LGBTQ+: “สมรสเท่าเทียม” เป้าหมายที่ยังไปไม่ถึงของการใช้ชีวิตคู่ในไทย – BBC News ไทย
- วีรวัฒน์ อัจจุตมานัส
- นักเขียนอิสระ
“ฤกษ์งามยามดี ยินดีต้อนรับครอบครัวใหม่ เข้าบ้านหลังใหญ่” คือข้อความที่พี่สาวอวยพร ผ่านโซเชียลมีเดียเมื่อผมและคนรักย้ายเข้ามาอยู่บ้านหลังใหม่ในหมู่บ้านเดียวกับพี่สาว น้องสาว และลูกพี่ลูกน้องของผมในช่วงกลางปีที่แล้ว
อ่านดูแล้วนี่คือคำอวยพรที่เรียบง่ายแต่สำหรับผม คำว่า “ครอบครัวใหม่” คือการให้เกียรติเพราะเราคือคู่ชายรักชายที่ไม่เคยคิดว่าในวันหนึ่งเราจะสามารถสร้าง “ครอบครัว” ขึ้นมาได้
เรื่องราวความรักของผมห่างไกลจากคำว่าโรแมนติกไปมาก เพราะเราเป็นเพื่อนกันมาก่อน จนกระทั่งในปี 2555 จะด้วยความเผลอไผลกึ่งตั้งใจใด ๆ ก็ตาม เราเริ่มมีความสัมพันธ์แบบลับ ๆ และขยับฐานะจากเพื่อนมาเป็นคนรัก
ในช่วงปีแรก ๆ ความสัมพันธ์ของเราเต็มไปด้วยปัญหา อาจจะเพราะว่าเรารู้จักกันดีเกินไป ทำให้เกิดความหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ตัวผมเองยังไม่คิดว่าความสัมพันธ์นี้จะไปรอด เลยมองอนาคตแค่ใกล้ ๆ ให้รอดไปวัน ๆ
แต่พอผ่านวันไปเป็นเดือน จากเดือนผ่านไปเป็นปี จากปีผ่านไปเป็นหลายปี จนกระทั่งในปี 2559 ผมจึงตัดสินใจให้เขาย้ายมาอยู่ด้วยกันในคอนโดมิเนียมที่ผมซื้อเอาไว้ ณ เวลานั้น ผมก็ยังไม่มั่นใจเต็มร้อย เพราะไม่เคยอยู่ร่วมบ้านกับคนรักคนไหนมาก่อน จึงไม่ให้แฟนช่วยผ่อนจ่าย เผื่อในอนาคตหากต้องเลิกรากันไปจะได้ไม่ต้องวุ่นวายเรื่องการแบ่งทรัพย์สินกันอีก
ความสัมพันธ์ของเราดำเนินไปอย่างเรียบง่าย คนในครอบครัวของทั้งสองฝ่ายรู้ว่าเราอยู่ในฐานะ “เพื่อน” ตามคำนิยามที่เราบอกโดยเชื่อว่าเขาคงรู้หรืออย่างน้อยก็สงสัยว่าจริง ๆ แล้วเราสองคนเป็นอะไรกัน จนกระทั่งช่วงปลายปี 2563 ด้วยวัยและเวลาที่คบกันมาร่วม 10 ปี เราคิดว่าเราพร้อมแล้วจึงมองอนาคตไกลออกไป และมองหา “บ้าน” ที่เราทั้งคู่จะได้เป็นเจ้าของร่วมกัน แต่มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน
กู้ร่วมสำหรับ LGBTQ+ มีจริงหรือ
เราตัดสินใจซื้อบ้านในหมู่บ้านเดียวกับครอบครัวของผม เพราะแม่อยากให้มาใกล้กันกับพี่น้อง เผื่อในวันข้างหน้าเจ็บไข้ได้ป่วยจะได้ช่วยดูแลกัน โดยท่านก็รู้ดีว่าวิถีทางเพศของคนลูกชายคนเดียวคนนี้เป็นอย่างไร และยังไม่มั่นใจว่าความรักรูปแบบใหม่ที่ผมมีจะจีรังยั่งยืนมากแค่ไหน
อย่างไรก็ตามแม่ก็ให้เงินมาช่วยก้อนหนึ่ง ส่วนที่เหลือเราสองคนต้องยื่นกู้กับธนาคารกันเองซึ่งก็คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาเพราะมีโฆษณาจากหลายธนาคาร เปิดรับให้คู่รักเพศเดียวกันยื่นกู้ร่วมได้ผุดขึ้นมาให้เห็นถี่ ๆ โดยเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายนหรือ Pride Month แต่นั่นอาจจะเป็นความจริงแค่บางส่วน เพราะเมื่อยื่นกู้จริง ๆ กลับมีเงื่อนไขบางอย่างที่แตกต่างจากคู่สมรสชายหญิง
