ข่าวสารกรุงเทพฯ

ข่าวปลอมในไทย: คุณควรกังวลแค่ไหน? – BBC News ไทย


  • ฐิติพล ปัญญาลิมปนันท์
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ที่มาของภาพ, Getty Images

การผลิตข้อมูลเท็จเพื่อสร้างความปั่นป่วนหรือมุ่งหมายทรัพย์ เป็นเรื่องที่ทั้งผู้บริโภคและสื่อมวลชนต้องรับมือเสมอมา ในยุคที่คนอ่านข่าวผ่านสื่อโซเชียล ข่าวปลอมได้ถูกพัฒนาให้ส่งต่อได้ง่ายและตรวจสอบได้ยากขึ้น

ผู้ที่คลุกคลีกับการตรวจสอบข่าวปลอมในไทยเตือนว่าข่าวปลอมมีจำนวนเพิ่มขึ้นในแต่ละปี ขณะที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกกังวลเกี่ยวกับข่าวปลอมบนโลกออนไลน์ จากผลสำรวจล่าสุดโดยบีบีซี

ข้อมูลเท็จในโลกโซเชียลไทย

“เรื่องอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับมะเร็ง คนจะแชร์เยอะ รองจากมะเร็งก็คือเบาหวาน รองลงมาก็จะเป็นเกี่ยวกับโรคไตหรือความดัน” พีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้รับผิดชอบงาน ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท. กล่าว

ที่มาของภาพ, Getty Images

ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ เริ่มตรวจสอบข้อเท็จจริงบนโลกออนไลน์ตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2558 เพื่อแก้ปัญหาการแพร่กระจายของข้อมูลไม่ถูกต้อง และได้ช่วยทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลเท็จมาแล้วกว่า 500 ตอนทางโทรทัศน์

ปัจจุบันทีมงานที่มี 8 คนยังทำหน้าที่ตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อมูลเท็จบนโลกออนไลน์ที่ประชาชนสอบถามมา ซึ่งส่วนมากเป็นเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

พีรพลมองว่านั่นเป็นเพราะผู้ผลิตเรื่องเท็จเหล่านี้ มองเห็นพฤติกรรมของผู้อ่านที่ขาดทักษะการตรวจสอบข้อมูล โดยเฉพาะกลุ่มผู้อ่านที่ค่อนข้างสูงอายุ

“เขาเพิ่งเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ตตอนอายุมากแล้ว เขาอาจจะขาดเรื่องความเท่าทันสื่อดิจิทัล ไม่ทันคิดว่าเขียนยาว ๆ แบบนี้ก็เฟคได้ ภาพแบบนี้มันรีทัชได้ หรือวิดีโอแบบนี้ใคร ๆ ก็ตัดต่อได้” พีรพลกล่าว

เว็บข่าวปลอม:ปัญหาร้ายแรง

แต่สิ่งที่อันตรายกว่าการส่งต่อข้อมูลเท็จโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ในความเห็นของพีรพล คือข้อมูลเท็จในลักษณะ ข่าวปลอม ที่ปลอมหน้าเว็บข่าวด้วยเจตนาหลอกลวง

ตลอดปี 2559 พีรพลสามารถเก็บข้อมูลได้ว่ามีข่าวปลอมรวมกว่า 300 หัวข้อ และพบว่าแต่ละหัวข้อมีการไลค์และแชร์บนเฟซบุ๊กรวมกันอยู่ในหลักแสน

จากการสืบค้นของเขาพบว่าเว็บไซต์ข่าวปลอมเหล่านี้มีอยู่ไม่น้อย พีรพลสามารถตามรอยเว็บไซต์ข่าวปลอมขนาดเล็กแห่งหนึ่งได้ และพบว่ามีคนหลงคลิกเข้าไปชมเป็นจำนวนหลักหมื่น เว็บไซต์เหล่านี้มีความพยายามควบคุมบัญชีเฟซบุ๊กของผู้หลงเข้าไปเพื่อไปใช้ประโยชน์ทางการค้า

“พอกดดูคลิป ก็จะต้องลงชื่อเข้าใช้เฟซบุ๊ก พอกดอนุญาตในเฟซบุ๊ก คนสร้างเว็บปลอมนั้นก็จะใช้เฟซบุ๊กเราเป็นบอท (หุ่นยนต์) และเอาเราไปเป็นใช้เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพไลค์ของเขา เพื่อขายไลค์อีกต่อหนึ่ง” พีรพลกล่าว

นอกจากเรื่องสุขภาพแล้ว ในปีที่ผ่านมาพีรพลยังพบว่าข้อมูลเท็จและปลุกปั่นเกี่ยวกับศาสนาและการเมืองก็เพิ่มมากมากขึ้นด้วย

“ขนาดเรื่องสุขภาพที่ไม่น่าเชื่อยังมีการแชร์กันเยอะ ทำให้คนที่มองเห็นโอกาส เอาตรงนี้ไปขับเคลื่อนบางอย่างทางการเมืองหรืออุดมการณ์ที่มีความซับซ้อน ซึ่งอาจทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น” เขากล่าว

โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่ประเทศไทยอาจจะมีการจัดการเลือกตั้งนั้น พีรพลเตือนว่าข่าวปลอมจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ตามที่มีให้เห็นมาแล้วในหลายประเทศอย่าง ฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐฯ

“ประชาชนก็ต้องเตรียมตัว สื่อเองก็ต้องเตรียมตัวที่จะแก้ปัญหา เพราะข้อมูลมันเยอะจริงๆ และจะบอกประชาชนไม่ให้เชื่ออย่าแชร์ มันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะทุกคนเขาก็หวังดี อยากแบ่งปันบอกต่อข้อมูลที่เขาคิดว่าดี”

