‘ยุทธศาสตร์ดิจิทัลไทย’ พ่ายเพื่อนบ้าน ปมด้อยรัฐต้องแก้-ดึงเม็ดเงินเทคโลก
ในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยักษ์เทคโนโลยีระดับโลกต่างเบนเข็มเป้าหมาย หันเจาะตลาดภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่อย่างภูมิภาคอาเซียน ที่ผ่านมาประเทศไทย มีความพยายามผลักดันให้ประเทศเป็น “ฮับดิจิทัล” ของภูมิภาคนี้ แต่ยังไม่สามารถทำได้ 100% เพราะยุทธศาสตร์ดิจิทัลของไทยไม่แข็งแรง และดึงดูดมากพอ
แม้ว่าไทยจะได้ชื่อว่า เป็นหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ดี มีพฤติกรรมการใช้งานด้านดิจิทัลที่น่าสนใจติดระดับโลก ปริมาณการใช้งานออนไลน์ โซเชียลด้านต่างๆ ของไทยเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ที่สำคัญคนไทยเป็นหนึ่งในชาติที่ตอบรับกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้เร็ว
ที่ผ่านมา จึงมีหลายบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก เริ่มหอบเงินลงทุนเข้ามาในไทยมากขึ้น อย่างรายล่าสุด “ไมโครซอฟท์” นายสัตยา นาเดลลา ซีอีโอ เพิ่งประกาศตั้งศูนย์ข้อมูลในไทย หรือ ดาต้า เซ็นเตอร์ไป แต่การลงทุนของไมโครซอฟท์ กลายเป็นประเด็นที่ถูกตั้งข้อสังเกต เพราะไทยเป็นประเทศเดียวใน 3 ประเทศที่ ซีอีโอ ไมโครซอฟท์ ไม่ประกาศเม็ดเงินลงทุนที่ชัดเจน เหมือนอย่างใน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ทำประเทศไทย “เสียหน้า” ไปไม่น้อย
ไทยออกเดินช้ากว่า มาเล-อินโด
จนมีกระแสข่าวจากฝั่งรัฐบาลออกมาแก้เก้อว่า การประกาศลงทุนของไมโครซอฟท์ ในประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ทั้ง 2 ประเทศได้ประกาศเอาไว้นานมากแล้วว่าจะมี ดาต้าเซ็นเตอร์ แต่ใช้เวลา “หลายปี” กว่าจะประกาศตัวเลขการลงทุน ขณะที่ ประเทศไทยไมโครซอฟท์ไม่เคยประกาศเลยว่า จะลงทุน แต่วันนี้รัฐบาลใช้เวลาจาก 0 ถึงประกาศว่าจะมีภายในระยะเวลา 8 เดือนของการเจรจา โดยระบุว่า ประเทศไทยอยู่ในเฟสแรก ทั้งยอมรับว่า เพราะไทยเริ่มออกเดินช้ากว่าเพื่อนบ้าน
ก่อนหน้านี้ บิ๊กเทคคอมพานีโลกอย่าง “กูเกิล” ก็ประกาศขยายการลงทุนคลาวด์อินฟราสตรักเจอร์ “Cloud Region” ในไทย เพื่อรองรับความต้องการบริการคลาวด์ที่เติบโตต่อเนื่อง ทั้งกำลังพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลใหม่ภายในประเทศเพื่อขับเคลื่อนบริการดิจิทัล
กูเกิล คาดการณ์ว่าการก่อตั้ง Cloud Region ในประเทศไทย จะช่วยยกระดับผลิตภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 4.1 พันล้านดอลลาร์แก่จีดีพีของประเทศ และสร้างงาน 50,300 ตำแหน่งในปี 2573
รวมไปถึง “อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส” หรือ “เอดับบลิวเอส” ที่ได้ประกาศแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ระดับโลกในประเทศไทย “AWS Asia Pacific (Bangkok) Region” ด้วยเงินลงทุนมากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 1.9 แสนล้านบาทในระยะเวลา 15 ปี ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทในไทยจนถึงปัจจุบัน
หากการดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยให้คนไทย ธุรกิจไทยเข้าถึงบริการคลาวด์ต่างๆ ได้เร็วมากขึ้น หนุนนักพัฒนา สตาร์ตอัป และองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เรียกใช้แอปพลิเคชันและให้บริการผู้ใช้ปลายทางจากศูนย์ข้อมูลที่ตั้งอยู่ในไทย รวมถึงการเก็บข้อมูลของตัวเองไว้ในประเทศไทย
