ข่าวสารกรุงเทพฯ

รัฐประหารเมียนมา: กองทัพอิงเพื่อนบ้าน เมินตะวันตก อาเซียนไร้เอกภาพกดดัน – BBC News ไทย


  • สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี
  • นักวิจัยอิสระด้านอาเซียน

ที่มาของภาพ, Getty Images

กว่าหนึ่งเดือนหลังการรัฐประหารในเมียนมา นานาชาติยังไม่สามารถกดดันให้ผู้นำกองทัพเปลี่ยนใจคืนอำนาจให้รัฐบาลพลเรือน ส่วนอาเซียน ในฐานะองค์กรระหว่างประเทศในภูมิภาคยังไร้เอกภาพในการหาทางออกให้กับวิกฤตการณ์ทางการเมืองในชาติสมาชิก

นักวิเคราะห์ไทยชี้ว่า นโยบายที่แข็งกร้าวและการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกจะไม่ได้ผล เพราะหลายประเทศในเอเชียที่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจใกล้ชิดกับเมียนมาอาจไม่ให้ความร่วมมือ

มาตรการหนึ่งที่ประชาชนเมียนมาใช้ต่อสู้กับบรรดานายพลผู้คุมอำนาจ คือ การรณรงค์คว่ำบาตรธุรกิจกองทัพและร่วมมือกลุ่มชาติพันธุ์ต่อต้านระบอบใหม่

สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศของไทย มองว่าถ้อยแถลงของประธานอาเซียนหลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอย่างไม่เป็นทางการเมื่อ 2 มี.ค. ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงของสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมา แต่สะท้อนว่าสมาชิกทั้งหมด 10 ชาติ ไม่สามารถแสวงหาจุดยืนร่วมกันได้อย่างเป็นเอกภาพ

“การแสดงจุดยืนและท่าทีของสมาชิกอาเซียน เป็นสิ่งจำเป็นในสถานการณ์นี้ เพื่อพิสูจน์ความเป็นศูนย์กลางของกลุ่ม แต่ก็ต้องระมัดระวังอย่างมากว่าจะไม่เป็นการให้ความชอบธรรมกับกลุ่มบุคคลที่ยึดอำนาจ เพราะประชาชนจำนวนมากกำลังต่อต้านอยู่” สีหศักดิ์ ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองแห่งเอเชีย (APRC) กล่าวกับบีบีซีไทย

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ,

รมว. ต่างประเทศ อินโดนีเซีย-ไทย-เมียนมา หารือกันใน กทม. เมื่อ 24 ก.พ. 2564

หลังยึดอำนาจ อาเซียนทำอะไรไปแล้วบ้าง

หลังรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. อาเซียนหรือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเมียนมาเป็นสมาชิกอยู่ด้วย ทำได้เพียงออกแถลงการณ์ของประธานคือ บรูไน 2 ฉบับ และการประชุมอย่างไม่เป็นทางการครั้งเดียว ในขณะที่สถานการณ์ในเมียนมาก้าวไปในทางเลวร้ายลงทุกวัน เมื่อ 3 มี.ค. กองทัพสังหารผู้ประท้วงในวันเดียวถึง 38 คน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วมากกว่าครึ่งร้อยและบาดเจ็บอีกจำนวนมาก มีผู้ชุมนุมถูกจับกุมหลายพันคน ท่ามกลางการปราบปรามอย่างรุนแรงที่ดำเนินต่อไป

วิกฤตการณ์ทางการเมืองในเมียนมาได้ทำให้ประเทศสมาชิกของอาเซียนแตกออกเป็น 2 กลุ่มได้แก่ กลุ่มที่ไม่ยอมรับการรัฐประหารและเรียกร้องให้เมียนมาคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตย ระงับความรุนแรงและปล่อยตัวนักโทษการเมืองรวมทั้งออง ซาน ซู จี ประกอบไปด้วย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซียและฟิลิปปินส์ ในขณะที่ประเทศในแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์ คือ ไทย ลาว กัมพูชา และ เวียดนาม เลือกที่จะไม่แสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อวิกฤตการณ์ในเมียนมา โดยอ้างว่าไม่ต้องการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศเพื่อนบ้าน

