ข่าวสารกรุงเทพฯ

ประมวลข่าวทั่วไทยประจำวันที่ 6 กรกฎาคม …



ประมวลข่าวทั่วไทยประจำวันที่ 6 กรกฎาคม 2566

ประมวลข่าวทั่วไทยประจำวันที่ 6 กรกฎาคม 2566

การเมือง/มั่นคง

กรอบเลือกนายกรัฐมนตรี 3 ครั้ง หาก 13 กรกฎาคมนี้ยังเลือกไม่ได้ จะนัดลงมติเลือก 19-20 กรกฎาคม

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ว่าที่รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 กล่าวว่า ได้กำหนดวันเลือกนายกรัฐมนตรีไว้วันที่ 13 กรกฎาคมนี้ หากไม่ได้จะให้เลือกรอบที่ 2 วันที่ 19 กรกฎาคม และรอบที่ 3 วันที่ 20 กรกฎาคมนี้ คาดว่า 3 วันนี้ น่าจะเพียงพอได้นายกรัฐมนตรีแล้ว แต่หากไม่ได้จะคุยกันใหม่โดยจะเปิดโอกาสให้ 3 ครั้งก่อน เพราะการเรียกประชุมรัฐสภาบ่อยๆ ซึ่งมีสมาชิกรัฐสภา 750 คน ค่อนข้างลำบาก เวลา 3 วัน ถือว่าเยอะแล้ว จึงอยากให้ได้ภายใน 3 วันนี้

ส่วนกรณีหากกำหนดไว้ 3 ครั้งแรกแล้ว ยังไม่ได้นายกรัฐมนตรีจะมีการพูดคุยกันใหม่อย่างไรขึ้นอยู่กับที่ประชุมรัฐสภา และ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล จะไปหารือกัน ซึ่งหากพูดคุยกันเป็นการภายในไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

ว่าที่รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ยอมรับว่า ยังไม่ทราบจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่แน่ชัดว่าจะลงมติสนับสนุนให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เท่าที่พูดคุยกับ ส.ว. มีเจตนาที่ดี ที่ต้องการให้การจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ประเทศชาติจะได้เดินหน้าได้

เศรษฐกิจ/ท่องเที่ยว

สัปดาห์นี้ สินค้าอุปโภคบริโภคหลายราคาปรับลดลงและทรงตัว ขณะที่ผลไม้ภาคใต้ ราคายังคงดีต่อเนื่อง

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยสถานการณ์ราคาสินค้า ประจำสัปดาห์นี้ว่า สินค้าเกษตรทรงตัวและเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวเปลือกปทุมธานี ราคาปรับขึ้นอยูที่ตันละ 11,650 บาท ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือกเหนียว ราคาทรงตัว มันสำปะหลัง ราคาเฉลี่ย 3.35-3.55 บาท/กิโลกรัม ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลดลงเล็กน้อย ราคา 11.33 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์ดี และปาล์มน้ำมัน ราคา 6.25 บาท ต่อกิโลกรัม

สำหรับกลุ่มเนื้อสัตว์ส่วนใหญ่ราคาลดลง โดยหมูเนื้อแดง กิโลกรัมละ 138-140 บาท ไก่น่องติดสะโพก เฉลี่ยกิโลกรัมละ 82 บาท อกไก่ 75 บาท และไข่ไก่ เฉลี่ยฟองละ 4.08 บาท เช่นเดียวกับผักสดที่ราคาลดลงต่อเนื่อง อาทิ ต้นหอม ผักชี และมะนาว ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภค ราคาทรงตัวและหลายรายการราคาลดลงตามการจัดโปรโมชัน

อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวอีกว่า ได้ติดตามสถานการณ์ผลไม้ในภาคใต้ที่กำลังออกสู่ตลาด พบว่าราคาปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทุเรียนเกรด AB ราคาปรับขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 145 บาท ตกเกรดอยู่ที่ 100 บาท/ กก. โดยขอให้เกษตรกรเน้นในเรื่องคุณภาพ อย่าตัดทุเรียนอ่อน เพื่อสร้างมาตรฐานให้กับทุเรียนไทยและส่งผลดีต่อราคา เนื่องจากขณะนี้ตลาดส่งออกมีความต้องการมากเพิ่มขึ้น หลังระบบขนส่งและโลจิสติกส์มีความคล่องตัว ทั้งนี้ ได้ประสานผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ เข้ามาช่วยเปิดพื้นที่ในหมู่บ้านและคอนโดมิเนียม เพื่อนำผลไม้จากภาคใต้เข้าไปจำหน่าย เป้าหมาย 5 หมื่นครัวเรือน ปริมาณ 5,000 ตัน เพื่อช่วยระบายผลผลิตอีกช่องทางหนึ่ง