ดิจิทัลไทยยังเป็น “รอง” เพื่อนบ้าน
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูภาพรวมแล้ว อาจมองว่า ไทยก็สามารถดึงดูดเม็ดเงินของบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกได้ไม่ยาก แต่เมื่อมองคู่แข่งในระดับภูมิภาค ไทยยังเป็นรองอยู่หลายเรื่อง ทั้งในเรื่องของ “ทักษะ รวมถึง “คน” ประเทศไทยเข้าสู่ยุคสังคมสูงวัย มีประชากรผู้สูงอายุจำนวนมาก เด็กเกิดน้อยลง ประชากรวัยทำงานไม่ใช่สัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดจของประเทศ ยังไม่นับเรื่อง กฎระเบียบของภาครัฐ การสนับสนุนการส่งเสริมของไทย ก้าวไม่ทันโลกที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยด้วยกันเอง ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ยังทำไม่ถึง นั่นเป็นการเปิดช่องให้ ทุนต่างชาติเข้ามายึดครองตลาดในไทยเกือบ 100% โดยเฉพาะสินค้าจีนที่ยึดหัวหาดอีคอมเมิร์ซแบบเบ็ดเสร็จ รัฐบาลปล่อยให้ประเทศไทยขาดดุลอย่างมโหฬาร
เทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือแม้แต่เวียดนาม เขามีสิ่งที่ตรงกันข้ามกับที่ไทยมี คนวัยทำงานหนุ่มสาวเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุด ประชากรเยอะ ทักษะด้านภาษาก็นำหน้าไทย ยุทธศาสตร์ดิจิทัลของเขาวางไว้แน่น และมองในระยะยาว แม้ประเทศไทยจะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของอาเซียน แต่กลับเป็นมาเลเซียและอินโดนีเซียที่มีการเติบโตอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่า
นั่นกำลังทำให้ไทย ยังต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งด้านของนโยบายและกฎระเบียบซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเดินหน้าไปสู่ยุค“AI Economy”ที่กำลังขยายตัว
“ปัญหาใหญ่ที่ไทยกำลังเผชิญ และต้องแก้ให้ได้ คือ ประเด็นที่ไทยกำลังขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น เพราะเป็นผู้นำเข้าเทคโนโลยี โดยเฉพาะ เอไอ การพัฒนาเอไอเพื่อให้บริการในประเทศยังมีจำนวนจำกัด ขาดแนวทางส่งเสริมให้ภาครัฐและเอกชนประยุกต์ใช้เอไออย่างเป็นระบบ ขณะที่ผู้ให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัล ขาดการใช้ เอไอ อย่างเข้มข้น ในการให้บริการภาคธุรกิจและประชาชน” แหล่งข่าวในวงการเทคโนโลยีไทยสะท้อนมุมมอง
ไทยต้องเร่งสปีดพัฒนา ทักษะคน
ขณะที่ “มนัสส์ มานะวุฒิเวช” ประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น มีมุมมองว่า ประเทศไทยต้องเร่งลงทุนด้านคน เพื่อยกระดับทักษะ และเพิ่มผลผลิตของแรงงานในระยะยาว การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตจำเป็นต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยี อย่างปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติ หรือนาโนและไบโอเทค
อีกหนึ่งความท้าทายของไทย คือความจำเป็นในการ “ยกระดับขีดความสามารถการผลิตเพื่อรองรับการเติบโตที่ฟื้นตัว” (อ้างอิงจากธนาคารโลก) การผนึกศักยภาพของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) IoT และ 5G จะนำไปสู่โอกาสในการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ อีกมากมาย แต่เราจำเป็นต้องเร่งยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันด้านเทคโนโลยีของประเทศ ทั้งในฐานะผู้บริโภคและผู้ผลิต
