ข่าวสารกรุงเทพฯ

ผีน้อย : แกะรอยเส้นทางคนไทยเข้าเกาหลีใต้ผิดกฎหมายระลอกล่าสุด – BBC News ไทย


ธันยพร บัวทอง

ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

แรงงานไทยในเมืองมกโพเมื่อปี 2020 (ภาพนี้ไม่เกี่ยวกับสถานการณ์แรงงานไทยในข่าวนี้) 

“ไปเกาหลีช่วงไหนผ่าน ตม. ง่ายที่สุด” หญิงไทยรายหนึ่งโพสต์ข้อความถามในกลุ่มหางานภาคเกษตรในเกาหลีใต้บนเฟซบุ๊ก

ข้อความเหล่านี้ หาได้ไม่ยากบนโซเชียลมีเดียในไทย เมื่อค้นคำว่า “หางานเกาหลี” คำถามถึงวิธีการเข้าเกาหลียังไงให้ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) หรือลงทะเบียนระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอนุมัติการเดินทางเข้าเกาหลีใต้สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางประเทศที่มีความตกลงยกเว้นวีซ่า (K-ETA) ยังไงให้ผ่าน ก็ปรากฏขึ้น ประกาศหาแรงงานชาวไทยไปทำงานต่าง ๆ ก็หาได้ไม่ยากเช่นกัน

“ช่วงที่เราดวงดีที่สุดค่ะ” หนึ่งในข้อความตอบโพสต์นี้ ระบุ

“เอเจนซี (นายหน้า) ต้มตุ๋นเยอะนะคะ โดนหลอกกันเยอะ อย่าเข้ามาเลย รอใกล้ ๆ ปีใหม่ ไม่ใช่ช่วงท่องเที่ยวจะผ่านยากหน่อย…” สมาชิกในกลุ่มหางานเกาหลีกลุ่มหนึ่ง ตอบ

หลังสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ดีขึ้น หลาย ๆ ประเทศกลับมาเปิดรับผู้คนเข้าประเทศทั้งเที่ยวและทำงาน รวมถึงเกาหลีใต้ ที่เพิ่งเปิดประเทศเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา แต่ต้องกรอกข้อมูลเข้าประเทศผ่านระบบ K-ETA

แต่สำหรับที่เกาะเชจู หนึ่งในจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวในเกาหลีใต้ ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเมืองโดยไม่ต้องขอตรวจลงตราวีซ่าล่วงหน้า เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ แน่นอนว่าเกาะเชจูจึงเป็นปลายทางของคนไทยที่ต้องการเข้าไปทำงานในเกาหลี

ข่าวคนไทยถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าเมืองที่ด่าน ตม. เกาะเชจู ในเดือน ส.ค. 2565 กลับมามีจำนวนมากอีกครั้ง สำนักงานแรงงานไทย ณ กรุงโซล ให้ข้อมูลกับบีบีซีไทยว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 2-22 ส.ค. ที่ผ่านมา มีคนไทย 1,504 คน เดินทางมายังเกาะเชจู แต่ในจำนวนนี้ มีผู้ที่ถูกปฏิเสธการเดินทางเข้าเกาะเชจูถึง 855 คน หรือเกินกว่าครึ่งหนึ่งของคนไทยที่บินไป

ตัวเลขที่น่าสนใจคือ ในผู้ที่ได้รับการอนุมัติให้เดินทางเข้าเกาะเชจู 649 คน มีจำนวน 101 คน ที่หลบหนีออกนอกเส้นทาง หรือที่เรียกกันว่า “โดดทัวร์”

คำบรรยายภาพ,


เดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ปรากฏข่าวคนไทยถูกปฏิเสธเข้าเมืองจากด่านตรวจคนเข้าเมืองเกาะเชจู ของเกาหลีใต้ จำนวนมาก