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่แสดงความกระตือรือร้นในการแสวงหาทางออกให้กับวิกฤตการณ์ครั้งนี้มากที่สุด เร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ บินไปบรูไนเมื่อ 17 ก.พ. เสนอให้อาเซียนเปิดประชุมสมัยพิเศษเพื่อพิจารณาวิกฤตการณ์เมียนมา จากนั้นเธอได้หารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม ลาวและกัมพูชา เพื่อรับทราบท่าทีและความเห็นของสมาชิกอาเซียน ก่อนที่จะมีการสื่อสารกับรัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ จีน อังกฤษและอินเดีย รวมถึงทูตพิเศษสหประชาชาติและเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ผู้ชุมนุมชาวเมียนมาถือป้ายประท้วงที่หน้าสถานทูตไทยในย่างกุ้ง 24 ก.พ. 2564

แหล่งข่าวในวงการทูตเปิดเผยว่า แผนการของเร็ตโนที่จะเดินทางไปเมียนมาเพื่อพบกับผู้แทนรัฐบาลทหารและฝ่ายต่าง ๆ ต้องยกเลิกกลางคันเนื่องจากกองทัพเมียนมาไม่พอใจการเคลื่อนไหวของเธอและไม่ต้องการให้ไปเยือนเร็วนัก รัฐบาลไทยจึงพยายามหาทางออกเพื่อรักษาภาพของกลุ่มอาเซียนด้วยการเชิญวันนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศของสภาบริหารแห่งรัฐ เยือนกรุงเทพฯ เมื่อ 24 ก.พ. เพื่อรับทราบสถานการณ์และเพื่อให้เร็ตโนได้พบกับผู้แทนรัฐบาลทหารเป็นครั้งแรกและเกิดภาพของการหารือ 3 ฝ่ายขึ้นในวันนั้น

สีหศักดิ์ อดีตทูตไทยในหลายประเทศ เห็นว่าอินโดนีเซียเล่นบทบาทที่เหมาะสมในการแสดงตัวเป็นผู้นำที่แท้จริงของอาเซียนในการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ในเมียนมา แต่ก็ควรระมัดระวังไม่ให้เป็นการนำเดี่ยวและบดบังบทบาทของกลุ่มโดยรวม อีกทั้งเห็นว่าสมาชิกสำคัญของอาเซียนอย่างไทย ควรเล่นบทผู้ประสานอยู่เบื้องหลังจะเหมาะสมที่สุด

ท่าที่ไทย?

ผศ.ดร.ม.ล. พินิตพันธุ์ บริพัตร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความผิดหวังกับท่าทีของรัฐบาลไทยที่ไม่แสดงจุดยืนที่ชัดเจนเกี่ยวกับการรัฐประหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกัน

“ผมคิดว่ารัฐบาลไทยควรจะต้องพูดออกมาให้ชัดเจนและบูรณาการกลไกความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับเมียนมาทั้งหมด รวมทั้งกองทัพไทยซึ่งก็มีความสัมพันธ์อันดีกับกองทัพเมียนมา เพื่อเข้าไปมีบทบาทในการแสวงหาสันติภาพ ความปรองดองและประชาธิปไตยในเมียนมา” พินิตพันธุ์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอุษาคเนย์ กล่าวกับ บีบีซีไทย

“ไม่ต้องกลัวว่าเขาจะเคืองหรือเสียความสัมพันธ์หรอกครับ เมียนมาไม่ได้มีทางเลือกมากนัก”

นักการทูตอาวุโสในกระทรวงการต่างประเทศไทยรายหนึ่งแสดงความเห็นว่า รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันระมัดระวังอย่างมากในการแสดงท่าทีต่อการรัฐประหารในเมียนมา ไม่เพียงเพราะมีที่มาจากรัฐประหารเหมือนกัน หากแต่ยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดระดับกองทัพต่อกองทัพ และไทยมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับเมียนมาอย่างมาก ไทยเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่เป็นอันดับ 6 ในเมียนมาและเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับ 2 รองจากจีน

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ,

ผู้ประท้วงถือป้ายขอไทยไม่ให้การยอมรับรัฐบาลทหารเมียนมา ที่ด้านหน้าสถานเอกอัครราชทูตไทยในนครย่างกุ้ง วันที่ 24 ก.พ.

ธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงต่อผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 11 มีนาคม เพื่อย้ำจุดยืนของไทยว่า ในฐานะเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน”ไทยยังคงติดตามสถานการณ์ในเมียนมาด้วยความห่วงกังวลอย่างมาก เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ เราเสียใจต่อการเสียชีวิตและความทุกข์ยากต่าง ๆ ของประชาชนเมียนมาจากสถานการณ์ความรุนแรงที่ยกระดับมากขึ้น” ไทยย้ำท่าทีตามแถลงการณ์ของประธานอาเซียนทั้งสองฉบับที่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความอดทนอดกลั้นและมีความยืดหยุ่นอย่างถึงที่สุด และเรียกร้องให้หาทางออกโดยสันติวิธี ด้วยการการพูดคุยผ่านช่องทางที่สร้างสรรค์

ถ้อยแถลงครั้งล่าสุดของรัฐบาลไทยเพิ่มเติมจากท่าทีรวมของอาเซียนเล็กน้อย ตรงที่เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัว ซึ่งเป็นท่าทีที่สอดคล้องกับ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ที่ออกมาก่อนหน้านี้

ในการแถลงข่าว โฆษกกระทรวงต่างประเทศปฏิเสธกระแสข่าวที่ว่ามีผู้ลี้ภัยทางการเมืองข้ามชายแดนมายังประเทศไทยหลังเหตุการณ์ประท้วงต่อต้านการรัฐประหาร และหนังสือเวียนของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองที่ขู่ว่าจะยกเลิกวีซ่านักศึกษาต่างชาติที่ร่วมการประท้วงในประเทศไทย ก็ไม่เป็นความจริง

อย่างไรก็ตาม ธานีกล่าวว่า ทางการไทยเตรียมพร้อมในกรณีที่จะเกิดการอพยพลี้ภัยทางการเมืองจากเมียนมาเข้ามาในประเทศไทยหลังจากการประท้วงและการปราบปรามรุนแรงขึ้น

เมื่อแรงกดดันนานาชาติไร้ผล

แม้ยังไร้ท่าทีที่เป็นเอกภาพได้ แต่สมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องกันว่า การคว่ำบาตรและโดดเดี่ยวเมียนมาไม่ใช่ทางออกที่ดี สิงคโปร์เป็นประเทศที่วิพากษ์วิจารณ์เมียนมาเรื่องการใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วงและเห็นว่าสถานการณ์ในประเทศนั้นตกอยู่ในภาวะอันตรายยิ่ง แต่วิเวียน บาลากริชนัน รัฐมนตรีต่างประเทศ ให้ความเห็นกับสื่อมวลชนว่าการคว่ำบาตรอย่างกว้างขวางหรือเหวี่ยงแห จะสร้างผลกระทบต่อประชาชนธรรมดามากกว่าต่อกองทัพ

ผศ. ดร. นฤมล ทับจุมพล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แคนาดาและสหราชอาณาจักร ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้อาจจะไม่สามารถหยุดยั้งกองทัพเมียนมาได้ เพราะเมียนมามีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศในกลุ่มอาเซียนและเอเชียมากกว่าประเทศตะวันตก

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

หญิงคนหนึ่งร่วมชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมาซึ่งจัดขึ้นที่ด้านหน้าสำนักงานสหประชาชาติในกรุงเทพฯ

รายงานของทางการเมียนมา แสดงให้เห็นว่าสัดส่วนการลงทุนโดยตรงในเมียนมาของชาติเอเชียและอาเซียนรวมแล้วประมาณ 90% ของการทุนจากต่างประเทศทั้งหมด ขณะที่โลกตะวันตกซึ่งเพิ่งจะเริ่มมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับเมียนมาช่วงรัฐบาลซู จี หลังการยกเลิกการคว่ำบาตรปี 2559 ก็มีสัดส่วนแค่เพียงประเทศละ 1-3% ของการลงทุนต่างประเทศทั้งหมดในเมียนมา

นฤมลเห็นว่า ถ้าประเทศตะวันตกห้ามซื้อสินค้าหรือทำธุรกรรมกับบริษัทของกองทัพเมียนมา นักลงทุนจำนวนมากในสิงคโปร์และไทยคงจะได้รับผลกระทบไม่น้อย เพราะมีหลายรายร่วมลงทุนกับบริษัทในเครือกองทัพเมียนมา