สิ่งที่เราเจอมีตั้งแต่การเปิดโอกาสให้ยื่นกู้ร่วมได้แต่เสียดอกเบี้ยมากกว่า บางธนาคารให้ยื่นกู้ได้แต่ก็ต้องแสดงหลักฐานการอยู่ร่วมกัน เช่น บัญชีเงินฝากที่เปิดร่วมกัน บิลค่าใช้จ่ายที่ระบุที่อยู่เดียวกัน หรือเป็นเจ้าของกิจการซึ่งจดทะเบียนบริษัทร่วมกัน และบางธนาคารให้ยื่นกู้ร่วมและถือกรรมสิทธิ์ร่วมได้ แต่พิจารณาวงเงินกู้จากผู้ที่มีรายได้มากกว่าเพียงคนเดียวเท่านั้น ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้คงไม่มี หากเราแต่งงานและมีทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฏหมาย
ความจริงเรื่องการแต่งงานไม่เคยอยู่ในความคิดของผมและแฟนเลย ถึงขนาดที่ว่าในช่วงการรณรงค์เรื่องสมรสเท่าเทียมใหม่ ๆ ผมยังเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารฉบับหนึ่งว่าเราไม่เห็นความสำคัญกับการแต่งงานเพราะไม่จำเป็นต้องป่าวประกาศความรักให้ใครรู้ ซึ่งนั้นคือความคิดที่ตื้นเขินเอามาก ๆ เพราะในรายละเอียดมันคือการรับรองสิทธิ์ที่เราพึงมีพึงได้ และในอีก 7-8 ปีต่อมามันกลับมาชัดเจนในวันที่เราอยากมี “บ้านของเรา”
ครอบครัวเปิดใจ
ผมยอมรับว่าตัวเองก็มีข้อจำกัดหลายอย่างทั้งภาระเรื่องคอนโดมิเนียม ส่วนแฟนของผมก็มีรายได้ไม่มากพอที่จะยื่นกู้คนเดียว เมื่อกู้ร่วมไม่ได้ผมหาทางออกด้วยการใช้ชื่อพี่สาวยื่นกู้เพราะหลักทรัพย์และรายได้มากกว่าเราคนใดคนหนึ่งอยู่มากทีเดียว แต่นั่นก็สร้างความลำบากใจให้กับแฟนของผม
คนรักของผมไม่เห็นด้วยกับทางออกที่ผมเลือก เราทะเลาะกันบ่อยขึ้น ถึงขั้นจะปล่อยบ้านหลังนี้ไป แต่สุดท้ายผมเองยืนยันว่าเป็นบ้านที่อยากได้และเหมาะสมสำหรับเราที่สุดแล้ว ซึ่งก็ค่อนข้างเห็นใจเขาเพราะหากตัดสินใจแบบนี้หนี้สินที่จะต้องผ่อนจ่ายไปอีกกว่า 30 ปีจะมีชื่อเจ้าของเป็นคนอื่นที่ไม่ได้มีความผูกพันทางสายเลือดใดๆ กับเขาเลย ที่สำคัญก็ไม่ได้มีความสนิทสนมด้วย เพราะอย่างที่บอกไปว่าก่อนหน้านี้เขาอยู่ในฐานะ ‘เพื่อน’ ที่ไม่ค่อยได้ไปมาหาสู่กับครอบครัวของผมสักเท่าไร
เขานำเรื่องนี้ไปปรึกษากับพ่อแม่ซึ่งโยนคำถามกลับมาว่า “คิดว่าเขารักลูกหรือเปล่า ถ้าคิดว่ารักก็เชื่อใจเขาแล้วตัดสินใจไปเลย” นี่นับเป็นครั้งแรกที่พ่อแม่ของแฟนผมเปิดใจว่าเขารับรู้เรื่องของเรามาตลอดเพียงแต่ไม่เคยบอกออกมาตรงๆ แบบนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่อง่ายเลยสำหรับคนในวัย 70 กว่าปีที่ใช้ชีวิตอยู่กับความเชื่อและศาสนาที่จะเชื่อว่าความรักรูปแบบนี้จะเกิดขึ้นได้จริง
