ถอดบทเรียนคดี STARK กำชับ “หน่วยงานเกี่ยวข้อง” ตรวจลงลึก
นายบูรพา สงวนวงศ์ รองผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจ และผู้ดำเนินรายการข่าวหุ้นเจาะตลาด กล่าวว่า การเข้าร่วมงานเสวนากลุ่มผู้ถือหุ้นกู้ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK รวมพลังเดินหน้าเพื่อแก้ปัญหาโดยธนาคารกสิกรไทย, บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด, นายทะเบียน และผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้ STARK ครั้งนี้ ในฐานะของสื่อที่ไม่ได้มีส่วนได้เสียทั้งหุ้นสามัญ และหุ้นกู้ของ STARK โดยมองว่าอาจจะต้องช่วยกันติดตาม ในส่วนของการฟื้นฟูของ STARK ที่เป็น Holding Company ในมุมของสื่อคือแทบไม่มีประโยชน์ แต่ในส่วนของบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (Phelps Dodge) บริษัทย่อยของ STARK น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่สุด
สำหรับก่อนหน้านี้ไม่เกิน 2 เดือนได้มีความพยายามของเจ้าหนี้ที่จะนำเฟ้ลปส์ ดอด์จฯ เข้าแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อที่จะสร้างความปลอดภัยส่วนหนี้ของตนเองที่มีอยู่ จึงเป็นประเด็นที่จะต้องเฝ้าติดตาม แต่แผนดังกล่าวสะดุดเนื่องจากทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีการกล่าวโทษและมีการอายัดทรัพย์สินทั้งบุคคล 5 ราย และนิติบุคคล 5 ราย สอดคล้องกับเรื่องของมาตรฐานวิชาชีพผู้สอบบัญชี มองว่าจะต้องมองไปข้างหน้าและนำบทเรียนของ STARK มาถอดบทเรียน ของการลงรายละเอียดเชิงลึกในการตรวจสอบ จากปกติที่จะเป็นการตรวจสอบแบบสุ่มตรวจ รวมถึงการดำเนินการตรวจสอบของ ก.ล.ต.ก็มีความล่าช้า
ทั้งนี้ประเด็นคำถามที่เป็นข้อสงสัยคือหุ้นกู้ทุกรุ่นของ STARK มีการระบุว่า จำหน่ายให้ผู้ลงทุนรายใดและผู้ลงทุนสถาบันใด โดยข้อมูลจากสมาคมตราสารหนี้ไทยได้ระบุหลักเกณฑ์ใหม่สำหรับผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือ 1) ต้องมีรายได้ 3 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป 2) ต้องมีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ 8 ล้านบาทขึ้นไป รวมเงินฝากต้องไม่ต่ำกว่า 15 ล้านบาท และ 3) ต้องมีหลักทรัพย์สุทธิตั้งแต่ 30 ล้านบาทขึ้นไป ไม่รวมบ้านและที่ดิน เนื่องจากการที่จะเสนอขายหุ้นกู้ให้กับผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนทั่วไปมีความยากง่ายแตกต่างกัน เพราะการระบุว่าเสนอขายให้ผู้ถือสถาบันหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทำให้กระบวนการเสนอขายหุ้นกู้ง่ายขึ้น จึงเป็นประเด็นว่าหากมีการปฏิบัติตามเงื่อนไขจริง คือขายให้ผู้ถือสถาบันหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ความเสียหายจะถูกจำกัด
ด้าน นายพีรภัทร ฝอยทอง ทนายความและนักวางแผนการเงินส่วนบุคคล (CFP) กล่าวว่า กรณีหุ้น STARK ที่ปัจจุบันมีการมีดำเนินการฟ้องร้องทั้งในส่วนของคดีอาญาที่เอาคนผิดมาลงโทษคือต้องติดคุก ขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รับเป็นคดีพิเศษแล้ว อยู่ระหว่างรอดำเนินการ ซึ่งผู้เสียหายจะไม่ได้เงินคืนจากคดีอาญาอยู่แล้ว ขณะที่เงินคืนที่ควรจะได้เป็นเรื่องของคดีแพ่งจากฐานความผิดที่ STARK ทำผิดสัญญาหุ้นกู้คือไม่ยอมคืนเงินตามสัญญา ซึ่งตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ได้มีการใช้สิทธิฟ้องร้องไปแล้ว
ด้าน นายสมชาย สุภัทรกุล คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งที่ควรดำเนินการจากบทเรียนครั้งนี้เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับมาทั้งตลาดตราสารหนี้ และตลาดตราสารทุน เกี่ยวกับมาตรฐานการตรวจสอบบัญชีว่ามีความเข้มข้นในขั้นต้องการตรวจสอบหรือไม่สำหรับการตรวจสอบบัญชีในไทย และด้านวิชาชีพอาจจะต้องมีการพิจารณาในการยกระดับการตรวจสอบของผู้ตรวจสอบบัญชี รวมถึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลและจัดอันดับเรตติ้งออกระเบียบขั้นตอนในการดำเนินการตรวจสอบในเชิงลึกมากขึ้น.