รายงานของคณะกรรมการสืบค้นข้อเท็จจริงของสหประชาชาติที่เผยแพร่เมื่อเดือน ส.ค. 2562 ระบุว่ามีบริษัทจากฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน เวียดนาม สิงคโปร์และไทย ร่วมลงทุนหรือทำธุรกิจกับบริษัทของกองทัพเมียนมา คือ Union of Myanmar Economic Holding และ Myanmar Economic Corporation หรือบริษัทในเครือของโฮลดิ้งทั้งสอง รายงานนี้ยังไม่นับบริษัทต่างประเทศที่ทำธุรกิจกับบริษัทเอกชนที่เป็นกลุ่มทุนที่สนับสนุนกองทัพ

พัฒนาการนโยบายของอาเซียนต่อเมียนมา

2531-2540เกี่ยวพันอย่างสร้างสรรค์(Constructive Engagement)

  • ไม่โดดเดี่ยวเมียนมา
  • สนับสนุนให้เมียนมาดำเนินกระบวนการประชาธิปไตยและเศรษฐกิจเสรี

2540-2543เกี่ยวพันอย่างยืดหยุ่น (Flexible Engagement)

  • รับเมียนมาเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน
  • ปรับใช้หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน.ให้ยืดหยุ่นมากขึ้น
  • ส่งเสริมให้เมียนมาปฏิรูปการเมืองสู่ระบอบที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น

2544-2546เสริมสร้างความร่วมมือ

  • ปกป้องเมียนมาจากแรงกดดันของประเทศตะวันตก
  • เรียกร้องชุมชนนานาชาติให้ความช่วยเหลือเมียนมา
  • ส่งเสริมการค้า การลงทุนในเมียนมา

2546-2553เกี่ยวพันอย่างวิพากษ์

  • เรียกร้องปล่อยตัวอองซานซูจี (ถูกจับกุมหลังเหตุการณ์ เดปายิน 30 พ.ค. 2546
  • บังคับให้เมียนมายอมเลื่อนการเป็นประธานอาเซียน จนกว่าจะมีการปฏิรูปการเมืองสู่ประชาธิปไตย

2553-2563ประชาคมอาเซียน

  • หลอมรวมให้เมียนมาเป็นประชาคมเดียวกันกับอาเซียน
  • ให้การปกป้องในฐานะสมาชิก
  • แทรกแซงกิจการภายในด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม (กรณีโรฮิงญา)

แล้วคนเมียนมาสู้อย่างไร

นฤมลเห็นว่าการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อระบอบทหารที่เกิดขึ้นจากคนภายในประเทศน่าสนใจกว่า เพราะกองทัพมีธุรกิจจำนวนมากถึง 134 บริษัทในหลายกิจการ ตั้งแต่เหมืองแร่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การค้าทั้งค้าปลีกและค้าส่ง ขนส่ง อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม ท่องเที่ยว อาหาร เครื่องดื่ม พลังงาน การเงิน การธนาคารไปจนถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม

“ปรากฏการณ์ที่ประชาชนแห่กันไปถอนเงินสดจากธนาคารในเครือกองทัพ ไม่ซื้อสินค้าของบริษัทเหล่านั้น หรือ ปิดถนนไม่ให้คนเข้าไปซื้อสินค้า บริการ ไปทำงาน หรือแม้แต่การที่พนักงานของบริษัทเหล่านั้นพากันหยุดงานประท้วง เป็นสิ่งที่สร้างความวิตกกังวลให้กองทัพมากกว่าการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ เสียอีก” นฤมลกล่าวกับบีบีซีไทย

“แต่ปัญหาคือ กองทัพเมียนมาตอบโต้ด้วยความรุนแรงเช่นเคย” นฤมลกล่าวและเสริมว่าธนาคารกลางเมียนมาตอบโต้ด้วยการออกระเบียบจำกัดห้ามการถอนเงินจากเครื่องเอทีเอ็มให้เหลือไม่เกินวันละ 500,000 จ๊าด และส่งทหาร ตำรวจ ไปเฝ้าเครื่องเอทีเอ็ม ส่งนักเลงไปข่มขู่และทำร้ายประชาชนที่เดินทางไปถอนเงิน หรือไม่ก็ปิดทางเข้าธนาคารไปเลย

บทอื่นของอาเซียน?

