กราดยิงหนองบัวลำภู : เหตุกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไทย ติดอันดับกราดยิงสังหารเด็กร้ายแรงสุดในโลก – BBC News ไทย
เหตุกราดยิงสังหารหมู่เด็กเล็กที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จ.หนองบัวลำภู กลายเป็นหนึ่งในเหตุกราดยิงและโจมตีโรงเรียน ครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของโลก
จากเหตุการณ์ที่อดีตตำรวจ ก่อเหตุกราดยิงและไล่แทงเด็กและครู ภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้เด็กเล็ก เสียชีวิต 24 คน และเมื่อรวมกับผู้เสียชีวิตจากจุดเกิดเหตุอื่น ๆ ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 36 คน ไม่รวมตัวผู้ก่อเหตุ
เหตุการณ์นี้ ทำให้โศกนาฏกรรมในภาคอีสานของไทย กลายเป็นหนึ่งในเหตุกราดยิงและโจมตีโรงเรียนครั้งร้ายแรงครั้งหนึ่งของโลก
สำนักข่าวรอยเตอร์ ได้รวบรวมเหตุกราดยิงในโรงเรียน และการสังหารหมู่เด็ก ๆ ครั้งร้ายแรงที่เกิดขึ้นทั่วโลก เรียงตามวันที่เกิดเหตุครั้งล่าสุด ดังนี้
วันที่ 6 ต.ค. 2565 ตำบลอุทัยสวรรค์ จังหวัดหนองบัวลำภู ประเทศไทย
อดีตตำรวจ ใช้อาวุธปืนและมีดสังหารเด็กเล็ก 24 คน อายุน้อยสุดเพียง 3 ปี และสังหารครู 2 คน โดยก่อนและหลังบุกเข้าไปในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ผู้ก่อเหตุได้ยิงสังหารประชาชนที่พบเห็นระหว่างทาง ก่อนกลับไปถึงบ้านแล้วยิงภรรยาและลูกเสียชีวิต แล้วยิงตัวตาย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตรวมเป็น 36 คน ไม่นับรวมผู้ก่อเหตุ
วันที่ 24 พ.ค. 2565 เมืองอุลวาเด รัฐเทกซัส สหรัฐฯ
มือปืนบุกเข้าไปในห้องเรียนโรงเรียนประถม แล้วยิงเด็กนักเรียนอายุระหว่าง 9-11 ขวบ เสียชีวิต 19 คน และอาจารย์เสียชีวิต 2 คน
วันที่ 8 พ.ค. 2564 กรุงคาบูล อัฟกานิสถาน
เกิดระเบิดต่อเนื่อง 3 ครั้ง โจมตีโรงเรียนในกรุงคาบูล ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 80 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนหญิง
วันที่ 18 พ.ค. 2561 เมืองซานตาเฟ รัฐเทกซัส สหรัฐฯ
เด็กนักเรียนวัย 17 ปี เปิดฉากยิงใส่เพื่อนนักเรียนโรงเรียนมัธยม ทำให้นักเรียนเสียชีวิต 9 คน อาจารย์เสียชีวิต 1 คน ก่อนจะยอมมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
วันที่ 14 ก.พ. 2561 เมืองพาร์คแลนด์ รัฐฟลอริดา สหรัฐฯ
อดีตนักเรียนโรงเรียนมัธยม ก่อเหตุยิงสังหารนักเรียน 14 คน และอาจารย์ 3 คน
วันที่ 16 ธ.ค. 2557 เมืองเปชวาร์ ปากีสถาน