ในที่สุดเราก็ได้ย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านหลังใหม่ โดยให้พ่อแม่ของแฟนผมย้ายเข้ามาอยู่ด้วยกัน และตกลงกันว่าเมื่อมีโอกาสเราจะโอนชื่อบ้านกลับมาเป็นของเราสองคน ซึ่งหากวันหนึ่งวันใดมีใครสักคนต้องจากไปก่อน บ้านหลังนี้จะเป็นของอีกฝ่ายจนเสียชีวิต หลังจากนั้นทรัพย์สินตรงนี้จะถูกแบ่งครึ่งให้กับหลานๆ ของเราทั้งสองคนในอนาคต
ทุกวันนี้ครอบครัวใหม่ของเราค่อย ๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวใหญ่ทั้งฝั่งของผม และฝั่งของคนรัก พ่อแม่ของเขาและแม่ของผมก็เข้ากันได้ดี และค่อย ๆ เรียนรู้วิถีของครอบครัวรูปแบบใหม่ที่มีเพียงแค่ลูกเขยกับลูกเขย
จากคนรักสู่พี่น้อง อีกทางออกของคู่รัก LGBTQ+
ปัญหาของผมถือเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปัญหาอื่นที่คู่รัก LGBTQ+ ต้องเจอเพื่อรับรองความสัมพันธ์ จนหลายคู่เลือกใช้การจดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรม เพื่อให้มีสิทธิ์ร่วมกันในกรณีต่าง ๆ อย่างคู่ของ หมึก-จักร์กริช วัฒนวีร์ และ ปริน-ปริญญ์ วัฒนวีร์ คู่รักอดีตนักแสดงที่ใช้ชีวิตร่วมกันมากว่า 20 ปี
“การจดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมมันได้สิทธิ์ที่ใกล้เคียงการสมรส เพียงแต่ว่าไม่ได้มีการฟ้องหย่า ที่เราต้องทำแบบนี้เพราะว่าข้อกฎหมายไม่เอื้อให้คู่รักเพศเดียวกันได้จดทะเบียนสมรสกัน นี่มันเป็นเหมือนการหาทางออก” ปรินเล่าให้ผมฟังถึงสาเหตุที่ให้หมึกจดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมของพ่อแม่ของเขามาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อความสะดวกในการทำธุรกรรมทางกฏหมายต่าง ๆ แต่เรื่องราวความรักของเขาย้อนไปไกลกว่านั้น ตั้งแต่ยุคที่คู่รักเกย์เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ในสังคมและวงการบันเทิง
“เราเริ่มคบกันตั้งแต่ปี 2544 ในยุคนั้นเป็นพระเอกกันด้วยทั้งคู่ด้วย ซึ่งประเด็นเรื่องเกย์มันค่อนข้างแรง จะมีการทำข่าวโจมตีค่อนข้างเยอะ ก็เลยต้องคบกันแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ นี่ยังคิดว่าเราเกิดเร็วไปหน่อย ถ้าเกิดช้ากว่านี้ป่านนี้ก็ได้เล่นซีรีส์วาย มีงานออกอีเวนต์รวยไปแล้ว” หมึกเล่าติดตลก “ตอนนั้นก็คิดว่า ถ้ายังคบกันอยู่แบบนี้ก็ไม่น่าจะไปรอดในวงการบันเทิง เราก็เริ่มหาทางไปทำอย่างอื่น พอปี 2547 ก็เริ่มเฟดตัวเองออกจากวงการและออกอย่างจริงจังเมื่อปี 2550”
เรื่องราวซับซ้อนยิ่งกว่านั้นเพราะพ่อแม่ของปรินรับไม่ได้ที่ลูกชายกลายไปเป็นคู่รักกับผู้ชายด้วยกัน