สีหศักดิ์เห็นว่า แม้อาเซียนยังไม่สามารถแสดงจุดยืนเดียวกันจนกระทั่งผสานนโยบายได้ในเร็ววันนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องนิ่งเฉยปล่อยให้สถานการณ์ลุกลามบานปลายจนเกิดความเสียหายทั่วภูมิภาค เขาเสนอว่า กลุ่มอาเซียนควรเล่นบทบาทเป็นผู้ประสานแนวทางของชาติใหญ่ในเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ซึ่งล้วนมีผลประโยชน์ในเมียนมาและอาจจะได้รับผลกระทบในทางใดทางหนึ่งจากสถานการณ์ ในการนี้อาจจะเลือกใช้บุคลากรหรือกลไกที่มีความยืดหยุ่นสูง เพื่อประสานแนวทางของทุกฝ่ายในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการคลี่คลายปัญหาและหาทางออก

พินิตพันธุ์ นักวิชาการจากธรรมศาสตร์ เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ และกล่าวว่า “อาเซียนต้องใช้ทุกกลไกทุกแนวทางที่เป็นไปได้เพื่อเข้าไปมีบทบาทในการสร้างประชาธิปไตยในเมียนมา”

นฤมล แห่งรัฐศาสตร์ของจุฬาฯ เห็นว่า สถานการณ์ของเมียนมาเปลี่ยนแปลงเร็ว กลุ่มชาติพันธุ์เข้าร่วมการประท้วงเป็นจำนวนมาก ทำให้บรรดาหัวขบวนในการเคลื่อนไหวไม่ว่าจะเป็นขบวนการอารยะขัดขืน (Civil Disobedience Movement-CDM) และคณะผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งเมื่อ 8 พ.ย. (Committee Representing Pyiduangsu Hluttaw-CRPH) ได้ประสานเสียงเรียกร้องในแถลงการณ์ 5 มี.ค. ขอให้กลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น มอญ กะเหรี่ยง ไทใหญ่ (ฉาน) และอื่น ๆ ร่วมเสนอร่างรัฐธรรมนูญใหม่บนพื้นฐานของแนวคิด สหพันธรัฐนิยม (Federalism)

“นี่เป็นข้อเสนอที่ไปไกลกว่าประเด็นการต้านรัฐประหารและฟื้นฟูประชาธิปไตยแล้ว…ที่สำคัญกองทัพเมียนมาคัดค้านแนวคิดนี้มาโดยตลอด”

อย่างไรก็ตาม สีหศักดิ์เห็นว่าในเวลานี้ยังเร็วเกินไปที่จะเสนอแผนการใด ๆ เพราะบรรดาผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายในเมียนมา ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ ออง ซาน ซู จี และพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้ประท้วง ยังไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะนำเสนอแนวทางของตนเองได้อย่างสะดวก

ข้อเสนอของอินโดนีเซียที่เคยเสนอให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ต้องถูกถอนออกไปทันทีเพราะผู้ประท้วงและประชาชนชาวเมียนมาไม่เห็นด้วย เนื่องจากเห็นว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นสิ่งที่น่าพึงพอใจดีแล้ว และถ้าเลือกตั้งใหม่เพื่อให้ได้พรรคที่กองทัพพอใจ ก็อาจจะต้องใช้เล่ห์เหลี่ยมหรือออกกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ ซึ่งนั่นก็จะนำไปสู่การเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม และคงเป็นการยากที่ประชาชนเมียนมา ชุมชนนานาชาติหรืออาเซียนจะให้การยอมรับได้

“สถานการณ์นี้ ในทางการทูตถือว่า รอไม่ได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องรอให้อาเซียนมีฉันทามติในทุกเรื่อง หรือให้ได้แผนการที่ครอบคลุมก่อน แต่กลุ่มอาเซียนต้องออกหน้าประสานทุกฝ่ายคลี่คลายสถานการณ์โดยเร็ว” สีหศักดิ์ กล่าว



Source link