เช่นเดียวกับ ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบันไอเอ็มซี นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลของไทย กล่าวย้ำว่า “ทักษะดิจิทัลของคนไทย” จะเป็นแรงดึงดูดสำคัญ ที่จะทำให้ยักษ์เทคระดับโลกมาลงทุนมากกว่าแค่ตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ อย่างเมื่อไม่นานมานี้ สัตยา ไปอินเดีย สิ่งที่เขาคือ สร้างดีเวลลอปเมนท์เซ็นเตอร์อยู่ที่อินเดีย เพราะเขาไปหลายเมือง แล้วแต่ละเมืองคนเยอะมาก เพราะปริมาณคนเขาเยอะ มีทักษะ ซึ่งนี่คือแรงดึงดูด ที่จะทำให้เราเป็นฮับได้ อยู่ที่ทักษะและความสามารถในการใช้คลาวด์ของเรา ดีปเทคต่างๆ ไทยยังขาดตรงนี้อยู่
“ทางแก้ คือ รัฐบาลต้องมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาทักษะ หรือ อยากจะให้ยักษ์เทคเหล่านี้มาช่วยเราก็ต้องมาร่วมกันยอมที่จะลงทุนมาช่วยกันสร้าง แต่ภาพที่ไมโครซอฟท์มา เรายังไม่เห็น”
จับตาภาครัฐวางยุทธศาสตร์ดิจิทัล
อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตามองภาพใหญ่ของรัฐที่เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดิจิทัลประเทศ ที่พยายามจัดลำดับความสำคัญ ซึ่งประเด็นที่ประเทศไทยให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น คือ การเร่งการพัฒนาด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีอัจฉริยะ ภายใต้แผนงาน“The Growth Engine of Thailand”เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในฐานะกลไกการขับเคลื่อนหลักที่จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย
มีโครงการสำคัญภายใต้แผนงานริเริ่มนี้ ได้แก่ โครงการ Cloud First Policy การพัฒนา AI สำหรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ Digital ID การพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล การแก้ไขปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ โดยไทยได้มีบทบาทสำคัญ ในการจัดตั้งคณะทำงานอาเซียน ด้านการป้องกันปัญหาการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ (The ASEAN Working Group on Anti – Online Scam : WG – AS) และโครงการความร่วมมือที่หลากหลายกับภาคเอกชน เพื่อพัฒนาและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลที่สอดคล้องกับทิศทางด้านดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ฟอร์มทีมบอร์ด AI แห่งชาติ+ยกร่างก.ม.
ขณะที่ กระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอี ได้ปรับปรุงคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการ โดยจะปรับปรุงให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการที่ขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์ด้านเศรษฐกิจด้วย เพื่อให้ประเทศไทยมีแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์ ให้มีความสัมพันธ์ทั้งดาต้า เซ็นเตอร์ คลาวด์ และระบบคอมพิวเตอร์ระดับสูง
คณะกรรมการ AI หรือบอร์ด AI แห่งชาตินี้ จะมีรมว.ดีอีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมร่วมเป็นประธาน โดยคณะกรรมการทั้งชุดจะมีประมาณ 10 คนซึ่งคาดว่า จะแล้วเสร็จตามกระบวนการภายในเดือน มิ.ย.เพราะตามไทม์ไลน์ต้องส่งให้และดีอีเห็นชอบโดยบอร์ดดีอีจะมีการประชุมครั้งหน้าในเดือนพ.ค.นี้ หลังจากนั้นจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมทั้งจะมีการผลักดันกฎหมาย AI ฉบับแรกของประเทศด้วย