ข่าวสารกรุงเทพฯ

SCB EIC หั่นเป้า “จีดีพี” เหลือ 3% ลุ้นปี 67 เร่งตัว 3.5% รับนักท่องเที่ยวฟื้น


ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC ระบุว่า ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 66 เหลือ 3.1% จากเดิมที่คาดว่าเติบโต 3.9% หลังจากตัวเลขจริงในไตรมาส 2/66 เศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่าคาดมาก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าหดตัวแรงต่อเนื่อง แต่ยังมีแรงหนุนหลักจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยฟื้นตัวดีตามประมาณการ 30 ล้านคน โดยเฉพาะชาวตะวันออกกลางเร่งตัวและเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายใหม่ ส่งผลให้ภาคบริการฟื้นตัวต่อเนื่องช่วยลดความเปราะบางในตลาดแรงงาน

สำหรับมุมมองปี 67 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตเร่งตัวขึ้นมาที่ 3.5% จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องเป็น 37.7 ล้านคน และการลงทุนภาคเอกชนที่จะขยายตัวดีขึ้นตามแนวโน้มการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BoI) รวมถึงคาดว่าการส่งออกจะกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4/66 แต่ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1.7% และ 2% ในปี 66 และปี 67 ตามลำดับ เนื่องจากราคาพลังงานและอาหารมีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะทรงตัวที่ 1.4% และ 1.5% ในปีนี้และปีหน้า ตามลำดับ

นอกจากนี้ SCB EIC ยังคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะปรับขึ้นอีก 1 ครั้งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ช่วงปลายเดือน ก.ย. 66 สู่จุดสูงสุดของวัฏจักรดอกเบี้ย (Terminal rate) รอบนี้ที่ 2.5% ตามเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องเข้าสู่ระดับศักยภาพ และเงินเฟ้อยังมีแรงกดดันจากราคาพลังงานและอาหารที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงจะกลับเป็นบวกได้ ช่วยสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาวจากการสะสมความไม่สมดุลทางการเงินในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมานาน

ด้านมุมมองต่อเศรษฐกิจโลก ประเทศต่าง ๆ จะมีแนวโน้มฟื้นตัวไม่พร้อมกัน (Unsynchronized) โดยในปี 66 SCB EIC คาดการณ์เศรษฐกิจโลกขยายตัวดีขึ้นเป็น 2.4% และจะทรงตัวใกล้เคียงเดิมในปีหน้า ซึ่งที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ดีกว่าคาด แต่จะมีแนวโน้มเปราะบางต่อเนื่องถึงปีหน้าจากผลของเงินเฟ้อสูง และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว รวมถึงเงินออมส่วนเกินที่เริ่มหมดลง นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่กดดันการฟื้นตัว

ขณะที่วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักใกล้สิ้นสุดลงในปีนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของโลกอาจมีความเสี่ยงที่จะเร่งตัวขึ้นในช่วงปลายปีตามทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักยังอยูในระดับสูงตามตลาดแรงงานที่ตึงตัวส่งแรงกดดันต่อค่าจ้าง ส่งผลให้ธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐฯมีแนวโน้มคงดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันที่ 5.25-5.5% ต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 2/67

ส่วนธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางอังกฤษมีแนวโน้มขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่ออีกไม่มากในช่วงที่เหลือของปีนี้ และจะคงดอกเบี้ยสูงไว้อีกระยะก่อนจะเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินในช่วงครึ่งหลังของปี 67 จากเงินเฟ้อพื้นฐานที่เริ่มปรับลดลง สำหรับธนาคารกลางจีนมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ธนาคารญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดการผ่อนคลายลงจากมุมมองเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น

อีกทั้ง นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า หากมองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนสูง (Uncertain) จากแรงกดดันสำคัญ ได้แก่ เศรษฐกิจจีนเติบโตชะลอลง กระทบการส่งออกไทยบางกลุ่มสินค้าที่พึ่งพาตลาดจีนสูง และเป็นส่วนหนึ่งของ Supply chain จีน รวมถึงผลกระทบต่อเงินลงทุนโดยตรง FDI จากจีนอาจชะลอลงบ้าง และอาจกระทบกำลังซื้อจากจีนในภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยบาง Segments

รวมถึงวิกฤติภัยแล้ง ในกรณีฐานภัยแล้งจะเกิดรุนแรงที่สุดในรอบ 41 ปีในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ผลผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ข้าวนาปรังและอ้อยมีแนวโน้มปรับลดลงค่อนข้างมาก อย่างไรก็ดี รายได้เกษตรกรในปี 67 มีแนวโน้มทรงตัวจากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยชดเชยผลกระทบจากผลผลิตลดลงได้ส่วนหนึ่ง โดยประเมินว่าภัยแล้งในกรณีฐานจะทำให้ตัวเลข GDP ไทยปี 66 ลดลง 0.14 pp และใน GDP ไทยปี 67 ลดลง 0.36 pp รวมถึงเงินเฟ้อสูงขึ้น 0.18 pp ในปี 66 และ เพิ่มขึ้น 0.45 pp ในปี 67

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐบาล หากออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายครั้งใหญ่ เช่น Digital wallet เศรษฐกิจไทยปีหน้าอาจขยายตัวได้เกิน 5% ชั่วคราว แต่ต้องแลกด้วยต้นทุนการคลังในระยะยาว เพราะเม็ดเงินกระตุ้นการใช้จ่ายครั้งใหญ่หลายแสนล้านบาทนั้น สามารถนำมาใช้ยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทย เพื่อหาเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากแผลเป็นหลังวิกฤตโควิด รวมถึงการปรับห่วงโซ่อุปทานโลกและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นอกจากนี้ การใช้เม็ดเงินภาครัฐจำนวนมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นจะบั่นทอนความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว ส่งผลให้หนี้สาธารณะสูงเกินเพดานหนี้ที่ 70% ของ GDP เร็วขึ้นราว 2 ปี ซึ่งอาจจะกระทบพื้นที่การคลังเพื่อรองรับความไม่แน่นอนข้างหน้าและเสถียรภาพการคลังของประเทศได้

ทั้งนี้ SCB EIC มองว่านโยบายเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจ ผ่านการส่งเสริมการแข่งขันเพื่อเพิ่มประสิทธิผลจริงของ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าฯ และผลักดันให้ไทยเข้าร่วมองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจไทยได้รับผลประโยชน์จากการส่งออกสินค้าและบริการมากขึ้นและเพิ่มความสำคัญบนห่วงโซ่อุปทานโลก และการส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวอย่างยั่งยืน ผ่านการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของระบบภาษีที่บิดเบือนแรงจูงใจของภาคธุรกิจและครัวเรือน



Source link