มือปืนจากกลุ่มตาลีบันสังหารหมู่เด็กนักเรียน 134 คน และเจ้าหน้าที่โรงเรียนอีก 16 คน ที่โรงเรียนในเมือง
วันที่ 14 ธ.ค. 2555 เมืองนิวทาวน์ รัฐคอนเนทิคัต สหรัฐฯ
มือปืนพร้อมอาวุธปืนหลายกระบอก ก่อเหตุสังหารเด็ก 20 คน อายุระหว่าง 5-10 ปี และประชาชนอีก 6 คน ที่โรงเรียนอนุบาลแซนดีฮุก
วันที่ 22 ก.ค. 2554 เกาะอูโทยา นอร์เวย์
อันเดอร์ช เบห์ริง เบรวิก ก่อเหตุสังหารหมู่ 69 ศพ ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน ในค่ายเยาวชนของพรรคแรงงานบนเกาะอูโทยา และก่อเหตุระเบิดรถยนต์สังหารอีก 8 คน ในกรุงออสโล
วันที่ 1 ก.ย. 2547 เมืองเบสลาน รัสเซีย
กลุ่มกบฏ ที่เรียกร้องเอกราชให้ชาวเชชเนียในรัสเซีย ได้ก่อเหตุบุกโจมตีโรงเรียนในเมืองเบสลาน และจับนักเรียนและผู้คนจำนวนมากเป็นตัวประกัน ท้ายสุดตัวประกัน 333 คนเสียชีวิต ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 186 คน
วันที่ 20 เม.ย. 2552 เมืองลิตเติลตัน รัฐโคโลราโด สหรัฐฯ
นักเรียน 2 คน ก่อเหตุยิงสังหารเด็กนักเรียนคนอื่น 12 คน และอาจารย์ 1 คน ที่โรงเรียนมัธยมโคลัมบีน ก่อนจะยิงตัวเองเสียชีวิต
วันที่ 13 มี.ค. 2539 เมืองดันเบลน สกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร
มือปืนสังหารเด็กนักเรียน 16 คน ส่วนใหญ่อายุแค่ 5 ขวบ และอาจารย์ 1 คน
กราดยิงในโรงเรียนเกิดไม่บ่อย นอกสหรัฐฯ
ผลการศึกษาเมื่อปี 2559 โดยศาสตราจารย์ อดัม แลงค์ฟอร์ด จากมหาวิทยาลัยแอละแบมาของสหรัฐฯ พบว่า ช่วงปี 1966 ถึง 2012 เหตุกราดยิงที่เกิดขึ้น 31% จากทั่วโลก ล้วนเกิดขึ้นในสหรัฐฯ และในจำนวนประเทศที่มีประชากรเกิน 10 ล้านคน มีเพียงเยเมนเท่านั้น ที่มีอัตราการเกิดเหตุกราดยิงต่อหัวประชากร มากกว่าสหรัฐฯ
ผลการศึกษษของ ศ.แลงค์ฟอร์ด ยังชี้ว่า ถ้าคิดเฉพาะกรณีเหตุมือปืนเพียงคนเดียว ก่อเหตุรุนแรงแบบสุ่มนั้น สหรัฐฯ มีอัตราการเกิดเหตุอาชญากรรมลักษณะนี้ มากกว่าประเทศอื่นในโลกถึงกว่า 6 เท่า
สถานีข่าวโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นยังชี้ว่า เหตุกราดยิงในโรงเรียนที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับเหตุก่อการร้าย ยังเกิดขึ้นไม่บ่อยนักนอกสหรัฐอเมริกา
โดยช่วงปี 2552 ถึง 2561 สหรัฐฯ เผชิญเหตุกราดยิงในโรงเรียนถึง 288 ครั้ง (เฉพาะเหตุที่มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 1 คนขึ้นไป และไม่นับตัวผู้ก่อเหตุ) ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วในกลุ่มจี 7 เกิดเหตุกราดยิงในโรงเรียน รวมกันเพียงแค่ 5 ครั้งเท่านั้น ในช่วงเวลาเดียวกัน
ต้องถอดบทเรียน อีกแล้ว ?