การใช้แรงงานเพื่อแลกกับรายได้ที่สูงกว่าเมืองไทยหลายเท่าตัว ยังคงดึงดูดให้คนไทย พาตัวเองไปเสี่ยงลักลอบเข้าไปเป็นแรงงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้หรือ “ผีน้อย” ในช่วงที่เกาหลีใต้กลับมาเปิดประเทศหลังโควิดอีกครั้ง  

ฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล ระบุว่า ในเกาหลีใต้มีคนไทยที่พำนักแบบผิดกฎหมายอยู่ 139,245 คน ขณะที่คนไทยที่พำนักอย่างถูกกฎหมายมี 42,538 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานถูกกฎหมายตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (Employment Permit System: EPS) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและเกาหลีใต้ ทั้งสิ้น 17,033 คน และกลุ่มที่ขอวีซ่าทำงานระยะสั้น (วีซ่า C-4) อีกกว่า 23,400 คน

พวกเขามีความหวังอะไรที่ต้องไปด้วยวิธีการเช่นนี้ ทั้งที่หลายรายก็โดนหลอกสูญเงินหลายหมื่นบาท หลายรายเสี่ยงเอาดาบหน้าลุ้นให้ผ่าน ตม. เข้าไป เพื่อหวังว่าจะได้ทำงานแลกรายได้ที่ดีกว่าในประเทศบ้านเกิด

“สาว” (ขอสงวนชื่อจริง) หญิงวัย 38 ปี ชาวนาและเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูจาก จ.พิจิตร เป็นผู้หนึ่งที่ติด ตม. เกาหลีเมื่อเดือน ส.ค. เธอคือหนึ่งในผู้ที่ต้องการไปเกาหลีเพื่อแสวงหางานที่มีรายได้ดีกว่า

เงินจากการขายข้าว 2 ครั้งต่อปี รายได้เลี้ยงหมู และงานรับจ้างทั่วไปที่ทำทุกอย่าง ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายของทั้งครอบครัว ทั้งการใช้หนี้เงินกู้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ที่กู้มาทำนาดอกเบี้ยปีละ 10,000 กว่าบาท ใช้คืนเงินกองทุนหมู่บ้าน ผ่อนค่างวดรถ ยังไม่นับการกินการอยู่ของครอบครัวที่มีลูกอีก 2 คน

สาวบอกว่า การทำนาปีนี้ ค่าใช้จ่ายเรื่องปุ๋ย ยา และน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ทำให้เธอเริ่มคิดเรื่องจะไปหางานทำที่เกาหลีราว ๆ เดือน เม.ย. ที่ผ่านมานี้ แต่ด้วยอายุที่มาก และไม่ได้ภาษา สาวจึงเลือกหนทางเช่นแรงงานไทยหลาย ๆ คนทำ

แม่ของลูกชาย 2 คน หาข้อมูลการไปทำงานที่เกาหลีใต้ตามยูทิวบ์ และยืมเงินคนรู้จัก 30,000 กว่าบาท เป็นค่าซื้อทัวร์ ส่วนงานที่จะไปทำ สาวบอกว่าจะหาเมื่อผ่าน ตม. เข้าไปได้แล้ว แต่การเข้าเกาหลีไม่ได้ ทำให้เธอจำต้องแบกความผิดหวังกลับบ้าน

“จะไปหา (งาน) เอาข้างหน้า เห็นเขาโพสต์เยอะ…” สาว ตอบบีบีซีไทย พร้อมบอกว่า จะเป็นงานอะไรเธอก็พร้อมทำได้ทุกอย่าง

เราถามต่อว่า หากครั้งนั้นผ่าน ตม. จะทำอย่างไรต่อ ถ้าไม่หางานไว้ล่วงหน้า

“จะลองดูตามที่เขามี มีอะไรก็ทำ…อยู่บ้านก็ลำบาก แต่คงไม่มีอะไรลำบากกว่านี้แล้ว” สาว กล่าว

