ข่าวสารกรุงเทพฯ

ราช กรุ๊ป ดันกำลังการผลิต 10,000 เมกะวัตต์




นนทบุรี 1 ก.ย.-  ราช กรุ๊ป  ดันกำลังการผลิต 10,000 เมกะวัตต์  เดินหน้าพลังงานทดแทนในฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย รองรับความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050

นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ราช กรุ๊ป  มีรายได้ในช่วง 6 เดือนแรกปี 66 จำนวน 30,137 ล้านบาท มีกำไร 3,573 ล้านบาท จ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 1,740 ล้านบาท หรือ 0.80 บาทต่อหุ้น กำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 15 กันยาย   มีทรัพย์สินรวม 228,905 ล้านบาท กระแสเงินสดหมุนเวียน 33,519 ล้านบาท  ตั้งงบลงทุนขยายการเติบโตในปี 66 จำนวน 35,000 ล้านบาท แยกเป็นธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า 29,000 ล้านบาท และธุรกิจ Non Power 6,000 ล้านบาท คือการลงทุนด้านนวัตกรรม การลงทุนรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู  โดยสายสีเหลือง  (ลาดพร้าว-สำโรง) เปิดให้บริการไปแล้วตั้งแต่ 3 ก.ค. 66 เก็บค่าบริการตั้งแต่ 15-45 บาท  ในส่วนของสายสีชมพู ก่อสร้างคืบหน้าแล้วร้อยละ 97.54 เริ่มทดลองเดินรถในช่วงเดือน พ.ย.66 นี้ คาดว่าเปิดให้บริการไตรมาสแรกปี 67

แผนดำเนินงานในช่วง 6 เดือนหลังจากนี้  มุ่งเน้นพัฒนาโครงการในพอร์ตของ NREI และ RAC รวม 9 โครงการ กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น รวม 1,116.98 เมกะวัตต์ โดย 4 โครงการ ตั้งอยู่ในฟิลิปปินส์ ซึ่งถือเป็นตลาดใหม่ที่สำคัญของบริษัทฯ ประกอบด้วยโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ 2 แห่ง และโครงการพลังงานลมบนชายฝั่ง และในทะเล อีก 2 โครงการ รวมกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 550 เมกะวัตต์ อีกทั้งยังมีโครงการพลังงานน้ำและลมในเวียดนามอีก 2 โครงการ กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น รวม 65.15 เมกะวัตต์ และอีก 3 โครงการในออสเตรเลีย ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานลม โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ และโครงการระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 502 เมกะวัตต์  นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้แสวงหาโอกาสต่อยอดการลงทุนและประสานความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจชั้นนำ เพื่อขยายฐานธุรกิจในตลาดเดิม ได้แก่ ไทย สปป.ลาว อินโดนีเซีย เวียดนาม และออสเตรเลีย   รวมทั้งการเข้าซื้อกิจการที่ดำเนินงานแล้ว เพื่อให้พอร์ตการลงทุนสมดุลและอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ในระดับที่ยอมรับได้      

“ในปีนี้ ราช กรุ๊ป ประสบความสำเร็จ เมื่อขยายลงทุนในตลาดฟิลิปปินส์  ในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์คาลาบังก้า กำลังการผลิตติดตั้ง 74 เมกะวัตต์สูงสุด อยู่ระหว่างการก่อสร้าง กำหนดผลิตไฟฟ้าจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในปี 2567 ซึ่งกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ร้อยละ 85 มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทในเครือของ AboitizPower, AP Renewables และ Aventenergy นอกจากนี้ ยังมีโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ NPSI ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 150 เมกะวัตต์สูงสุด รวมทั้งโครงการพลังงานลมบนชายฝั่งอ่าวซานมิเกล และโครงการพลังงานลมในทะเล ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่กำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 400-450 เมกะวัตต์ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและคาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2568 ปี 2570 และปี 2571 ตามลำดับ   บริษัทฯ ยังหาลู่ทางการลงทุนในตลาดประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่มีศักยภาพสามารถเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงไฮโดรเจน   ตลอดจนโครงการผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนในออสเตรเลีย  เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก  ในปี 2050 (พ.ศ. 2593)” นางสาวชูศรี กล่าว                

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการบริหารประสิทธิภาพสินทรัพย์ เพื่อสร้างการเติบโตและความมั่นคงของรายได้ โดยกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดเล็กประเภทโคเจนเนอเรชั่นในประเทศไทย ได้มุ่งเน้นด้านการตลาดเพื่อเพิ่มลูกค้าอุตสาหกรรมซื้อไฟฟ้าและไอน้ำให้เต็มกำลังการผลิตที่มีอยู่ ขณะที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในประเทศและต่างประเทศ จะเน้นที่การรักษาประสิทธิภาพความพร้อมจ่ายรองรับคำสั่งเดินเครื่องของลูกค้า บริหารจัดการเชื้อเพลิงและต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำและติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อประเมินความเสี่ยงและบริหารการผลิตไฟฟ้าให้ได้ตามสัญญา ปัจจุบัน โครงการที่กำลังพัฒนาและก่อสร้าง ซึ่งจะทยอยเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2566 จนถึง ปี 2576 มีจำนวนรวม 20 โครงการ กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 2,933.39 เมกะวัตต์.-สำนักข่าวไทย  


ดูข่าวเพิ่มเติม








Source link