เปิด 8 ฐานทัพสหรัฐอเมริกา ที่เคยตั้งในไทย มีที่ไหนบ้าง ตั้งฐานทัพเมื่อใด
• ที่มาที่ไปของการตั้งฐานทัพสหรัฐอเมริกาในไทย ในอดีต
.
จุดเริ่มต้นของการ ตั้งฐานทัพสหรัฐอเมริกาในไทย คงต้องย้อนไปถึง ช่วงเวลาสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่ง อเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูบนเกาะฮิโรชิมะและเมืองนางาซากิ
จบสงคราม “สหรัฐอเมริกา” ขึ้นเป็นผู้นำโลก ยุคใหม่ และตัดสินใจดำเนินนโยบายปิดล้อม เพื่อป้องกันการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในประเทศแถบอินโดจีนทันที โดย อเมริกาตัดสินใจรีบเข้ามาขยายอิทธิพลแถบเอเชียเพื่อป้องกันการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ เพราะใจหนึ่งก็หวั่นเกรง พลังของ “จีน” ภายใต้การนำของ “เหมา เจ๋อตง” ที่วางรากระบบสังคมนิยมได้สำเร็จแล้ว
.
ตรรกะ ณ เวลานั้น สหรัฐฯ ประเมิน ว่า หากปล่อยให้จีนครอบงำ และมีประเทศใดประเทศหนึ่งในภูมิภาคเดียวกันเป็นคอมมิวนิสต์ ประเทศอื่นๆ ก็จะทยอยเปลี่ยนแปลงการปกครองตามไปด้วย
โดยสถานการณ์ในตอนนั้น นอกจากเวียดนามเหนือ นำโดย เวียดมินห์ จะเอาชนะกองทหารฝรั่งเศสได้สำเร็จ ลาวและกัมพูชาเองก็มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นเช่นกัน อเมริกาเห็นประเทศไทยที่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปสู่คอมมิวนิสต์ แต่ก็กลัวว่า อาจเกิดขึ้นในสักวันเพราะรายล้อมไปด้วยลาว เวียดนาม และกัมพูชา จึงดำเนินยุทธศาสตร์ด้วยการให้ความช่วยเหลือกับไทยอย่างเต็มที่ ทั้งเงินทุนสนับสนุนจากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) มากมาย รวมถึงการขอเข้ามาตั้งฐานทัพในไทยถึง 8 แห่ง
ประเทศไทยในรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ภายหลังจากการรัฐประหาร “ปรีดี พนมยงค์” ก็เกิดความระแวง เพราะขั้วอำนาจของตัวเองยังไม่แข็งแรงแกร่งเท่าไร
.
คณะรัฐบาลจอมพล ป. จึงตัดสินใจใช้นโยบายการต่างประเทศเป็นหนทางเอาตัวรอด มองว่าระบบคอมมิวนิสต์จะเป็นตัวบ่อนทำลายชาติบ้านเมือง จึงนำประเทศไทยเข้าไปผูกพันกับอเมริกาอย่างเหนียวแน่น ณ ตอนนั้น อเมริกาที่มีเงินทุนพรั่งพร้อมและต้องการขึ้นเป็นมหาอำนาจของโลก จึงอัดฉีดทั้งเงินทุนสนับสนุนด้านเศรษฐกิจและการทหาร
และผลที่ตามมา “ไทย” ก็ได้กลายเป็นสนามรบระหว่างสหรัฐอเมริกาและเวียดนามทันที โดยก่อนหน้าที่อเมริกาจะเข้ามาใช้พื้นที่ในไทยเป็นฐานทัพ อเมริกาได้ใช้วิธีส่งกำลังทหารมาทำลายกองกำลังคอมมิวนิสต์เรื่อยๆ ซึ่งมีการประเมินว่า จำนวนทหารที่ส่งมามีมากถึงครึ่งล้านทีเดียว นั่นจึงทำให้ค่าใช้จ่ายในการสู้รบแต่ละครั้งมีจำนวนไม่น้อย
เมื่อเล็งเห็นประเทศไทยที่มีภูมิรัฐศาสตร์พร้อมรบ ประหยัดค่าใช้จ่ายในการส่งทหารมาแต่ละครั้งได้ ไทยจึงได้รับบทบาทผู้ให้บริการ 3 ด้าน ได้แก่
การให้ที่ตั้งฐานทัพ โดย ณ เวลานั้นจะตรงกับช่วงเวลาที่ John F. Kennedy จอห์น เอฟเคนเนดี้เป็นประธานาธิบดี ในช่วงปี 1961 หรือ พ.ศ 2504
ที่ตั้งอุปกรณ์สืบราชการลับ
ศูนย์พักผ่อนและพักฟื้นของทหารอเมริกัน
ทางการไทยอนุญาตให้อเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพได้ทั้งหมด 8 แห่ง
