ข่าวสารกรุงเทพฯ

หุ้นไทยปิดร่วงแรง แรงขายหุ้นขนาดใหญ่ – สำนักข่าวไทย อสมท


กรุงเทพฯ 6 ต.ค.- หุ้นไทยร่วง 14.10 จุด แรงขายหุ้นขยาดใหญ่ หลังหุ้นโรงไฟฟ้าถูกดาวน์เกรด กังวลบอนด์ยีลด์สหรัฐ-ไทยทรงตัวสูง ส่อกระทบ Valuation ตลาดหุ้น

SET ปิดวันนี้ที่ 1,438.45 จุด ลดลง 14.10 จุด (-0.97%) มูลค่าซื้อขาย 40,921.64 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยกว่า 1,638 ล้านบาท ส่วนหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 หลักทรัพย์

GULF ปิดที่ 43.00 บาท ลดลง 2.00 บาท
DELTA ปิดที่ 80.50 บาท ลดลง 4.50 บาท
JMT ปิดที่ 46.25 บาท ลดลง 2.75 บาท
AOT ปิดที่ 68.75 บาท ลดลง 0.50 บาท
KBANK ปิดที่ 127.00 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท

ตลาดหุ้นไทยวันนี้ปรับตัวลงรับแรงกดดันจากความกังวลต่อบอนด์ยีลด์สหรัฐยืนสูง หลังธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ยืนยันจะคงดอกเบี้ยไว้ในระดับสูง เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ รวมถึงบอนด์ยีลด์ของไทยก็ทรงตัวสูงเช่นเดียวกัน จากความกังวลว่ารัฐบาลจะกู้เงินครั้งใหญ่เพื่อเดินหน้านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และหุ้นที่กดดันดัชนีวันนี้ คือ DELTA ที่ฉุดดัชนีลงกว่า 4 จุด และ GULF ที่ฉุดดัชนีลงราว 2 จุด หุ้น 2ตัวนี้มีผลกระทบต่อดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงวันนี้เกือบครึ่งหนึ่ง

ด้านยูบีเอส ออกบทวิเคราะห์ปรับมุมมองกลุ่มโรงไฟฟ้าของไทยเป็นลบ โดย Downgrade หุ้น BGRIM และ GPSC เป็น “ขาย” จากก่อนหน้านี้แนะนำ “ซื้อ” ขณะที่คงคำแนะนำ Neutral สำหรับหุ้น GULF โดยปรับลดคาดการณ์กำไรของแต่ละบริษัทในปี 66-68 ลง 18-100% และหั่นราคาเป้าหมายลง 20-56%

โรงไฟฟ้าพลังก๊าซ เป็นหัวใจของอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าของไทย ซึ่งความสามารถในการทำกำไรในขณะนี้เผชิญความเสี่ยงจากนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่ต้องการลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน จึงปรับมุมมองเป็นลบต่อกลุ่มบริการสาธารณูปโภคในประเทศไทย

ปัจจัยที่มีผลต่อราคาหุ้น

1) นโยบายลดอัตราค่าไฟฟ้าลง -มองว่ารัฐบาลไทยมีจุดยืนที่จะปรับลดค่าไฟฟ้าลง 15% ถือเป็นปัจจัยเชิงลบต่อผู้ผลิตไฟฟ้าไทย คาดว่าค่าไฟจะลดลงอีก 8% ในปี 67 และ 5% ในปี 68
2) ราคาก๊าซฯไม่ลดลง – หลังจากราคาก๊าซเพิ่มขึ้น 80% ในปี 65 คาดการณ์ว่าจะยังไม่ปรับลดลงในปีนี้ โดยราคาก๊าซลดลงเพียง 2% ในครึ่งแรกของปี 66 (จากค่าเฉลี่ยที่ 478 บาท/ล้านบีทียูในปี 65 เป็น 469 บาท/ล้านบีทียูใน 1H66) โดยผู้ผลิตไฟฟ้าคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่ราคาก๊าซจะลดลงมาที่ 400 บาท/ล้านบีทียูในระยะกลาง
3) พลังงานทดแทน โครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทน 5.2 GW ซึ่งมีขึ้นเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว สามารถเข้ามาทดแทนการใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าก๊าซ แม้ว่ารัฐบาลใหม่จะยังไม่ได้เซ็นสัญญา PPA และยังไม่รู้ว่าการประมูลในเฟสที่ 2 อีกราว 4GW จะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่หากมีการลงนามแล้วคาดว่า GULF จะได้รับประโยชน์สูงสุดราว 50% ของสัญญาการประมูล

ความเสี่ยงใหม่ 3 ประการสำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้า

1) ธุรกิจ SPP มีแนวโน้มขาดทุน จากราคาก๊าซที่อยู่ในระดับราว 400 บาท/ล้านบีทียู ราคาก๊าซ และค่าไฟฟ้าที่ 3.5-4.0 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง อัตรากำไรของ SPP อาจติดลบในอนาคตอันใกล้ แม้ว่า กฟผ.อาจช่วยอุดหนุนราคาก๊าซ แต่จากนโยบายช่วยเหลือค่าไฟฟ้าที่ผ่านมาทำให้มีรัฐมีหนี้กับ กฟผ.อยู่ในระดับสูง 1.1 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 65
2) ความเสี่ยงในการออกไปเติบโตต่างประเทศ เนื่องจากขาดโอกาสในประเทศ เราจึงคิดว่าผู้ผลิตไฟฟ้าของไทยจะมองตลาดต่างประเทศอย่างจริงจังมากขึ้นเพื่อไล่ตามการเติบโต ซึ่งอาจนำไปสู่ภาระต้นทุนทางการเงิน
3) กระแสเงินสดเริ่มลดลง มีความเสี่ยงด้านเงินทุน: เมื่อพิจารณาจาก SPP ที่ขาดทุน ธุรกิจตอนนี้กระแสเงินสดจะอ่อนลง ส่งผลให้ผู้ผลิตที่มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสูง 100-300% อาจพบว่าเป็นเรื่องยากสำหรับการขยายธุรกิจในต่างประเทศ -สำนักข่าวไทย



ดูข่าวเพิ่มเติม





Source link