ข่าวสารกรุงเทพฯ

หมูแพง : จะคุมระบาดโรค ASF ในหมูใน 1 ปี ได้หรือเปล่า และใครคือผู้อยู่รอด


ที่มาของภาพ, กรมปศุสัตว์

ผู้เลี้ยงสุกรระดับประเทศคาดจะผลิตสุกรป้อนสู่ระบบเป็นปกติได้อีกครั้งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี เช่นเดียวกับกรมปศุสัตว์ที่ระบุว่าต้องใช้เวลาวบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู (African Swine Fever: ASF) อย่างน้อย 8-12 เดือน

แต่เกษตรกรรายย่อยบางกลุ่มที่บีบีซีไทยได้รับข้อมูล ระบุว่า สถานการณ์ของพวกเขาเหมือน “ติดลบ” และต้องใช้เวลา 3-4 ปี

แม้เกิดโรคระบาดร้ายแรงในสุกรในหลายพื้นที่ทั่วไทยตั้งแต่ปี 2562 แต่กรมปศุสัตว์เพิ่งยืนยันว่าตรวจพบเชื้อไวรัส ASF ที่โรงฆ่าแห่งหนึ่งใน จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา

แหล่งข่าวในวงการผู้เลี้ยงสุกรระดับประเทศ เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า วิกฤตโรคระบาดร้ายแรงในหมู ทำให้ผู้เลี้ยงหมูรายกลางและรายเล็กล้มหายไปจากระบบราว 40-50% ขณะที่ผู้ยังเหลือรอดในตอนนี้ คือ กลุ่มผู้เลี้ยงขนาด 500 ตัวขึ้นไป ที่เลี้ยงในระบบปิดของกลุ่มบริษัทผู้เลี้ยงรายใหญ่ของประเทศ

“กลุ่มใหญ่เขาก็เสียหายด้วย แต่ว่าเขามีฟาร์มหลายภูมิภาค ไม่ใช่จังหวัดเดียว ภูมิภาคเดียวฟาร์มแบบนี้มีระบบป้องกันดี เพราะนั้น เปอร์เซ็นต์การสูญเสียก็ต่ำ ถ้าถามว่าเขาสูญเสียไหม สูญเสีย แต่กลุ่มนี้ยังไปได้อยู่ ส่วนรายเล็ก รายกลาง ที่ส่วนใหญ่มีฟาร์มที่เดียว เสียก็เสียเลยทั้งหมด” แหล่งข่าวระบุ

“ตอนนี้ฟาร์มที่เหลือจะเป็นฟาร์มที่มีระบบที่ดี การควบคุมจะง่าย และการระบาดจากฟาร์มเล็ก ๆ มันไปไม่ได้แล้ว เพราะไม่มีหมูให้ติดเชื้อแล้ว”

แม้ความเสียหายเกิดขึ้นในหมู่ผู้เลี้ยงหมูมากมายทั่วประเทศมาหลายปี แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่กล้าเปิดเผยตัวในการให้ข่าวสารต่อสื่อ เนื่องจากหวาดกลัวผลกระทบทางธุรกิจ และความปลอดภัย

เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูเผชิญความเสียหายมาอย่างน้อย 2 ปี แต่การเยียวยาจากรัฐบาลในขณะนี้ มีเพียงการชดเชยค่าใช้จ่ายราคาสุกรที่ถูกทำลาย ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 11 ม.ค. มูลค่ากว่า 570 ล้านบาท และการเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรยกระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมของกรมปศุสัตว์ รวมทั้งประสานหาแหล่งทุนสนับสนุนการเลี้ยงโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) เงินกู้รายละไม่เกิน 1 แสนบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี

เสียงจากคนเลี้ยงหมูภาคตะวันออก

หนึ่งในกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรในภาคตะวันออก บอกกับบีบีซีไทยว่า โรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู (ASF) มีในไทยมาราว 2 ปี แล้ว ใน จ.ชลบุรี หนักสุดเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2564 เฉพาะอำเภอหนึ่งของจังหวัด เกษตรกรรายกลางและรายเล็ก เสียหายไปราว 70-80% โดยที่ขณะนี้ “ยังตั้งหลักไม่ได้”