ส่วนเงินเพื่อซื้อใบเบิกทางไปเกาหลีที่ลงท้ายที่ห้อง ตม. ก้อนนั้น สาวก็ไม่ได้รับคืน

บนเฟซบุ๊กของสาว ในเดือน ก.ย. ขณะที่ร่องมรสุมทำให้ฝนตกหนักทั่วไทย เธอโพสต์ภาพต้นข้าวในทุ่งนาที่กำลังตั้งท้อง พร้อมกับความหวังว่า ปีนี้น้ำฝนจะไม่มากเกิน เพื่อให้ข้าวรอดให้เก็บเกี่ยว

ทัวร์เกาะเชจูที่ลงท้ายในห้อง ตม.

“นุช” นามสมมติ หญิงวัย 38 ปี ประกอบอาชีพค้าขาย บอกกับบีบีซีไทยว่า เธอซื้อทัวร์ไปเที่ยวเกาหลีใต้กับสามี โดยจองผ่านบริษัททัวร์แห่งหนึ่งตั้งแต่เดือน ก.ค. ราคาแพ็คเกจทัวร์คนละ 22,000 บาท 4 วัน 2 คืน และได้เดินทางในวันที่ 8 ส.ค. ในเที่ยวบินเช่าเหมาลำสายการบินเชจูแอร์ไลน์

เมื่อไปถึงสนามบินสุวรรณภูมิ นุชและสามี ถูกเรียกเก็บเงินค่าทิปไกด์อีกคนละ 1,200 บาท และเงินอีกคนละ 10,000 บาท โดยไกด์อ้างว่าเป็นค่าประกันโดดทัวร์ หากติด ตม. จะไม่ได้รับเงินคืน ด้วยความบริสุทธิ์ใจ เธอจึงจ่ายเงินให้กับบริษัททัวร์ แต่ก็สังเกตเห็นว่ามีกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีการเก็บประกันการโดดทัวร์แต่อย่างใด

“ต้องจ่ายก่อน ถ้าไม่จ่ายไม่ให้เช็คอิน พี่กับแฟนก็จ่ายกันไปคนละหมื่น” นุช กล่าว “เขาบอกว่าเป็นประกันโดดทัวร์ เป็นประกันว่า เราไปกับเขาแล้วจะไม่หนีไปทำงาน”

เมื่อเดินทางถึงสนามบินเชจู ด่าน ตม. ได้เรียกตรวจเอกสาร มีลูกทัวร์ผ่านเข้าไปได้พร้อมกับไกด์กลุ่มหนึ่ง แต่นุชถูก ตม. เรียกเก็บหนังสือเดินทางและเข้าไปยังห้องของ ตม.

“เราดูข่าวคนติดเยอะมาก แต่ด้วยความมั่นใจ เราเตรียมเอกสารไปครบทุกอย่าง พอไปถึงปุ๊ปมีคนที่ผ่านไปก่อนพร้อมไกด์ ประมาณ 25-30 คนได้ จากนั้นมา พอมากลุ่มพวกพี่ ตม. เรียกเข้าห้องเย็นหมดเลยค่ะ ยื่นพาสปอร์ตปุ๊ป ไม่ได้ถามอะไร เรียกเข้า ๆ เลยค่ะ แล้วก็สัมภาษณ์ทีละคน ๆ” นุชเล่า

นุชบอกว่า มีคนไทยติดที่ด่าน ตม. กับเธอเกือบ 100 คน จากจำนวนคนในเที่ยวบินเหมาลำ 180 คน เจ้าหน้าที่ ตม.เกาหลี บอกว่าหากอยากผ่านเข้าไปได้ ต้องเรียกไกด์นำทัวร์มาเซ็นรับรอง แต่นุชติดต่อไกด์ไม่ได้ทุกช่องทาง เมื่อกลับมาไทย นุชต้องการเรียกร้องความเป็นธรรม ให้บริษัททัวร์รับผิดชอบกับค่าใช้จ่ายที่เสียไป โดยที่เธอไม่ได้เที่ยวแต่อย่างใด