ไทย-เกาหลี เชื่อมความสัมพันธ์ด้านการค้า ขยายการลงทุนระหว่างกัน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในโอกาสร่วมเปิดงาน G-FAIR ASEAN+ 2023 KOREA Sourcing (ซอร์สซิ่ง )Fair in Thailand ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ในประเทศไทย ว่า สาธารณรัฐเกาหลีและประเทศไทยมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมายาวนานกว่า 65 ปี ประชาชนของทั้ง 2 ประเทศมีความคุ้นเคยและใกล้ชิดกันทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ผ่าน Soft Power ด้านการท่องเที่ยว อาหาร และอุตสาหกรรมบันเทิง

โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา ไทยและเกาหลี มีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงถึง 16,525 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 576,625 ล้านบาท ขยายตัวจากปี 2564 ถึงร้อยละ 4.48 จึงมั่นใจว่าความร่วมมือที่ผ่านมา ทั้งความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี ตลอดจนการขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ที่ลงลึกสู่ระดับเมืองของประเทศคู่ค้า ในรูปแบบ “Mini FTA” ที่ได้ลงนามไปเมื่อปีที่แล้วกับจังหวัดคยองกี โดยเฉพาะการเชื่อมโยงธุรกิจคลัสเตอร์ด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีทันสมัยและความคิดสร้างสรรค์ จะยิ่งเชื่อมสัมพันธ์ทางการค้าและเพิ่มมูลค่าการค้าของทั้งสองประเทศขยายตัวและเติบโตอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการจัดงาน G-FAIR ASEAN+ 2023 ในครั้งนี้ มีผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี ความงาม ถึง 107 บูธ มาจัดแสดง จึงเชื่อมั่นว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือนำไปสู่การขยายโอกาสทางการค้าระหว่างผู้ประกอบการของทั้งสองประเทศอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต

ไทยส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ไปตลาดคู่ค้า FTA ในช่วง 5 เดือนแรก มูลค่ากว่า 177 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทย ในช่วง 5 เดือนแรกปี 2566 (ม.ค.-พ.ค.) พบว่า สินค้ากุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง เป็นสินค้าในกลุ่มสินค้าประมงที่มีศักยภาพและน่าจับตามอง รวมถึงการส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะส่งออกไปตลาดคู่ค้า FTA มีมูลค่า 177.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวถึงร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ.71.2 ของการส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งทั้งหมดของไทย ตลาดส่งออกที่ขยายตัวได้ดี อาทิ จีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง มาเลเซีย และเวียดนาม ขณะที่การส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งไปกลุ่มประเทศที่ไทยไม่มี FTA ลดลงริอยละ 31.6 ทั้งนี้ ในปี 2565 ไทยส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งเป็นอันดับ 9 ของโลก และอันดับ 3 ของอาเซียน

นางอรมน กล่าวว่า FTA ที่ไทยทำกับคู่ค้า 18 ประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้การส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งของไทยขยายตัวต่อเนื่อง โดยปัจจุบันคู่ค้า FTA 16 ประเทศ ได้ยกเลิกการเก็บภาษีกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งนำเข้าจากไทยทุกรายการแล้ว เหลืออีกเพียง 2 ประเทศคือ เกาหลีใต้และอินเดีย นอกจากนี้ กรมฯ อยู่ระหว่างเจรจา FTA กับหลายประเทศ อาทิ สหภาพยุโรป สมาคมการค้าเสรียุโรป แคนาดา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าไทยในตลาดโลก ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาความต้องการของตลาด สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งใช้ประโยชน์จาก FTA เป็นเครื่องมือขยายการส่งออกต่อไป

เกษตรกรรม/สิ่งแวดล้อม

กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนชาวนา ระวัง “เพลี้ยจักจั่นสีเขียว” ทำลายข้าวระยะแตกกอ