เขาชี้ว่า เกษตรกรรู้ได้ว่า หมูที่ตายเกิดจากโรค ASF เพราะมีการใช้ชุดตรวจคัดกรอง อีกทั้งลักษณะความรุนแรงของโรค หากเป็นโรค PRRS (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome) หมูจะไม่ล้มตายอย่างเฉียบพลันจำนวนมากเท่านี้ เพราะ PRRS เป็นโรคที่มีวัคซีน

เขาให้ข้อมูลว่าการระบาดของโรค ASF ทำให้หมูในระบบทั้งหมูแม่พันธุ์ และหมูขุนตายอย่างเฉียบพลัน โดยส่วนของหมูแม่พันธุ์ทั้งประเทศที่มีอยู่ราว 1,200,000 ตัว คาดว่าจะเหลือราว 600,000-800,000 ตัว โดยแม่พันธุ์ที่ยังเหลืออยู่เป็นสัดส่วนของฟาร์มของบริษัทผู้เลี้ยงรายใหญ่เป็นส่วนใหญ่

แหล่งข่าวรายนี้ ให้ความเห็นว่า ระยะเวลา 1 ปีที่รัฐประกาศออกมาว่าจะคุมโรคได้หมดและกลับมาผลิตหมูได้ ดูไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะอย่างในประเทศ จีนกว่าจะควบคุมการระบาดได้ก็ใช้เวลา 3-4 ปี

ในส่วนของเกษตรกรเอง หากเกษตรกรต้องการกลับมาเลี้ยงใหม่ นอกจากเงินทุน หรือโรคระบาดที่ยังคุมไม่ได้แล้ว หมูแม่พันธุ์ที่จะให้ลูกหมูออกมาเลี้ยงก็แทบไม่เหลืออยู่ในระบบ เพราะแม่พันธุ์เหลือน้อย การผลิตลูกหมูเพื่อที่ฟาร์มจะซื้อไปเลี้ยงต้องใช้เวลาตามวงรอบอีกราว 1 ปี

เขาบอกว่า เฉพาะในอำเภอหนึ่งที่เลี้ยงหมูเป็นจำนวนมากใน จ.ชลบุรี จำนวนของแม่พันธุ์หมูจากเดิมที่มีอยู่ในระบบราว 40,000 ตัว ตอนนี้เหลือไม่ถึง 2,000 ตัว และประเมินว่า แม่พันธุ์หมูในประเทศที่เหลืออยู่ตอนนี้ ผู้เลี้ยงรายใหญ่น่าจะพยายามขยายพันธุ์เพื่อกระจายในระบบการเลี้ยงแบบพันธะสัญญา หรือคอนแทรคฟาร์มมิ่ง ของตัวเองมากกว่า หากมีขายให้กับรายย่อยทั่วไป ก็ไม่น่าจะขายพันธุ์แม่หมูที่เป็นสายพันธุ์แท้ ให้กับเกษตรกรกลุ่มย่อยอย่างสายพันธุ์ลาร์จน์ไวท์ (Large White) หรือแลนด์เรซ (Land Race) ซึ่งเป็นสายพันธุ์แท้ ให้ผลผลิตดี

“วันนี้คุณจะหาวัตถุดิบต้นแบบจากไหน เพราะว่าจะไปหาเพื่อนซ้ายขวามันก็ไม่มี…การฟื้นตัวของเกษตรกร มันคือ ลบสิบ ไม่ใช่เริ่มหนึ่งได้ เริ่มหนึ่งหมายความว่าไปซื้อแม่พันธุ์มาเลย แล้วลองผสม แต่ตอนนี้จะไปเอาตังค์จากไหนไปซื้อแม่พันธุ์ จะไปหาแหล่งวัตุดิบที่เป็นแม่พันธุ์จากที่ไหน มันเลยเริ่มหนึ่งไม่ได้ ไม่ใช่ว่าคุณไปขุดดินแล้วปั้น ๆ เป็นหมูได้” เขากล่าวกับบีบีซีไทยทางโทรศัพท์