ผู้เสียหายจากการติด ตม.เกาหลี กลุ่มที่ไปร้องกับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) บอกตรงกันว่า ทัวร์มีการเรียกเก็บเงินประกันโดดทัวร์เกาหลีเช่นกัน 

บีบีซีไทยสอบถามไปยังบริษัททัวร์ดังกล่าว ได้รับคำชี้แจงว่า ไม่ได้เก็บทุกเที่ยวบิน แต่จะพิจารณาจาก “หน้างาน” โดยดูจากผู้ซื้อทัวร์ และหนังสือเดินทาง ผู้ที่ไม่มีประวัติเดินทางบนหน้าพาสปอร์ตเลยจะมีความเสี่ยง

“ถ้าเป็นช่วงนี้ก็เก็บ ส่วนใหญ่จะเป็นโซนต่างจังหวัด ภาคอีสาน แต่ว่าถ้าดูแล้ว ลูกค้ามีเอกสาร การงานชัดเจน เราก็ไม่เก็บ” นอกจากนี้ตามปกติผู้นำทัวร์หรือไกด์จะไม่เซ็นรับรองให้ลูกทัวร์อยู่แล้ว

“ถ้าเซ็นแล้วลูกค้าโดด (ทัวร์) ไกด์ก็ติดแบล็กลิสต์ทำงานไม่ได้ เราไม่สามารถทราบได้เลยว่าลูกค้าจะไปเที่ยวแล้วกลับมา”

ระลอกใหม่ของแรงงานไทยลักลอบเข้าเกาหลี

สถานการณ์แรงงานไทยลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายในเดือน ส.ค. ที่มีจำนวนมากกว่าช่วง 2-3 เดือนก่อนหน้านี้ เป็นเพราะว่า เกาหลีใต้เพิ่งจะกลับมาเปิดให้นักท่องเที่ยวไทยเดินทางท่องเที่ยวที่เกาะเชจูได้ โดยไม่ต้องใช้วีซ่าและไม่ต้องสมัคร K-ETA

ฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล ระบุกับบีบีซีไทย ว่า นี่จึงเป็นเหตุให้ในเดือน ส.ค. 2565 มีคนไทยเดินทางเข้ามาเกาะเชจูจำนวนมากและถูกปฏิเสธเข้าเมืองจำนวนมากตามไปด้วย

“ตม. สัมภาษณ์คนไทยรายบุคคลแล้วพบว่า คนไทยเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะไม่ได้เดินทางเข้าเกาหลีใต้เพื่อจุดประสงค์การท่องเที่ยว แต่อาจลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมาย หรือมีประวัติที่มีญาติพำนักในเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมาย ถูก ตม. เกาะเชจูปฏิเสธไม่ให้เดินทางผ่านเข้าเกาะเชจู” ฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล ระบุ

ข้อมูลจากเอกสาร ตม.เกาหลีใต้ ระบุว่า จากจำนวนคนที่ถูกปฏิเสธจาก ตม. เกาะเชจู 855 คน เป็นผู้ที่มีประวัติไม่ได้รับการอนุมัติในการลง K-ETA จำนวน 749 คน

นุชระบุด้วยว่า เมื่อให้ผู้เสียหายแต่ละคน แจกแจงค่าเสียหายจากทัวร์หลังจากกลับถึงไทยแล้ว ทำให้พบว่าแต่ละคนจ่ายเงินไปมากน้อยแตกต่างกัน ตั้งแต่ 80,000 บาท จนถึงหลักแสน

“มีคนที่เป็นชาวไร่ชาวนา แม่ค้าบ้าง บางคนอยู่ภาคอีสานที่พ่อต้องขายวัวขายควายเอาเงินมาให้ บางส่วนก็ยืมเงินมา แต่กลัวความผิด จึงไม่กล้าให้ข้อมูลกับตำรวจ”

