ข่าวสารกรุงเทพฯ

รัฐ-เอกชนเดินหน้าเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน – สำนักข่าวไทย อสมท


กรุงเทพฯ 11 ต.ค. – ปลัดกระทรวงพลังงานเผย สถานการณ์ราคาน้ำมันโลกยังคงมีความผันผวนจากหลายปัจจัย ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนสภาพเศรษฐกิจและต้นทุนพลังงานทั่วโลกได้รับผลกระทบ

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ความท้าทายของอุตสาหกรรมไทยกับความผันผวนด้านเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีพลังงานในกระแสภาวะโลกร้อน” ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2023 จัดโดย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและกระทรวงพลังงาน ว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันโลกยังคงมีความผันผวนจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น และบ่อยขึ้น ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ นโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และธนาคารกลางอีกหลายแห่งทั่วโลก ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนสภาพเศรษฐกิจและต้นทุนพลังงานทั่วโลกได้รับผลกระทบ นอกเหนือจากการแสวงหาพลังงานสะอาดเข้ามาทดแทนแล้ว ยังต้องหาแนวทางการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพ

สำหรับแนวการจัดหาพลังงานในประเทศให้เกิดความมั่นคง เนื่องจากไทยเป็นประเทศนำเข้าพลังงานจำเป็นต้องวางแผนและปรับตัวอย่างมาก โดยสถานการณ์พลังงานของประเทศในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 มีการใช้พลังงานขั้นต้นสูงขึ้นร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนในครึ่งปีหลัง จากสภาพเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวคาดการณ์ว่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในช่วงสิ้นปีร้อยละ 2.5 ถึงร้อยละ 3 จากปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ ส่งผลให้แนวโน้มการใช้พลังงานที่สูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นภาครัฐจึงเร่งออกมาตรการช่วยเหลือและส่งเสริมทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้น จะมีการปรับลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันและค่าก๊าซให้เหมาะสม ควบคู่ไปกับส่งเสริมระยะยาวด้วยแผนพลังงานชาติ NEP สอดคล้องกับแนวทางการมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2608 (ค.ศ. 2065) โดยมีแนวทางสำคัญที่จะเป็นทิศทางด้านพลังงานของประเทศในด้านต่างๆ ดังนี้

ด้านไฟฟ้า เน้นการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดจากโรงไฟฟ้าใหม่ โดยมีสัดส่วนพลังงานทดแทน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า พัฒนาและยกระดับเทคโนโลยีระบบไฟฟ้า (Grid Modernization) เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ระบบไมโครกริด ตลอดจนการผลิตเอง ใช้เอง (Prosumer) ที่มากขึ้น รวมถึงมุ่งปลดล็อคกฎระเบียบการซื้อขายไฟฟ้า เพื่อรองรับการผลิตเองใช้เองดังกล่าว

ด้านก๊าซธรรมชาติ จะเน้นการเปิดเสรีและการจัดหาเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบพลังงานประเทศ ซึ่งกระทรวงพลังงานจะต้องวางแผนการสร้างสมดุลระหว่างการจัดหาในประเทศ และการนำเข้า LNG เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการซื้อขายหรือ LNG Hub

ด้านน้ำมัน ยังคงเป็นเชื้อเพลิงหลักของประเทศในปัจจุบัน แต่จะได้รับผลกระทบจากการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ขยายตัวขึ้น ดังนั้น จะต้องมีการปรับแผนพลังงานภาคขนส่ง และพิจารณาการบริหารการเปลี่ยนผ่านการสร้างความสมดุลระหว่างผู้ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (Bio Fuel) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV)

ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จะมีการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนในทุกภาคส่วนให้มากขึ้น ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานจากทุกภาคส่วนให้เข้มข้นมากขึ้น

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สถานการณ์ในปัจจุบันจะเป็นตัวเร่งให้ต้องเร่งปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น โดยควรมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 30% ภายในปี 2573 เพราะจะเห็นว่าภัยธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อย และมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนให้ทุกภาคส่วนต้องตระหนักเพราะวันนี้ ไม่ใช่แค่โลกร้อน แต่เป็นโลกเดือดไปแล้ว ทั่วโลกมี 8 พันล้านคนที่ต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ส่วนการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

“ขณะนี้ไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานทดแทน จะเห็นว่าสัดส่วนของพลังงานทดแทนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งขณะนี้ในด้านพลังงานทดแทนบ้านเราอยู่ในอันดับ 4  หากจะขึ้นเป็นผู้นำ ก็ต้องมีสัดส่วนการใช้ที่เพียงพอ เช่น เรากำลังจะเปลี่ยนจากการเป็นผู้ผลิตรถยนต์สันดาปเป็นผู้ผลิตรถEV การใช้พลังงานหมุนเวียนในส่วนที่เกี่ยวข้องก็ต้องเพิ่มมากขึ้น ที่ผ่านมามีค่ายรถ EV หลายค่านที่สนใจมาตั้งฐานผลิตที่ประเทศไทยก็ได้มีการสอบถามถึงการใช้พลังงานสะอาด อีกสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการก็คือ การประกาศแผนพลังงานแห่งชาติฉบับใหม่ ยิ่งประกาศเร็วก็ยิ่งเป็นโอกาสที่จะดึงนักลงทุนเข้าประเทศได้มากขึ้น “ นายเกรียงไกรกล่าว

ส่วนเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมากนัก เพราะมีสัดส่วนการส่งออกน้อย หรือไม่ถึง 1% โดยสินค้าที่ส่งออกได้แก่ชิ้นส่วนยานยนต์เครื่องปรับอากาศอาหาร แต่มีมูลค่าไม่สูงจึงไม่น่าเป็นห่วง ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ถือว่ายังมีความโชคดีที่อยู่ในพื้นที่จำกัด อย่างไรก็ตามหวังว่าสถานการณ์จะไม่ยืดเยื้อ ส่วนผลกระทบจะเห็นชัดในภาคแรงงานมากกว่าเพราะแรงงานไทยไปทำงานที่อิสราเอลถือ 30,000 คนโดยมากเป็นอันดับสอง และมีจำนวนแรงงานที่อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุราว 5000 คน ซึ่งหากมีการอพยพแรงงานกลับมาที่ประเทศไทยก็จะส่งผลให้เงินที่ส่งกลับประเทศชะงัก ซึ่งบางคนเพิ่งไปถึงยังใช้หนี้จากการกู้ยืมสำหรับเดินทางไปไม่หมด ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นภาระที่ภาครัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือเยียวยา.-สำนักข่าวไทย


ดูข่าวเพิ่มเติม





Source link