ข่าวสารกรุงเทพฯ

จีนปลูกทุเรียนเอง โจทย์ใหม่รัฐบาลไทย ส่งออกเดือด


จีนปลูกทุเรียนเอง  โจทย์ใหม่รบ.ไทย ส่งออกเดือด

แม้การส่งออกของไทยที่ติดลบมาต่อเนื่อง 7 เดือนตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยตัวเลขการส่งออกของไทยล่าสุดที่มีการเปิดเผยในเดือนเมษายน 2566 มีมูลค่า 21,723.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (737,788 ล้านบาท) หดตัวร้อยละ 7.6 โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังคงลดลงตามความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกและราคาพลังงาน แต่สินค้าเกษตรยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะตลาดจีนที่เป็นตลาดส่งออกอันดับสองของไทยกลับมาขยายตัวสูงถึงร้อยละ 23

ทุเรียน เป็นหนึ่งในสินค้าทางการเกษตรที่ส่งออกไปยังจีน และเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก มีการส่งออกไปขายยังจีนปีละ 5-7 แสนตัน ข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร ระบุว่าไทยส่งออกทุเรียนสดไปยังจีน ตั้งแต่ 1 มกราคม-25 พฤษภาคม 2566 ปริมาณ 477,741 ตัน คิดเป็นมูลค่า 62,387 ล้านบาท

ล่าสุด สื่อทางการจีนได้เผยแพร่คลิปวิดีโอ เผยให้เห็นทุเรียนที่ปลูกในมณฑลไห่หนาน หรือไหหลำ ทางตอนใต้ของประเทศจีน ที่เพาะปลูกสำเร็จ พร้อมเก็บเกี่ยวเป็นชุดแรก โดยได้จัดประมูลทุเรียนชุดแรกที่เพาะปลูกได้ ราคาพุ่งไปสูงถึง 388,888 หยวน หรือราว 1,845,562 บาท เลยทีเดียว

ฐานการเพาะปลูกทุเรียนในเขตนิเวศวิทยายู่ไฉ มณฑลไห่หนานของจีน ที่ได้เก็บผลผลิตทุเรียนล็อตแรก ได้ส่งไปขายยังกรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น และเมืองอื่นๆ เพื่อวางจำหน่ายในตลาดอย่างเป็นทางการแล้ว ขณะเดียวกันก็ได้มีวางจำหน่ายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ

การที่จีนปลูกทุเรียนได้ทำให้เกิดคำถามว่าจะกระทบกับการส่งทุเรียนไทยไปขายที่ประเทศจีนในอนาคตหรือไม่

และรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาจะต้องวางแผนรับมือเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า กรณีที่จีนปลูกทุเรียนขายในประเทศได้เองประมาณ 2,000 ตัน ยังถือว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับทุเรียนไทยที่ส่งออกไปจำหน่าย 5-7 แสนตัน ซึ่งผลผลิตทุเรียนกว่า 2,000 ตัน เทียบได้กับสวนทุเรียนที่มีขนาดใหญ่เพียงแค่ 1 สวนเท่านั้น จึงไม่ต้องกังวลมาก อีกทั้งเชื่อว่าภาคตะวันออกเป็นชัยภูมิดีที่สุดในโลกของการปลูกทุเรียน จากการสำรวจ เพราะสภาพดิน อากาศ และน้ำ ดีที่สุด จึงขอให้อย่ากังวลมาก แต่สิ่งที่ต้องกังวล คือ คุณภาพทุเรียนไทยและทุเรียนอ่อน ที่จะมีการค้าและส่งออกไปจำหน่ายที่ประเทศปลายทางดีกว่า เพราะจะทำลายตลาดผลไม้ไทยและราคาให้ดิ่งลงเหว

ก่อนหน้านี้จีนได้ทดลองปลูกทุเรียนมาแล้วราว 40 ปี และมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้ทนต่อสภาพอากาศที่ประเทศเขา แต่หากเทียบกับประเทศไทย สภาพอากาศและปัจจัยแวดล้อม ไทยปลูกทุเรียนได้เปรียบกว่าทุกประเทศ จึงย้ำว่าหากประเทศไทยใช้คุณภาพของผลผลิตเข้าสู้ ไม่ค้าทุเรียนอ่อน ทุเรียนจะยังไปได้ตลอด และยังเป็นที่ต้องการของต่างชาติ ซึ่งปัญหาเรื่องการตัดขายทุนเรียนอ่อน กระทรวงได้ออกกฎหมายคุมความเสี่ยง

โดยย้ำว่า พ่อค้าใดตัดทุเรียนอ่อนขาย จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ไทยควรรับมือด้วยการขยายตลาดทุเรียน จากเดิมที่พึ่งพาเฉพาะตลาดจีนสูงถึง 90% มาเป็นการเปิดตลาดใหม่ในอินเดีย อาหรับ ตะวันตก หรือแอฟริกามากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาจีนเพียงอย่างเดียว อย่างในช่วงที่จีนปิดประเทศเพื่อควบคุมการระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา กระทบต่อผู้ส่งออกทุเรียนไทยและภาคการท่องเที่ยว

