ปลาหยก สัตว์น้ำห้ามเพาะเลี้ยงในไทย ก่อนซีพีเอฟเปิดตัว – BBC News ไทย
การเปิดตัวสินค้าสัตว์น้ำ ปลาหยก (Jade Perch) ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ โดยชูความเป็นอาหาร “พรีเมียม” ที่บริษัทบอกว่ามีโภชนาการสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้นักสิ่งแวดล้อมตั้งคำถามว่า สัตว์น้ำต่างถิ่นที่อยู่ในบัญชีห้ามเพาะเลี้ยงหรือเอเลียนสปีชีส์ 13 ชนิด กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของยักษ์ใหญ่ธุรกิจอาหาร
จากข่าวประชาสัมพันธ์ของซีพีเอฟที่เผยแพร่ในหลายสื่อ ระบุว่า ปลาหยก เป็นปลาที่ซีพีเอฟนำร่องนำเข้าไข่ปลาจากประเทศออสเตรเลีย มาเพาะเลี้ยงที่ ต. ยี่สาร อ. อัมพวา จ. สมุทรสงคราม ภายในโรงเรือนระบบปิด พร้อมระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ
ปัจจุบันส่งเป็นวัตถุดิบให้กับภัตตาคารและร้านอาหารชั้นนำกว่า 20 แห่ง ทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
กรมประมงชี้แจงในวันนี้ (3 ก.พ.) ว่า ซีพีเอฟขออนุญาตนำเข้าและนำมาศึกษาวิจัยจริง ซึ่งตามประกาศฯ สามารถทำการเพาะเลี้ยงได้แต่ต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง แต่ซีพีเอฟทำการประชาสัมพันธ์ทำการตลาดเชิงพาณิชย์นอกจากเหนือจากที่ขออนุญาต อีกทั้งตามกรอบการวิจัยที่เสนอมาที่กรมฯ ระบุการจำหน่ายเฉพาะช่องทางในเครือซีพี
“ขณะนี้กรมประมงได้แจ้งให้บริษัทฯ ระงับการประชาสัมพันธ์ดังกล่าวภายใน 3 วัน มิฉะนั้น กรมประมงจะดำเนินการพักใช้ใบอนุญาตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดนี้ ซึ่งหมายความว่า บริษัทฯ จะไม่สามารถดำเนินการในทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับปลาเก๋าหยก” เอกสารคำชี้แจงจากนายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ระบุ
บีบีซีไทยติดต่อไปที่ฝ่ายผู้บริหารของซีพีเอฟเพื่อขอคำอธิบายในเรื่องนี้ แต่ไม่ได้รับคำชี้แจงอย่างเป็นทางการ
ก่อนหน้านี้ ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการอิสระ ผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม (siamensis.org) ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า เหตุใดกรมประมงจึงมีการอนุญาตให้บริษัทซีพี นำเข้าและเพาะเลี้ยงเชิงการค้าได้ ทั้งที่เป็นปลาที่อยู่ในประกาศห้ามเพาะเลี้ยงเอเลียนสปีชส์ 13 ชนิด
กรมประมงชี้แจง ซีพีเอฟ ขอนำเข้าลูกปลาเก๋าหยกจากจีนเมื่อปี 2561
บีบีซีไทย ได้รับเอกสารชี้แจงจากกรมประมง เมื่อ 3 ก.พ. นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ได้ขออนุญาตกรมประมงนำเข้าปลาเก๋าหยกเพื่อการศึกษาวิจัยการเพาะเลี้ยงเมื่อปี 2561 โดยเป็นการนำเข้าลูกปลาจากประเทศจีนเพื่อเพาะเลี้ยงที่ฟาร์มปลา จ.สมุทรสงคราม
คำชี้แจงจากกรมประมงระบุต่อว่า หลังจากระยะทดลองได้มีการชำแหละปลาทั้งหมดเป็นเนื้อปลา เหลือเพียงพ่อแม่พันธุ์ จำนวน 40 คู่ ต่อมาบริษัทฯ ได้ขออนุญาตดำเนินการศึกษาวิจัยการเพาะพันธุ์ การเลี้ยง และการตลาดผลิตภัณฑ์ปลา Jade perch ในระบบปิดน้ำหมุนเวียนเชิงพาณิชย์ เมื่อเดือน เม.ย. 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ กรมประมงได้อนุญาตให้ศึกษาวิจัยโดยผ่านมติของคณะกรรมการด้านความหลากหลายและด้านความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมฯ (IBC)
ส่วนการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากการทดลองเพื่อศึกษาวิจัยด้านการตลาด กรมประมงอนุญาตให้จำหน่ายเป็นผลผลิตที่ไม่มีชีวิตเท่านั้น เช่น ปลาแช่แข็ง และอนุญาตให้จำหน่ายในช่องทางของบริษัทในเครือตามที่บริษัทเสนอแผนการศึกษามาเท่านั้น เช่น ซีพีเฟรชมาร์ท โลตัส แม็คโคร
แต่จากการตรวจสอบข้อมูลการออกข่าวประชาสัมพันธ์พบว่า ซีพีเอฟดำเนินการนอกเหนือจากกรอบโครงการวิจัยที่บริษัทเสนอต่อกรมประมงเพื่อขอรับอนุญาต และมีการทำประชาสัมพันธ์รวมถึง ทำการตลาดโดยจำหน่ายปลาเก๋าหยกในเชิงพาณิชย์ก่อนที่จะรายงานให้กรมประมงทราบ
สัตว์น้ำเศรษฐกิจใหม่
เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมประมง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และซีพีเอฟ แถลงข่าวความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ประมงร่วมกัน ในงานดังกล่าวมีการเสวนาวิชาการซึ่งตัวแทนจากบริษัทซีพีเอฟ ได้กล่าวถึงการผลักดันให้ปลาหยกเป็น “สัตว์น้ำเศรษฐกิจใหม่ของไทย” พร้อมระบุว่า ปลาหยกเป็นหนึ่งในเมนูอาหารที่เสิร์ฟขึ้นโต๊ะผู้นำในการประชุมเอเปค เมื่อเดือน พ.ย. 2565
“เป็นโอกาสดีที่จะขยายตลาดปลาหยกให้เป็นที่รู้จักและผลักดันให้เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจใหม่ของไทย” นายเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ กล่าว
นายสัตวแพทย์สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ปลาหยกมีคุณค่าทางโภชนาการ อุดมไปด้วยสารอาหารที่ดีต่อร่างกาย เช่น ไขมันดี มีโอเมก้า 3 สูงกว่าปลาแซลมอนถึง 3 เท่า ช่วยบำรุงสมอง เสริมสร้างความจำ ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ และความดันสูง รวมทั้ง DHA (Docosahexaenoic Acid)
ไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงานถึงรายละเอียดของปลาหยกที่เข้าถึงได้บนยูทิวบ์ของซีพีเอฟในชื่อคลิปวิดีโอ เรื่องดีดี CPF EP 250 ตอน “ทำไมต้องปลาหยก” ซึ่งขณะนี้ถูกนำออกจากระบบแล้ว ระบุว่า นำเข้าไข่ปลาจากออสเตรเลียมาเพาะเลี้ยงที่ จ.สมุทรสงคราม โดยปลาหยกที่มีน้ำหนักประมาณ 600-700 กรัม ระบุว่า มีโอเมก้า 2,483 มิลลิกรัมต่อเนื้อปลา 100 กรัม มากกว่าแซลมอน 3 เท่า บำรุงสมอง เสริมสร้างความจำ และลดความเสี่ยงความดันโลหิตสูง
งานวิจัย ม.เกษตรศาสตร์ เมื่อปี 2558
งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ชื่อว่า “อุปนิสัยการกินอาหารของปลาเก๋าหยกและการเปรียบเทียบการกินอาหารกับปลาตะเพียนทองและปลาหมอช้างเหยียบ” เมื่อปี 2556-2558 ระบุแหล่งทุน คือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหารสัตว์ จำกัด (มหาชน) มีผลสรุปเกี่ยวกับปลาเก๋าหยกว่า เป็นปลาที่กินได้ทั้งพืชและสัตว์ที่ค่อนไปทางการกินเนื้อ และกินอาหารสูงที่สุดในช่วงเช้า
เมื่อเปรียบเทียบอัตราการกินอาหารของปลาเก๋าหยก ปลาตะเพียนทอง และปลาหมอช้างเหยียบ
ในการเลี้ยงในกระชัง พบว่าอัตราส่วนของน้ำหนักอาหารต่อน้ำหนักตัวของปลาหมอช้างเหยียบสูงที่สุด รองลงมา คือ ปลาตะเพียนทอง และปลาเก๋าหยกตามลําดับ
อย่างไรก็ดี ประเภทของอาหารในกระเพาะของปลาเก๋าหยกจะมีความหลากหลายกว่าปลาหมอช้างเหยียบที่พบกุ้งเป็นส่วนใหญ่ และปลาตะเพียนทองที่พบแมลงน้ำเป็นส่วนใหญ่
“การที่ปลาเก๋าหยกสามารถกินอาหารได้หลากหลายกว่าปลาพื้นเมืองอาจเอื้อให้ปลาชนิดนี้สามารถอยู่รอดในธรรมชาติได้ และอาจแก่งแย่งในกรณีที่สภาพแวดล้อมมีอาหารจํากัดซึ่งส่งผลต่อการสูญเสียปลาพื้นเมืองได้”
บัญชีสัตว์น้ำห้ามเพาะเลี้ยง บอกไว้ว่าอย่างไร
ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2564 โดยกรมประมง ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2564 เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำพื้นถิ่นหายาก หรือป้องกันอันตรายมิให้เกิดแก่สัตว์น้ำและระบบนิเวศ มีบัญชีแนบท้ายของปลาและสัตว์น้ำรวม 13 ชนิด ได้แก่
ปลาหมอสีคางดำ, ปลาหมอมายัน, ปลาหมอบัตเตอร์, ปลาทุกชนิดในสกุล Cichla และปลาลูกผสม, ปลาเทราท์สายรุ้ง, ปลาเทราท์สีน้ำตาล, ปลากะพงปากกว้าง, ปลาโกไลแอทไทเกอร์ฟิช, ปลาเก๋าหยก, ปลาที่มีการดัดแปลงหรือตัดแต่งพันธุกรรม GMO LMO ทุกชนิด, ปูขนจีน, หอยมุกน้ำจืด และหมึกสายวงน้ำเงินทุกชนิดในสกุล Hapalochlaena
ประกาศฉบับดังกล่าว กำหนดเงื่อนไขด้วยว่า กรณีที่เกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกลุ่มเหล่านี้ ต้องดำเนินการขอใบอนุญาตตามประกาศกรมประมงภายใน 30 วันหลังจากประกาศฯ มีผลบังคับใช้
กรณีส่วนราชการ สถาบันการศึกษา หรือกรณีจำเป็นอื่นใดที่ต้องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั้ง 13 ชนิดไว้ เพื่อศึกษาวิจัยและประโยชน์ทางราชการให้แจ้งขออนุญาตกรมประมงก่อน
ห้ามผู้ใดปล่อยสัตว์น้ำทั้ง 13 ชนิด ลงในแหล่งน้ำธรรมชาติโดยเด็ดขาด เนื่องจากมีความผิดตามมาตรา 144 แห่ง พรก.การประมง 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หากใครจับได้ตามแหล่งน้ำตามธรรมชาติ หรือหลุดเข้าไปในบ่อหรือแหล่งเพาะเลี้ยงของเกษตรกรโดยไม่เจตจา สามารถนำไปบริโภคหรือจำหน่ายได้ แต่ต้องทำให้ปลาตายเสียก่อน
จากปลานิล ปลาทับทิม ถึงปลาหยก
ปลานิล ปลาน้ำจืดที่เป็นอาหารของครัวเรือนไทย จากจุดเด่นที่สามารถหาซื้อได้ในราคาไม่แพง ก็ไม่ได้เป็นปลาท้องถิ่นดั้งเดิมของเมืองไทย
ข้อมูลบนเว็บไซต์ชองซีพี ระบุประวัติที่มาของปลานิล และปลาทับทิมที่บริษัทเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับปลาเศรษฐกิจทั้งสองชนิดนี้ว่า เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2508 สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ได้นำทูลเกล้าฯ ถวาย ปลานิล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จำนวน 50 ตัว
รัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ ให้ทดลองเลี้ยงปลาพันธุ์ดังกล่าวในบ่อปลาสวนจิตรลดา จนเป็นหนึ่งในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา และพระราชทานชื่อว่า “ปลานิลจิตรลดา”
สำหรับปลานิล ที่มีที่มาจากชื่อแม่น้ำไนล์ (Nile) ที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิม ในปี 2509 ทรงพระราชทานพันธุ์ปลาจำนวนหนึ่งแก่กรมประมง เพื่อนำไปขยายพันธุ์และแจกจ่ายแก่ประชาชน
ต่อมาในปี 2532 รัชกาลที่ 9 พระราชทานแนวพระราชดำริแก่นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้พัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิล เนื่องจากขณะนั้นกระแสความนิยมบริโภคเนื้อปลาเพื่อรักษาสุขภาพมีมากขึ้น แต่ปลาทะเลกลับลดปริมาณลง
กลุ่มธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำซีพีเอฟ จึงนำปลานิลจิตรลดาพระราชทาน มาเป็นต้นตระกูลเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ตามแนวพระราชดำริ โดยคัดเลือกสายพันธุ์ปลานิล ทั้งจากอเมริกา อิสราเอล และไต้หวัน ซึ่งแต่ละสายพันธุ์มีลักษณะเด่นในด้านต่าง ๆ โดยพัฒนาสายพันธุ์ด้วยวิธีตามธรรมชาติ ไม่ใช้การตัดแต่งพันธุกรรม (Non-GMOs) จนได้ปลาพันธุ์ใหม่ที่มีสีของเกล็ดและตัวปลาที่มีสีขาวอมแดงเรื่อ ๆ ถึงสีแดงอมชมพู คล้ายทับทิม ก่อนที่ในปี 2541 รัชกาลที่ 9 จะทรงพระราชทานนามปลาชนิดใหม่นี้ว่า “ปลาทับทิม”