“พิทักษ์ 1” ต้นฉบับหลักสูตร Active Shooter ไทย หัวใจคือการ Stop The Killing
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.เคยให้สัมภาษณ์ทีมข่าว “MGR EXCLUSIVE” ถึงกรณีการฝึกอบรมซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ Active Shooter ที่เจ้าตัวได้รับการฝึกจาก FBI สหรัฐอเมริกา มาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2563 การพูดคุยครั้งนั้น “พิทักษ์ 1” นามว่า “ต่อศักดิ์” ยังครองยศ พลตำรวจตรี ดำรงตำแหน่งเป็นแค่ รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
ใจความสำคัญของการมอบประสบการณ์ผ่านรายงานสกู๊ปพิเศษ เมื่อเกือบ 4 ปีที่แล้ว “บิ๊กต่อ” ได้ถอดบทเรียนมาจากคดี “ผอ.กอล์ฟ” ปล้นร้านทองในห้างสรรพสินค้า ที่ จ.ลพบุรี และ ปฏิบัติการปลิดชีพ “จ่าคลั่ง” ที่ห้างเทอร์มินอล 21 จ.นครราชสีมา ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นห่างกันแค่ไม่กี่วัน
ตอนนั้นเจ้าตัวเล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะสายตรวจเข้าใจหลักการของยุทธวิธีการหยุดยั้งคนร้ายให้ได้ก่อนความสูญเสียจะลุกลามบานปลาย ผ่านหลักสูตร Active Shooter ที่ตัวเองเคยได้มีโอกาสฝึกฝนกับ FBI มาก่อนหน้านั้นนานถึง 4 ปี
“บิ๊กต่อ” แย้มว่า หลังฝึกจบตอนนั้นยังคิดเป็นเรื่องไกลตัว เพราะไม่เคยมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในบ้านเรา แต่พอเกิดเรื่อง “ผอ.กอล์ฟ” กับ “จ่าคลั่ง” ขึ้น จึงได้ร่างหลักสูตร Active Shooter เป็นภาษาไทยมอบหมายให้ “ตำรวจมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904” เป็นวิทยากรชุดแรก เพื่อทำโครงการนำเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศได้รับการฝึก
ต่อมาก็มีการขยายความร่วมมือกับสถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย และ หัวหน้า FBI ประจำประเทศไทย ขอสนับสนุนครูฝึกชุดแรก 6 นาย จากดินแดนต้นตำรับ ข้ามน้ำข้ามทะเลมาถ่ายทอดยุทธวิธี Active Shooter ให้ตำรวจไทยโดยใช้ศูนย์ฝึกอบรมทางยุทธวิธี ค่ายนเรศวร เป็นแหล่งบ่มเพาะความรู้
คัดข้าราชการตำรวจปฏิบัติการพิเศษระดับหัวกะทิของแต่ละกองบัญชาการทั่วประเทศมาฝึกอบรม เพื่อนำวิทยายุทธที่ได้ไปถ่ายทอดให้ลูกศิษย์ลูกหาในสังกัด กระทั่งปัจจุบันประเทศไทยมีการสร้างครูฝึก Active Shooter และ ผู้ปฏิบัติการทางยุทธวิธีด้านนี้เพิ่มขึ้นใหม่ จากการนัดหมายไปฝึกทบทวนร่วมกันประจำแทบทุกปี
“Active Shooter คือคนร้ายที่ประสงค์ต่อชีวิตของผู้บริสุทธิ์ เจอใครก็กราดยิงให้ตาย เป็นความคลุ้มคลั่งที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ วัตถุประสงค์ของหลักสูตรนี้จึงมุ่งหมายที่จะหยุดยั้งการฆ่า ผู้ปฏิบัติงานจะต้องโฟกัสไปที่ตัวผู้ก่อเหตุและดำเนินการหยุดยั้งพฤติกรรมของผู้ก่อเหตุทันทีที่พบ” บิ๊กต่อ กล่าวถึงใจความหลักของหลักสูตร
กระทั่งในปัจจุบัน ประเทศไทย ที่ถือได้ว่าเพิ่งจะผ่านเหตุการณ์ Active Shooter จากกรณีของ “ผอ.กอล์ฟ” และ “จ่าคลั่ง” มาหมาดๆ แต่กลับมีเหตุการณ์เกิดขึ้นใหม่ ภายใต้บทเรียนของคดี “กราดยิง ที่หนองบัวลำภู” เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2565 ล่าสุด “กราดยิงที่ห้างสยามพารากอน” เมื่อวันที่ 3 ต.ค.2566
ทั้ง 2 เหตุการณ์ท้ายสุด มีระยะเวลาห่างกัน 1 ปีพอดิบพอดี!
วันนี้ “บิ๊กต่อ” เป็นเจ้าของนามเรียกขาน “พิทักษ์ 1” ขึ้นครองยศ พลตำรวจเอก ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอย่างเต็มภาคภูมิแล้ว จึงไม่ลืมที่จะผลักดันหลักสูตร Active Shooter (หนี ซ่อน สู้) นี้ให้เป็นแผนการฝึกของข้าราชการตำรวจทุกวัน ในทุกๆ โรงพัก
นอกจากนี้ยังกำหนดแนวทางให้ทุกกองบังคับการ ทั่วประเทศที่มีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก และสถานที่เป้าหมายที่คาดว่าอาจถูกโจมตี ทำแผนเผชิญเหตุ ซักซ้อมสถานการณ์หากเกิดเหตุ ฝึกบริหารสถานการณ์ และวางแนวทางยับยั้ง Active Shooter ร่วมกันระหว่างบุคลากรสถานที่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย
ในวันที่ พล.ต.ต.ประสงค์ อานมณี ผบก.น.9 พร้อมด้วย พ.ต.อ.เศกสิทธิ์ สุภาอ้วน รอง ผบก.น.9 พ.ต.อ.ชัยพันธุ์ เพ็ชรสดศิลป์ ผกก.สส.ภาษีเจริญ และ คณะผู้บริหารห้างสรรพสินค้าซีคอนบางแค ได้ร่วมกันจัดการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ “เหตุกราดยิง (Active Shooter) หนี ซ่อน สู้” ตามนโยบายของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.
ทีมข่าวอาชญากรรมได้มีโอกาสได้พูดคุยกับ พ.ต.ท.ศิริชาติ จันทร์พรมมา รอง ผกก.ป.สน.ภาษีเจริญ ในฐานะครูฝึกยุทธวิธีของกองบังคับการตำรวจนครบาล 9 และเป็นครูฝึก Active Shooter รุ่นแรกๆ กล่าวว่า วันนี้ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (191) มาเป็นวิทยากรในการฝึกอบรม
มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจเหตุการณ์กราดยิง (Active Shooter) และรู้หลักการรับมือกับสถานการณ์ พร้อมการฝึกฝนยุทธวิธีการหนี การซ่อน และการสู้ มอบหลักการบริหารจัดการสถานการณ์ให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในห้างสรรพสินค้าทุกภาคส่วน ว่า เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นจะต้องปฏิบัติอย่างไร
นอกจากนี้ยังฝึกเพื่อพัฒนาทักษะด้านการใช้อาวุธปืน การรับมือกับผู้ก่ออาชญากรรมในสถานการณ์ต่างๆ แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจผู้ปฏิบัติงาน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่เทศกิจ หน่วยกู้ภัยในพื้นที่ ประชาชน พนักงานรักษาความปลอดภัย ผู้บริหารและตัวแทนจากร้านค้าต่างๆ เข้าร่วมปฏิบัติการตามแผนซักซ้อม จำนวน 300 คน
พ.ต.ท.ศิริชาติ กล่าวอีกว่า แนวทางการซักซ้อมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.การอบรมภาคทฤษฎีโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (191) และ 2.การฝึกอบรมภาคปฏิบัติ 3 สถานี ได้แก่ สถานีแรกการ หนี ซ่อน สู้ ซึ่งจะมีการสาธิตเหตุการณ์จริงว่า เมื่อมีคนร้ายก่อเหตุกราดยิงจะมีวิธีการในการเอาตัวรอดอย่างไร
สถานีต่อมา การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อสร้างความรู้เบื้องต้นในการรักษาบาดแผลและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุร้าย เพื่อลดการสูญเสีย และ สถานีสุดท้าย คือ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการรับมือเหตุการณ์กราดยิง การคัดกรองผู้บริสุทธิ์ การออกคำสั่ง การใช้อาวุธ การตรวจค้น และการเข้าจับกุม ตามยุทธวิธีที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างต่อเนื่อง
หัวใจหลักในส่วนของประชาชน คือ ตั้งสติให้ดีจดจำทางออกฉุกเฉินให้ได้ หากได้ยินเสียงปืน ต้องหาทางหนีไปในทิศทางตรงกันข้าม โดยไม่ต้องพะวงกับเรื่องทรัพย์สิน เมื่อเจอทางตันให้หาทางซ่อนตัวและนำอุปกรณ์ทุกชนิดที่หาได้มาขวางทางเข้าไว้ไม่ให้คนร้ายมาประชิดตัวได้โดยง่าย ปิดไฟ ปิดเสียงและแสงหน้าจอมือถือ
ซ่อนตัวอยู่ให้เงียบที่สุดก่อนหาทางประสานเจ้าหน้าที่และรอการช่วยเหลือ โดยระหว่างนั้นให้หยิบฉวยทุกอย่างที่สามารถเป็นอาวุธเอาไว้ในมือ เมื่อจวนตัวจริงๆ คนร้ายบุกเข้ามาได้ในระยะประชิดให้ต่อสู้อย่างสุดกำลัง หากอยู่ร่วมกันให้ช่วยกันต่อสู้อย่างเต็มที่ ทำได้ตามแนวทางนี้ยังมีโอกาสรอด
“สำหรับหัวใจหลักในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อเกิดเหตุการณ์ Active Shooter ความหวังของการยุติสถานการณ์ทั้งหมด ตนมองว่า เป็นหน้าที่ของสายตรวจคู่แรก หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดแรกๆ ที่เข้าไปถึงที่เกิดเหตุ ก่อนที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษจะได้ประกอบกำลังกันเสียอีก
เมื่อมีการประเมินสถานการณ์แล้วว่า ผู้ก่อเหตุเลือกกราดยิงโดยไม่มีเหตุผล ไม่สนว่าเหยื่อเป็นใคร มีการทำให้ผู้บริสุทธิ์บาดเจ็บ ล้มตายไปแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดของเจ้าหน้าที่สายตรวจคือการค้นหาเป้าหมาย เพื่อกระทำการหยุดยั้ง หรือการ Stop The Killing อันหมายถึงการยุติการบาดเจ็บล้มตายของผู้บริสุทธิ์ไม่ให้ขยายวงลุกลามออกไป”
เมื่อปลายทางสุดท้ายของ Active Shooter ส่วนใหญ่คือความตาย ก็ได้แต่หวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ขึ้นมาอีก!