รศ.พ.ต.ท.ดร. กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์เชิงวิเคราะห์ในรายการ “เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์” ถึงมูลเหตุจูงใจที่ทำให้ผู้ก่อเหตุกระทำการเช่นนี้ โดยมองว่า สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ “ผู้ก่อเหตุเป็นอดีตตำรวจที่กำลังถูกสืบสวนเรื่องการใช้อาวุธ” จึงทั้งมีความเครียดสะสมจากการให้ออกจากราชการ เรื่องคดีความ แล้วยังมีประวัติใช้สารเสพติดมาพอควร ทำให้สภาพจิตใจไม่ปกติเหมือนคนทั่วไป
สิ่งที่ต้องพิจารณาและตรวจสอบ คือ ผู้ก่อเหตุใช้สารเสพติดมายาวนานแค่ไหน เสพมานานก่อนเข้ารับราชการตำรวจหรือไม่ มีเครือข่ายยาเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือถึงระดับเกี่ยวพันกับเครือข่ายอาชญากรรมหรือไม่ เพราะหากมีปัจจัยเหล่านี้ประกอบ เมื่อเข้ารับราชการและมีการฝึกฝนการใช้อาวุธ ยิ่งทำให้มีความเครียดสะสม สภาจิตใจก็ยิ่งกดดันมากขึ้น
ส่วนสาเหตุที่เลือกเป้าหมายเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รศ.พ.ต.ท.ดร. กฤษณพงค์ วิเคราะห์ว่า ผู้ก่อเหตุเชื่อว่า “การก่อเหตุจะทำให้สูญเสียจำนวนมากได้ วิธีการคิดของเขาตรงนี้ เพราะความรู้สึกของเขา สภาพจิตใจ และการใช้สารเสพติด และต้องการทำให้ช็อคสังคม ช็อคโลก ให้สังคมสนใจปรากฎการณ์ที่เขาได้รับผลกระทบ”
“พูดง่าย ๆ เขามีพฤติกรรมที่เกลียดสังคม เพราะเขารู้สึกว่า ตัวเขาถูกกระทำ แต่เขาไม่ได้มองกลับกันว่า มันเกิดจากตัวเขาเอง”
ส่วนบทเรียนที่อยากฝากให้สังคมได้สะท้อนจากเหตุการณ์นี้ คือ
- ระดับนโยบาย: สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรมีการประเมินสุขภาพจิตเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ถูกดำเนินคดี และพัวพันกับยาเสพติด หรือต้องคดีพยายามฆ่า อีกทั้ง การปลดเจ้าหน้าที่ออกจากราชการ ทั้งที่ทราบว่ามีสภาพจิตใจผิดปกติและความเครียดสะสม แต่ยังครอบครองปืนไว้อยู่ เป็นเรื่องสมควรหรือไม่
- ระดับชุมชน: บุคคลทั่วไปที่มีความเครียดสะสม บุคคลรอบข้างช่วยกันสังเกตอาการ และร่วมกันแก้ปัญหาได้ อาทิ พาไปพบจิตแพทย์และนักจิตวิทยา เป็นต้น
“เรามักจะมองปลายทาง เหมือนลูกโป่งที่อัดแก๊สเข้าไปแล้ววันหนึ่งระเบิด จึงค่อยมาสนใจว่าลูกโป่งระเบิด แต่ระหว่างที่กำลังเติมแก๊ส ลูกโป่งใกล้จะระเบิด มีใครสังเกตบ้างไหม” รศ.พ.ต.ท.ดร. กฤษณพงค์ กล่าว
“ผมเชื่อว่าเราไม่อยากจะถอดบทเรียนกันบ่อย ๆ” และบทเรียนสำคัญที่สุดจากเหตุการณ์นี้ คือ “ถึงเวลายอมรับว่า เหตุการณ์ลักษณะแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอีกต่อไปแล้ว อาจเกิดที่ไหน เวลาใดก็ได้ อยู่กับว่าเราจะรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรได้บ้าง”