กรมทรัพย์สินทางปัญญาชี้แจงเมนู ปังชา – น้ำแข็งไสชาไทย ใคร ๆ ก็ใช้และทำได้
กรมทรัพย์สินทางปัญญายืนยัน เมนู ปังชา – น้ำแข็งไสชาไทย ใคร ๆ ก็ใช้และทำได้ ด้านเจ้าของร้านปฏิเสธไม่ทราบโลโก้คล้ายกับนางแบบในปฏิทิน ปี 50
กรมทรัพย์สินทางปัญญารุกสร้างความเข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ยืนยันคำว่า “ปังชา” “Pang Cha” ผู้ประกอบการรายอื่นสามารถใช้ได้ แต่ห้ามจัดวางในลักษณะเดียวกันกับที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าได้จดไว้ ส่วนเมนูน้ำแข็งไสชาไทย ใครก็สามารถทำขายได้
นาย วุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า จากประเด็นที่มีกระแสข่าวในสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับเมนู “ปังชา” น้ำแข็งไสรสชาไทยใส่ขนมปังซึ่งมีผู้ประกอบการรายหนึ่งอ้างสิทธิในการได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร และลิขสิทธิ์นั้น ต้องทำความเข้าใจว่า เครื่องหมายการค้า ได้รับจดทะเบียนไว้แบบไหนจะคุ้มครองตามรูปแบบที่จดได้ และเฉพาะการใช้คู่กับสินค้าหรือบริการที่ระบุไว้ในคำขอเท่านั้น
ในกรณีนี้ผู้ประกอบการดังกล่าวได้ยื่นจดเครื่องหมายการค้ากับกรมฯ ไว้ 9 เครื่องหมาย ทุกเครื่องหมายมีการสละสิทธิคำว่า “ปังชา” และ “Pang Cha” ยกเว้นคำขอเลขที่ 220133777
ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่มีองค์ประกอบของคำว่า Pang Cha และรูปไก่ประดิษฐ์วางอยู่ในวงรี โดยผู้ยื่นคำขอได้นำส่งหลักฐานว่ามีการใช้เครื่องหมายนี้มาอย่างต่อเนื่องยาวนานจนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย กรมฯ จึงรับจดทะเบียน โดยไม่มีการสละสิทธิคำว่า Pang Cha โดยเป็นไปตามหลักของกฎหมาย ซึ่งผู้ประกอบการมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายนี้ตามองค์ประกอบของคำและภาพตามที่ได้รับจดทะเบียน แต่ไม่สามารถดึงเฉพาะบางส่วนของเครื่องหมายคือ คำว่า “Pang Cha” มาอ้างว่าเป็นเจ้าของสิทธิแต่เพียงผู้เดียว
“ขอย้ำว่า บุคคลอื่นยังสามารถนำคำนี้ไปใช้ได้ แต่ต้องไม่ใช้ทั้งภาพและคำในรูปแบบเดียวกันกับที่ผู้ประกอบการรายนี้ได้รับจดทะเบียนเอาไว้แล้ว เพราะจะเป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้าได้”
ส่วนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการรายนี้มีการจดทะเบียนภาชนะสำหรับใส่ปังชาไว้แล้ว แต่ไม่ได้จดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรในสูตรปังชาซึ่งเป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว ผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีเมนูน้ำแข็งไสรสชาไทยจึงสามารถทำขายต่อไปได้
ทั้งนี้ อยากฝากถึงผู้ประกอบการว่า การออกแบบเครื่องหมายการค้า ควรเลือกใช้คำหรือภาพที่ไม่สื่อถึงประเภท คุณภาพ หรือลักษณะของสินค้าและบริการที่ขาย เพราะไม่มีใครสามารถอ้างสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในคำหรือภาพเหล่านั้นได้ ซึ่งผู้ประกอบการอาจยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในประเด็นนี้
ด้านเจ้าของร้านลูกไก่ทอง ให้สัมภาษณ์ในรายการโหนกระแสเมื่อช่วงเที่ยงวันนี้ โดยเปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นการสื่อสารคลาดเคลื่อนและต้องขอโทษร้านปังชา ที่ จ.เชียงราย ทั้งสองด้วย ตัวเองไม่ได้มีเจตนาที่จะฟ้องแต่อย่างใด หลังจากนี้หากใครจะใช้ชื่อร้านหรือชื่อ ‘ปังชา’ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ใช้ได้ตามปกติจะไม่มีการยื่นโนติสหรือฟ้องเรียกค่าเสียหายแต่อย่างใด
ส่วนโลโก้ร้านปังชา ที่มีกระแสว่าคล้ายกับนางรำในปฏิทินยี่ห้อหนึ่ง ปี 2550 ทางเจ้าของร้านลูกไก่ทอง ระบุในรายการดังกล่าวว่า ตัวเองได้จ้างน้องสาวคนหนึ่งออกแบบโลโก้ให้ ส่วนน้องสาวคนนั้นจะไปให้ Reference หรือ ตัวอย่างอ้างอิงจากไหนตัวเองไม่ทราบจริง ๆ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา