ไทยเสี่ยงขาดแคลนน้ำ อ่าง 4 เขื่อนหลักแค่ 41% ผลกระทบเอลนีโญ กรมชลฯ แนะงดทำนาปี
พบปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยารวมกันแค่ 41% ของความจุอ่าง ผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ทำน้ำต้นทุนต้นฤดูแล้งจำกัด กรมชลประทานขอความร่วมมือชาวนางดทำนาปี เก็บน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ
วันนี้ (26 ส.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า กรมชลประทานได้รายงานสถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา พบว่าเขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 5,555 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 41% ของความจุอ่าง ใช้การได้ 1,755 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 4,422 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 46% ของความจุอ่าง ใช้การได้ 1,572 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมสองเขื่อนหลักมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 9,977 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 41% ของความจุอ่าง
ส่วนเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 159 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 17% ของความจุอ่าง ใช้การได้ 116 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 69 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 7% ของความจุอ่าง ใช้การได้ 7 ล้านลูกบาศก์เมตร 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา 10,205 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 41% ของความจุอ่าง ใช้การได้ 3,509 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยระบายน้ำไปแล้วประมาณ 35 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน
ก่อนหน้านี้ นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้กำชับโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้เร่งเก็บกักน้ำในช่วงปลายฤดูฝนให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้น สำหรับการคาดการณ์ปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับใช้ในช่วงฤดูแล้งปี 2566-2567 ทั้งประเทศ คาดว่าในวันที่ 1 พ.ย. 2566 จะมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 22,825 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยสามารถใช้ในการวางแผนเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2566-2567 ทั้งประเทศได้ประมาณ 2.21 ล้านไร่ น้อยกว่าปี 2565 จำนวน 8.22 ล้านไร่
เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนต้นฤดูแล้งที่มีอยู่อย่างจำกัด ผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้ในหลายพื้นที่มีปริมาณฝนตกน้อยลงกว่าปกติ โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก ทำให้ไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งหรือข้าวนาปรังได้ โดยปริมาณน้ำใช้การจำนวนดังกล่าวจะเพียงพอเฉพาะการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และแผนการเพาะปลูกพืชไร่ พืชผัก และไม้ผล ไม้ยืนต้น รวมกว่า 2.28 ล้านไร่ เท่านั้น
กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำด้วยการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรที่ได้ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีรอบแรกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ ให้งดเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด ลดความเสี่ยงผลผลิตทางการเกษตรเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ และขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมใจใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งหน้าที่จะถึงนี้
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า สำหรับปรากฎการณ์เอลนีโญ คือ การอุ่นขึ้นอย่างผิดปกติของน้ำทะเลบริเวณตอนกลางและตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน เป็นต้นเหตุให้เกิดผลกระทบต่อภูมิอากาศของโลกอย่างรุนแรง ส่วนประเทศไทยทำให้ปริมาณฝนส่วนใหญ่ต่ำกว่าปกติ โดยเฉพาะฤดูร้อนและต้นฤดูฝน ในขณะที่อุณหภูมิของอากาศจะสูงกว่าปกติ เฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เอลนีโญมีขนาดรุนแรง ผลกระทบดังกล่าวจะชัดเจนมากขึ้น
ในภาคธุรกิจประเมินกันว่าปรากฎการณ์เอลนีโญจะสร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรไทย เช่น ศูนย์วิจัยกรุงไทยคอมพาส ธนาคารกรุงไทย คาดการณ์ว่าจะทำให้ข้าว อ้อย และมันสำปะหลังได้รับความเสียหายรวมกันอยู่ที่ราว 16,000-126,000 ล้านบาท จากปริมาณน้ำต้นทุนที่ลดต่ำลงและภาวะฝนทิ้งช่วง โดยแนะนำให้เกษตรกรประยุกต์ใช้ความรู้ด้านการเพาะปลูกสมัยใหม่ ที่พึ่งพาการใช้ทรัพยากรน้ำน้อยกว่าเดิม และควรปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตเพื่อลดต้นทุน
ส่วนธุรกิจเกษตรแปรรูป ควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการวัตถุดิบ เพื่อรับมือกับความผันผวนของต้นทุนสินค้าเกษตร, ควรร่วมมือกับเกษตรกรในการประยุกต์ใช้ Climate Tech เพื่อช่วยบริหารจัดการและติดตามข้อมูลสภาพอากาศและภัยธรรมชาติ อีกทั้งควรศึกษาและติดตามกฎระเบียบการค้า เนื่องจากกฎระเบียบการค้าด้านสิ่งแวดล้อมมีการยกระดับอยู่เสมอและมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้น รวมถึงมีโอกาสขยายขอบเขตไปยังสินค้ากลุ่มอื่นๆ
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุอีกว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา ประเทศอินเดียออกคำสั่งห้ามส่งออกข้าวทุกชนิด ยกเว้นข้าวบาสมาติ (Basmati Rice) เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีข้าวเพียงพอต่อความต้องการของประชากรในประเทศ และสกัดราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นภายในประเทศ ส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น ส่วนประเทศไทยพบว่า ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 อยู่ที่ตันละ 12,000-12,500 บาท ส่งผลให้ราคาข้าวสารเพิ่มขึ้นประมาณ 200 บาทต่อกระสอบ