ข่าวสารกรุงเทพฯ

ปลาหยก สัตว์น้ำห้ามเพาะเลี้ยงในไทย ก่อนซีพีเอฟเปิดตัว – BBC News ไทย


ที่มาของภาพ, South China Morning Post/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ปลาเก๋าหยกที่ฮ่องกง

การเปิดตัวสินค้าสัตว์น้ำ ปลาหยก (Jade Perch) ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ โดยชูความเป็นอาหาร “พรีเมียม” ที่บริษัทบอกว่ามีโภชนาการสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้นักสิ่งแวดล้อมตั้งคำถามว่า สัตว์น้ำต่างถิ่นที่อยู่ในบัญชีห้ามเพาะเลี้ยงหรือเอเลียนสปีชีส์ 13 ชนิด กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของยักษ์ใหญ่ธุรกิจอาหาร

จากข่าวประชาสัมพันธ์ของซีพีเอฟที่เผยแพร่ในหลายสื่อ ระบุว่า ปลาหยก เป็นปลาที่ซีพีเอฟนำร่องนำเข้าไข่ปลาจากประเทศออสเตรเลีย มาเพาะเลี้ยงที่ ต. ยี่สาร อ. อัมพวา จ. สมุทรสงคราม ภายในโรงเรือนระบบปิด พร้อมระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ

ปัจจุบันส่งเป็นวัตถุดิบให้กับภัตตาคารและร้านอาหารชั้นนำกว่า 20 แห่ง ทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

กรมประมงชี้แจงในวันนี้ (3 ก.พ.) ว่า ซีพีเอฟขออนุญาตนำเข้าและนำมาศึกษาวิจัยจริง ซึ่งตามประกาศฯ สามารถทำการเพาะเลี้ยงได้แต่ต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง แต่ซีพีเอฟทำการประชาสัมพันธ์ทำการตลาดเชิงพาณิชย์นอกจากเหนือจากที่ขออนุญาต อีกทั้งตามกรอบการวิจัยที่เสนอมาที่กรมฯ ระบุการจำหน่ายเฉพาะช่องทางในเครือซีพี

“ขณะนี้กรมประมงได้แจ้งให้บริษัทฯ ระงับการประชาสัมพันธ์ดังกล่าวภายใน 3 วัน มิฉะนั้น กรมประมงจะดำเนินการพักใช้ใบอนุญาตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดนี้ ซึ่งหมายความว่า บริษัทฯ จะไม่สามารถดำเนินการในทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับปลาเก๋าหยก” เอกสารคำชี้แจงจากนายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ระบุ

บีบีซีไทยติดต่อไปที่ฝ่ายผู้บริหารของซีพีเอฟเพื่อขอคำอธิบายในเรื่องนี้ แต่ไม่ได้รับคำชี้แจงอย่างเป็นทางการ

ก่อนหน้านี้ ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการอิสระ ผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม (siamensis.org) ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า เหตุใดกรมประมงจึงมีการอนุญาตให้บริษัทซีพี นำเข้าและเพาะเลี้ยงเชิงการค้าได้ ทั้งที่เป็นปลาที่อยู่ในประกาศห้ามเพาะเลี้ยงเอเลียนสปีชส์ 13 ชนิด

กรมประมงชี้แจง ซีพีเอฟ ขอนำเข้าลูกปลาเก๋าหยกจากจีนเมื่อปี 2561

บีบีซีไทย ได้รับเอกสารชี้แจงจากกรมประมง เมื่อ 3 ก.พ. นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ได้ขออนุญาตกรมประมงนำเข้าปลาเก๋าหยกเพื่อการศึกษาวิจัยการเพาะเลี้ยงเมื่อปี 2561 โดยเป็นการนำเข้าลูกปลาจากประเทศจีนเพื่อเพาะเลี้ยงที่ฟาร์มปลา จ.สมุทรสงคราม

คำชี้แจงจากกรมประมงระบุต่อว่า หลังจากระยะทดลองได้มีการชำแหละปลาทั้งหมดเป็นเนื้อปลา เหลือเพียงพ่อแม่พันธุ์ จำนวน 40 คู่ ต่อมาบริษัทฯ ได้ขออนุญาตดำเนินการศึกษาวิจัยการเพาะพันธุ์ การเลี้ยง และการตลาดผลิตภัณฑ์ปลา Jade perch ในระบบปิดน้ำหมุนเวียนเชิงพาณิชย์ เมื่อเดือน เม.ย. 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ กรมประมงได้อนุญาตให้ศึกษาวิจัยโดยผ่านมติของคณะกรรมการด้านความหลากหลายและด้านความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมฯ (IBC)

ส่วนการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากการทดลองเพื่อศึกษาวิจัยด้านการตลาด กรมประมงอนุญาตให้จำหน่ายเป็นผลผลิตที่ไม่มีชีวิตเท่านั้น เช่น ปลาแช่แข็ง และอนุญาตให้จำหน่ายในช่องทางของบริษัทในเครือตามที่บริษัทเสนอแผนการศึกษามาเท่านั้น เช่น ซีพีเฟรชมาร์ท โลตัส แม็คโคร

แต่จากการตรวจสอบข้อมูลการออกข่าวประชาสัมพันธ์พบว่า ซีพีเอฟดำเนินการนอกเหนือจากกรอบโครงการวิจัยที่บริษัทเสนอต่อกรมประมงเพื่อขอรับอนุญาต และมีการทำประชาสัมพันธ์รวมถึง ทำการตลาดโดยจำหน่ายปลาเก๋าหยกในเชิงพาณิชย์ก่อนที่จะรายงานให้กรมประมงทราบ

สัตว์น้ำเศรษฐกิจใหม่

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมประมง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และซีพีเอฟ แถลงข่าวความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ประมงร่วมกัน ในงานดังกล่าวมีการเสวนาวิชาการซึ่งตัวแทนจากบริษัทซีพีเอฟ ได้กล่าวถึงการผลักดันให้ปลาหยกเป็น “สัตว์น้ำเศรษฐกิจใหม่ของไทย” พร้อมระบุว่า ปลาหยกเป็นหนึ่งในเมนูอาหารที่เสิร์ฟขึ้นโต๊ะผู้นำในการประชุมเอเปค เมื่อเดือน พ.ย. 2565

“เป็นโอกาสดีที่จะขยายตลาดปลาหยกให้เป็นที่รู้จักและผลักดันให้เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจใหม่ของไทย” นายเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ กล่าว

นายสัตวแพทย์สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ปลาหยกมีคุณค่าทางโภชนาการ อุดมไปด้วยสารอาหารที่ดีต่อร่างกาย เช่น ไขมันดี มีโอเมก้า 3 สูงกว่าปลาแซลมอนถึง 3 เท่า ช่วยบำรุงสมอง เสริมสร้างความจำ ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ และความดันสูง รวมทั้ง DHA (Docosahexaenoic Acid)

ไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงานถึงรายละเอียดของปลาหยกที่เข้าถึงได้บนยูทิวบ์ของซีพีเอฟในชื่อคลิปวิดีโอ เรื่องดีดี CPF EP 250 ตอน “ทำไมต้องปลาหยก” ซึ่งขณะนี้ถูกนำออกจากระบบแล้ว ระบุว่า นำเข้าไข่ปลาจากออสเตรเลียมาเพาะเลี้ยงที่ จ.สมุทรสงคราม โดยปลาหยกที่มีน้ำหนักประมาณ 600-700 กรัม ระบุว่า มีโอเมก้า 2,483 มิลลิกรัมต่อเนื้อปลา 100 กรัม มากกว่าแซลมอน 3 เท่า บำรุงสมอง เสริมสร้างความจำ และลดความเสี่ยงความดันโลหิตสูง

ที่มาของภาพ, South China Morning Post/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

เมนูปลาเก๋าหยกที่งานเทศกาลฟาร์มในฮ่องกงเมื่อปี 2012

งานวิจัย ม.เกษตรศาสตร์ เมื่อปี 2558

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ชื่อว่า “อุปนิสัยการกินอาหารของปลาเก๋าหยกและการเปรียบเทียบการกินอาหารกับปลาตะเพียนทองและปลาหมอช้างเหยียบ” เมื่อปี 2556-2558 ระบุแหล่งทุน คือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหารสัตว์ จำกัด (มหาชน) มีผลสรุปเกี่ยวกับปลาเก๋าหยกว่า เป็นปลาที่กินได้ทั้งพืชและสัตว์ที่ค่อนไปทางการกินเนื้อ และกินอาหารสูงที่สุดในช่วงเช้า

เมื่อเปรียบเทียบอัตราการกินอาหารของปลาเก๋าหยก ปลาตะเพียนทอง และปลาหมอช้างเหยียบ

ในการเลี้ยงในกระชัง พบว่าอัตราส่วนของน้ำหนักอาหารต่อน้ำหนักตัวของปลาหมอช้างเหยียบสูงที่สุด รองลงมา คือ ปลาตะเพียนทอง และปลาเก๋าหยกตามลําดับ

อย่างไรก็ดี ประเภทของอาหารในกระเพาะของปลาเก๋าหยกจะมีความหลากหลายกว่าปลาหมอช้างเหยียบที่พบกุ้งเป็นส่วนใหญ่ และปลาตะเพียนทองที่พบแมลงน้ำเป็นส่วนใหญ่

“การที่ปลาเก๋าหยกสามารถกินอาหารได้หลากหลายกว่าปลาพื้นเมืองอาจเอื้อให้ปลาชนิดนี้สามารถอยู่รอดในธรรมชาติได้ และอาจแก่งแย่งในกรณีที่สภาพแวดล้อมมีอาหารจํากัดซึ่งส่งผลต่อการสูญเสียปลาพื้นเมืองได้”

คำบรรยายภาพ,

จากการสืบค้นทางอินเทอร์เน็ต พบว่าเมนูปลาหยก มีอยู่ตามร้านอาหารอยู่ก่อนแล้ว ร้านในภาพนี้ปรากฏข้อมูลเมื่อปี 2561

บัญชีสัตว์น้ำห้ามเพาะเลี้ยง บอกไว้ว่าอย่างไร

ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2564 โดยกรมประมง ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2564 เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำพื้นถิ่นหายาก หรือป้องกันอันตรายมิให้เกิดแก่สัตว์น้ำและระบบนิเวศ มีบัญชีแนบท้ายของปลาและสัตว์น้ำรวม 13 ชนิด ได้แก่

ปลาหมอสีคางดำ, ปลาหมอมายัน, ปลาหมอบัตเตอร์, ปลาทุกชนิดในสกุล Cichla และปลาลูกผสม, ปลาเทราท์สายรุ้ง, ปลาเทราท์สีน้ำตาล, ปลากะพงปากกว้าง, ปลาโกไลแอทไทเกอร์ฟิช, ปลาเก๋าหยก, ปลาที่มีการดัดแปลงหรือตัดแต่งพันธุกรรม GMO LMO ทุกชนิด, ปูขนจีน, หอยมุกน้ำจืด และหมึกสายวงน้ำเงินทุกชนิดในสกุล Hapalochlaena

ที่มาของภาพ, South China Morning Post/Getty Images

ประกาศฉบับดังกล่าว กำหนดเงื่อนไขด้วยว่า กรณีที่เกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกลุ่มเหล่านี้ ต้องดำเนินการขอใบอนุญาตตามประกาศกรมประมงภายใน 30 วันหลังจากประกาศฯ มีผลบังคับใช้

กรณีส่วนราชการ สถาบันการศึกษา หรือกรณีจำเป็นอื่นใดที่ต้องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั้ง 13 ชนิดไว้ เพื่อศึกษาวิจัยและประโยชน์ทางราชการให้แจ้งขออนุญาตกรมประมงก่อน

ห้ามผู้ใดปล่อยสัตว์น้ำทั้ง 13 ชนิด ลงในแหล่งน้ำธรรมชาติโดยเด็ดขาด เนื่องจากมีความผิดตามมาตรา 144 แห่ง พรก.การประมง 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หากใครจับได้ตามแหล่งน้ำตามธรรมชาติ หรือหลุดเข้าไปในบ่อหรือแหล่งเพาะเลี้ยงของเกษตรกรโดยไม่เจตจา สามารถนำไปบริโภคหรือจำหน่ายได้ แต่ต้องทำให้ปลาตายเสียก่อน

จากปลานิล ปลาทับทิม ถึงปลาหยก

ปลานิล ปลาน้ำจืดที่เป็นอาหารของครัวเรือนไทย จากจุดเด่นที่สามารถหาซื้อได้ในราคาไม่แพง ก็ไม่ได้เป็นปลาท้องถิ่นดั้งเดิมของเมืองไทย

ข้อมูลบนเว็บไซต์ชองซีพี ระบุประวัติที่มาของปลานิล และปลาทับทิมที่บริษัทเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับปลาเศรษฐกิจทั้งสองชนิดนี้ว่า เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2508 สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ได้นำทูลเกล้าฯ ถวาย ปลานิล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จำนวน 50 ตัว

รัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ ให้ทดลองเลี้ยงปลาพันธุ์ดังกล่าวในบ่อปลาสวนจิตรลดา จนเป็นหนึ่งในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา และพระราชทานชื่อว่า “ปลานิลจิตรลดา”

สำหรับปลานิล ที่มีที่มาจากชื่อแม่น้ำไนล์ (Nile) ที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิม ในปี 2509 ทรงพระราชทานพันธุ์ปลาจำนวนหนึ่งแก่กรมประมง เพื่อนำไปขยายพันธุ์และแจกจ่ายแก่ประชาชน

ที่มาของภาพ, สำนักงาน กปร.

คำบรรยายภาพ,

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานปลานิลให้แก่กรมประมง

ต่อมาในปี 2532 รัชกาลที่ 9 พระราชทานแนวพระราชดำริแก่นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้พัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิล เนื่องจากขณะนั้นกระแสความนิยมบริโภคเนื้อปลาเพื่อรักษาสุขภาพมีมากขึ้น แต่ปลาทะเลกลับลดปริมาณลง

กลุ่มธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำซีพีเอฟ จึงนำปลานิลจิตรลดาพระราชทาน มาเป็นต้นตระกูลเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ตามแนวพระราชดำริ โดยคัดเลือกสายพันธุ์ปลานิล ทั้งจากอเมริกา อิสราเอล และไต้หวัน ซึ่งแต่ละสายพันธุ์มีลักษณะเด่นในด้านต่าง ๆ โดยพัฒนาสายพันธุ์ด้วยวิธีตามธรรมชาติ ไม่ใช้การตัดแต่งพันธุกรรม (Non-GMOs) จนได้ปลาพันธุ์ใหม่ที่มีสีของเกล็ดและตัวปลาที่มีสีขาวอมแดงเรื่อ ๆ ถึงสีแดงอมชมพู คล้ายทับทิม ก่อนที่ในปี 2541 รัชกาลที่ 9 จะทรงพระราชทานนามปลาชนิดใหม่นี้ว่า “ปลาทับทิม”



Source link