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

คนงานไทยเก็บเกี่ยวกะหล่ำในฤดูกาลกินกิมจิเมื่อเดือน พ.ย. 2020 ที่ฟาร์มแห่งหนึ่งในเมืองมกโพ จ.ชอลลาใต้

การใช้เงินก้อนใหญ่เพื่อเป็นใบเบิกทางไปสู่รายได้ที่สูงกว่าเมืองไทย อีกด้านหนึ่ง ก็มีคนหางานในเกาหลีที่ถูกนายหน้าหลอกอีกทอดหนึ่งด้วย

“มีบางคนที่เอเจนซี (นายหน้า) ยอมคืนเงินให้ เขาเลยไม่เอาเรื่อง คือ คืนประมาณครึ่งนึง ถ้าได้คืน 40,000 เขาก็ไม่ติดใจแล้ว แต่บางคนที่เสียเป็นแสน เอเจนซีก็ติดต่อไม่ได้…แต่ไม่มีหลักฐานอะไร เพราะเขาให้ลบก่อนขึ้นเครื่อง”

เจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดแห่งหนึ่งในภาคอีสาน บอกกับบีบีซีไทยว่า ช่วงที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่ไปให้ความช่วยเหลือแรงงานที่เสียเงินจำนวนมากให้ “นายหน้า” ส่งไปทำงานเกาหลี แต่ไม่ได้แม้แต่เดินทาง

เจ้าหน้าที่จัดหางานรายนี้ บอกว่า แรงงานเหล่านี้รู้ดีว่าเป็นการไปอย่างผิดกฎหมาย “แต่ด้วยเงินที่มาก ทำให้พร้อมที่จะเสี่ยง”

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่ากลุ่มแรงงานเหล่านี้จะตั้งใจไปด้วยวิธีผิดกฎหมายทุกคน เขาเล่าว่า มีกลุ่มแรงงานที่พยายามตรวจสอบนายหน้าจัดหางานเช่นกัน

สำหรับผู้ที่ร้องเรียนนายหน้าจัดหางาน หากเป็นประเทศเกาหลีใต้ คนที่ต้องการเข้าเกาหลีเพื่อลักลอบทำงานส่วนมากไม่ได้เดินทาง ส่วนผู้ที่ไม่ผ่าน ตม. นั้นไม่กล้าเข้ามาร้องเรียน ขณะที่จำนวนเงินที่แรงงานต้องเสียให้นายหน้ามีตั้งแต่ 50,000-120,000 บาท

วัดดวง

กว่า 5 ปี แล้วที่ ศักดา (ขอสงวนชื่อจริง) ชาว จ.หนองบัวลำภู วัย 36 ปี ไปทำงานที่เกาหลีใต้ด้วยวิธีการลักลอบอยู่อย่างผิดกฎหมาย โดยไปพร้อมกับภรรยา และญาติอีกคนหนึ่ง  

ญาติของศักดา หากู้เงินมาให้คนละ 60,000 บาท โดยจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 5 เพื่อเป็นค่าเครื่องบิน และค่าโรงแรม เขาบอกว่า “เป็นดวง” ของเขาที่สามารถผ่าน ตม. ที่กรุงโซล เข้าไปได้ เขาเดินทางพร้อมกับเตรียมหนังสือท่องเที่ยว กับแผนท่องเที่ยวเกาหลีอย่างละเอียดแนบไปกับหนังสือ เมื่อด่านแรกผ่านแล้ว เขาว่าจ้างรถแท็กซี่ไปยังจุดนัดหมายของคนรู้จัก ในเมืองที่ห่างออกไปทางเหนือ 3 ชม.

