ข่าวสารกรุงเทพฯ

ประมวลข่าวทั่วไทยประจำวันที่ 22 สิงหาคม …



ประมวลข่าวทั่วไทยประจำวันที่ 22 สิงหาคม 2566

ประมวลข่าวทั่วไทยประจำวันที่ 22 สิงหาคม 2566

การเมือง/มั่นคง

ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับถึงประเทศไทยโดยสวัสดิภาพ ท่ามกลางบรรยากาศการรอต้อนรับของมวลชน

บรรยากาศในขณะที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางถึงประเทศไทยและออกมาจากอาคารผู้โดยสาร อากาศยานส่วนบุคคล (MJETS) และโบกมือทักทายมวลชนที่มารอต้อนรับ พร้อมครอบครัว

ขณะที่มวลชนคนเสื้อแดงใช้เครื่องขยายเสียง นำมวลชนทุกเพศทุกวัยโห่ร้องเรียกชื่อนายทักษิณ ชินวัตร พร้อมตะโกนให้กำลังใจว่า “เรารักทักษิณ” เพื่อเป็นการต้อนรับและให้กำลังใจนายทักษิณ ชินวัตร ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนการดำเนินการทางกฎหมาย

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุกทักษิณ 10 ปี ติดคุกจริง 8 ปี

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลอ่านคำพิพากษาใน 3 คดีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยนายทักษิณรับว่าเป็นจำเลยในทั้ง 3 คดีคือ คดีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ 4,000 ล้านบาท ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี คดีที่ 2 คดีทุจริตโครงการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลเลขท้าย 2 ตัวและเลขท้าย 3 ตัวของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี ส่วนคดีที่ 3 คดีสัมปทานหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่นจำกัด ลงโทษจำคุก 5 ปี พิพากษาจำคุกทั้ง 3 คดีรวม 10 ปี และศาลได้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดในแต่ละคดีแล้ว

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากใน 2 คดีแรกไม่ได้นับโทษต่อกัน จึงเหลือจำคุกจริง 3 ปี ใน 2 คดีแรก เมื่อรวมกับโทษในคดีที่ 3 ที่พิพากษาจำคุก 5 ปีและให้นับโทษต่อกัน อดีตนายกรัฐมนตรีจึงจำคุกจริงรวม 8 ปี

กรมราชทัณฑ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงถึงการนำตัวนายทักษิณ ชินวัตร เข้าสู่เรือนจำ

นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ รวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงถึงการนำตัวอดีตนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร เข้าสู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ซึ่งเบื้องต้นได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและระเบียบต่างๆ ของทางเรือนจำอย่างครบถ้วน โดยกรมราชทัณฑ์ได้ดูแลเรื่องความปลอดภัยของนายทักษิณ ในเรื่องอาหาร น้ำดื่มและการขอเข้าเยี่ยม ทั้งการจัดสถานที่เข้าเยี่ยมสำหรับญาติและคนรู้จักให้เหมาะสม โดยจะต้องมีการกักตัวก่อน 10 วัน ซึ่ง 5 วันแรกเป็นการกักตัวแบบเข้มข้น ให้อยู่เฉพาะภายในห้องขัง ผู้ที่เข้าเยี่ยมได้มีแค่ทนายความตามกฎหมายเท่านั้น หลังจากวันที่ 5 ญาติจะเข้าเยี่ยมได้ผ่านทาง Video Conference และหลังจากผ่านพ้นช่วงกักตัว 10 วันญาติขอพบได้ตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ภายในเวลาราชการ รวมถึงการดูแลอย่างเข้มงวดในเรื่องของสุขภาพ ซึ่งนายแพทย์วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ระบุว่า ต้องให้ความสำคัญด้านสุขภาพของนายทักษิณเป็นพิเศษ มีการแยกคุมตัวไว้ที่แดนพยาบาล หรือแดน 7 ในลักษณะการแยกขังเดี่ยว และมีแพทย์พยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากนักโทษมีอายุมาก (74 ปี) เป็นกลุ่มเปราะบาง 608 และมีโรคประจำตัว ซึ่งเคยมีประวัติการรักษากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและเคยเป็นปอดอักเสบรุนแรงหลังจากติดโควิด มีความดันโลหิตสูง กระดูกสันหลังเสื่อม การทรงตัวค่อนข้างไม่ปกติ ทางกรมจึงให้ความสำคัญด้านสุขภาพอนามัยเป็นหลัก

ด้านการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า สามารถยื่นฎีกาได้เลยทันที โดยหลักการจะมีการยื่น 2 ประเภทคือ แบบฎีกาเฉพาะราย และแบบฎีกาทั่วไป ซึ่งกรณีนายทักษิณเป็นการยื่นขออภัยโทษแบบเฉพาะราย อาจใช้ระยะเวลาการดำเนินการเรื่องเอกสารประมาณ 1-2 เดือน ก่อนที่เรื่องจะถูกส่งไปถึงสำนักองคมนตรี ส่วนผลของการฎีกาอยู่ที่ดุลพินิจไม่สามารถกำหนดระยะเวลาได้

สำหรับกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า หากอาการเจ็บป่วยของนายทักษิณ ชินวัตร เป็นโรคเฉพาะทางที่แพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ไม่สามารถให้การรักษาได้ จะมีการส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่นต่อหรือไม่นั้น นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และโฆษกประจำกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ เนื่องจากเป็นประเด็นที่ยังคงอยู่ในการพิจารณาด้านสุขภาพของนายทักษิณทุกชั่วโมงในระหว่างกักตัว 10 วันนี้ ซึ่งหากเกิดขึ้นก็จะมีการอัปเดตในด้านความชัดเจนต่อไป

ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีมติให้ความเห็นชอบนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30

การประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ในวันนี้ (22 ส.ค.66) โดยนายแพทย์ ชลน่าน สส.น่าน พรรคเพื่อไทย ได้เสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย เป็นผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่มีผู้เสนอรายชื่ออื่นเพิ่มเติม และเมื่อที่ประชุมได้เปิดให้สมาชิกรัฐสภาได้อภิปรายคุณสมบัติของผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ตามกรอบเวลารวม 5 ชั่วโมงแล้ว

นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายสรุปและตอบข้อซักถามของสมาชิก ยืนยันว่า นายเศรษฐา มีคุณสมบัติครบถ้วนและขอเสียงสนับสนุนจากที่ประชุมให้นายเศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนของความเห็นต่างและสลายความขัดแย้งนำพาประเทศเดินหน้าต่อไป

จากนั้น เป็นการลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ โดยการลงคะแนนแบบเปิดเผย ด้วยการขานชื่อสมาชิกรัฐสภาเรียงตามลำดับอักษร ซึ่งผลการลงมติปรากฎว่า ที่ประชุมรัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบนายเศรษฐา ทวีสิน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ด้วยคะแนน 482 เสียงต่อ 165 เสียง และงดออกเสียง 81 เสียง ซึ่งมีคะแนนเสียงเกินเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 374 เสียงของสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ทั้งหมด 747 คน

โดยขั้นตอนจากนี้ ประธานรัฐสภาจะนำรายชื่อผู้ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการลงมติเกิดเหตุ นายอานุภาพ ลิขิตอำนวยชัย สส.สมุทรสงคราม พรรคก้าวไกล หมดสติภายในห้องประชุม ทำให้ประธานการประชุมต้องขอความร่วมมือสื่อมวลชนและช่างภาพในห้องประชุมงดถ่ายภาพและห้ามเผยแพร่ภาพดังกล่าว ก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาล

เศรษฐกิจ/ท่องเที่ยว

รฟท.เดินหน้าพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ รองรับปริมาณการเดินทางที่เพิ่มขึ้น

นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า เพื่อรองรับการให้บริการพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ที่ปัจจุบันให้บริการขบวนรถโดยสารทางไกลทุกสายของไทย รวมถึงรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง โดยภายในเดือนกันยายนนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย จะนำเสนอคณะกรรมการการรถไฟฯ (บอร์ด รฟท.) ถึงผลการประกวดราคาการใช้ประโยชน์พื้นที่ บริเวณสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) และสถานีรถไฟสายสีแดง 12 สถานี จำนวน 4 สัญญา เพื่อลงนามในสัญญากับผู้รับงานที่ผ่านการประมูลคือ บริษัท เปรม กรุ๊ป เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ในสัญญาโครงการยื่นข้อเสนอผลตอบแทนการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ บริเวณอาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จำนวนพื้นที่ 47,675 ตารางเมตร (ตร.ม.)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา รฟท.ได้เปิดข้อเสนอด้านผลตอบแทนเรียบร้อยแล้ว พบว่า บริษัท เปรม กรุ๊ปฯ เสนอผลตอบแทนมาสูงกว่าที่ รฟท.ตั้งไว้ ขั้นตอนจากนี้ รฟท.จะตรวจสอบความถูกต้องของรายละเอียดผลตอบแทนและเชิญบริษัท เปรม กรุ๊ปฯ มาเจรจา

สำหรับ 3 สัญญาที่เหลือ ประกอบด้วยสัญญาโครงการยื่นข้อเสนอเพื่อใช้สิทธิการบริหารจัดการพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณา บริเวณอาคารสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ จำนวนพื้นที่ 2,303 ตร.ม. สัญญาโครงการยื่นข้อเสนอผลตอบแทนการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ บริเวณอาคารสถานีรถไฟสายสีแดง 12 สถานี จำนวนพื้นที่ 3,759 ตร.ม. และสัญญาโครงการยื่นข้อเสนอเพื่อใช้สิทธิการบริหารจัดการพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณา บริเวณอาคารสถานีรถไฟสายสีแดง 12 สถานี จำนวนพื้นที่ 2,080 ตร.ม. การรถไฟฯ กำลังพิจารณาเพื่อเปิดประกวดราคาใหม่ หลังจากการลงนามในสัญญาสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์เสร็จสิ้นแล้ว โดยการเปิดประกวดราคาครั้งใหม่ทั้ง 3 สัญญานี้ รฟท.จะไม่มีการปรับแก้เงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) และหากไม่มีเอกชนเข้ายื่นข้อเสนออีก รฟท.จะพิจารณาให้บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ รฟท.ถือหุ้น 100% เพื่อดำเนินงานด้านบริหารทรัพย์สินของ รฟท. มาเป็นผู้รับงานพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว

ชะลอปรับขึ้นค่าผ่านทางพิเศษฉลองรัชและบูรพาวิถี ออกไปอีก 6 เดือน ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม แจ้งว่า นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงนามเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566 กำหนดให้ทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) และทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) ชะลอการปรับค่าผ่านทางออกทั้ง 2 สายทางออกไปอีก 6 เดือน หรือไปมีผลวันที่ 1 มีนาคม 2567 จากเดิมต้องปรับขึ้นในวันที่ 1 กันยายน 2566 เพื่อลดภาระใช้จ่ายของประชาชน รวมถึงลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการทางด้านขนส่ง โดยการชะลอการปรับค่าผ่านทางออกไปอีก 6 เดือน จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน คิดเป็นเงินกว่า 233 ล้านบาท

ทั้งนี้ อัตราค่าผ่านทางใหม่ ที่จะมีผลในวันที่ 1 มีนาคม 2567 อัตราค่าผ่านทางพิเศษฉลองรัช รถ 4 ล้อ 45 บาท รถ 6-10 ล้อ 65 บาท รถมากกว่า 10 ล้อ 90 บาท ยกเว้นด่านฯ รามอินทรา 1 และด่านฯ สุขาภิบาล 5-2 รถ 4 ล้อ 20 บาท รถ 6-10 ล้อ 35 บาท รถมากกว่า 10 ล้อ 45 บาท

ส่วนอัตราค่าผ่านทางพิเศษบูรพาวิถี รถ 4 ล้อ กรณีเดินทางไม่เกิน 20 กิโลเมตร จะใช้อัตราค่าผ่านทางเดิม แต่กรณีเดินทางเกิน 20 กิโลเมตร จะปรับอัตราค่าผ่านทางต่ำสุด 5 บาท สูงสุดไม่เกิน 10 บาท โดยคิดตามระยะทาง รถ 6-10 ล้อ กรณีเดินทางไม่เกิน 20 กิโลเมตร จะปรับขึ้น 5 บาท แต่กรณีเดินทางเกิน 20 กิโลเมตร จะปรับอัตราค่าผ่านทางต่ำสุด 10 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 บาท คิดตามระยะทาง รถมากกว่า 10 ล้อ กรณีเดินทางไม่เกิน 20 กิโลเมตร จะปรับขึ้น 5 บาท แต่กรณีเดินทางเกิน 20 กิโลเมตร จะปรับอัตราค่าผ่านทางต่ำสุด 10 บาท สูงสุดไม่เกิน 25 บาท โดยคิดตามระยะทาง

เกษตรกรรม/สิ่งแวดล้อม

แก้ปัญหาทุเรียนส่งออกที่ได้รับการเตือนจากจีน ขอความร่วมมือเกษตรกรและล้ง คัดแยกเกรดทุเรียนให้ชัดเจน

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยถึงกรณีทุเรียนไทยถูกจีนตีกลับเนื่องจากพบหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน โดยได้รับหนังสือการแจ้งเตือนจาก GACC ผ่านทางทูตเกษตรประจำกรุงปักกิ่ง ให้ตรวจสอบย้อนกลับแต่ละชิปเม้นท์ของทุเรียนดังกล่าวนั้น ในวันนี้ ( 22 ส.ค. 66) จึงประชุมด่วนผ่าน zoom กับนายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร และนายดำรงศักดิ์ สินศักดิ์ ประธาน ศพก.ชุมพร ตัวแทนล้ง เพื่อกำหนดมาตรการแก้ปัญหาทุเรียนส่งออกที่ได้รับการแจ้งเตือนจากจีน การคัดเลือกทุเรียนคุณภาพเพื่อการส่งออกและผลกระทบของการปนเปื้อนของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน รวมถึงวิธีการคัดเลือกผลทุเรียนปราศจากหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน พร้อมมอบหมายนางสาวฉันทนา คงนคร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 จังหวัดสุราษฎร์ธานี นายชัยศักดิ์ รินเกลื่อน ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช ตรวจสอบข้อเท็จจริงล้งทุเรียนในจังหวัดชุมพร และเตรียมสั่งระงับล้งที่ถูกแจ้งเตือนจากจีนกรณีที่ถูกแจ้งเตือนพบหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน เนื่องจากส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การส่งออกทุเรียนไทยในภาพรวมของประเทศ

