ระเบิดเลบานอน: เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับแอมโมเนียมไนเตรทในไทยหลังโศกนาฏกรรมกรุงเบรุต – BBC News ไทย
- กุลธิดา สามะพุทธิ
- ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
ที่มาของภาพ, Reuters
แรงระเบิดทำให้พื้นที่โดยรอบเสียหายเป็นวงกว้าง
เหตุระเบิดครั้งใหญ่ที่คลังเก็บสารแอมโมเนียมไนเตรทในกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน ทำให้สารเคมีชนิดนี้กลับมาอยู่ในความสนใจของคนไทย พร้อมกับข้อสงสัยว่า หากตัดประเด็นเรื่องการก่อการร้ายออกไป เหตุระเบิดเมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่คร่าชีวิตผู้คนไปนับร้อยในชั่วพริบตา มีโอกาสจะเกิดขึ้นในไทยหรือไม่
อันที่จริง คนไทยไม่ได้ห่างไกลจากแอมโมเนียมไนเตรท เพราะสารเคมีชนิดนี้ถูกนำมาใช้ในการผลิตสิ่งของหลายอย่าง เช่น หัวไม้ขีดไฟ พลุและดอกไม้ไฟ ระเบิดที่ใช้ในโรงโม่หิน ปุ๋ย และสารดูดความชื้น เป็นต้น
ที่ผ่านมาหลายคนคงเคยได้ยินข่าวอุบัติเหตุระเบิดที่แหล่งผลิตดอกไม้ไฟอยู่บ้าง ซึ่งนั่นก็เกี่ยวข้องกับแอมโมเนียมไนเตรทเช่นกัน
เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับแอมโมเนียมไนเตรทในไทย ทั้งการผลิต การใช้และกระบวนการตรวจสอบความปลอดภัย ต่อไปนี้คือข้อมูลและข้อสังเกตที่บีบีซีไทยได้จากการสัมภาษณ์ รศ. ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีอินทรีย์ จากภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ม. เกษตรศาสตร์ และนายปณตสรรค์ สูจยานนท์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมเทคโนโลยีความปลอดภัยโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม
ใครผลิต-ใครใช้แอมโมเนียมไนเตรท
นายปณตสรรค์ ผอ. กองส่งเสริมเทคโนโลยีความปลอดภัยโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและใช้แอมโมเนียมไนไตรทให้ข้อมูลว่าประเทศไทยมีโรงงานผลิตแอมโมเนียมไนเตรทเพียงแห่งเดียวอยู่ที่ จ.ระยอง โดยมีกำลังการผลิตสูงสุดอยู่ที่ 70,000 ตันต่อปี มีทั้งผลิตเพื่อการส่งออกและใช้ภายในประเทศ
ส่วนโรงงานที่ใช้สารแอมโมเนียมไนเตรทเป็นส่วนประกอบในกระบวนการผลิตที่ได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานฯ มีทั้งหมด 9 ราย เป็นโรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับการทำไม้ขีดไฟ วัตถุระเบิด ดอกไม้ไฟ แต่ขณะนี้มีโรงงานที่ใช้สารชนิดนี้ในขณะนี้อยู่เพียง 2 ราย
ที่มาของภาพ, EPA
สภาพพื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเบรุตหลังเหตุระเบิด
จากการสืบค้นข้อมูล บีบีซีไทยพบว่าโรงงานผลิตแอมโมเนียมไนเตรทที่มีอยู่เพียงโรงงานเดียวในประเทศไทยที่ ผอ. กองส่งเสริมเทคโนโลยีความปลอดภัยโรงงานกล่าวถึงคือ บริษัท ไนเตรทไทย จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในเขตประกอบการอุตสาหกรรมทีพีไอ
แอมโมเนียมไนเตรทยังมีสถานะเป็น “ยุทธภัณฑ์” เนื่องจากเมื่อนำผสมกับน้ำมันดีเซลจะเปลี่ยนสภาพเป็นวัตถุระเบิดที่เรียกว่า “แอนโฟ” (Anfo) ได้ ซึ่งนอกจากจะใช้ในการระเบิดย่อยหินแล้ว ยังใช้ในด้านการทหารด้วย การนำเข้าและครอบครองแอมโมเนียมไนเตรทจึงต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงกลาโหมด้วย
สำหรับการใช้เป็นส่วนผสมของปุ๋ยได้นั้น รศ. ดร. วีรชัยกล่าวว่าประเทศไทยไม่นิยมนัก เพราะนิยมใช้ยูเรียมากกว่า
ที่มาของภาพ, Facebook/Weerachai Phutdhawong
รศ. ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีอินทรีย์ จากภาควิชาเคมี ม. เกษตรศาสตร์
