ข่าวสารกรุงเทพฯ

ยาเสพติด: ไทยแชมป์จับยาบ้า-ไอซ์ มากที่สุดในเอเชียตะวันออกและอาเซียนในปี 2021 – BBC News ไทย


กรมศุลกากรแถลงข่าวการจับกุมยาไอซ์ จำนวน 193.5 กิโลกรัม รวมมูลค่า 116 ล้านบาทที่เตรียมส่งไปยังออสเตรเลีย เมื่อเดือน ธ.ค. 2564

ที่มาของภาพ, NurPhoto/Getty Images

คำบรรยายภาพ, กรมศุลกากรแถลงข่าวการจับกุมยาไอซ์ จำนวน 193.5 กิโลกรัม รวมมูลค่า 116 ล้านบาทที่เตรียมส่งไปยังออสเตรเลีย เมื่อเดือน ธ.ค. 2564

รายงานการค้ายาเสพติดฉบับใหม่ของสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ชี้ว่าการค้ายาเสพติดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยทำสถิติสูงสุดในแง่การผลิตและการค้าในปี 2021 ส่วนรายงานสถานการณ์ในประเทศไทย พบว่ามีปริมาณยาบ้าที่เข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการทะลักเข้ามาจากเมียนมา

สถิติในไทยชี้ด้วยว่า ปริมาณยาไอซ์ที่ถูกจับกุมลดลง แต่สามารถจับยาบ้าได้จำนวนมากขึ้น ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

เมื่อรวมการจับกุมทั้งยาไอซ์และยาบ้าในไทย ปี 2021 นับว่ามีปริมาณมากที่สุดในทุกชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวน 13 ประเทศ โดยจับยาบ้าได้กว่า 592 ล้านเม็ด และไอซ์อีกกว่า 22,126 กิโลกรัม

ในรายงานที่เผยแพร่เมื่อ 30 พ.ค. ยืนยันว่า ยาบ้าจำนวนมหาศาลถูกผลิตในภูมิภาคนี้ อีกทั้งยังเป็นเส้นทางการค้ายาและมีการใช้ยาเสพติดจำนวนมาก โดยพบว่าการค้ายาเสพติดได้กระจายตัวอย่างต่อเนื่อง

รายงานระบุว่า ในปี 2021 มีการจับกุมยาบ้าในภูมิภาคนี้เกือบ 172 ตัน โดยเป็นยาบ้าจำนวน 1,000 ล้านเม็ด สูงที่สุดนับตั้งแต่เคยมีการจับกุมมา ซึ่งเป็นสถิติที่สูงกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว 7 เท่า ที่มีการจับกุม 143 ล้านเม็ด และมากกว่า 20 ปีที่แล้ว 35 เท่า นอกจากนี้ยังมีการจับยาไอซ์เกือบ 79 ตัน แม้ว่าจะน้อยกว่าปี 2020 ที่จับกุมได้ 82 ตัน แต่ก็ยังเป็นสถิติที่สูกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว 8 เท่า

ส่วนรายงานสถานการณ์ยาเสพติดเฉพาะในประเทศไทย พบว่าในปี 2021 มีปริมาณยาบ้าที่เข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการทะลักเข้ามาจากเมียนมาไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

นายเจเรมี ดักลาส ผู้แทนสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา องค์กรอาชญากรรมและกลุ่มติดอาวุธ ฉวยโอกาสในช่วงที่เกิดโรคระบาดและความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองในแถบพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำและชายแดนประเทศเมียนมา ขยายการผลิตยาเสพติด ขณะนี้ แทบไม่มีห้องปฏิบัติการสังเคราะห์ยาเสพติดที่ใดแล้วนอกเหนือจากแถบสามเหลี่ยมทองคำ ที่ยังพบว่ามีการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลและหน่วยงานยาเสพติดยังคงรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นกับแหล่งผลิตสำคัญแหล่งนี้

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) กลายเป็นจุดถ่ายเทการค้ายาเสพติดจุดใหญ่ที่ส่งเข้ามายังประเทศไทย ประเทศอื่น ๆ ในลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งเอเชียแปซิฟิก นอกจากนี้มาเลเซียยังถูกใช้เป็นประเทศทางผ่านของการค้ายาเสพติดเข้าไปยังอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

