคุกอิสราเอลจำนวน 240 คน เป็นการแลกเปลี่ยน

สำหรับตัวประกันชาวไทย ได้รับการปล่อยตัวกลับมาแล้ว 23 คน ในช่วงเวลาเดียวกัน

ในด้านการสูญเสียและบาดเจ็บของพลเรือนในฉนวนกาซา หลังการสู้รบผ่านไป 11 สัปดาห์ กระทรวงสาธารณสุขในฉนวนกาซาซึ่งควบคุมโดยฮามาส เปิดเผยข้อมูลล่าสุดของวันที่ 27 ธ.ค. ว่า มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิต 20,915 คน ซึ่งทำให้อิสราเอลต้องเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนักจากตัวเลขพลเรือนที่เสียชีวิตในกาซา

การสู้รบในสัปดาห์สุดท้ายก่อนเข้าสู่ปี 2024 ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง วิกฤตด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซาที่เกิดกับพลเรือนยังหนักหนาสาหัส

ด้านสถานการณ์ของคนไทยในอิสราเอล ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงการต่างประเทศ ณ วันที่ 15 ธ.ค. ตัวเลขแรงงานไทยที่เสียชีวิตอยู่ที่ 39 ราย บาดเจ็บ 18 ราย (ยังคงรักษาตัวอยู่ที่ รพ. 3 ราย) และยังคงถูกจับเป็นตัวประกัน 8 ราย (ถูกปล่อยตัวแล้ว 23 ราย)

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ,

ที่เมืองข่าน ยูนิส ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา ชาวปาเลสไตน์ร่ำไห้กับการเสียชีวิตของสมาชิกครอบครัว เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. หลังจากอิสราเอลยังโจมตีทางอากาศในฉนวนกาซาต่อเนื่อง

สงครามรัสเซีย-ยูเครน ปีที่ 2

นับตั้งแต่รัสเซีย เปิดฉากบุกโจมตียูเครนเมื่อเดือน ก.พ. ปี 2022 ในปีนี้นับได้ว่ามีจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นมากมายในสงคราม

เดือน มี.ค. ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ออกหมายจับ นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย กล่าวหาว่าเขามีส่วนรับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงครามที่เกิดขึ้นในยูเครนตั้งแต่ 24 ก.พ. 2022 ซึ่งรวมถึงการขนย้ายเด็กอย่างผิดกฎหมายจากยูเครนไปยังรัสเซีย

การออกหมายจับครั้งนั้น ทำให้โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ออกมาตอบโต้ว่า “คำตัดสินของศาลอาญาระหว่างประเทศไม่มีความหมายสำหรับประเทศของเรา รวมถึงจากมุมมองทางกฎหมายด้วย”

อย่างไรก็ดี แม้จะมีหมายจับนายปูติน แต่ ICC ก็ไม่มีอำนาจในการจับกุมผู้ต้องสงสัย และสามารถใช้อำนาจศาลได้เฉพาะในประเทศที่ลงนามในข้อตกลงที่จัดตั้งศาลเท่านั้น และรัสเซียไม่ได้ลงนามในข้อตกลงดังกล่าว ดังนั้นจึงไม่น่าเป็นไปได้ที่ปูตินจะถูกส่งตัวข้ามแดนมารับการพิจารณาคดี

ความขัดแย้งในฟากฝ่ายของรัสเซียเองก็เป็นจุดสนใจของนานาชาติ เมื่อ นายเยฟเกนี พริโกซิน หัวหน้ากองทหารรับจ้างแวกเนอร์ (Wagner) ที่รับจ้างรัสเซียรบในยูเครน ออกมาก่อการกบฏ ในเดือน มิ.ย. นำกองกำลังของตัวเอง 25,000 คน เข้ายึดครองจุดยุทธศาสตร์ทางทหารในเมืองทางตอนใต้ของกรุงมอสโก หลังจากยึดครองเมืองรอสตอฟ-ออน-ดอน (Rostov-on-Don) ซึ่งอยู่ทางใต้ลงไปอีกใกล้กับทะเลดำได้แล้ว