ศักดาบอกว่า เลือกไปเช่นนั้น เพราะว่าลูกพี่ลูกน้องภรรยาที่พยายามไปทำงานเกาหลีอย่างถูกกฎหมาย ลงเรียนภาษาเกาหลีหมดเงินเป็นแสนบาท แต่รอไปทำงานนานกว่า 1 ปี กลับไม่มีวี่แววว่าจะได้เดินทาง ส่วนญาติที่เคยไปอย่างถูกต้อง เมื่อหมดสัญญาแล้ว กว่าจะได้กลับไปทำงานตามสัญญาใหม่อีกครั้งก็รอนานถึง 1 ปี

“ที่เลือกมาเป็นผีเพราะว่าลูกพี่ลูกน้องเขาลงทุนไปเยอะแล้วเขาไม่ได้บิน…” ศักดา กล่าว พร้อมบอกว่า ลูกพี่ลูกน้องรายนั้น ก็ลงเอย ด้วยการมาเป็น “ผี” เหมือนกัน

คำบรรยายภาพ,

ฟาร์มหมูที่ศักดา ทำงานอยู่กับญาติคนไทยอีกหนึ่งคน

ศักดาเริ่มงานแรกที่สวนแตง ด้วยเงินค่าจ้าง 1.3 ล้านวอน ต่อเดือน หรือประมาณ 34,325 บาท ในระหว่าง 5 ปีที่อยู่ เขาโยกย้ายไปทำสวนดอกไม้ในภาคใต้ ก่อนเปลี่ยนมาทำงานในฟาร์มหมูแห่งหนึ่งใน จ. คยองซังนัมโด ตอนนี้เขาได้รับเงินเดือน 3 ล้านวอน  หรือเป็นเงินไทยประมาณ 79,270 บาท ทำให้ศักดามีเงินส่งกลับบ้านที่ไทยได้เดือนละ 60,000 บาท

“ถ้าทำอยู่เมืองไทย พ่อแม่เราจะได้จุนเจือไหม” เขากล่าวถึงพ่อแม่ที่เป็นชาวนา

“ทุกคนหวังเพื่อให้ครอบครัวดีขึ้น ทุกวันนี้ ใครก็อยากมา พอได้เปิดประเทศ อยากจะเข้า อยากจะเสี่ยงมา”

ศักดามองว่า หากนายจ้างชาวเกาหลีไม่ต้อนรับแรงงานผิดกฎหมายอย่างเขา ก็คงไม่มีผีน้อยเยอะเช่นนี้ แรงงานเหล่านี้เป็นที่ต้องการเพราะค่าแรงที่ถูกกว่าการใช้แรงงานถูกกฎหมาย ที่นายจ้างต้องเสียเงินส่วนหนึ่งให้กับรัฐ

“ถ้าถามว่า ผีกับ วี (แรงงานถูกกฎหมายได้วีซ่า) มันต่างกันตรงไหน สำหรับผม หาจุดต่างแทบไม่เจอ เจอแค่ว่า จะไปมาต้องระวังตัว” ศักดา เล่าประสบการณ์ที่เขาได้เจอมา พร้อมแสดงความเห็นว่าในยุคที่มีโซเชียลมีเดียที่ใครจะเปิดเผยเรื่องอะไรก็ได้ ทำให้ลูกจ้างต่อรองกับนายจ้างได้มากขึ้น

คำบรรยายภาพ,

จ. คยองซังนัมโด ที่ศักดาทำงานอยู่

อุปสรรคอะไรที่ทำให้คนไทยต้องไปเป็น “ผีน้อย”

เหตุที่คนไทยลักลอบไปเป็นแรงงานผิดกฎหมายในเกาหลี นั่นเป็นเพราะว่าช่องทางการไปอย่างถูกต้องมีต้นทุนสูงเกินไปหรือเปล่า และโอกาสที่จะไปได้นั้นมีแค่ไหน

นายโอวาท ทองบ่อมะกรูด ผอ. กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน ให้ข้อมูลกับบีบีซีไทยว่า ผู้ที่สมัครไปทำงานที่เกาหลีใต้ตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS) และได้รับการอนุมัติข้อมูลบัญชีรายชื่อเพื่อเสนอให้นายจ้างพิจารณาคัดเลือก ไม่ได้รับรองว่าผู้สมัครจะได้รับการคัดเลือกให้เดินทางไปทำงานที่เกาหลีใต้ทุกคน