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

เว็บไซต์ข่าวปลอมช่วงการประชามติในอังกฤษ

ผลกระทบต่อสื่อวิชาชีพ

ข่าวปลอมสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงเว็บไซต์ที่ถูกเลียนแบบ นับตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ข่าวสด และมติชน ต่างเข้าแจ้งความกับเว็บไซต์เลียนแบบเพื่อหลอกลวงผู้อ่าน

กนกพร ประสิทธิ์ผล นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่าปัญหาหนึ่งในการรับมือกับเว็บปลอม คือ องค์กรสื่อมักจะรู้ตัวก็ต่อเมื่อเว็บปลอมเหล่านี้ได้ถูกส่งต่อและสร้างความสับสนกับผู้อ่านเรียบร้อยแล้ว

ในขณะที่เวลาในการดำเนินคดีหรือร้องเรียนเพื่อถอดถอนกับทางแพลตฟอร์มนั้นเนิ่นนาน แต่การทำเว็บไซต์ปลอมซึ่ง “โดนบล็อกก็ไปสร้างใหม่” นั้นใช้เวลาเพียงน้อยนิด เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เว็บปลอมมีมากขึ้นในความเห็นของกนกพร

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ข่าวปลอมที่แสดงภาพปูตินในกรงขังยังคงเป็นหนึ่งในวิดีโอที่คนพูดถึงมากที่สุดบนยูทิวบ์

นอกจากนี้พฤติกรรมของผู้อ่านปัจจุบัน ซึ่งเข้าถึงเว็บไซต์ผ่านโซเชียลมีเดีย โดยเลือกข่าวที่ได้ถูกคัดเลือกให้โดยอัลกอริทึมของแพลตฟอร์มนั้น ยังส่งผลให้ข่าวจริงสูญเสียพื้นที่ได้อีกด้วย

“การคลิกแชร์หรือไลค์ก็จะทำให้เห็นข่าวนั้นมากขึ้น แพลตฟอร์มมันไม่รู้ว่าคอนเทนต์นั้นเกรด 1 2 3 รู้แต่ว่าคนชอบ พอวันนี้เจอ มะรืนเจอ เรื่องปลอมก็จะกลายเป็นความจริง และเพจข่าววิชาชีพก็ถูกเลือนหายไปอีกด้วย” กนกพรกล่าว

กนกพรมองว่าจำนวนเว็บปลอมเหล่านี้เพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้อ่านออนไลน์ ซึ่งหมายถึงผลตอบแทนผลตอบแทนที่คุ้มค่าสำหรับกลุ่มมิจฉาชีพ

“พฤติกรรมการเสพข่าวโลกออนไลน์มากขึ้น ก็มีลูกค้ากลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ทำให้มิจฉาชีพอยากกระโดดเข้ามามากขึ้น” กนกพรกล่าว

สถานการณ์ในต่างประเทศ

รอร์รี เคลแลน-โจนส์ ผู้สื่อข่าวด้านเทคโนโลยีของบีบีซี รายงานว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตส่วนหมากในหลายประเทศทั่วโลกกังวลเกี่ยวกับข่าวปลอม จากผลสำรวจของบีบีซีเวิลด์เซอร์วิสเมื่อเร็ว ๆ นี้

ในการสำรวจ 18 ประเทศ พบว่าประชาชนร้อยละ 79 บอกว่าพวกเขากังวลว่าอะไรจริงและเท็จบนอินเทอร์เน็ต

ชาวบราซิลมีความกังวลมากที่สุดในเรื่องนี้ที่ร้อยละ 92 นอกจากนี้ยังพบว่ามีความกังวลในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ อย่างเช่น อินโดนีเซีย (ร้อยละ 90) ไนจีเรีย (ร้อยละ 88) และ เคนยา (ร้อยละ 85)

ขณะที่เยอรมนี ซึ่งช่วงก่อนหน้าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาได้มีการพยายามกวาดล้างข่าวปลอมในประเทศ เป็นประเทศเดียวในการสำรวจที่คนส่วนมาก ร้อยละ 51 บอกว่าไม่กังวลกับเรื่องนี้

แต่ถึงจะกังวลเรื่องข้อมูลหลอกลวงแต่ส่วนใหญ่ก็ไม่อยากให้รัฐบาลเข้ามาควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ต มีเพียงจีนและอังกฤษเท่านั้น ที่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่อยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแลอินเทอร์เน็ต

ก่อนหน้านี้บีบีซีก็เคยทำการสำรวจคล้ายๆ กันนี้ในปีพศ. 2553 ใน 15 ประเทศที่ถูกสำรวจทั้งสองครั้ง ในการสำรวจครั้งปัจจุบันพบว่าร้อยละ 58 เห็นว่าอินเทอร์เน็ตไม่ควรถูกควบคุม ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 51 จากการสำรวจเมื่อ 7 ปีก่อน

ดัก มิลเลอร์ ประธานของ Globescan ผู้ดำเนินการสำรวจครั้งนี้กล่าวว่า ผลการสำรวจชี้ว่า ยุคของ ‘ข่าวปลอม’ นี้ อาจมีความสำคัญในการลดความน่าเชื่อถือของข้อมูลออนไลน์ ไม่ต่างจากที่การเปิดโปงการสอดส่องของรัฐในอเมริกาโดย เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน มีผลต่อพฤติกรรมการแสดงความเห็นออนไลน์ของประชาชน



Source link