รายงานชี้ชัด “อดีตปลัด อว.” ไปนอกตามภารกิจ-ใช้งบฯตามระเบียบ เชื่อ “ไอโอ” ถล่มช่วง อว.วางคนคุมดูแลหน่วยงานสำคัญ
รายงานข้อเท็จจริง “อดีตปลัด อว.” เดินทางไปนอกถี่ใกล้จบ ชี้ชัดไปตามภารกิจ-ใช้งบฯตามระเบียบ-ชี้แจงได้ เชื่อ “ศุภมาส” ไม่ติดใจหลังตั้งเป็นที่ปรึกษา คาดมีขบวนการไอโอปั่นกระแสโจมตี “สิริฤกษ์” เหตุช่วงเป็นปลัดรื้อภายในจน “ก๊วนขาใหญ่” ไม่พอใจ หวังเขย่าช่วง รมต.กำลังชงตั้งบอร์ดสำคัญหลายชุด
วันนี้ (5 พ.ย.) รายงานจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แจ้งถึงกรณีที่ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษาฯ สั่งการให้รายงานข้อเท็จจริงกรณี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล อดีตปลัด อว. ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเดินทางไปปฏิบัติภารกิจไปต่างประเทศระหว่างดำรงตำแหน่งปลัด อว.บ่อยครั้ง และใช้งบประมาณจำนวนมากว่า ขณะนี้ขั้นตอนต่างๆ ใกล้เสร็จสิ้นแล้ว อยู่ในระหว่างการสรุปเพื่อนำเสนอต่อ น.ส.ศุภมาส ต่อไป
แหล่งข่าวแจ้งว่า เบื้องต้นผลการตรวจสอบพบว่า การเดินทางไปต่างประเทศของ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ เป็นการปฏิบัติราชการตามภารกิจของกระทรวง และส่วนใหญ่เป็นการเดินทางไปตามคำเชิญของหน่วยงานรัฐ กระทรวง และองค์กรด้านการอุดมศึกษาและการวิจัยในต่างประเทศ โดยแต่ละครั้งก็ได้มีการรายงานผล รวมถึงนำผลลัพธ์ของการประชุมต่างๆ มาปรับใช้กับภารกิจของกระทรวง อว.และส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่พบว่ามีอะไรผิดปกติ ขณะที่กรณีการใช้งบประมาณนั้นก็เหมาะสม เป็นไปตามภารกิจ และตามระเบียบกำหนด
“การเดินทางไปต่างประเทศของอดีตปลัด อว.ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่ามี 32 ครั้ง พบว่าการเดินทางในช่วง 3 ปี 18 ครั้ง เป็นการเดินทางร่วมคณะกับรองนายกฯ และรัฐมนตรี เพื่อประสานภารกิจที่เกี่ยวกับ อว., 6 ครั้งเป็นหัวหน้าคณะในการประชุมระดับนานาชาติ, 4 ครั้งได้รับมอบหมายเป็นผู้แทนรัฐมนตรี และอีก 4 ครั้งไปในฐานะกรรมการของหน่วยงาน ตรงตามที่ได้มาชี้แจง” แหล่งข่าว ระบุ
นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่า ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ สามารถชี้แจงผลสัมฤทธิ์ของภารกิจที่ต่างประเทศในแต่ละครั้งเป็นรูปธรรม เช่น การติดตามการสร้างและทดสอบดาวเทียมธีออส-2 กับประเทศฝรั่งเศส ที่เพิ่งปล่อยขึ้นสู่วงโคจรสำเร็จ, การขับเคลื่อนโครงการซินโครตรอนเครื่องใหม่กับประเทศญี่ปุ่น, การตกลงร่วมมือใช้ดาวเทียมสำรวจกับประเทศญี่ปุ่นและจีน, การเชื่อมโยงนวัตกรรมทางการแพทย์และการเกษตรกับประเทศอิสราเอล, การพัฒนาบุคลากรร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค CLMV ลาว กัมพูชา และเมียนมา รวมทั้งกิจกรรมกับเครือข่ายสมาคมนักวิชาชีพและนักศึกษาไทย ทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ทำให้เกิดโครงการพัฒนามาตรฐานของหลักสูตรระดับอุดมศึกษาและด้านนวัตกรรมของประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เป็นต้น