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ที่ผ่านมาได้ติดตามสถานการณ์และผลกระทบ ภายหลังประเทศจีนประกาศว่าสามารถปลูกทุเรียนในจีนและมีผลผลิตออกสู่ตลาดได้สำเร็จแล้ว โดยได้รับการยืนยันผลการตรวจสอบกับผู้เกี่ยวข้องทั้งชาวสวน ผู้ค้า และผู้ส่งออก ทุเรียนไทยยังไม่ได้รับผลกระทบ ด้วยทุเรียนไทยมีความเฉพาะตัวในเรื่องคุณภาพ สีสัน รสชาติ ความอร่อยที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก ไม่แค่ประเทศจีน ประเทศอื่นก็มีความพยายามที่จะปลูกทุเรียนเพื่อทดแทนการนำเข้า หรือหวังเป็นสินค้าหนึ่งในการส่งออก อาทิ เวียดนาม แม้มีการปลูกแต่ยังสู้เรื่องต้นทุนและความต้องการในตลาดค่อนข้างน้อย

ทั้งนี้ ในระยะยาวหากตลาดผู้บริโภคตอบรับได้น้อยจะกลายเป็นปัญหาของผู้ปลูกเองที่ต้องแบกรับความเสี่ยงเอง ทั้งต้นทุนสูงกว่านำเข้าและหาตลาดรองรับผลผลิตไม่ได้ ซึ่งการเพาะปลูกผลไม้มีหลายส่วนทั้งพื้นที่ปลูก สภาพอากาศ พันธุ์พืช และความเชื่อมั่นต่อสินค้าและแหล่งผลิต

“นายสัณชัย ปุรณะชัยคีรี” นายกสมาคมผู้ค้าและผู้ส่งออกผลไม้ไทย ชี้แจงถึงความต่างของทุเรียนไทยกับทุเรียนจีนว่า ประการแรก ช่วงการปลูกทุเรียนภาคตะวันออกของไทย ผลผลิตจะออกสู่ตลาดหมดในเดือนพฤษภาคม ช่วงนี้ทุเรียนภาคใต้ออกสู่ตลาดแล้วเกิน 60% ขณะที่ทุเรียนจีนกว่าจะออกตลาดเดือนสิงหาคม-กันยายน จึงไม่กระทบโดยตรงต่อช่วงการผลิตหลักของทุรียนไทย ขณะที่อากาศจีนหนาวเย็นกว่าไทย การจะปลูกเพื่อให้ออกเดือนมีนาคม-เมษายนเหมือนกัน ต้องปลูกตั้งแต่ปลายปีซึ่งจีนจะเจอเรื่องอากาศหนาวเย็น ซึ่งทุเรียนช่วงออกดอกเจอหนาวนานต่อเนื่อง 15 วัน จะเกิดความเสียหายและมีความเสี่ยงต่อการประเมินผลผลิตที่แท้จริงได้ยาก ความไม่แน่นอนเรื่องผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดจึงสูง

ประการต่อมา คุณภาพทุเรียน เมื่อปลูกในช่วงหนาวมาก จะได้ทุเรียนเนื้อแฉะ สีไม่เข้ม ขณะที่ทุเรียนหอมอร่อยจะปลูกในอากาศร้อนชื้นอย่างไทย ดังนั้น ทุเรียนในจีนยังมีความเสี่ยงสูงและความคงที่ต่ำกว่าไทย

จึงเป็นประเด็นที่จีนต้องดูว่าจะประหยัดต้นทุนนำเข้าทุเรียนจากไทยแต่เจอทุเรียนความเสี่ยงในหลายด้านมากกว่าไทย เป็นข้อได้เปรียบของทุเรียนไทย ไม่แค่จีนปลูกทุเรียนเอง แต่ประเทศอื่นๆ จะเจอปัญหาไม่ต่างกัน จึงให้มั่นใจ ในวันนี้ทุเรียนคุณภาพดีสุดและอร่อย หอม หวาน ต้องปลูกและซื้อจากไทยเท่านั้น

ขณะที่ “นายสนอง ตรงชื่น” เจ้าของสวนทุเรียนรายใหญ่ในพื้นที่ ต.ชากโดน อ.แกลง จ.ระยอง กล่าวว่า เจ้าของสวนทุเรียนในพื้นที่ต่างๆ มีความกังวล หากคุณภาพ รสชาติ ทุเรียนของจีนมีความใกล้เคียงกับทุเรียนไทย ก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะประเทศจีนมีความพร้อมทั้งเทคโนโลยี พื้นที่ และเชื่อว่าคงจะมีการปลูกกันจำนวนมาก มีผลผลิตจำนวนมหาศาล จะส่งผลกระทบต่อการส่งออก และส่งผลกระทบ
เรื่องราคาทุเรียนจะลดลงอย่างแน่นอน แต่เกษตรกรสวนทุเรียนยังเชื่อมั่นในเรื่องคุณภาพและรสชาติของทุเรียนไทย ซึ่งเป็นต้นตำรับ ชาวสวนทุเรียนจึงจำเป็นต้องรักษาคุณภาพมาตรฐานทุเรียนไทย

นอกจากนี้ ต้องการให้ภาครัฐช่วยดูแลเรื่องต้นทุนโดยเฉพาะเรื่องราคาปุ๋ยและยาให้มีราคาที่ถูกลง เพื่อเป็นการลดต้นทุนและทำให้ราคาทุเรียนถูกลง จึงเป็นอีกหนึ่งทางที่จะสู้กับทุเรียนของประเทศจีนได้

ถือเป็นความท้าทายของทุเรียนไทยในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก [email protected] ได้ที่นี่

Line Image





Source link