ข่าวสารกรุงเทพฯ

10 ข่าวเด่นปี 66 … สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย


 

ปี 2566 ยกให้เป็นอีกหนึ่งปีที่ยากลำบากสำหรับตลาดทุนไทย จากปัจจัยกดดันรอบด้านทั้งในและต่างประเทศจนดัชนีหุ้นไทยดิ่งสุดในรอบ 3 ปี หรือแม้แต่ความหวังสำคัญอย่างการได้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารงาน ก็ยังไม่เพียงพอที่จะเรียกความเชื่อมั่นให้นักลงทุนกลับมาได้ หนำซ้ำยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนมาซ้ำเติมไม่หยุดหย่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทุจริตของบริษัทจดทะเบียน ปัญหาการชำระหนี้หุ้นกู้ หรือแม้แต่ระบบการซื้อขายหุ้น ที่เริ่มมีข้อสงสัยจากนักลงทุนถึงความโปร่งใสอย่างหนาหู

 

“สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย” จึงได้รวบรวม 10 อันดับข่าวเด่นปี 2566 มาให้ได้ติดตาม ว่าตลอดปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์สำคัญ ที่เข้ามาสร้างปรากฏการณ์อะไรบ้างในตลาดทุนไทย

 

*** ความเชื่อมั่นหาย กดหุ้นไทยดิ่งต่ำสุดรอบ 3 ปี

 

13 ธ.ค.66 ดัชนีตลาดหุ้นไทยลงไปต่ำสุดรอบ 3 ปีที่ 1,354.76 จุด ซึ่งระดับดัชนีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 63 ที่เกิดโควิดแพนิก ซึ่งลงไปถึง 969.08 จุด ขณะที่มูลค่าการซื้อขายก็เบาบางเหลือเฉลี่ย 5.15 หมื่นล้านบาทต่อวันเท่านั้น ต่ำสุดในรอบ 6 ปี (นับจาก 2560 ที่เฉลี่ย 4.78 หมื่นล้านบาท) ขณะเดียวกันนักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาขายสุทธิอีกครั้งถึง 1.9 แสนล้านบาท จากปีก่อนที่ซื้อสุทธิในรดับเดียวกัน 1.9 แสนล้านบาท โดยมีหุ้นถึง 691 หลักทรัพย์ จาก 852 หลักทรัพย์ ที่ราคาปรับตัวลดลงจากสิ้นปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนถึง 81% ขณะที่ข้อมูล ณ 21 ธ.ค.2566 ดัชนี SET Index ปิดที่ 1,404.84 จุด ลดลง 263.82 จุด หรือ 15.81% คิดเป็นผลตอบแทนต่ำสุดในรอบ 15 ปี (นับจากปี 51 ที่ -47.56%)

 

นักวิเคราะห์หลายรายระบุว่า ผลตอบแทนหุ้นไทยปีนี้ต่ำสุดในโลก โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งเศรษฐกิจไทยที่โตต่ำกว่าคาดการณ์และต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค สะท้อนไปถึงผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) รวมถึงการเข้ามามีบทบาทของโรบอทเทรด, Short Sell และ Naked Short ซึ่งถูกมองว่าเป็นตัวการที่ทำให้ตลาดผันผวน แม้ยังไม่มีหลักฐานข้อเท็จจริงที่นำมาพิสูจน์ได้ 100% ถึงความเกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้อง แต่ได้ลดความเชื่อมั่นในแง่ความรู้สึกของนักลงทุนไปแล้ว

 

อีกประการที่กูรูในวงการเห็นตรงกันว่าเป็นต้นเหตุของการทรุดตัวลงของ SET Index นั่นคือ “ความเชื่อมั่นด้านธรรมาภิบาล” ของ บจ.ไทย เพราะมีหลายกรณีเกิดขึ้นและสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างกับผู้มีส่วนได้เสียทั้่งระบบ ประกอบกับการจัดการของหน่วยงานกำกับดูแลที่ยังไม่เด็ดขาดพอ ถือเป็นกลไกในการก่อไข้ขึ้นในตลาดหุ้นไทย กลายเป็นสภาพทรงกับทรุดแถมวอลุ่มแห้งเหือด เป็นตลาดหมีป่วยอย่างที่เห็น

