รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-สธ. “เชิญ ชวน เชียร์ คนไทย ลด ละ เลิกเหล้าตลอดเข้าพรรษา” เนื่องในวันงดดื่มสุราแห่งชาติ 2566
ด้านสังคม
วันพุธที่ 19 กรกฎาคม 2566
สธ. “เชิญ ชวน เชียร์ คนไทย ลด ละ เลิกเหล้าตลอดเข้าพรรษา” เนื่องในวันงดดื่มสุราแห่งชาติ 2566
กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่าย “เชิญ ชวน เชียร์ คนไทย ลด ละ เลิกเหล้าตลอดเข้าพรรษา” เนื่องในวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ปี 2566 ด้วยวิธี “1 ลด 3 เพิ่ม” ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มเงินในกระเป๋า เพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย
กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่าย “เชิญ ชวน เชียร์ คนไทย ลด ละ เลิกเหล้าตลอดเข้าพรรษา” เนื่องในวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ปี 2566 ด้วยวิธี “1 ลด 3 เพิ่ม” ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มเงินในกระเป๋า เพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย และเพิ่มความสุขในครอบครัว พร้อมชวนร่วมกิจกรรม “เชิญ ชวน เชียร์ ลด ละ เลิกเหล้า เข้าสู่ระบบบำบัดรักษา” นำสู่การเลิกเหล้าตลอดชีวิต
วันนี้ (19 กรกฎาคม 2566) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นายธีรยุทธ สำราญทรัพย์ รองหัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและนายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายงดเหล้า ร่วมกิจกรรมวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.2566 พร้อมมอบรางวัลเชิดชูเกียรติแก่บุคคลและองค์กรที่มีผลงานโดดเด่นด้านการป้องกันควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวม 37 รางวัล ประกอบด้วย ประเภทบุคคล 14 รางวัล ประเภทองค์กร 15 รางวัล และศิลปินนักแสดงที่เป็นแบบอย่าง 8 รางวัล
นพ.ณรงค์ กล่าวว่า วันเข้าพรรษาของทุกปี ถือเป็น “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 2 สิงหาคม 2566 ภายใต้คำขวัญ “ไกลเหล้า ไกลโรค ไกลอุบัติเหตุ” มุ่งให้ความสำคัญกับสุขภาพประชาชน เนื่องจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบมากกว่าเชิงบวก ทั้งด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่าทุกปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากพิษของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประมาณ 3 ล้านคน และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมากกว่า 230 ชนิด นอกจากนี้สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พร้อมผู้นำทุกศาสนามีโอวาทมุ่งเน้นให้เห็นผลกระทบด้านลบจากการดื่มสุราด้วย
นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่ากระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่าย จึงร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” ประจำปี 2566 เพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้นในการดูแลสุขภาพของประชาชน พร้อมเชิญชวนให้ร่วม ลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยวิธี “1 ลด 3 เพิ่ม” คือ ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มเงินในกระเป๋าเพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย และเพิ่มความสุขในครอบครัว เป็นการช่วยลดรายจ่ายภาคครัวเรือน ลดปัจจัยเสี่ยงสำคัญ
ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ดื่ม ครอบครัว และสังคม เช่น อุบัติเหตุ พิการ บาดเจ็บหรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ด้าน นพ.ธเรศ กล่าวว่า ข้อมูลจากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ด้านพฤติกรรมการดื่มสุราของประชากรไทย พ.ศ. 2565 พบว่าแนวโน้มค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของนักดื่มปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยพบว่านักดื่มในปี พ.ศ. 2564 เสียค่าใช้จ่ายในการดื่มเพิ่มขึ้นจากในปี 2560 เกือบ 2 เท่าและแนวโน้มของการซื้อมาดื่มที่บ้านสูงมากขึ้นในช่วงรอบการสำรวจปี พ.ศ. 2560 และพ.ศ. 2564 ผู้ดื่มหนักเป็นประจำ มีค่าใช้จ่ายการดื่มสุราเฉลี่ยสูงถึง 3,722บาท/เดือน เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ย340 บาท/วัน สำหรับกิจกรรมในปีนี้ ประกอบด้วย การเสวนาประเด็น “สุรากับผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ ในมุมมองด้านสุขภาวะ”,การเทศนาธรรม “เลิกดื่มเพื่อชีวิตที่ดีกว่า” โดยพระธรรมวชิรเมธี (มีชัย วีรปุญโญ), นิทรรศการผลงานของบุคคลและองค์กรที่ทำคุณประโยชน์ดีเด่นด้านการป้องกันควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และกิจกรรม “เชิญ ชวน เชียร์ ลด ละ เลิกเหล้า เข้าสู่ระบบบำบัดรักษา” ผ่านระบบลงนามออนไลน์ http://noalcohol.ddc.moph.go.th/ ร่วมงดเหล้าในช่วงเข้าพรรษาตลอดระยะเวลา 3 เดือน เพื่อนำไปสู่การเลิกเหล้าตลอดชีวิต
ด้าน นายธีระ ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายงดเหล้า กล่าวว่า การลดข้อจำกัดทางกฎระเบียบการอนุญาตให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เริ่มจากกฎกระทรวงที่ผ่าน ครม. ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 และอาจมีแนวโน้มที่จะลดเงื่อนไขการอนุญาตลงอีกในอนาคต ซึ่งมีข้อดีในการช่วยลดการผูกขาดทางการตลาด แต่มีส่วนที่ควรดูแลควบคู่กันคือการที่จะทำให้เกิดการโหมโฆษณาเพื่อแข่งขันทางธุรกิจ กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมบริโภคซึ่งน่าเป็นห่วงโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่จะกลายเป็นนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องดูแลให้ พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พศ. 2551 มีการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปโดย สสส. จะเดินหน้าสร้างความรอบรู้และการรู้เท่าทันด้านสุขภาพ ผลกระทบสุขภาพและสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ประชาชนอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่เน้นการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เช่น ควบคุมจุดจำหน่าย ความหนาแน่นของร้านค้า การกำหนดโซนนิ่ง การพิจารณาการออกใบอนุญาต/ต่อใบอนุญาต การควบคุมฉลากและบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น
*************************************** 19 กรกฎาคม 2566
อัลบั้มภาพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง