ทลายเครือข่ายนายหน้าซื้อ-ขายทะเบียนรถยนต์ – สำนักข่าวไทย อสมท
กทม. 3 ส.ค.- ตำรวจไซเบอร์ ทลายเครือข่ายนายหน้าซื้อ-ขายทะเบียนรถยนต์ พบพฤติการณ์อุกอาจใช้รหัสกรมขนส่งทางบก เพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลรถยนต์ นำไปสวมให้กับรถยนต์และ จยย.ผิดกฎหมาย
โดยรถยนต์ที่ถูกสวมทะเบียนจำนวน 16 คัน เป็นของกลางที่ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ สอท. ยึดมาตรวจสอบ หลังจากไปจับกุมตัวนายเสถียร นายหน้าซื้อขายเล่มทะเบียนรถยนต์ และนายศริสร นายหน้าคนกลาง พบว่ารถยนต์บางคัน มีสภาพเก่าเหลือแต่โครงเหล็ก แต่เจ้าของต้องการเล่มทะเบียนที่ถูกต้องมาสวม เพื่อนำรถออกมาใช้งานได้ หรือบางคันมีสภาพใหม่ แต่พบว่าเป็นรถที่ไม่มีการนำเข้ามาในประเทศไทย จึงต้องการนำเล่มทะเบียนมาสวมเพื่อให้เป็นรถที่ถูกต้องตามกฎหมาย
นายจิรุตม์ วิศาลวิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ทางกรมฯ ได้พบความผิดปกติในระบบทะเบียนรถยนต์ โดยมีการแก้ไขข้อมูลให้ตรงกับรถยนต์เก่า หรือรถยนต์ที่หายาก รวมจำนวน 65 คัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ที่ไม่อนุญาตให้จดประกอบในไทยตั้งแต่ปี 2557 โดยในจำนวนนี้พบว่ามีการซื้อขายไปแล้วรวม 16 คัน โดยที่ผู้ต้องหาทั้งสองคนนี้เป็นคนดำเนินการ และพบว่าเริ่มเข้าไปในระบบเองได้เมื่อกลางปี 2565 และแก้ไขข้อมูลได้คันแรกช่วงปลายปี 2565
ผู้ต้องหา มีอาชีพเป็นนายหน้ารับซื้อขายเล่มทะเบียนถยนต์ จักรยานยนต์ และเข้ามาติดต่อกับกรมการขนส่งทางบกนานกว่า 20 ปี จนมีความสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่ และได้จดจำ ถ่ายรูป รหัสผ่านเข้าระบบของเจ้าหน้าที่เอาไว้ ก่อนที่จะเข้าไปแก้ไขข้อมูลรายละเอียดของเล่มจดทะเบียน ให้ตรงกับรถเก่า รถหรู ที่จะนำมาสวม จากนั้นใช้วิธีแจ้งเล่มทะเบียนรถหาย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ออกเล่มทะเบียนรถใหม่ให้ ซึ่งก็จะได้เล่ม ที่ตรงรถคันใหม่ออกมา
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกเกี่ยวข้อง และยังไม่พบว่ามีการขายพาสเวิร์ดให้กับผู้ต้องหา แต่ครั้งนี้เป็นการตรวจพบของเจ้าของพาสเวิร์ดเอง ที่พบความผิดปกติจึงแจ้งให้ตรวจสอบ โดยผู้ที่รู้พาสเวิร์ดการเข้าระบบนี้มี 7 คน และมีการเข้าพาสเวิร์ด เพื่อแก้ไขข้อมูลรถของเจ้าหน้าที่เพียงคนเดียว ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และเส้นทางการเงินควบคู่กันไปด้วย หากพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการเอื้อประโยชน์ให้บุคคลภายนอกก็จะถูกดำเนินคดีทั้งทางวินัยและอาญา