ที่มาของภาพ, REUTERS

คำบรรยายภาพ,

รอยเตอร์เผยแพร่ภาพ เยฟเกนี พริโกซิน ผู้ก่อตั้งกลุ่มทหารรับจ้างเอกชน “แวกเนอร์” ขณะปรากฏตัวในรอสตอฟ-ออน-ดอน ของประเทศรัสเซีย

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากสำนักงานความมั่นคงแห่งรัฐของรัสเซีย (เอฟเอสบี) ประกาศการสอบสวนทางอาญากับ เยฟเกนี พริโกซิน หัวหน้ากลุ่มแวกเนอร์ ฐาน “ก่อกบฏติดอาวุธ” หลังนายพริโกซินประกาศกร้าวว่าจะ “ทำทุกวิถีทาง เพื่อโค่นล้มผู้ครองอำนาจสูงสุดทางทหารในกรุงมอสโก”

ความสัมพันธ์ระหว่างนายพริโกซินกับกองทัพรัสเซียตึงเครียดอย่างหนักตลอดหลายเดือนตั้งแต่ต้นปี 2023 จากการที่เขาออกมาวิจารณ์ผู้นำระดับสูงของกองทัพรัสเซียซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่ากระทรวงกลาโหมไม่ยอมจัดหาและสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่ทางกลุ่มแวกเนอร์ในการสู้รบกับยูเครน

ด้านประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน แถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์ เตือนกลุ่มผู้ที่สนับสนุนให้เกิดการกบฏทางทหารให้ยุติการกระทำทันที และเรียกการก่อกบฏครั้งนี้ว่าเป็น “การแทงข้างหลัง” และ “ทรยศ” ต่อรัสเซีย

การประกาศเคลื่อนพลของนายพริโกซิน มีอายุเพียงไม่ถึง 24 ชั่วโมง เมื่อเขาได้บรรลุการเจรจากับประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ของเบลารุส ว่าจะ “ลดระดับสถานการณ์” หยุดการเคลื่อนไหวของกองกำลังทหารรับจ้างที่กำลังรุกคืบเข้าสู่เมืองหลวงของรัสเซีย โดยข้อตกลงนี้ได้รับความยินยอมจากปูตินด้วย

ที่มาของภาพ, GETTY IMAGES

คำบรรยายภาพ,

เมืองในยูเครนซึ่งถูกโจมตีด้วยมิสไซล์ของรัสเซีย

อย่างไรก็ดี ในเดือน ส.ค. เครื่องบินส่วนตัวที่นายพริโกซินโดยสาร เกิดเหตุตกในเขตทเวอร์ (Tver) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงมอสโก เป็นเหตุให้นายพริโกซินเสียชีวิต

ในภาพรวมของสงครามของปีนี้ ชาวยูเครนหลายแสนคนยังต้องไร้ถิ่นที่อยู่ในประเทศตัวเองเนื่องจากการเข้ายึดครองพื้นที่ของรัสเซียและการโจมตีที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง พลเมืองชาวยูเครนที่โดนสังหารเสียชีวิตแล้วมีหลายพันคน และมีการประเมินว่าชาวยูเครนกว่า 6 ล้านคนได้อพยพออกนอกประเทศไปแล้ว

ทางด้านรัสเซีย มีการประเมินว่าชาวรัสเซียกว่า 1 ล้านคนได้เดินทางออกนอกประเทศแล้ว หลังจากมีการทำสงครามกับยูเครน ส่วนทางด้านกำลังพลที่เสียชีวิต บีบีซีแผนกภาษารัสเซียได้รวบรวมรายชื่อผู้รับใช้ชาติที่ยืนยันแล้วว่าเสียชีวิต ซึ่ง ณ ปลายเดือน ธ.ค. 2023 ตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่กว่า 40,000 คน ขณะที่หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ เพิ่งจะเปิดเผยรายงานซึ่งชี้ว่า มีทหารรัสเซียบาดเจ็บและเสียชีวิตรวมกันกว่า 315,000 นาย



Source link