 

*** รัฐบาลใหม่ … ตลาดหุ้นไทยเมิน

 

ตลาดหุ้นไทยช่วงต้นปี อึมครึมกับการเมืองไทยไปพอสมควร จากความยืดเยื้อในการจัดตั้งรัฐบาล และนายกรัฐมนตรี จนสุดท้ายเมื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” ถูกโหวตเป็นนายกรัฐมนตรี หุ้นไทยกลับมาสดใสอีกครั้ง จากความคาดหวังการเมืองนิ่ง จะช่วยเรียกคืนความเชื่อมั่น ท่ามกลางการรอคอยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

แต่ความหวังของตลาดหุ้นไทยต่อรัฐบาล “เศรษฐา 1” ก็อยู่ได้เพียงชั่วครู่ ก่อนที่ดัชนีกลับหัวทิ่มทำจุดต่ำสุดในรอบปี เพราะไม่ว่านโยบายเศรษฐกิจอะไรที่รัฐบาลใหม่นำออกมาใช้ดูเหมือนว่าทั้งภาคเศรษฐกิจ – ตลาดทุนจะไม่ตอบเท่าที่ควร ขณะที่นายกฯ เศรษฐา ยังคงป่าวประกาศว่า เศรษฐกิจกำลังวิกฤติ จำเป็นที่รัฐบาลต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วน โดยเฉพาะนโยบายเรือธง “ดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท” ที่รัฐบาลให้ความหวังไว้กับประชาชน แล้วในที่สุดจะเกิดได้จริงหรือไม่ ซึ่งจุดนี้ก็เกิดความเห็น 2 ด้าน โดยฝั่งที่มองบวกก็คาดหวังถึงเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจก้อนใหญ่มหาศาล ส่วนอีกฝั่งกลับกังวลถึงการก่อหนี้กว่า 5 แสนล้านบาท ที่จะเป็นภาระประเทศอีกชั่วลูกชั่วหลาน นั่นทำให้ตลาดหุ้นไทยเลือกข้างไม่ถูก ว่าจะไปทางไหนดี

 

การเข้ามาบริหารประเทศกว่า 100 วัน ยังไร้วี่แววการคลอดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากปัจจัยเสี่ยงภายนอก จึงกลายป็นการบั่นทอนความเชื่อมั่นทั้งของนักลงทุน นักธุรกิจ และความหวังประชาชน ทำให้ต่างชาติหนีออกจากตลาดหุ้นไทย ขายหุ้นทิ้งมากสุดในเอเชีย มูลค่าเฉียด 2 แสนล้านบาท ดังนั้น ปี 66 “คงหมดหวังแล้ว” ส่วนปี 67 ต้องรอดูกันต่อไปว่า จะตั้งหลักกันได้ใหม่หรือไม่

 

*** ดอกเบี้ยทั่วโลกพีคเสียดฟ้า พาต้นทุนบจ.พุ่ง

 

ปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกดดันบรรยากาศการลงทุนทั่วโลกในปีนี้ คือทิศทางดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้นทั่วโลก ที่นำมาโดยพี่ใหญ่อย่างธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 65 ลากยาวมาถึงปีนี้ รวมกว่า 10 ครั้ง มาอยู่ที่ระดับ 5.25-5.5% เป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 22 ปีของสหรัฐ ก่อนที่จะมาเริ่มส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ก่อนที่จะประกาศว่าในปี 67 ที่จะถึงนี้ จะเข้าสู่ทิศทางดอกเบี้ยขาลง

 