“ครอบครัวผมรับไม่ได้ เพราะว่าหวงลูก แล้วผมก็ไปอยู่กับพี่หมึกด้วย เขารู้สึกว่าความรักของเราเป็นเรื่องฉาบฉวย แต่เราอยากพิสูจน์ว่านี่คือครอบครัวของเรา มีอยุู่วันหนึ่งที่พี่หมึกป่วยหนักมาก ต้องเข้าโรงพยาบาล ซึ่งตรงกับวันขึ้นปีใหม่พอดี ครอบครัวผมก็อยากให้กลับไปฉลองกับครอบครัว แต่ในวันนั้นพี่หมึกเขาไม่เหลือใครแล้วจริงๆ ก็บอกเขาไปว่าพ่อแม่ครับนี่ก็คือครอบครัวของผม ถึงเขาจะรับไม่ได้ในวันนี้แต่ในอนาคต เขาต้องยอมรับในสิ่งที่เราเป็น และนี่แหละคืออีกรูปแบบหนึ่งของครอบครัวที่เรามี” ปรินเล่า
หมึกย้อนเล่าเรื่องราวการฝ่าฟันจนชนะใจพ่อแม่ของอีกฝ่ายที่ใช้เวลายาวนานถึง 7 ปี
“พ่อแม่ของเขาถึงขั้นให้ปรินไปบวชตลอดชีวิตเมื่อปี 2547 ตอนนั้นเขาบอกว่าลูกก็ถึงเวลาบวชแล้วก็บวชดีกว่า ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องสึกนะลูก แล้วก็บอกผมว่าไม่จำเป็นไม่ต้องมาที่วัดนะ มันเจ็บปวด ตอนนั้นสิ่งที่คิดว่าจะทำให้พ่อแม่ยอมรับได้ก็คือเรื่องความมั่นคงทั้งการงานและความรัก คบกันแล้วมีแต่เจริญก้าวหน้า คำครหามันพิสูจน์ไม่ได้หรอก ต้องอาศัยการกระทำและกาลเวลา ซึ่งวันที่เขาเริ่มยอมรับได้คือวันที่เราเปิดบริษัทร่วมกัน และพ่อของปรินก็มอบเงินให้ 600,000 บาท เพื่อมาเป็นทุนในการเปิดบริษัท”
จากนั้นไม่นานทั้งคู่เกิดความคิดที่จะซื้อคอนโดร่วมกัน กลายเป็นที่มาของการจดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรม
“หลังจากที่เรากู้ร่วมซื้อคอนโดไม่ได้ ก็เลยคิดว่าจะมีวิธีไหนที่เราจะทำได้บ้าง ยิ่งเปิดบริษัทร่วมกันเรื่องเงินมันสำคัญครับ ผนวกกับผมและปรินก็คิดว่าเราสร้างทรัพย์สมบัติกันมาแบบนี้ ถ้าใครคนหนึ่งเป็นอะไรไป ปัญหามันจะเกิดตามมาเยอะมาก ก็เลยไปคุยกับพ่อแม่ของปรินว่าขอจดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมได้ไหม พ่อแม่ก็ไม่ขัดเลย พี่สาวของเขาก็ไม่ติดอะไร ก็เลยได้จดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมของครอบครัวปรินถูกต้องตามกฏหมาย” หมึกเล่า
ทุกวันนี้หมึกใช้นามสกุลเดียวกับปริน ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน และมอบผลประโยชน์เรื่องประกันชีวิตให้แก่กันในฐานะพี่น้อง
“ถ้ามีกฎหมายสมรสเท่าเทียมเราก็คงเลือกแบบนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นบุตรบุญธรรมแบบนี้ซึ่งก็มีข้อเสียหลายอย่าง สมมุติว่าวันหนึ่งที่เลิกกันไป แต่การเป็นบุตรบุญธรรมมันไม่สามารถเลิกกันได้ แล้วก็เรื่องทรัพย์สมบัติเมื่อพ่อแม่เสียชีวิตก็ต้องหารให้ลูกทุกคนรวมทั้งลูกบุญธรรมด้วย ตรงนี้ก็ไม่ยุติธรรมกับลูกที่เขายังมีชีวิตอยู่ เหมือนเราชุบมือเปิบ แต่ผมก็ให้สัญญาว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของเขา อย่างตอนที่แม่ปรินเสียชีวิตผมก็คืนมรดกกลับให้กับพวกเขาทั้งหมด” หมึกเล่าถึงทางออกที่เขาเลือก