ที่มาของภาพ, กรมปศุสัตว์

เมื่อ ASF ล้อมไทย รายใหญ่ส่งออกรุ่ง ผู้เลี้ยงรายย่อยร่วง

การระบาดของโรคนี้ในประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ลาว กัมพูชา เวียดนาม ระหว่างปี 2562-2563 ทำให้ไทย กลายเป็นประเทศเดียวที่ประกาศตัวว่า ดำรงสถานะปลอดโรค ASF มานานกว่า 2 ปี และเมื่อดูตัวเลขการส่งออกหมูไทย ปี 2563 ก็นับว่าเป็นปีทองของผู้ส่งออกเฉพาะเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์

จากข้อมูลย้อนหลัง การปรากฏของโรค ASF ในไทย มีข้อมูลมากขึ้นในเดือน มิ.ย. 2564 ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า “มีรายงานในหลายจังหวัดพบหมูตายจากอาการคล้ายโรค ASF โดยเริ่มระบาดที่ จ.สระแก้ว ก่อนลุกลามไปยังฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง หนักสุดคือที่ฟาร์มหมูในราชบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่ของไทย”

สภาเกษตรแห่งชาติ ก็ได้รับแจ้งจากสมาชิกว่ามีการระบาดของโรค ASF หลายพื้นที่ สอดคล้องกับข้อมูลจากภาคีคณบดีสัตวแพทย์แห่งประเทศไทย 14 สถาบัน และผู้เลี้ยงหมูที่มีรายงานผ่านสื่อมวลชนหลายแขนงว่า โรค ASF เริ่มระบาดมาตลอดปี 2564

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม แม้เริ่มมีการระบาดของ ASF การส่งออกหมูไทยในปี 2564 ในแง่ปริมาณและมูลค่า ถึงจะลดลงกว่าปี 2563 กว่าเท่าตัว แต่ก็ยังสูงกว่าปี 2562

แหล่งข่าวจากวงการสุกรบอกบีบีซีไทย การส่งออกหมูในระยะที่ผ่านมา มูลค่าส่วนใหญ่เป็นการส่งออกหมูมีชีวิตในกลุ่มลูกหมูไปยังประเทศโดยรอบได้แก่ ลาว เมียนมา กัมพูชา โดยการส่งออกเป็นไปเพื่อปรับปริมาณหมูในประเทศให้สมดุล และผู้ส่งออกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ผลิตหมูรายใหญ่ของประเทศ

“ที่เขาส่งออกเป็นประจำ เขาตรวจเป็นระยะ ๆ อยู่แล้ว แต่การประกาศโรคที่เป็น 1 จุด มันไม่ได้เหมาไปทั้งทุกฟาร์ม มันเป็นเรื่องระหว่างผู้ซื้อผู้ขายว่า จะซื้อกันอยู่หรือเปล่า”

สถิติการส่งออกหมูไทย

  • 2562 รวม 15,306 ตัน มูลค่า 3,533 ล้านบาท

เนื้อและผลิตภัณฑ์อื่น 15,171ตัน มูลค่า 2,839ล้านบาท

หมูมีชีวิต 135 ตัน มูลค่า 694 ล้านบาท

  • 2563 รวม 36,165 ตัน มูลค่า 15,768 ล้านบาท

เนื้อและผลิตภัณฑ์อื่น 34,636 ตัน มูลค่า 4,962 ล้านบาท

หมูมีชีวิต 1,529 ตัน มูลค่า 10,806 ล้านบาท

  • 2564 (ม.ค. – พ.ย.) รวม 19,523 ตัน มูลค่า 8,536.2 ล้านบาท

เนื้อและผลิตภัณฑ์อื่น 18,708 ตัน มูลค่า 2,727 ล้านบาท

หมูมีชีวิต 815 ตัน มูลค่า 5,809.2 ล้านบาท

ขณะที่ไทยพีบีเอส รายงานอ้าง น.ส.ธรีทิพย์ วงษ์แสงไพบูลย์ ผอ. อาวุโส บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) คาดว่า ผู้ประกอบการที่เป็นฟาร์มขนาดใหญ่ที่มีมาตรฐานสูง จะได้รับประโยชน์จากสถานการณ์การระบาดของ ASF

หลักทรัพย์กสิกรไทย ให้ข้อมูลด้วยว่า ส่วนแบ่งการตลาดสุกรในประเทศ แบ่งเป็นเกษตรกรรายย่อย 30% และฟาร์มขนาดใหญ่ 70% โดยรายใหญ่ในประเทศ 3 อันดับต้น ได้แก่ ซีพีเอฟหรือเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร เครือเบทาโกร และไทยฟู้ดส์

รายใหญ่ กับ ผู้เลี้ยงคอนแทรคฟาร์มมิ่ง

“ภาคบริษัทใหญ่ ๆ ขายดี แต่เกษตรกรรายเล็กรายน้อย ได้ไม่เท่ากับบริษัทใหญ่ ซึ่งเขาไม่ได้เลี้ยงเองทั้งหมด” แหล่งข่าวผู้เลี้ยงสุกรในภาคตะวันออกระบุ

เขาบอกด้วยว่า พื้นที่ จ.จันทบุรี ตราด ระยอง ยังมีปัญหาเรื่องโรค ASF น้อย เป็นที่มาที่ปรากฏข่าวฟาร์มเลี้ยงหมูแบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งที่ จ.ระยอง

เขาอธิบายว่า ผู้ผลิตรายใหญ่ก็กระจายความเสี่ยงในการเลี้ยงไปในหลายพื้นที่ไม่ให้กระจุกตัวที่ใดที่หนึ่ง เพื่อป้องกันความสูญเสียจากโรคระบาด

“รายเล็กรายน้อยตายไปหมดแล้ว กระทั่งราชบุรีที่เป็นแหล่งผลิตหมู 30% ของทั้งประเทศก็ด้วย แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เป็นคอนแทรคภาคบริษัทใหญ่ทั้งหมด… ภาคใหญ่แทบไม่มีไปเลี้ยงในเขตตะวันตก เขารู้อยู่แล้วว่าเป็นแหล่งชุมชน ไปเลี้ยงอีสาน สถานที่ไกล ๆ หน่อย” เขาระบุ

จากข่าวที่ผู้เลี้ยงสุกรในระยอง ออกมาพูดว่าหมูหน้าฟาร์มขายได้ราคากิโลกรัมละ 60 บาท แต่ไม่มีใครมารับซื้อ ต่อมาปรากฏภายหลังว่าผู้เลี้ยงรายนี้ เป็นเกษตรกรที่เลี้ยงหมูในระบบฟาร์มพันธะสัญญากับผู้ผลิตหมูรายใหญ่ และเหตุที่ยังไม่รับหมูจากฟาร์มไปเพราะยังไม่ถึงรอบอายุในวันที่ 1 ก.พ.

“ทำสัญญาซื้อขายไว้ที่ 60 บาท ขายคืนให้กับบริษัทที่เขามาลงทุนให้” เกษตรกรหญิง ชี้แจงในภายหลัง

ปศุสัตว์ จ.ระยอง ชี้แจงว่า บริษัทและฟาร์มได้ทำสัญญาในการเลี้ยง การซื้อขาย โดยตกลงสัญญาราคาหมูมีชีวิตอยู่ที่กิโลกรัมละ 61 บาทเมื่อ 4 เดือนที่แล้ว ซึ่งราคาตลาดอยู่ที่ประมาณ 70 บาท ซึ่งขณะนี้ราคาตลาดขึ้นไปที่ 110 บาทแล้ว ส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทางฟาร์มหาลูกหมูให้ ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด และสนับสนนุน อาหาร ยาเวชภัณฑ์ให้ทุกอย่าง โดยใช้ระบบเครดิต พอเลี้ยงครบกำหนดแล้ว เมื่อจับหมูเสร็จเรียบร้อยแล้วได้ราคาเท่าไหร่ก็หักลบกลบหนี้กัน