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในระยะนี้ข้าวนาปีในหลายพื้นที่อยู่ในระยะแตกกอ กรมส่งเสริมการเกษตร ขอเตือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี หมั่นสำรวจแปลงปลูกสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เฝ้าระวังเพลี้ยจักจั่นสีเขียว จะอพยพเข้าแปลงหลังข้าวขึ้นเป็นต้นกล้า และมีปริมาณมากที่สุดในช่วงข้าวเจริญทางลำต้นและใบ เพลี้ยจักจั่นสีเขียว ทั้งระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัย จะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและลำต้นข้าว โดยลักษณะต้นข้าวเริ่มชะงักการเจริญเติบโตและเหี่ยวแห้ง อาจทำให้ต้นข้าวตายได้ถ้ามีปริมาณมาก และยังเป็นพาหะนำโรคใบสีส้มสู่ต้นข้าวด้วย ทำให้ต้นข้าวแคระแกร็น ใบเหลือง ข้าวออกรวงไม่สม่ำเสมอ ทำให้ผลผลิตมีโอกาสเสียหายและได้ปริมาณลดลง

นอกจากนี้ การปลูกข้าวพันธุ์ต้านทานเพลี้ยจักจั่นสีเขียว เช่น สุพรรณบุรี 60 สุพรรณบุรี 90 พิษณุโลก 2 เป็นต้น จะช่วยลดโอกาสที่นาข้าวจะถูกศัตรูพืชเข้ามาทำลาย สร้างความเสียหายแก่ผลผลิตด้วย สำหรับการใช้กับดักแสงไฟล่อตัวเต็มวัยมาทำลาย หรือการใช้ชีวภัณฑ์ฉีดพ่นแปลงปลูกข้าวในบริเวณที่พบเพลี้ยจักจั่นสีเขียวในช่วงเวลาเย็น จะช่วยกำจัดศัตรูพืชได้อย่างปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ควรใช้สารป้องกันกำจัดแมลงตามคำแนะนำของกรมการข้าว ได้แก่ บูโพรเฟซิน หรือไดโนทีฟูแรน หรืออีโทเฟนพรอกซ์

สังคม

เปิดรับเสนอชื่อบุคคลเพื่อรับรางวัลการทูตสาธารณะ ประจำปี 2566 ถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้

นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงการเสนอชื่อบุคคลเพื่อรับรางวัลการทูตสาธารณะ ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นรางวัลที่กระทรวงการต่างประเทศและมูลนิธิไทย ตั้งขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กร ที่ดำเนินงานด้านสาธารณประโยชน์ มนุษยธรรม กีฬา หรือนวัตกรรม จนสามารถสร้างชื่อเสียงแก่คนไทยและประเทศไทย ทำให้เกิดแฟนคลับต่อคนไทยและประเทศไทย

โดยในปีนี้ จะสามารถเสนอชื่อบุคคล กลุ่มบุคคล และองค์กรต่างประเทศเพื่อรับรางวัลนี้ได้ แต่ผู้ถูกเสนอชื่อจะต้องให้ความยินยอมทั้งในด้านการเข้ารับพิจารณาตัดสินและการรับรางวัลด้วย ซึ่งคณะกรรมการที่พิจารณาการให้รางวัลการทูตสาธารณะ ประกอบด้วย ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนมูลนิธิไทย ผู้แทนภาควิชาการและภาคประชาสังคม รวมทั้งสื่อมวลชน จำนวน 9 คน สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลการทูตสาธารณะ จะได้รับการประกาศเกียรติคุณ ได้รับถ้วยรางวัลที่จารึกชื่อผู้รับรางวัล ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 3 แสนบาท รวมถึงมีการจัดทำแผ่นป้ายเกียรติยศจัดแสดงไว้ที่กระทรวงการต่างประเทศด้วย

ทั้งนี้ สามารถเสนอชื่อผู้เข้ารับรางวัลการทูตสาธารณะ ได้จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ โดยคณะกรรมการฯ จะมีการพิจารณาคัดเลือกและประกาศผลผู้ตัดสินผู้ได้รับรางวัลภายในเดือนกันยายน 2566 นี้ ส่วนพิธีมอบรางวัลจะประกาศให้ทราบในโอกาสต่อไป

มหกรรมสุขภาพผู้สูงอายุ ครั้งที่ 4 กระตุ้นให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญรองรับสังคมสูงวัย

สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ จะจัดงานมหกรรมสุขภาพผู้สูงอายุ ครั้งที่ 4 ภายใต้ชื่อ การประชุมวิชาการเวชศาสตร์และวิทยาการด้านผู้สูงอายุ The 4th Thailand Elderly Health Service Forum 2023 อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยธีมงานในปีนี้คือ Aging in Place: The Meanings of Aging in Place เพื่อร่วมกระตุ้นให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน ท้องถิ่น ตลอดจนภาคประชาสังคม ตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมพร้อมทุกด้านเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ในบริบทของสังคมไทย