“ขนาดและปริมาณของการค้ายาบ้าและยาเสพติดชนิดสังเคราะห์ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูงมากจนน่าตกใจ และมันยังขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีก หากหน่วยงานภูมิภาคไม่เปลี่ยนวิธีการปราบปรามและแก้ที่สาเหตุฐานรากที่นำมาสู่จุดนี้ ซึ่งรวมทั้งความโปร่งใสในการจัดการพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำและความต้องการของตลาดเอง องค์กรอาชญากรรมมีทุกอย่างที่ต้องการในตัวเองสำหรับสร้างธุรกิจพวกนี้ให้เติบโตขึ้น พวกเขามีที่ทางสำหรับการผลิต เข้าถึงสารเคมีตั้งต้น และจัดตั้งเส้นทางการค้ายาและสายสัมพันธ์เพื่อขนส่งยาเสพติด นอกจากนี้ยังมีผู้เสพจำนวนมากที่มีกำลังซื้อ พวกอาชญากรรมเหล่านี้เห็นถึงศักยภาพและผลกำไรจากการผลิตยาเสพติด”

bbc

ที่มาของภาพ, BBC thai

ในปี 2021 ยังพบว่าแหล่งผลิตยาเสพติดเมทแอมเฟตามีน ซึ่งมีทั้งยาบ้าและยาไอซ์ในสามเหลี่ยมทองคำ ขยายตัวไปยังตลาดยาเสพติดในเอเชียใต้ รายงานระบุว่า มีการจับกุมยาไอซ์แบบบรรจุห่อและยาบ้า เพิ่มขึ้นในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในบังกลาเทศไม่กี่ปีก่อน

ราคาของยาบ้าและไอซ์ ในท้องตลาดยังคงถูกลงอย่างต่อเนื่องในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรายงานที่ชี้ว่า ราคาของไอซ์แบบขายส่งและขายท้องถนนในไทยและมาเลเซียถูกลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2021

“ราคาที่ถูกลงของยาไอซ์ ทำให้เกิดความกังวลว่าจะมีผู้ที่เข้าถึงยาเสพติดชนิดนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากสำหรับผู้ที่แต่ก่อนไม่มีเงินเพียงพอที่จะซื้อหามาเสพ ผลกระทบทางสังคมอันเกิดจากการมีการเสพยามากขึ้นนั้นกลายเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหน่วยงานด้านสุขภาพและการลดความเสี่ยงเกี่ยวกับยาเสพติดยังคงมีจำกัดมากในภูมิภาคนี้” กวินวดี ศุภพงษ์เทวาสกุล นักวิเคราะห์ของ UNODC ในโครงการสมาร์ทโปรแกรม ระบุ

“มีแนวโน้มว่าปัญหาการเสพยาเสพติดนั้นถูกประเมินต่ำเกินไปมาหลายปี ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคไม่ได้ติดตามสถานการณ์หรือศึกษาความต้องการใช้ยาของผู้เสพ”

รายงานยังระบุด้วยว่า นอกจากยาบ้าแล้วยังมีสารเสพติดสังเคราะห์ชนิดอื่น ที่เป็นอันตรายกับผู้เสพอย่าง “เคตามีน” หรือยาเค ที่แพร่ระบาด

“การแก้ปัญหาเรื่องสถานการณ์ยาบ้า เป็นภารกิจอันดับแรกสุดของรัฐบาลไทยและภูมิภาค แต่ยาเสพติดสังเคราะห์ชนิดอื่นและสารเสพติดสูตรผสม กำลังเพิ่มขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา…” นายธนากร คัยนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กล่าว

สถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับยาบ้าในไทยในปี 2021

  • ปริมาณยาบ้าที่เข้ามาในไทยเพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการทะลักเข้ามาจากเมียนมาไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งรวมถึงไทย
  • ปริมาณยาไอซ์ที่ถูกจับกุมลดลง แต่สามารถจับยาบ้าได้จำนวนมากขึ้น ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อรวมการจับกุมทั้งยาไอซ์และยาบ้าในไทย ในปี 2021 นับว่ามีปริมาณมากที่สุดในบรรดาประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจับยาบ้าได้กว่า 592 ล้านเม็ด และไอซ์อีกกว่า 22,126 กิโลกรัม
  • ข้อมูลการเสพยาลดลง จำนวนผู้เข้ารับการบำบัดจากการเสพยาบ้าในปี 2021 อยู่ที่ 135,795 ราย, ปี 2020 มี 155,676 ราย
  • ราคาขายส่งและขายปลีกยาบ้าและไอซ์ถูกลงในปี 2021 บ่งชี้ถึงการแพร่ระบาดในการเข้าถึงยาเสพติด ขณะที่ระดับความบริสุทธ์ของสายเสพติดยังคงที่
  • เอเฟดรีน (ephedrine) ซูโดอีเฟดรีน (pseudoephedrine) ยังคงเป็นสารตั้งต้นหลักของยาบ้าที่พบในไทย

3 อันดับประเทศในเอเชียตะวันออกและอาเซียนที่จับยาบ้าและยาไอซ์ได้สูงสุด

  • ไทย ยาบ้า 592,013,942 เม็ด / ยาไอซ์ 22,126.7 กิโลกรัม
  • เมียนมา ยาบ้า 198,188,715 เม็ด / ยาไอซ์13,815.8 กิโลกรัม
  • สปป. ลาว ยาบ้า 143,007,700 เม็ด / ยาไอซ์ 2,991 กิโลกรัม



Source link