สำหรับการจดจำรหัสผ่านของผู้ต้องหา อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ก็จะสามารถเข้าระบบอินเตอร์เน็ตด้วยระบบ LAN แต่เมื่ออำนวยความสะดวกใช้เจ้าหน้าที่ใช้แทปเล็ตในการเข้าระบบตรวจสอบรถยนต์ได้ก็สามารถล็อกอินเข้าระบบด้วย wifi ได้ และตรวจสอบในพื้นที่เปิดทำให้บุคคลภายนอกอาจเห็นเวลาที่เจ้าหน้าที่เข้าระบบได้ แต่พาสเวิร์ดนี้จะต้องเปลี่ยนทุกๆ 3 เดือนอยู่แล้ว ขณะนี้ก็ได้เน้นย้ำให้หน่วยดังกล่าวเพิ่มความระมัดระวัง และเว้นระยะห่างระหว่างตัวเองและผู้ใช้บริการแล้ว
พันตำรวจเอกสุวัฒชัย ศรีทองสุข ผู้กำกับการวิเคราะห์ข่าวฯ สอท. เปิดเผยว่า ใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คส่วนตัว เข้าอินเตอร์เน็ตผ่านไวฟายของกรม ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถเข้าระบบผ่านระบบนี้ได้เช่นกัน ทำให้บุคคลภายนอกที่ล็อคอินเข้าใช้อินเตอร์เน็ตเข้าไปในระบบได้ โดย พฤติการณ์การซื้อขายทะเบียนรถยนต์ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มแรก จะแก้ไขข้อมูลของซากรถยนต์ เป็นข้มูลของรถยนต์ที่มีมูลค่าสูง กลุ่มนี้ ซื้อขายเล่มกันประมาณ 1 ล้านบาท
กลุ่มที่สอง คือ คนซื้อเล่มทะเบียนรถไป เพื่อไปหารถยนต์ที่มีสภาพตรงกับข้อมูลในเล่มทะเบียน จากนั้นก็จะไปเปลี่ยนเลขตัวถังรถยนต์ เพราะสามารถยึดที่ปั้มเพลทรถยนต์ได้ โดยกลุ่มนี้จะขายรถยนต์ราคาประมาณ 1 ล้านบาท และเล่มทะเบียนรถยนต์อีก 1 ล้านบาท รวม 2 ล้านบาท
ส่วนกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่มีรถยนต์ และเล่มทะเบียน แต่จดทะเบียนไม่ได้ จึงว่าจ้างให้ไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลรถยนต์กับกรมการขนส่งทางบก โดยประสานผ่านผู้ต้องหา มีราคาเปลี่ยนคันละ 1.4 – 2 ล้านบาท
พลตำรวจโทวรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจ สอท. เปิดเผยว่า ตรวค้นทั่วประเทศรวม 35 จุด และยึดรถยนต์มาได้ 16 คัน โดยผู้ต้องหา 2 คน
ซึ่งพฤติการณ์กระทำความผิดของผู้ต้องหาเริ่มจากการแก้ไขข้อมูลรายการรถในระบบงานตรวจสภาพรถ จากนั้นเชื่อมโยงข้อมูลไปยังระบบงานทะเบียนรถยนต์ ก่อนจะขอคัดเล่มทะเบียนรถใหม่เพื่อให้ข้อมูลในระบบตรงกับข้อมูลรถที่ครอบครอง จากนั้นจะนำเล่มไปขายให้กับลูกค้าที่สะสมรถเก่าหรือรถโบราณ
เบื้องต้น แจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในการแก้ไขข้อมูล นำข้อมูลปลอมเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และเข้าถึงรหัสโดยมิชอบ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และหลังจากนี้จะขยายผลถึงกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ครอบครองรถยนต์ที่ต้องสงสัยก็จะออกหมายเรียกให้นำรถยนต์เข้ามาตรวจสอบ รวมทั้งทำหนังสือถึงกรมศุลกากร ถึงการนำเข้ารถยนต์และการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรถยนต์ .-สำนักข่าวไทย