“ที่ผ่านมา ผู้ที่สอบผ่านการทดสอบภาษาเกาหลีต้องประสบกับความล่าช้ากว่าจะได้รับการเรียกตัวไปทำงาน โดยเฉพาะแรงงานเพศหญิงที่ต้องรอนานกว่าแรงงานเพศชาย ซึ่งความล่าช้าดังกล่าว เป็นสาเหตุหนึ่งที่เป็นแรงจูงใจให้แรงงานไทยลักลอบเข้าไปทำงานในเกาหลีอย่างผิดกฎหมายมากขึ้น”

ผอ. กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กล่าวด้วยว่า ระบบ EPS มีกฎหมายให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของแรงงานต่างชาติที่เข้าไปทำงานเทียบเท่าแรงงานคนเกาหลี ถึงแม้ว่าระบบดังกล่าวอาจมีเงื่อนไขในเรื่องความล่าช้าในการจัดส่ง และมีข้อจำกัดด้านอายุ แต่โดยรวมแล้วถือว่าเป็นระบบที่ดีที่สุดด้านสภาพแวดล้อมการทำงานและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

สำหรับแรงงานไทยที่จะไปเกาหลีระลอกหลังโควิด สำนักงานแรงงานไทย ณ กรุงโซล ระบุกับบีบีซีไทยว่า จากสถานการณ์โควิด เกาหลีใต้ได้ระงับการจัดส่งแรงงานต่างชาติในบางประเทศ และถูกลดจำนวนการจัดส่งในแต่ละครั้งลง จึงสามารถมองได้ว่าด้วยข้อจำกัดจากสถานการณ์โควิด จึงอาจทำให้มีแรงงานรอเดินทางนานขึ้น

รัฐบาลเกาหลีใต้ กำหนดเกี่ยวกับเพดานอายุของแรงงานถูกกฎหมาย จะต้องมีอายุไม่เกิน 39 ปีนั้น โดยทางฝ่ายแรงงาน เห็นด้วยในการปรับขยายเพดานอายุขั้นสูงของแรงงานต่างชาติ

“ฝ่ายแรงงานฯ ได้หยิบยกการปรับอายุขั้นสูงของแรงงานต่างชาติในทุกโอกาสที่จะสามารถแสดงความคิดเห็นกับทางสาธารณรัฐเกาหลีได้ เพื่อให้แรงงานไทย สามารถเดินทางมาทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีได้นานมากขึ้น” สำนักงานแรงงานไทย ณ กรุงโซล ชี้แจงกับบีบีซีไทย

เมื่อปี 2563 มูลนิธิทอมสัน รอยเตอร์ อ้างรายงานจากสถานทูตไทยในกรุงโซลว่า ตั้งแต่ปี 2558 หรือในช่วง 5 ปี มีแรงงานไทย 522 คน เสียชีวิตในเกาหลีใต้ ในจำนวนนี้ 84% ไม่พบเอกสารการทำงานอย่างถูกต้อง และ 4 ใน 10 ของผู้เสียชีวิตไม่มีการระบุสาเหตุที่แท้จริงของการเสียชีวิต ขณะที่รายอื่น ๆ เสียชีวิตด้วยเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพ อุบัติเหตุ และการฆ่าตัวตาย

หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายลงแล้ว แรงงานไทย ยังคงเสี่ยงที่ไปแสวงหาโอกาสในเกาหลีใต้ดังเช่นในช่วงก่อนหน้านี้ แม้การไปอย่างผิดกฎหมาย พวกเขาและพวกเธอจะมีความเสี่ยง ทั้งการถูกจับกุมและการเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วยก็ตาม



Source link