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรตรวจสอบคุณภาพทุเรียนใต้อย่างต่อเนื่องจนหมดฤดูกาลและร่วมกับทุกฝ่ายทำงานอย่างหนัก เพื่อให้ทุเรียนไทยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค คุมเข้มทุเรียนภาคใต้ส่งออกไปจีนต้องได้คุณภาพ ปลอดการปนเปื้อนศัตรูพืชอย่างเด็ดขาดและต้องตรวจสอบย้อนกลับได้ โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2566 จีนได้ขึ้นทะเบียนให้สวนและโรงคัดบรรจุผลไม้ไทย 13 ชนิด โดยเป็นทุเรียนกว่า 72,488 แปลง พร้อมเตรียมเสนอของบประมาณจากรัฐบาลใหม่สนับสนุนการตรวจสอบควบคุมคุณภาพทุเรียนให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ตามการเพาะปลูกทุเรียนที่มีเพิ่มมากขึ้น มั่นใจจะช่วยผลักดันมูลค่าการส่งออกให้ถึงแสนล้านบาทต่อปีอย่างต่อเนื่องได้อย่างแน่นอน

สังคม

อย.พร้อมสนับสนุนการใช้สารไมทราไจนีนในพืชกระท่อม

เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า พืชกระท่อมได้ถูกปลดล็อกจากการเป็นยาเสพติดแล้ว ดังนั้น การขออนุญาตจึงใช้หลักเกณฑ์เดียวกับพืชสมุนไพรชนิดอื่นๆ ทั่วไป แต่เนื่องจากปัจจุบันพืชกระท่อม ยังไม่มีหลักฐานการวิจัยในมนุษย์ถึงประสิทธิภาพและปลอดภัยที่ชัดเจน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงจัดทำคำแนะนำการพัฒนาและขออนุญาต “ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพน้ำใบกระท่อม” โดยกำหนดให้มีปริมาณสารไมทราจีนีนที่ได้รับไม่เกิน 0.2 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งการกำหนดตัวเลขมาจากการศึกษาความเป็นพิษเรื้อรังในสัตว์ทดลองและนำมาคำนวณจนได้ขนาดสูงสุดที่สามารถบริโภคได้ในแต่ละวันโดยไม่เกิดอันตรายต่อร่างกายของคนปกติทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการ สามารถขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกระท่อมที่นอกเหนือจากที่กำหนดในคำแนะนำฯ “ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ น้ำใบกระท่อม” โดยจะพิจารณาอนุญาตจากเอกสารหลักฐานด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพที่ยื่นมา กรณีการใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารอนุญาตให้ใช้สารไมตราจีนีน ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเท่านั้น โดยอนุญาตไม่เกิน 0.2 มิลลิกรัมต่อวัน เนื่องจากเป็นปริมาณที่ผู้บริโภคสามารถรับประทานได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่หากผู้ผลิตอาหารต้องการเพิ่มปริมาณการใช้เกินกว่า 0.2 มิลลิกรัมต่อวัน ต้องประเมินความปลอดภัยของอาหารก่อน โดยยื่นคำขอประเมินความปลอดภัยกับหน่วยประเมินที่ อย. ให้การยอมรับ ได้แก่ หน่วยประเมินความปลอดภัยอาหาร สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม และศูนย์ประเมินความเสี่ยงประเทศไทย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยในการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของพืชกระท่อม ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทานและไม่ควรรับประทานติดต่อกันเกิน 7 วัน ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตถูกต้องจาก อย. โดยสังเกตฉลากต้องแสดงเลขทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือเลขสารบบอาหาร รวมทั้งอย่าหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอวดอ้างสรรพคุณ คุณประโยชน์ต่อสุขภาพในทางบำบัด รักษาเป็นเท็จ เกินจริง สามารถตรวจสอบการได้รับอนุญาตได้จากเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หัวข้อ ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาต หากผู้บริโภคมีข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ สอบถามหรือแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ




ข้อมูลข่าวและที่มา

ผู้สื่อข่าว : ธนพิชฌน์ แก้วกา

ผู้เรียบเรียง : ธนพิชฌน์ แก้วกา

แหล่งที่มา : หน่วยงานสำนักข่าว



Source link