แหล่งข่าวให้ข้อมูลอีกว่า กระทรวง อว. เป็นกระทรวงใหญ่ เกิดจากการรวมตัวของหน่วยงานเดิมถึง 4 กลุ่ม คือกลุ่มอุดมศึกษา, กลุ่มหน่วยงานวิทยาศาสตร์, กลุ่มนวัตกรรม และกลุ่มหน่วยงานให้ทุนวิจัย ตั้งแต่ปี 2563 ที่ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ เข้ามาดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง ได้ดำเนินการทำงานในแนวทางการทำงานที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงหน่วยงานทั้งกระทรวง เพื่อใช้ อว.เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนประเทศตามเป้าหมายในการตั้งกระทรวง จึงมีความพยายามในการปรับวิธีการทำงาน ผลักดันให้ทุกหน่วยมองเป้าหมายเดียวกัน และปรับวิธีการทำงาน เลิกวัฒนธรรมกลุ่มใครกลุ่มมัน หรือต่างคนต่างใหญ่ โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมเข้าไปแก้ไขปัญหาด้วยกัน นอกจากนั้นยังไปต่อสู้กับความไม่ชอบมาพากล และความไม่โปร่งใสในหลายโครงการสำคัญ จนอาจสร้างความไม่พอใจให้กับคนบางกลุ่ม
“ด้วยวิธีการทำงานของ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทำให้เจอตอ จากกลุ่มที่เคยกุมอำนาจต่อเนื่องมาหลาย 10 ปีในหน่วยงานต่างๆ จนเกิดความไม่พอใจ เมื่ออดีตปลัดฯกำลังจะเกษียณอายุราชการ จึงมีการใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (ไอโอ) เปิดประเด็นเพื่อให้ได้รับความเสียหาย พยายามสาดโคลนเพื่อให้ฝ่ายการเมืองที่เข้ามาใหม่กังวล เพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนโยกย้ายคนของฝ่ายตัวเองเข้ามานั่งตำแหน่งสำคัญๆ แทน เพราะเป็นช่วงที่กำลังมีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการพอดี ประกอบกับคณะกรรมการสำคัญหลายชุดของหน่วยงาน อว. กำลังครบวาระและต้องแต่งตั้งชุดใหม่” แหล่งข่าว ระบุ
โดยหลังจากที่ น.ส.ศุภมาส เข้ามาเป็น รมว.อว. ได้มอบนโยบายมุ่งเน้นให้เป็นกระทรวงที่สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนอย่างเต็มที่ มีนโยบายทั้ง “เรียนดี มีความสุข มีรายได้” และ “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” ซึ่ง น.ส.ศุภมาศ กำชับว่าสิ่งเหล่านี้จะเดินได้ต่อเมื่อทุกกลุ่มใน อว.ต้องร่วมแรงกันตอบสนองนโยบาย และได้แต่งตั้งอดีตปลัดกระทรวง อว. 3 คน เข้ามาเป็นที่ปรึกษาเพื่อช่วยขับเคลื่อนภารกิจ โดยมีชื่อของ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ด้วย จึงอาจทำให้กลุ่มที่ไม่พอใจ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ เริ่มออกทำไอโอนำประเด็นเดิมๆมาโจมตีอีกครั้ง
“ช่วงนี้มีขบวนการไอโอใช้สื่อโจมตี อว. อีกครั้งในประเด็นเดิมๆ เนื่องจากกำลังมีการพิจารณาแต่งตั้งกรรมการที่กำกับดูแลของหน่วยงานสำคัญ เช่น สวทช. (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ), สอวช. (สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ), สกสว. (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม), วว. (สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย) รวมทั้ง รวพ. (สำนักงานเร่งรัดการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันและการพัฒนาพื้นที่) ซึ่งเป็นหน่วยงานให้ทุนแห่งใหม่ ที่คาดว่าจะจบภายในเดือน พ.ย.นี้” แหล่งข่าวในกระทรวง อว.ตั้งข้อสังเกต.