รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมเนื่องในวัน “วันบุรฉัตร” 14 กันยายน 2566
การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมเนื่องในวัน “วันบุรฉัตร” 14 กันยายน 2566
น้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน พระบิดาแห่งกิจการรถไฟยุคใหม่
เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 ณ ตึกบัญชาการรถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นายจิรุตม์ วิศาลจิตร ประธานกรรมการรถไฟฯ เป็นประธานในพิธีพิธีสงฆ์ เนื่องใน “วันบุรฉัตร” พร้อมด้วยพระประยูรญาติ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ตลอดจนคณะผู้บริหาร รฟท. บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด และบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด
เข้าร่วมพิธีฯ จากนั้น คณะผู้บริหาร รฟท. ภาครัฐ ภาคเอกชน ได้ร่วมกันวางพวงมาลาพระอนุสาวรีย์พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน บริเวณหน้าตึกบัญชาการ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระกรุณาของพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน อดีตผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง บิดาแห่งกิจการรถไฟยุคใหม่ ตลอดจนพระกรณียกิจของพระองค์ที่มีต่อประเทศ และประชาชนชาวไทย
นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ รฟท. เปิดเผยว่า ตามที่ รฟท. ได้มีการจัดงาน “วันบุรฉัตร” ขึ้นในทุกวันที่ 14 กันยายนของทุกปี เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน อดีตผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง พระบิดาแห่งกิจการรถไฟยุคใหม่ ตลอดจนพระกรณียกิจของพระองค์ที่มีต่อประเทศ และประชาชนชาวไทย โดยในกิจกรรมได้จัดให้มีพิธีสงฆ์เพื่อทำบุญอุทิศถวาย พิธีวางพวงมาลาที่บริเวณหน้าพระอนุสาวรีย์ฯ และร่วมสมทบทุน “บุรฉัตรมูลนิธิ” เพื่อนำไปใช้ในกิจการสาธารณกุศล
นอกจากนี้ นายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการรถไฟฯ ได้เป็นประธานมอบเกียรติบัตรแก่ผู้เกษียณอายุราชการ และได้กล่าวขอบคุณผู้เกษียณอายุราชการที่ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ในการทำงานด้วยความวิริยะ อุตสาหะ เป็นกำลังสำคัญในการดำเนินภารกิจของ รฟท. ให้ประสบผลสำเร็จ ลุล่วงด้วยดีเสมอมา
สำหรับพระประวัติของ พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ประสูติเมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2424 และได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง ระหว่างปี พ.ศ. 2460-2469 โดยพระองค์ได้ทรงวางรากฐานกิจการรถไฟให้เจริญรุดหน้าในหลายด้าน ทรงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาพัฒนากิจการรถไฟให้บังเกิดผลดีรวดเร็ว และสะดวกในการปฏิบัติงาน ทรงปรับปรุงสัญญาณประแจกลและโทรคมนาคมของกรมรถไฟหลวง โดยริเริ่มใช้โทรศัพท์ทางไกล โทรศัพท์อัตโนมัติ และเครื่องตราทางสะดวกแทนการขอทางด้วยเครื่องโทรเลข พร้อมทั้งทรงวางแผนและดำเนินการนำรถจักรดีเซลมาใช้แทนรถจักรไอน้ำ
ตลอดจน ทรงควบคุมการก่อสร้างสะพานพระราม 6 นับเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกของประเทศไทยที่เชื่อมการเดินรถไฟสายเหนือและสายใต้เข้าด้วยกัน ทรงควบคุมงานขุดอุโมงค์ขุนตาน ก่อสร้างสะพานทาชมภู ขยายเส้นทางรถไฟสายเหนือไปจนถึงสถานีเชียงใหม่ ทำให้กิจการรถไฟไทยมีความเจริญรุดหน้าและทัดเทียมนานาอารยประเทศ
ที่สำคัญยังได้จัดให้มีพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พุทธศักราช 2464 ให้เป็นมาตรฐานสากล เพื่อควบคุมคุ้มครองให้รถไฟหลวง รถไฟเอกชนที่ได้รับอนุญาตดำเนินการและรถไฟอุตสาหกรรมให้มาขึ้นอยู่กับสภากรรมการรถไฟ ซึ่งเป็นการวางหลักการบริหารกิจการรถไฟของประเทศ จึงนับได้ว่าพระดำริของพระองค์ได้ก่อให้เกิดคุณประโยชน์ และความเจริญก้าวหน้าแก่กิจการรถไฟ และบังเกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ตลอดจนประชาชนคนไทยอย่างมหาศาล