ข่าวสารกรุงเทพฯ

ไอลอว์ บี้เพื่อไทย ประชามติ-แก้รธน.ต้องชัด ห่วงตั้งรบ.ผสม ลักไก่คืนอำนาจขั้วเดิม


ไอลอว์ บี้เพื่อไทย ประชามติ-แก้รธน.ต้องชัด ห่วงตั้งรบ.ผสม ลักไก่คืนอำนาจขั้วเดิม

ที่สำนักงาน iLaw โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ได้จัดแถลงข้อกังวลต่อแถลงการณ์การจัดตั้งรัฐบาล และเร่งทำประชามติรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา โดย นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการ iLaw กล่าวตอนหนึ่งว่า ต้องยอมรับว่า กระบวนการเข้าสู่รัฐธรรมนูญใหม่นั้นซับซ้อน และกินเวลามาก แม้ว่าทำให้เร็วสุด ทุกฝ่ายเห็นพ้องนับตั้งแต่จัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ ก็กินเวลาประมาณ 2 ปี ฉะนั้นแถลงการณ์ในการจัดตั้งรัฐบาลระบุว่า ต้องการเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ได้แปลว่า มันจะเกิดขึ้นเร็ว แม้ว่าจะเร่งมันก็จะเร็วไม่ได้

อย่างในแถลงการณ์จัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย มีระบุด้วยว่าเมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญเสร็จก็จะคืนอำนาจประชาชน ถ้าดูตามกระบวนการพูดง่ายๆเลยว่า ไม่ได้คืนเร็วๆ แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะประกาศเร่งทำประชามติตั้งแต่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งแรก แต่ความจริงประชามติจะไม่ได้มีครั้งเดียว แล้วได้รัฐธรรมนูญใหม่เลย คืนอำนาจเลย มันจะมีประชามติอย่างน้อย 3 ครั้ง และก็มีแนวโน้มว่า จะใช้เวลามากกว่า 2 ปี

“สิ่งที่รู้สึกเมื่อเห็นแถลงการณ์ร่วมรัฐบาล เราคิดว่าเป็นเรื่องดี ที่ประกาศจะทำรัฐธรรมนูญใหม่ และเร่งทำประชามติแต่แรก แต่มีสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ ถ้าพรรคร่วมจะเอาแบบนี้ ขอให้ประชาชนทราบว่า มันแปลว่าเราต้องมีประชามติ 3 ครั้ง ในรอบ 2 ปี ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ฉะนั้น เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ อธิบายกระบวนการเหล่านี้ให้ประชาชนรับทราบด้วย” นายยิ่งชีพ กล่าว

นายยิ่งชีพ กล่าวต่อว่า นอกจากกระบวนการทำรัฐธรรมนูญแล้ว คำถามประชามติก็ควรชัดเจน ให้ประชาชนเห็นว่าเป็นคำถามที่ดีหรือไม่ และได้มีส่วนร่วมกับการตั้งคำถาม เพราะขณะนี้มีแนวโน้มสูงว่า จะมีพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคภูมิใจไทย มาร่วมรัฐบาล ทำให้เราเกิดความกังวลใจ เพราะ 4 ปีที่ผ่านมา พรรคดังกล่าวไม่ได้สนับสนุนให้มีการ ทำประชามติเลย

ฉะนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ครั้งนี้ จะต้องไม่เป็นเครื่องมือฟอกตัวของขั้วอำนาจเดิม หรือ การผสมข้ามขั้วอำนาจ โดยประชาชนควรได้เห็นกระบวนการทั้งหมดก่อนเริ่มต้นขึ้น ไม่เช่นนั้นคงไม่อาจไว้ใจได้ ว่า จะมีคำถามประชามติแบบลักไก่หรือไม่ รวมไปถึงมีการเปิดโอกาสให้ขั้วรัฐบาลเดิมกลับมามีอำนาจหรือไม่ รวมไปถึงข้อใส่ใจสำคัญคือ ที่มาของสสร. จะเป็นอย่างไร ประชาชนมีส่วนร่วมหรือไม่ และจะมีการยกเว้นไม่ให้เขียนเนื้อหาใดขึ้นมาใหม่หรือไม่ เช่น บทบาทของ สว. องค์กรอิสระต่างๆ

“อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นว่าต้องมีรัฐธรรมนูญใหม่แล้วจึงยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนอย่างที่แถลงการณ์ระบุ เพราะอย่างที่บอกไปว่าใช้เวลาค่อนข้างนาน แต่ที่สำคัญคือต้องจัดตั้ง สสร. ให้สำเร็จ หากจัดตั้ง สสร. แล้วก็สามารถยุบสภาเลือกตั้งใหม่ก็ได้เลย โดยไม่ต้องรอให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อน” นายยิ่งชีพระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่13 สิงหาคมนี้ iLaw และภาคประชนชน จะเตรียมเปิดตัวแคมเปญ ‘เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%’ ตั้งโต๊ะให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอทำประชามติ โดยกำหนดคำถามเอง ที่หอศิลป์ กรุงเทพฯ เวลา 15.00 น.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก [email protected] ได้ที่นี่

Line Image

matichon





Source link