ข่าวสารกรุงเทพฯ

สกู๊ป น.1 คำแนะนำ ‘ลงทุน’ ในยุค ‘การเมือง’ ไม่นิ่ง


สกู๊ป น.1 คำแนะนำ ‘ลงทุน’ ในยุค ‘การเมือง’ ไม่นิ่ง

 

ตั้งแต่ประเทศไทยจัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ด้วยความหวังจะมีรัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชน ตามครรลองหลักการประชาธิปไตย แต่จนถึงตอนนี้ เวลาล่วงเลยมา 2 เดือนกว่า ย่างเข้าเดือนที่ 3 ยังไม่สามารถจัดการเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ได้ สร้างความกังวลให้กับภาคเอกชนและนักลงทุนอยู่ไม่น้อย

เพราะสิ่งที่แน่นอน แน่ๆ คือจะกระทบถึงงบลงทุนของงบประมาณ 2567 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไป ต้องชะงักงัน ต้องเลื่อนการเบิกจ่ายงบ 2567 จนกว่าจะมีรัฐบาลแล้ว

ภาพสะท้อนที่เห็นชัดเจนถึงการขาดความเชื่อมั่น นั่นคือ การเทรดบนกระดานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ดัชนีหุ้นยังโงหัวไม่ขึ้น จากที่โบรกเกอร์หลายสำนักเคยคาดการณ์ดัชนีหุ้นไทยในปีนี้ อย่างน้อยที่สุดจะไม่ต่ำกว่า 1,650 จุด และที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคือ 1,700 จุด และสวยหรูสุด 1,800 จุด อาจมีโอกาส แต่สภาพการณ์ปัจจุบัน ดัชนียังวนเวียนอยู่ที่ระดับ 1,500 จุดกว่าๆ ยังไม่มีโอกาสเฉียดไปถึง 1,600 จุด และเคยต่ำจุดสูงสุดหลุด 1,500 จุดมาแล้ว หลังเลือกตั้งได้เพียงเดือนเดียว!

เมื่อสภาพการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนในตลาดหุ้นไม่เป็นดังคาด เพราะแรงกดดันหนึ่งมาจากปัญหาการเมืองที่ดูท่าการเลือกนายกฯคนที่ 30 ส่อแววจะเลื่อนออกไปอีกนาน นักลงทุนก็คงต้องหาช่องทางลงทุนในการสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่า หรือใช้เป็นหลุมหลบภัยพลางๆ ระหว่างรอให้การจัดตั้งรัฐบาลสะเด็ดน้ำ ซึ่งกูรูการลงทุนมีคำแนะนำให้หลากหลาย

เริ่มที่บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด มองว่าการเมืองไทยเป็นปัจจัยหนึ่งที่กดดัน โดยสถานการณ์การเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมาทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงแย่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก ขณะเดียวกันตลาดหุ้นทั่วโลกในไตรมาส 3 ปีนี้มีโอกาสปรับตัวลดลงเนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง และสภาพคล่องทั่วโลกจะลดลงอย่างมี

นัยสำคัญ จึงแนะนำการจัดพอร์ตลงทุนเพื่อฝ่ามรสุมทั้งปัจจัยการเมืองในประเทศและปัจจัยนอกประเทศ เน้นการลงทุนเมกะเทรนด์ เช่น หุ้นที่ได้ประโยชน์จากเอลนิโญ, หุ้นที่ได้ประโยชน์จาก AI Growth ทั่วโลก และหุ้นไทยที่มีการเติบโตทั้งรายปีและรายไตรมาส ในไตรมาส 2/66 รวมถึงหุ้นกลุ่มปันผลที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าอัตราผลตอบแทนรัฐบาล 10 ปี

บริษัท หลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) โดย นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์ลงทุนหลักทรัพย์ ฉายภาพการลงทุนในตลาดหุ้นไทยจากที่การเมืองยังมีปัญหา โดยให้น้ำหนักการเมืองไทยเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นมากที่สุดในตอนนี้ หากการจัดตั้งรัฐบาลต้องลากยาวกว่าที่ประเมินไว้เกินกว่า 2 เดือน กระทบต่องบประมาณ 2567 ล่าช้าไปด้วยจะส่งผลต่อการลงทุนของภาครัฐชะงัก ยิ่งช้ามากเท่าใดก็ยิ่งกระทบต่องบลงทุนภาครัฐมากเท่านั้น จึงเริ่มเห็นภาพนักลงทุนต่างชาติเริ่มทยอยกลับมาขายสุทธิอีกครั้ง หลังจากเพิ่งเริ่มกลับมาซื้อสุทธิได้ไม่นาน และครั้งนี้เป็นการขายหุ้นกระจายตัวไม่ได้ขายเฉพาะหุ้นที่งบการเงินออกไม่สวยเท่านั้น ระยะถัดไปนักลงทุนต่างชาติจะเทขายออกอีก ดังนั้น นักลงทุนไทยต้องระมัดระวังการลงทุนในหุ้นที่ถูกต่างชาติเทขายออก

ส่วนบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) โดยนายอรรถนันต์ ปิยเศรษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่าย Structured Product กล่าวว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ภาพรวมตลาดหุ้นไทยดูไม่ค่อยดีนัก ให้ผลตอบแทนค่อนข้าง Underperform เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นทั่วโลก และมีอัพไซด์ค่อนข้างจำกัดจากทั้งปัจจัยภายในเรื่องปัญหาทางการเมืองและปัจจัยภายนอก หลักทรัพย์ บัวหลวง จึงออกหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงประเภท Fixed Coupon Note หรือ FCN ระหว่างรอความชัดเจนของทิศทางตลาดหุ้น โดยออกแบบให้สามารถสร้างดอกเบี้ยเงินสดทุกเดือนตลอดอายุสัญญา FCN โดยฟีเจอร์ใหม่นี้ได้กำหนดจ่ายดอกเบี้ย ทุก 2 สัปดาห์ ช่วยให้นักลงทุนสามารถสร้างกระแสเงินสดได้เร็วขึ้น ยังคงบริหารสภาพคล่องทางการเงินได้คล่องตัวยิ่งขึ้น

ปิดท้ายด้วย YLG โดย น.ส.ฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG) มองว่าสินทรัพย์อย่าง “ทองคำ” กำลังจะกลับมาเป็นขาขึ้นรอบใหม่และใหญ่ ยาวนาน 3-5 ปีได้ แม้ว่าขณะนี้ทองคำยังย่อตัวแต่ราคาสามารถทรงตัวในระดับสูงเมื่อเทียบกับอดีต และแม้จะหมดปัจจัยหนุนอย่างสถานการณ์โควิด-19 ที่เบาบางลงมากแล้ว อีกทั้งช่วงที่ผ่านมาได้ซึมซับปัจจัยลบไปเกือบหมดแล้ว หากดอกเบี้ยสิ้นสุดขาขึ้นแล้ว ทองคำก็จะกลับมาเป็นขาขึ้นรอบใหม่ หากผ่านจุดสูงสุดของปีที่ 2,079 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ไปได้ มีโอกาสได้ทดสอบที่ 2,100 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และ 2,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามลำดับ

ดังนั้น ในจังหวะที่ทองคำยังอยู่แถวๆ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จึงเป็นจังหวะเข้าซื้อได้ รอขายทำกำไร ตุนเงินสดพร้อมลุยตลาดหุ้น หลังฝุ่นควันการเมืองสงบ มีรัฐบาลใหม่เดินหน้าบริหารประเทศ

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก [email protected] ได้ที่นี่

Line Image





Source link