“ผมรู้สึกเจ็บปวดนะ และก็ท้อเวลาที่ พรบ.สมรสเท่าเทียมไม่ได้ถูกนำไปพิจารณาสักที เพราะก็สู้กันมาตลอด ผมเองก็พยายามรณรงค์ทั้งในเฟซบุ๊กส่วนตัวและเวลาที่ไปออกตามรายการต่าง ๆ แต่สุดท้ายเหมือนเสียงเราแผ่วเบามาก” หมึกทิ้งท้าย
เทียบ ร่างพรบ.คู่ชีวิต กับ ร่างพรบ.สมรสเท่าเทียม
ในปี 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ผลักดัน พ.ร.บ.คู่ชีวิตเข้าสู่กระบวนการสร้างเป็นกฎหมาย ทำให้เกิดกระแสถกเถียงในสังคม
ฝั่งที่เห็นด้วยที่มองว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะให้สิทธิ์กับคู่รัก LGBTQ+ และง่ายกว่าการแก้กฏหมายการสมรสที่อยู่แล้วที่ต้องใช้เวลานานกว่า เช่น นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือครูหยุย วุฒิสมาชิกที่มองว่าในประเทศไทยการแก้กฎหมายที่มีอยู่แล้ว ทำได้ยาก และใช้เวลานานโดยไม่รู้ว่าสุดท้ายจะได้รับการอนุมัติหรือไม่ ดังนั้น เจตนาของ พ.ร.บ.คู่ชีวิต คือมีกฎหมายให้กลุ่มเพศทางเลือกได้ใช้งานทันที ได้รับสิทธิ์ที่ควรจะได้รับโดยเร็วก่อน ซึ่งถ้ามีพ.ร.บ.คู่ชีวิต คนรักเพศเดียวกันก็สามารถกู้ซื้อบ้านร่วมกัน หรืออุปการะบุตรบุญธรรมได้ทันที โดยไม่ต้องรออย่างไร้จุดหมาย
ส่วนในกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยก็มองว่ายังมีความไม่เท่าเทียมในหลายจุด จึงเสนอพรบ.สมรสเท่าเทียมทั้งร่างของพรรคก้าวไกล และร่างของภาคประชาชน
เรื่องนี้ผมได้พูดคุยกับวาดดาว-ชุมาพร แต่งเกลี้ยง จากกลุ่มแฟมินิสต์ปลดแอก และ ปูเป้-เอกวัฒน์ พิมพ์สวรรค์ จากกลุ่ม Queer Riot โดยทั้งสองกลุ่มอยู่ในภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียมที่เคลื่อนไหวผลักดันร่างกฏหมายนี้อยู่
วาดดาวเล่าถึงเหตุผลที่ไม่อาจยอมรับพรบ.คู่ชีวิต ว่า พรบ. คู่ชีวิตของไทยสร้างขึ้นมาเพื่อให้คู่รักเพศเดียวกันเท่านั้น แตกต่างจากที่อังกฤษหรือฝรั่งเศสที่ใช้ได้ทุกเพศ นั่นแสดงว่าเป็นการพยายามกันคนรักเพศเดียวกันออกไป ให้ประชาชนเป็นพลเมืองอีกแบบหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าถึงกฏหมายแบบเสมอหน้ากันได้ ดูเนื้อหากฎหมายก็มีความไม่เท่ากัน เช่นไม่สามารถใช้เทคโนโลยีในการมีบุตรได้ เรื่องสวัสดิการข้าราชการก็ไม่สามรถรับได้ และกฏหมายของไทยคำว่าสามีภรรยาและคู่สมรสไม่ได้อยู่แค่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่อยู่ในทุกกฏกระทรวง รวมถึงกฎระเบียบของเอกชนด้วย แม้ว่าในพรบ.คู่ชีวิตให้ใช้คำว่าอนุโลม แต่คำถามก็คือว่าอนุโลมใช้ได้จริงไหม