ภายในงานมีกิจกรรมออกบูธนิทรรศการวิชาการและการให้บริการสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุจากโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ เช่น การคัดกรองความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อม ตรวจสุขภาพตาในผู้สูงอายุ บริการทำสปาเปลือกตา การอัลตร้าซาวด์หลอดใหญ่ที่คอ บริการคัดกรองโรคผิวหนัง การตรวจสุขภาพสำหรับวัยทำงานก่อนเกษียณ บริการตรวจสุขภาพเท้า ตลอดจน บูธนิทรรศการจากองค์การเภสัชกรรม บูธกิจกรรมจาก สสส. บูธให้คำปรึกษาทางด้านการเงินและการออม ตลอดจนบูธนิทรรศการด้านสุขภาพผู้สูงอายุกระทรวงสาธารณสุข อาทิ กรมสุขภาพจิต กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมที่สำคัญคือ การเสวนาเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุระดับประเทศ ทั้งด้านสุขภาพ นโยบาย สังคม ท้องถิ่น สิ่งแวดล้อม กฎหมาย การเงิน และการใช้ชีวิตในวัยสูงอายุได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

กรมอนามัย ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในช่องปาก ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในการเป็นประธานการประชุมวิชาการทันตสาธารณสุขแห่งชาติ ครั้งที่ 9 พ.ศ. 2566 “บริบทใหม่กับการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากคนไทย” ว่า การประชุมนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในช่องปาก รวมถึงเป็นเวทีเพื่อนำเสนอผลงานวิชาการเชิงรูปแบบและนวัตกรรมด้านทันตสาธารณสุขในทุกช่วงวัย

จากข้อมูลองค์การอนามัยโลกในปี 2561 พบประชาชนทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มากถึงร้อยละ 71 สำหรับประเทศไทยพบการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มากถึงร้อยละ 74 และยังพบปัญหาเด็กเกิดน้อยลง โดยปี 2565 ไทยมีเด็กเกิดใหม่ 502,107 คน ซึ่งเป็นจำนวนเพียงครึ่งหนึ่งของการเกิดเมื่อ 50 ปีก่อน สำหรับปัญหาสุขภาพช่องปากยังคงเป็นปัญหาสำคัญ โดยพบเด็กไทยอายุ 3 ปี ร้อยละ 52.9 และเด็กอายุ 5 ปี ร้อยละ 75.6 มีประสบการณ์ฟันน้ำนมผุ ส่วนเด็กวัยเรียนและเยาวชนอายุ 12 ปี ร้อยละ 52 มีประสบการณ์การเกิดโรคฟันแท้ผุ ส่วนกลุ่มวัยทำงานอายุ 35 – 44 ปี มีปัญหาสภาวะปริทันต์ที่พบการอักเสบของเหงือก มีเลือดออกง่าย ร้อยละ 51.0 และปัญหาโรคฟันผุที่ยังไม่ได้รับการรักษาร้อยละ 43.3 ผู้สูงอายุ พบว่า มีฟันถาวรใช้งานได้อย่างน้อย 20 ซี่ เพียงร้อยละ 56.1 ที่ผ่านมากรมอนามัยได้ดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะด้านทันตสาธารณสุข ได้ปรับรูปแบบการบริหารจัดการระบบสาธารณสุขยุคใหม่ ที่เพิ่มการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยในการดำเนินงานส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน รวมทั้งปรับบริการส่งเสริมสุขภาพที่จำเพาะกับบุคคล ด้วยเวชศาสตร์วิถีชีวิตใช้ Digital technology ในการสร้าง Health Literacy โดยพัฒนา Digital Health Book และสร้างนิเวศใหม่ในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ ซึ่งทั้งหมด เป็นสิ่งที่ทันตบุคลากรและบุคลากรสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องควรตระหนัก รับรู้ และปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ตลอดจนประยุกต์ใช้กระแสการเปลี่ยนแปลงให้เป็นประโยชน์ เพื่อช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างเหมาะสม ซึ่งผลงานวิจัยในงานประชุมครั้งนี้ จะสามารถนำไปต่อยอดเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดียิ่งขึ้นต่อไป




ข้อมูลข่าวและที่มา

ผู้สื่อข่าว : ธนพิชฌน์ แก้วกา

ผู้เรียบเรียง : ธนพิชฌน์ แก้วกา

แหล่งที่มา : หน่วยงานสำนักข่าว



Source link