6 ตุลา : ครบ 46 ปีเหตุสังหารหมู่ ผ่านภาพถ่ายที่ยังไม่เคยเผยแพร่สู่สาธารณะ
ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
ฉากการสังหารหมู่ในปี 2519 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ เป็นประวัติศาสตร์เลือดที่แม้จะผ่านมาเกือบ 50 ปี ก็ยังถูกนำมาพูดถึงในฐานะบทเรียน ที่สังคมไม่อยากเห็นอีก
สำหรับโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา การสร้างความตระหนักรู้ถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อไม่ให้สังคมไทยพลั้งก้าวไปสู่การใช้ความรุนแรงระหว่างคนไทยด้วยกันอีก
ในโอกาสครบ 46 ปี เหตุสังหารหมู่ ทางโครงการฯ ได้ เรี่ยไรฟิล์มภาพถ่ายเหตุการณ์ จากช่างภาพข่าว 6 ตุลา ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อน นำมาขยายใหญ่ จัดแสดงในนิทรรศการแสดงชื่อ “6 ตุลา เผชิญหน้าปีศาจ”
และนี่ คือตัวอย่างภาพถ่ายค้นพบใหม่ ที่ทางผู้จัดเชื่อว่า ฉายให้เห็นถึง “ปีศาจ” ในรายละเอียด
สุภาภรณ์ อัษฎมงคล ผู้ประสานงานนิทรรศการ “6 ตุลา เผชิญหน้าปีศาจ” อธิบายกับบีบีซีไทยว่า เมื่อได้เห็นรายละเอียดที่คมชัดของภาพที่แม้จะถ่ายมายาวนาน กลับทำให้เธอเห็นสีหน้า แววตา อารมณ์ ของ “ผู้ล่า” และ “เหยื่อ” ที่เมื่อประกอบรวมเป็นเหตุการณ์แล้ว ได้ปรากฏออกมาเป็นสิ่งที่เธอเรียกว่า “ปีศาจ”
“ปีศาจในคราบของคนที่ไม่ได้สวมเครื่องแบบ แม้แต่เด็ก ปีศาจจากรอยยิ้มเมื่อเห็นการฆ่า”
“บางอย่างเราเหมือนเคยได้ยิน จากเรื่องเราที่คนในรุ่น 6 ตุลาเคยเล่าให้เราฟัง แต่ภาพที่เราเห็นมันยืนยันสิ่งที่เราได้ยิน” สุภาภรณ์ กล่าว
เหตุผลที่ภาพส่วนใหญ่ไม่เคยเผยแพร่
“มันมีเหตุผลว่าทำไมไม่ได้รับการเผยแพร่”
สุภาภรณ์ เริ่มอธิบายว่า ในเย็นวันนั้นเวลา 18.00 น. เกิดการรัฐประหารโดย “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” นำโดยพลเรือเอก สงัด ชะลออยู่ อ้างการรักษาความสงบอันสืบเนื่องจากการสังหารหมู่ที่ ม.ธรรมศาสตร์ พร้อมประกาศปิดสื่อสิ่งพิมพ์ระหว่างวันที่ 7-8 ต.ค.
“ถ้าเราไปดูในแฟ้มหนังสือพิมพ์ จะเห็นมีฉบับวันที่ 6 ต.ค. ส่วน 7 ต.ค. มีฉบับเช้านิดหนึ่ง แล้วก็เว้นไป 9 ต.ค…หลังจากนั้นก็มีคำสั่งให้ระมัดระวังการเผยแพร่ภาพที่เกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น”
“ภาพบางส่วนเคยตีพิมพ์ แต่อีกจำนวนมากมันไม่ได้ตีพิมพ์ เพราะหนังสือพิมพ์ ค่าของมันอยู่แค่วันเดียว คือหนึ่งวัน พอพ้นระยะไปแล้ว มันมีเหตุการณ์เกิดขึ้นเสมอ และยิ่งประกอบกับเหตุการณ์ทางการเมือง ที่เกิดขึ้นแบบนี้ มันเหมือนถูกแช่แข็งไว้”
สุภาภรณ์ รู้สึกเสียดายที่มีภาพจำนวนมากที่สูญหายไประหว่างทางของกระบวนการผลิตข่าวในสมัยก่อน และไปตามกาลเวลาที่ผ่านพ้นมาหลายทศวรรษ ไม่นับความเสื่อมสภาพของฟิล์มต่าง ๆ
“นี่เป็นข้อว่าทำไมนิทรรศการนี้ถึงมีความสำคัญ คือว่า มันไม่เคยถูกนำมาดูอย่างจริงจัง และมาตั้งคำถามว่า เกิดอะไรกับภาพนี้ ทำไมมีคนนี้ ทำไมมีคนนั้น อาวุธแบบนี้ยังมีอยู่”
“ถ้าเราดูภาพเองเฉย ๆ เราอาจจะไม่เข้าใจภาพตรงนั้น แต่ถ้ามีผู้ที่มาอธิบายเบื้องหลังของมัน เราก็จะเห็นลงไปในรายละเอียดว่า พลเรือนที่เรียกว่าฝ่ายขวา เรียกว่ากระทิงแดง ที่กรูเข้ามาในธรรมศาสตร์ ในเช้าวันนั้น” สุภาภรณ์ บอกกับบีบีซีไท
“แง่หนึ่งเขาก็คือคน ๆ หนึ่ง แต่เมื่อประกอบรวมเป็นเหตุการณ์ต่าง ๆ แล้ว คนเหล่านั้นเมื่อพิจารณาในแต่ละภาพ ก็กลายเป็นปีศาจได้ ปีศาจในคราบของคนที่ไม่ได้สวมเครื่องแบบ แม้แต่เด็ก”
“ปีศาจ คือ รอยยิ้มเมื่อเห็นการฆ่า”