1. ฐานทัพอากาศดอนเมือง กรุงเทพฯ (พ.ศ.2504-2513) : สหรัฐฯ เริ่มติดตั้งระบบเตือนภัยทางอากาศ
2. ฐานทัพอากาศตาคลี จ.นครสวรรค์ (พ.ศ.2504-2514) : ฐานทัพกองบินขับไล่ที่ 421, 255 และ 390 ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ / กองบินที่ 4 ย้ายจากดานัง เวียดนามใต้ มาประจำการที่นี่
3. ฐานทัพอากาศโคราช จ.นครราชสีมา (พ.ศ.2505-2518) : สหรัฐฯ เริ่มส่งเจ้าหน้าที่มาประจำการในปี 2505 เริ่มปฏิบัติการโจมตีจากฐานทัพนี้ในปี 2507
4. ฐานทัพเรือนครพนม จ.นครพนม (พ.ศ.2505-2519) : ฐานปฏิบัติการพิเศษของกองทัพอากาศ, ฐานปฏิบัติการอิเล็กทรอนิกส์, ฐานปฏิบัติการเฮลิคอปเตอร์และการลำเลียง, ฐานกองบินปฏิบัติการพิเศษ และสนับสนุนการรบในลาว
5. ฐานทัพอากาศน้ำพอง จ.ขอนแก่น (พ.ศ.2505-2509) : รองรับหน่วยบินทิ้งระเบิดขับไล่ของนาวิกโยธินสหรัฐฯ ซึ่งย้ายมาจากฐานทัพดานังในเวียดนาม
6. ฐานทัพอากาศอุดร จ.อุดรธานี (พ.ศ.2507-2519) : ฐานส่งหน่วยบินขับไล่, ฐานปฏิบัติการเครื่องบินขับไล่ RF-4C มีภารกิจในอินโดจีน และส่งยุทธปัจจัยสนับสนุนการรบในลาว, กองบินส่งกำลังบำรุงที่ 13, โรงเรียนฝึกบินให้กองทัพอากาศลาว, สำนักงานของ CIA ดูแลทหารรับจ้างในลาว และสำนักงานของแอร์อเมริกาและคอนติเนนตัลแอร์เซอร์วิสเซส
7.ฐานทัพอากาศอุบล จ.อุบลราชธานี (พ.ศ.2508-2517) : ฐานส่งกองบินขับไล่ที่ 8 และสำนักงาน CIA เพื่อประสานหน่วยข่าวในลาว
8 สนามบินทหารเรืออู่ตะเภา จ.ระยอง (พ.ศ.2508-2519) :ฐานวางแผนทางยุทธ์ศาสตร์, หน่วยสนับสนุนการต่อสู้ที่ 635 และฐานเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 ที่รัฐบาลไทยอนุญาตให้ใช้ในปี 2510
ทราบกันหรือไม่ ในช่วงเวลา ปี 2504-2519 (1961-1976) ประเทศสหรัฐอเมริกา มีประธานาธิบดี ไปแล้ว 4 คน ได้แก่ จอห์น เอฟ เคนเนดี้, ลีนดอน บี. จอห์นสัน , ริชาร์ด นิกสัน และ เจรัลด์ ฟอร์ด
และ มีการประมาณการว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของการทิ้งระเบิดในเวียดนาม ในช่วงสงครามเวียดนาม ที่เริ่มต้นอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2507 (ปี 1964) มาจากกองกำลังทหารอเมริกาในฐานทัพไทย โดยรัฐบาลไทยได้ส่งกองกำลังทหารไปร่วมรบกับทหารอเมริกันอีกราว 11,000 คน
สนามบินบ่อฝ้าย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถูกใช้เป็นสถานีทดลองโปรยฝนเคมี ทหารไทยถูกส่งเข้าร่วมรบใน
สงคราม หลายเมืองในประเทศไทยกลายเป็นสถานตากอากาศ (R&R) ให้แก่ทหารอเมริกันในช่วงระหว่างสงคราม
อย่างไรก็ตาม เมื่อสงครามเวียดนามยุติลงจากการลงนามข้อตกลงปารีสเมื่อปี ค.ศ.1973 (หรือปี 2516 ) ในเวลาต่อมา
ไทยได้รับผลกระทบโดยตรงในแง่ความสัมพันธ์กับประเทศแถบอินโดจีนโดยเฉพาะเวียดนาม รัฐบาลหลังจากนั้นต้องเผชิญกับแรงเสียดทานด้านการต่างประเทศกับเพื่อนบ้าน หลังการสรุปบทเรียนเสร็จสิ้นลง “สงครามเวียดนาม” นับเป็นสมรภูมิที่เลวร้ายและไร้ซึ่งความชอบธรรมอย่างถึงที่สุด เวียดนามกลายเป็นหนึ่งในหมากของ “สงครามตัวแทน” ที่อเมริกาใช้เป็นเครื่องมือช่วงชิงอำนาจความเป็นหนึ่ง ทั้งยังสร้างผลกระทบ-ทิ้งร่องรอยสงครามในพื้นที่ไว้มากมาย
ที่มา bangkokbiznews และ BBC sac