ข่าวสารกรุงเทพฯ

‘Flash Coffee’ ปิดทุกสาขาในสิงคโปร์ ‘ไทย’ ติดลบต่อเนื่อง ขาดทุน 100 ล้านบาท


ปิดทุกสาขาแล้ว! ร้านกาแฟสตาร์ตอัป “Flash Coffee” โบกมือลาสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ หลังขยายทั่วเอเชีย 200 สาขา ด้านบริษัทแม่ยืนยันยังให้บริการประเทศอื่นตามปกติ พบ สาขาในไทยขาดทุนกว่า 100 ล้านบาท

“แฟลช คอฟฟี่” (Flash Coffee) ร้านกาแฟสตาร์ตอัปสัญชาติอินโดนีเซียประเดิมสาขาแรกในบ้านเกิดเมื่อปี 2020 และสามารถขยายไปอีกหลายประเทศทั่วเอเชียได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมถึงไทยที่มีสาขากระจายทั่วทั้งกรุงเทพฯ-ปริมณฑล

ล่าสุดสำนักข่าว “เซาท์ ไชน่า มอนิ่ง โพสต์” (South China Morning Post) รายงานถึงสถานการณ์ล่าสุดของ “แฟลช คอฟฟี่” ในประเทศสิงคโปร์ว่า บริษัทปิดทำการร้านแฟรนไชส์ทุกสาขาในสิงคโปร์ทั้งหมดแล้ว โดยโฆษกของแบรนด์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ของบริษัทจะไม่กระทบกับสาขาในประเทศอื่นๆ อาทิ สาขาในฮ่องกงที่ยังคงดำเนินกิจการตามปกติ พร้อมกันนี้บริษัทจะยังคงเดินหน้าลงทุนและขยายตลาดในภาคส่วนอื่นๆ ที่มีศักยภาพการเติบโตต่อไปด้วย

อย่างไรก็ตามในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีกระแสข่าวระบุถึงสาเหตุการถอนทัพจากสิงคโปร์ของ “แฟลช คอฟฟี่” ว่า อาจมาจากสองประเด็นหลักๆ คือภาระหนี้สินบริษัทที่เพิ่มขึ้น ส่งผลถึงการหยุดงานประท้วงของพนักงานเนื่องจากการจ่ายเงินเดือนที่ล่าช้ากว่ากำหนด ทว่า โฆษก “แฟลช คอฟฟี่” ออกมายืนยันภายหลังว่า พนักงานในสิงคโปร์ไม่ได้มีการนัดหยุดงานประท้วงแต่อย่างใด บาริสต้าและพนักงานในส่วนอื่นๆ ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่แล้วเนื่องจากร้านค้ามีการหยุดดำเนินการไปก่อนหน้า

ทั้งนี้ ก่อนจะมีการปิดตัวลงในสิงคโปร์ “แฟลช คอฟฟี่” ได้ประกาศถอนตัวออกจากไต้หวันไปเมื่อเดือนมีนาคม 2566 รวมถึงสาขาในไทยที่มีการระบุบนเว็บไซต์ทางการว่า เปิดให้บริการกว่า 84 สาขานั้น ผู้สื่อข่าว “กรุงเทพธุรกิจ” ได้ทำการสำรวจข้อมูลล่าสุดบนแอปพลิเคชัน “แฟลช คอฟฟี่” พบว่า ปัจจุบันมีสาขาเปิดบริการทั้งหมด 42 สาขา ลดลงกว่าครึ่งหนึ่งหลังจากเข้ามาทำตลาดในไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563

สำหรับข้อมูลผลประกอบการของ “บริษัท แฟลช คอฟฟี่ ทีเอช จำกัด” พบว่า ยังคงมีตัวเลข “ติดลบ” ต่อเนื่องกันทั้งสองปี ดังนี้

ปี 2563: รายได้รวม 3.2 ล้านบาท ขาดทุน 8.5 ล้านบาท
ปี 2564: รายได้รวม 60 ล้านบาท ขาดทุน 100 ล้านบาท

แม้โฆษก “แฟลช คอฟฟี่” จะยืนยันว่า ในอนาคตบริษัทมีแผนขยายตลาดเพิ่มเติมในระยะกลาง รวมทั้งต้องการบริหารให้ธุรกิจดำเนินการอย่างแข็งแรงในระยะยาวได้ แต่หากไล่เรียงดูจากสถานการณ์ในรอบปีที่ผ่านมาเราคงต้องจับตาดูเชนกาแฟสายฟ้าแห่งนี้ต่อไป สำหรับประเทศไทยมีทายาทตระกูลดัง “พันธุ์ไพบูลย์ ลีนุตพงษ์” นั่งกรรมการผู้จัดการและเป็นผู้บริหารกิจการในไทย

 

อ้างอิง: Bloomberg, CNA, Creden Data, Flash Coffee, Forbes Thailand, South China Morning Post



Source link