เมื่อใดจึงจะกลับสู่ภาวะปกติ

ผู้เลี้ยงสุกรในภาคตะวันออก อธิบายด้วยว่า ที่ราคาหมูพุ่งสูงแบบ “ระเบิด” ขึ้นมาตอนนี้ เพราะหมูแช่แข็งที่พ่อค้าคนกลางรับซื้อไปจากเกษตรกรที่รีบขายก่อนป่วยตายในราคาถูกเมื่อปีที่แล้ว ใกล้หมดสต็อกแล้ว เนื่องจากมีการระบายในช่วงคลายล็อกดาวน์ประเทศ และช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่ความต้องการบริโภคมีสูง

เขาบอกว่า ปริมาณหมูแช่แข็งที่กักตุนไว้ก่อนค่อย ๆ ปล่อยออกสู่ตลาด ในปีที่ผ่านมามีมากกว่า 1 แสนกิโลกรัม

ในด้านการกลับมาเลี้ยงใหม่อีกครั้ง แหล่งข่าวในวงการสุกรอีกราย กล่าวว่า เกษตรกรรายกลางและรายเล็กเลือกที่จะชะลอการเลี้ยงหมูออกไปก่อน ถึงแม้จะมีการส่งเสริมหรืออุดหนุนเงินกู้มาตอนนี้ แต่หากยังไม่ได้ปรับปรุงฟาร์มเป็นระบบปิดให้มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพที่ได้มาตรฐานก็ยังตัดสินใจไม่เลี้ยง

“ถ้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยเลี้ยงตอนนี้ ทุกคนรู้ ในแง่ของรายย่อย บอกว่าเลี้ยงตอนนี้เลี้ยงไปก็ตาย เพราะประสบการณ์จำฝังใจอยู่เพราะว่าโรคนี้มันเร็ว คุมยาก มันตายเร็ว และเปอร์เซ็นต์ตายค่อนข้างสูง 90-100%”

เขาให้ข้อมูลต่อด้วยว่า ตัวเลขที่กลุ่มฟาร์มประเมินว่าจะกลับมาผลิตป้อนเข้าสู่ระบบได้ คือ 11-12 เดือน “แต่ข้อแม้คือ โรคต้องไม่มี ต้องมีการคุมการระบาดต่อ”

“ตอนนี้คุม (โรค ASF) ง่ายแล้ว เพราะฟาร์มเล็กฟาร์มกลาง ตายหมดแล้ว ฟาร์มที่เหลืออยู่เป็นระบบปิด”

ในส่วนของราคานั้นขึ้นอยู่กับกลไกตลาดในช่วงเวลาที่กลับมาผลิตได้ เพราะเมื่อหมูแพง ประชาชนอาจจะหาแหล่งโปรตีนทดแทนได้ ดังนั้น เมื่อความต้องการน้อยลง เพราะราคาสูง ก็จะทำให้ราคาลงเร็วขึ้น

แม้วงการคนเลี้ยงหมูรายย่อย สูญหายไปจากระบบราวครึ่งหนึ่งของการผลิตทั้งประเทศ แต่นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเมื่อ 17 ม.ค. ว่า การส่งออกเนื้อหมูดิบและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหมู “จะไม่มีผลกระทบมากนัก” และ “การส่งออกน่าจะมีปริมาณใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา” โดยในปี 2565 คาดการณ์ว่าการส่งออกน่าจะอยู่ที่ประมาณ 23,000 ตัน มูลค่า 3,646 ล้านบาท

ส่วนการส่งออกสุกรมีชีวิต กระทรวงพาณิชย์ โดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการได้ประกาศห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตไปนอกราชอาณาจักรเป็นเวลา 3 เดือน (6 มกราคม – 5 เมษายน 2565)



Source link