ไทยเสพข่าวจาก TikTok มากสุดในโลก! สื่อนอกชี้ อย่าหวังให้คนรุ่นใหม่อ่านมากกว่าดู
Reuters ออกรายงาน “Digital News Report 2023” พบ ผู้คนเชื่อถือสื่อดั้งเดิมน้อยลง ใช้ “TikTok” รับข่าวมากขึ้น “ไทย” เสพข่าวจาก “TikTok” อันดับ 1 ของโลก ขณะที่ประเทศรักการอ่านอย่างฟินแลนด์-อังกฤษ ยังชอบอ่านมากกว่าดูและฟัง
Reuters ออกรายงาน “Digital News Report 2023” พบ ผู้คนเชื่อถือสื่อดั้งเดิมน้อยลง ใช้ “TikTok” รับข่าวมากขึ้น “ไทย” เสพข่าวจาก “TikTok” อันดับ 1 ของโลก ขณะที่ประเทศรักการอ่านอย่างฟินแลนด์-อังกฤษ ยังชอบอ่านมากกว่าดูและฟัง
Key Points:
- รายงานประจำปีจากสำนักข่าวรอยเตอร์ “Digital News Report 2023” พบว่า โดยรวมแล้ว ผู้คนยังคงชอบเสพสื่อจากการอ่านมากกว่าดูและฟัง
- แต่ที่น่าสนใจ คือ กลุ่มตัวอย่างจากบางประเทศ โดยเฉพาะ “ไทย” มีแนวโน้มชอบการดูมากกว่าอ่าน ทำให้แพลตฟอร์มแห่งยุคอย่าง “TikTok” ได้รับความนิยมมากขึ้น
- รอยเตอร์วิเคราะห์ว่า ทิศทางดังกล่าวอาจทำให้สำนักข่าวแบบดั้งเดิมเดินเกมลำบากขึ้น เพราะคนรุ่นใหม่เทน้ำหนักความเชื่อถือไปที่ “อินฟลูเอนเซอร์” และ “สื่ออิสระ” มากกว่า แม้ว่าข้อมูลเหล่านั้นจะตั้งต้นมาจากสำนักข่าวก็ตาม
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา “โจว โซ่วจือ” (Shou Zi Chew) ผู้บริหาร “TikTok” ประกาศแผนการลงทุนกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า ในภูมิภาคดังกล่าวมีกลุ่มผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก โดยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นหนึ่งในตลาดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของ TikTok ที่ผ่านมา TikTok ไม่ได้เป็นเพียงสื่อบันเทิงเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ของตลาดอีคอมเมิร์ซ รวมถึงการรับข้อมูลข่าวสารรายวันด้วย ซึ่งก็มีทั้งช่องสื่อสำนักข่าวรายใหญ่ และอินฟลูเอนเซอร์-คนดังที่ผันตัวมารายงานข่าวผ่านแชแนลใน TikTok ของตัวเอง
“กรุงเทพธุรกิจ” พบข้อมูลที่น่าสนใจจากรายงานประจำปี “Digital News Report 2023” โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) ระบุว่า ในปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงของการใช้งานในโซเชียลมีเดียอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ ความนิยมที่ลดลงของเฟซบุ๊ก (Facebook) และการมาถึงของติ๊กต็อก (TikTok) ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะเสื่อมความนิยมลงแต่อย่างใด รวมไปถึงโซเชียลมีเดียอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมจากการเพิ่มฟีดเจอร์ที่โดดเด่นอย่างวิดีโอด้วย
- การเมือง-โรคระบาด หนุนการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อ
รอยเตอร์ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาจากพฤติกรรมการเสพสื่อของคนรุ่นใหม่ที่เติบโต-ใช้ชีวิตมาพร้อมกับการเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดีย โดยคนกลุ่มนี้มักให้ความสำคัญกับอินฟลูเอนเซอร์หรือคนดังมากกว่าข้อมูลที่มาจากสำนักข่าวแบบดั้งเดิม แม้ว่าอินฟลูเอนเซอร์จะหยิบข้อมูลเหล่านั้นมาจากสำนักข่าวอีกทีก็ตาม
นอกจากนี้ ปัจจัยที่เป็น “ตัวเร่ง” ให้ภูมิทัศน์ทางโซเชียลมีเดียทั่วโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้น มาจากกรณีสงครามยูเครนและการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลกับผู้เสพสื่อมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์ระบุว่า จากการเก็บผลสำรวจทั่วโลก “เฟซบุ๊ก” ยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่มีจำนวนผู้ใช้งานมากที่สุด แต่ในทางกลับกัน อิทธิพลของแพลตฟอร์มกลับลดน้อยลงเพราะต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ จาก “ยูทูบ” (YouTube) และ “ติ๊กต็อก” (TikTok) ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ที่น่าสนใจก็คือ แม้ภาพรวมทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศแถบยุโรปและอเมริกาจะยังชอบอ่านมากกว่าฟังและดู แต่สำหรับบางประเทศกลับพบว่า การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้วยการ “ดู” ได้รับความนิยมมากกว่า โดยเฉพาะในไทยและฟิลิปปินส์
- “ไทย” รั้งอันดับ 1 ใช้งาน “TikTok” เพื่อการเสพข่าว
รอยเตอร์ทำการสำรวจโดยให้กลุ่มตัวอย่างประเทศละ 2,000 คน เพื่อตอบแบบสอบถามว่า พวกเขาชอบรับข้อมูลข่าวสารออนไลน์ทางไหนมากกว่าระหว่างอ่าน ฟัง และดู ปรากฏว่า โดยส่วนใหญ่แล้วผู้คนยังชอบวิธีการอ่านมากที่สุด โดยคิดเป็นสัดส่วน 57 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยการดู 30 เปอร์เซ็นต์ และฟัง 13 เปอร์เซ็นต์
แต่จากสัดส่วนดังกล่าว หากดูเฉพาะกลุ่มคนอายุต่ำกว่า 35 ปี จะพบว่า คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มชอบฟังมากกว่าดู เนื่องจากการฟังข่าวสามารถทำอะไรหลายๆ อย่างไปพร้อมกันได้ ตรงกันข้ามกับการดูที่ต้องโฟกัสเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ทั้งนี้ ในบรรดาเบื้องหลังค่าเฉลี่ยทั้งหมดรอยเตอร์พบความแตกต่างของบางประเทศที่น่าสนใจ คือ ในประเทศที่มีวัฒนธรรมการอ่านเข้มข้นอย่างฟินแลนด์และสหราชอาณาจักร พบว่า 8 ใน 10 ยังคงชอบอ่านมากกว่าการเสพสื่อในรูปแบบอื่นๆ ขณะที่อินเดียและไทย พบว่า 4 ใน 10 หรือคิดเป็นสัดส่วน 40 เปอร์เซ็นต์ ชอบวิธีการดูมากกว่า ซึ่งพบว่า อัตราส่วนทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกับเหตุผลเรื่องสัดส่วนประชากรโดยรวมด้วย โดยประเทศแถบเอเชียมีสัดส่วนประชากรอายุน้อยมากกว่าฝั่งยุโรป กลุ่มคนรุ่นใหม่ชอบดูมากกว่าอ่าน ทำให้ “YouTube” และ “TikTok” มีอิทธิพลอย่างมาก
รอยเตอร์ยกตัวอย่าง “ประเทศไทย” โดยระบุเหตุผลว่า หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้คนรุ่นใหม่เลือกติดตามข่าวผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้มากกว่าสำนักข่าวดั้งเดิม เป็นเพราะเรื่องของเสรีภาพในการนำเสนอ คนรุ่นใหม่มองว่า ช่องทางออนไลน์มีอิสระในการรายงานข่าวมากกว่ารายการทีวีที่ถูกควบคุมจากรัฐได้โดยง่ายด้วยเงื่อนไขเรื่องการระงับใบอนุญาตต่างๆ ช่องทางออนไลน์จึงเปรียบเหมือนโอกาสให้ “สื่อตัวเล็ก” เติบโตมากขึ้น
โดยภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2566 ที่ผ่านมา เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สื่อมีอิสระในการนำเสนอข่าวมากขึ้น สื่อหลายสำนักรวมถึงสื่ออิสระหันไปใช้โซเชียลมีเดียในการลงข่าว รวมถึงพรรคการเมืองเองก็เลือกช่องทางเหล่านี้เพื่อสื่อสารกับประชาชน-เชิญชวนให้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันมากขึ้นด้วย ในปีนี้ รอยเตอร์พบว่า สถิติการใช้ TikTok ในไทยกลับมาเติบโตอีกครั้ง-ทะยานขึ้นสู่อันดับ 1 ของโลก โดยครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างกว่า 51 เปอร์เซ็นต์ ใช้ TikTok ในการเสพข่าวและรับชมสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ โดยกลุ่มคนที่ใช้งานมากที่สุด คือ กลุ่มวัยรุ่น ขณะที่กลุ่มอื่นๆ ยังชอบวิดีโอขนาดยาวทาง YouTube มากกว่า
โดยสรุปแล้ว ผลสำรวจยังคงยืนยันว่า คนไทยชอบดูมากกว่าอ่านหรือฟัง รอยเตอร์วิเคราะห์ว่า แนวโน้มในลักษณะนี้ทำให้สื่อดั้งเดิมไม่ว่าจะเป็นสิ่งพิมพ์ เว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันข่าว เจาะกลุ่มคนอ่านเหล่านี้ได้ยากขึ้น การใช้โมเดล “Subscription” หรือสมัครสมาชิกรายเดือนเพื่อติดตามข่าวสารนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในประเทศไทย
“ไม่มีเหตุผลใดเลยที่คนรุ่นใหม่ที่เกิดปี 2000 เป็นต้นไป จะชอบเสพข่าวในรูปแบบเว็บไซต์ นี่ยังไม่ต้องพูดสิ่งพิมพ์หรือการออกอากาศทางทีวีหรอกนะ หากจะคาดหวังว่า พวกเขาจะกลับมาอ่านข่าวในรูปแบบที่ว่ามาเพียงเพราะอายุที่เพิ่มขึ้น” ผู้อำนวยการสถาบันรอยเตอร์กล่าวเสริมในรายงาน
อ้างอิง: Reuters Institute, Reuters Institute 2, Reuters