“บางครั้งมันเปิดโอกาสให้เลือกปฎิบัติเพราะกฎหมายระบุว่าคู่สมรส แต่กฎหมายที่ได้มามันไม่ได้ระบุแบบนั้น ซึ่งเมื่อเราต้องการความยุติธรรมก็ต้องหาทนายมาฟ้องร้องดำเนินคดี ตรงนี้เป็นการผลักภาระให้กับคนเพศหลากหลาย นอกจากจะเป็นพลเมืองชั้นสองแล้ว คุณต้องมีเรื่องต้องจ่ายทุกอย่างเพื่อพิสูจน์สิทธิของคุณ จุดนี้คิอสิ่งที่เรารับไม่ได้เลยกับพรบ. คู่ชีวิต” วาดดาวให้ความเห็น
เธอกำลังผลักดันด้วยร่างกฏหมายสมรสเท่าเทียมด้วยการล่ารายชื่อประชาชนผ่านทาง www.support1448.org และกิจกรรมรณรงค์ต่างๆจนปัจจุบันมีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 3 แสนรายชื่อแล้ว
“นี่คือปรากฏการณ์สำคัญนะคะ เพราะมันคือการรวบรวมรายชื่อที่มากที่สุดจากประชาชนที่จะเข้าสู่สภา จริงๆ แค่ 1 หมื่นก็เสนอได้แล้ว แต่เราคิดว่าแค่นั้นเสียงอาจยังไม่ดังพอให้สภารับฟัง เราจึงตั้งเป้าไว้ที่ 1 ล้านโดยมีเวลาหนึ่งปี”
“ช่วงนี้คู่รักต่างเพศหรือชายหญิงทั่วไปเข้ามามีส่วนร่วมเยอะมาก ผมรู้สึกดีนะ มันแสดงว่าทางสังคมพร้อมแล้ว แต่สิ่งที่ยังแย่อยู่คือรัฐบาล” ปูเป้เสริม
ในวันที่เราคุยกันคือหลังจากสภาผู้แทนราษฎรมีมติเมื่อ 9 ก.พ. ยืดระยะเวลาการพิจารณาร่างพรบ.สมรสเท่าเทียมของพรรคก้าวไกลออกไปอีก 60 วัน จึงถามทั้งคู่ว่ารู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้
“ผมรู้สึกไม่ประหลาดใจเลย มันกลับทำให้กระจ่างมากขึ้นว่าเรากำลังต่อสู่กับอะไรอยู่ มันยืนยันความจริงว่ารัฐบาลนี้มอง LGBTQ+ เป็นเพียงเครื่องมือทางการเมือง โดยที่คุณไม่ได้จริงใจเลย” ปูเป้เล่าถึงความรู้สึก
เช่นเดียวกับวาดดาวที่คิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมาย
“คิดไว้อยู่แล้ว และคิดว่าเราจะมีอุปสรรคอีกมากกว่าจะถึงปลายทาง ต้องบอกเลยว่าสิ่่งทีเราดีใจมันเกิดขั้นตั้งแต่ปี 63 ตอนที่เรามี #สมรสเท่าเทียม ในทวิตเตอร์ถึง 1 ล้านทวิต แสดงว่านี่คือกฎหมายในยุคอนาคตที่คนรุ่นใหม่ต้องการ เราจึงไม่รู้สึกท้อแท้ และต้องทำให้เรื่องสมรสเท่าเที่ยมเข้าไปอยู่ในหัวใจของคนรักต่างเพศด้วย ดังนั้นการจะแขวน หรือการจะคว่ำก็คิดว่าเราสามารถทำใหม่ได้อีกครั้ง”
ปูเป้หวังว่าในอนาคตจะเกิดการการบังคับใช้กฏหมายให้เสมอภาค จะนำไปสู่การเฉลิมฉลองเพื่อความรักและครอบครัว จะเกิดการเรียนรู้ไปกับเรา พอมันเกิดการเรียนรู้ก็จะนำไปสู่ในการปกป้อง คุ้มครอง เยียวยาคน LGBTQ+ และนำไปสู่แบบเรียนเพื่อทำความเข้่าใจครอบครัวคนที่มีความหลากหลายทางเพศ นำไปสู่เรื่องของศาสนาที่จะยอมรับเชิงพิธีกรรม
“ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้คือความเชื่อมั่นและความศรัทธาของชีวิต ซึ่งจะเสริมสร้างสุขภาวะ คุณภาพที่ดี ที่ทำให้ชีวิตของ LGBT อิ่มท้อง อยู่ได้ ใช้ชีวิตไปสู่สิ่งที่ตัวเองฝัน” ปูเป้เล้าถึงความคาดหวังที่จะได้เห็นในอนาคต