นอกจากผลิตจากโรงงานและการนำเข้าแล้ว รศ. ดร. วีรชัยให้ข้อมูลว่าผู้ที่มีความรู้ด้านเคมีอาจ “เล่นแร่แปรธาตุ” ผลิตแอมโมเนียมไนเตรทขึ้นมาได้ด้วยการนำสารตั้งต้น คือ กรดไนตริกที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลอมเหล็กมาผสมกับแอมโมเนีย ก็จะได้แอมโมเนียมไนเตรท แต่เขาย้ำว่าการจะผลิตได้ต้องทำโดยผู้ที่มีความรู้ด้านเคมีจริง ๆ เท่านั้น
หน่วยงานไหนควบคุมดูแล
เนื่องจากแอมโมเนียมไนเตรทมีการใช้ในหลายกิจการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลจึงมีหลัก ๆ 4 หน่วยงาน ซึ่งผู้อำนวยการกองส่งเสริมเทคโนโลยีความปลอดภัยโรงงานอธิบายดังนี้
กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม: ดูแลโรงงานผู้ผลิตแอมโมเนียมไนเตรท และโรงงานที่ใช้สารชนิดนี้เป็นส่วนประกอบในการผลิต
กระทรวงกลาโหม: เป็นหน่วยงานที่อนุญาตให้นำเข้าหรือครอบครองแอมโมเนียมไนเตรทซึ่งถือว่าเป็นยุทธภัณฑ์ตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์
กระทรวงสาธารณสุข: โรงงานผลิตและใช้แอมโมเนียมไนเตรทจัดเป็น “กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ” ตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข
กระทรวงมหาดไทย: การประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพต้องได้รับอนุญาตจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ที่มาของภาพ, Reuters
กลุ่มควันสีแดงจากการระเบิด
ก่อนหน้านี้ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำกับดูแลการใช้แอมโมเนียมไนเตรทในส่วนที่นำมาใช้เป็นปุ๋ยด้วย แต่ต่อมาได้ยกเลิกการควบคุมแอมโมเนียมไนเตรตเป็นปุ๋ยเคมี และเมื่อปี 2562 กรมวิชาการเกษตรได้ออกประกาศฉบับล่าสุดที่ระบุว่า ห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่รับขึ้นทะเบียนแอมโมเนียมไนเตรทเป็นปุ๋ยเคมี ยกเว้นปุ๋ยเชิงประกอบและปุ๋ยเชิงผสมที่มีแอมโมเนียมไนเตรทเป็นวัตถุอันเป็นส่วนประกอบของปุ๋ยเคมีอยู่ด้วย
ในส่วนของกรมโรงงานฯ นายปณตสรรค์กล่าวว่าช่วงปลายปีของทุกปี เจ้าหน้าที่จะส่งหนังสือเตือนและกำชับให้โรงงานผู้ผลิตและใช้แอมโมเนียมไนเตรทปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย เนื่องจากเป็นช่วงทีมีเทศกาลลอยกระทงและส่งท้ายปี ผู้ผลิตดอกไม้เพลิงจึงมีปริมาณการใช้และสั่งซื้อสารเคมีชนิดนี้มาเก็บตุนมากเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ ตามกฎหมายแล้วทั้งโรงงานที่ผลิตและใช้แอมโมเนียมไนเตรทจะต้องจัดทำรายงานประเมินความเสี่ยงซึ่งประกอบด้วยมาตรการรักษาความปลอดภัย ป้องกันอุบัติเหตุและแผนตอบสนองเหตุฉุกเฉินส่งกรมโรงงานฯ เป็นระยะ
ที่มาของภาพ, AFP
กลุ่มควันคล้ายดอกเห็ดขนาดใหญ่พวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้ากรุงเบรุต
“ถ้าโรงงานปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ที่วางไว้ก็มั่นใจได้ระดับหนึ่งว่ามีความปลอดภัยในการประกอบการ” นายปณตสรรค์กล่าว
นายปณตสรรค์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรมฉบับแก้ไขที่ประกาศใช้เมื่อ ต.ค. 2562 ได้ยกเลิกการต่ออายุใบอนุญาตตั้งโรงงานเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องและเพื่อปิดช่องทางการทุจริต ส่งผลให้โรงงานทุกประเภท รวมทั้งโรงงานเกี่ยวกับแอมโมเนียมไนเตรทไม่ต้องขออนุญาตหรือต่ออายุใบอนุญาตทุก 5 ปี เหมือนที่ผ่านมา แต่ผู้ประกอบการจะต้องมีการระบบรับรองตัวเองหรือ self-declaration ว่าได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตการตั้งโรงงาน ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องครบถ้วน
แอมโมเนียมไนเตรทอันตรายแค่ไหน
ทั้งนักวิชาการด้านเคมีจาก ม.เกษตรฯ และ ผอ. กองส่งเสริมเทคโนโลยีความปลอดภัยโรงงานระบุตรงกันว่าหากจัดเก็บไม่ถูกต้องหรือไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยแล้ว แอมโมเนียมไนเตรทมีโอกาสเกิดระเบิดหรือลุกไหม้ได้หากครบองค์ประกอบในการเกิดไฟหรือ “สามเหลี่ยมไฟ”
ที่มาของภาพ, Reuters
“ในโมเลกุลของแอมโมเนียมไนเตรทมีออกซิเจนอยู่ในตัว คือเป็นออกซิไดเซอร์ในตัว ดังนั้นต่อให้สารตัวนี้อยู่ในที่อับอากาศก็จุดไฟติด เพราะมีออกซิเจนช่วยให้ติดไฟอยู่ในตัวอยู่แล้ว มันจึงไม่ง้อออกซิเจน หากมีองค์ประกอบการเกิดไฟครบ คือ มีออกซิเจน เชื้อเพลิงซึ่งก็คือตัวมันเอง และความร้อนซึ่งในกรณีระเบิดที่เบรุตอาจเกิดจากประกายไฟบางอย่างหรือการก่อการร้าย รวมทั้งมีความเป็นไปได้ว่าเกิดการติดไฟด้วยตัวเอง (spontaneous combustion)”
เขาอธิบายต่อว่า การติดไฟด้วยตัวเองนั้นอาจเกิดจากการเก็บสารแอมโมเนียมไนเตรทในที่อัดแน่น ทำให้เกิดความร้อนภายในจนอาจติดไฟขึ้นมาเองได้
“เมื่อเกิดการระเบิด แอมโมเนียมไนเตรทจะเปลี่ยนสถานะจากของแข็งเป็นก๊าซร้อนอย่างฉับพลัน เกิดคลื่นแรงดันมหาศาลที่มีพลังการทำลายสูง เหตุเบรุตจึงมีอาคารเสียหายและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก” รศ.ดร. วีรชัยกล่าว
นักวิชาการด้านเคมีให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจากสารแอมโมเนียมไนเตรทแล้ว สารเคมีที่มีอันตรายในลักษณะเดียวกัน คือ สารเคมีกลุ่มเปอร์คลอเรตซึ่งเป็นส่วนผสมของปุ๋ยใส่ลำไย เช่น แอมโมเนียมเปอร์คลอเรตและโปแตสเซียมเปอร์คลอเรต ซึ่งเคยเกิดอุบัติเหตุระเบิดหรือไฟไหม้ในเมืองไทยมาแล้ว
ส่วนอันตรายหรืออุบัติเหตุที่เกิดจากการนำแอมโมเนียมไนเตรทมาประกอบเป็นวัตถุระเบิดนั้น ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองคนบอกว่า ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย ต้องใช้ส่วนผสมที่มีความเหมาะเจาะมาก เชื่อว่าคนทั่วไปที่ไม่มีความรู้ด้านเคมีหรือวัตถุระเบิดไม่สามารถทำได้โดยง่าย
เก็บอย่างไรให้ปลอดภัย
การจัดเก็บสารแอมโมเนียมไนเตรทต้องเก็บในที่ปลอดภัย ห่างจากการเกิดประกายไฟ ห่างไกลความร้อน อากาศปลอดโปร่ง ไม่อัดแน่น ห่างไกลชุมชน รศ.ดร. วีรชัยระบุ
ที่มาของภาพ, EPA
เหตุระเบิดเกิดขึ้นบริเวณท่าเรือในกรุงเบรุต
“ผมไม่ทราบว่าทางการไทยมีการตรวจยึดหรือจัดเก็บแอมโมเนียมไนเตรทเป็นของกลางเหมือนอย่างที่กรุงเบรุตหรือไม่ ถ้ามีก็ขอแนะนำว่าอย่าเก็บไว้ ให้ทำลายโดยการนำไปละลายน้ำ ซึ่งสามารถนำไปเป็นปุ๋ยได้”
ด้านนายปณตสรรค์ย้ำว่า สิ่งที่ต้องระวังอย่างยิ่งคือความร้อนและสิ่งที่ทำให้เกิดประกายไฟในบริเวณที่เก็บแอมโมเนียมไนเตรท ถ้าระมัดระวังไม่ให้เกิดประกายไฟหรือความร้อนก็จะไม่เกิดอุบัตเหตุขึ้น ดังนั้นกรมโรงงานฯ จึงได้กำชับให้โรงงานที่เกี่ยวข้องกับสารตัวนี้มีมาตรการป้องกันการเกิดประกายไฟ อัคคีไฟอย่างดี เช่น ใช้วัสดุที่ทนไฟ มีสายล่อฟ้าและสายดิน มีการตรวจสอบโดยวิศวกรไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ
เขาบอกว่าสถิติการเกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับแอมโมเนียมไนเตรทมีไม่บ่อยนัก ครั้งล่าสุดคืออุบัติเหตุที่สถานที่ประกอบพลุเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ส่วนโรงงานที่ผลิตแอมโมเนียมไนเตรทที่ จ.ระยอง ยังไม่มีรายงานการเกิดอุบัติเหตุ