ขณะที่ในฝั่งของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยเอง ก็ได้พิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้มาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุผลว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว และการลดส่วนต่างดอกเบี้ยไทยกับดอกเบี้ยในประเทศอื่นๆ จนล่าสุดอัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ที่ระดับ 2.5% ซึ่งกนง.ก็ยืนยันว่า ระดับดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นระดับที่เหมาะสมแล้วต่อสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน แต่ถึงกระนั้น ดอกเบี้ยที่พุ่งขึ้นในปีนี้ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดันผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนอยู่ไม่น้อย เพราะหากเข้าไปดูคำอธิบายงบการเงินของแต่ละบริษัท จะพบว่าหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนพุ่งขึ้นมาจากทิศทางดอกเบี้ยนั่นเอง

 

*** “Naked Short ” หาไม่เจอหรือเธอไม่มี ?

 

ดัชนีหุ้นไทยปีนี้ที่ปรับตัวลงกว่า 200 จุด โดยหนึ่งในปัญหาหลัก คือความเชื่อมั่นนักลงทุนต่อความโปร่งใสของตลาดหุ้นไทยที่ลดลงอย่างหนัก หลังมีการคาดการณ์ว่าโปรแกรมเทรดอัตโนมัติ จากนักลงทุนต่างประเทศ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยมี่สภาพอย่างที่เห็น จนตลาดหลักทรัพย์ทนไม่ไหว ต้องเพิ่มช่องทางให้ข้อมูลโปรแกรมเทรดแก่นักลงทุนเข้ามา ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตุถึงการที่กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศใช้โปรแกรมเทรดอัตโนมัติ ทำ Naked Short Selling หรือขาย Short โดยไม่มีหุ้นในมือ ซึ่งใช้ช่องโหว่ผ่านผู้ดูแลรับฝากทรัพย์สิน (Custodian) จากต่างประเทศ อีกด้วย

 

หลังปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น ตลาดหลักทรัพย์ก็ออกโรงชี้แจงว่า ไม่พบการทำ Naked Short Selling สวนทางกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในวงการหลายรายที่มองว่า มีการทำ Naked Short Selling จริง แต่ปัญหา คือ การตรวจสอบในยุคปัจจุบันยังค่อนข้างซับซ้อน และทำได้ยาก ขณะที่การใช้โปรแกรมเทรดที่มีสัดส่วนสูงขึ้นราว 40% ของปริมาณซื้อขายทั้งหมด จนทางฝั่งรัฐบาลนำโดย “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ที่ปรึกษานายกฯ และอดีตผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เสนอให้ยกเลิกโปรแกรมเทรดทั้งหมดเพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนฟากฝั่งนักวิเคราะห์มองว่า ตลท. ควรหาจุดสมดุลของสัดส่วนการซื้อขายที่ดีกว่าในยุคปัจจุบัน เพื่อทำให้นักลงทุนรายย่อย กลับมามีความเชื่อมั่นกับระบบการซื้อขายอีกครั้ง

 

*** ยุค IPO ตกต่ำ – น้องใหม่ผวาเลื่อนเทรด

 

ในปีนี้นอกจากเป็นช่วงขาลงของตลาด หุ้นน้องใหม่ที่เข้ามาในตลาดหุ้น (IPO) ก็พลอยได้รับผลกระทบตามไปด้วย โดยข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่านับจากต้นปีถึงปัจจุบัน (20 ธ.ค.66) มีหุ้นไอพีโอเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯรวมทั้งสิ้น 40 บริษัท หรือคิดเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO รวม 173,717.04 ล้านบาท ซึ่งแบ่งออกเป็นในตลาด SET จำนวน 20 บริษัท และตลาด mai จำนวน 20 บริษัท อย่างไรก็ตามกลับพบว่าราคาปิดวันแรกต่ำกว่าราคาจองมากถึงจำนวน 20 บริษัทหรือครึ่งหนึ่งของหุ้น IPO ทั้งหมด และข้อมูล (25 ธ.ค.66) ยังพบว่าราคาหุ้นปัจจุบันกว่า 28 บริษัทยังต่ำกว่าราคา IPO เพราะไม่เพียงบรรยากาศตลาดที่ไม่เป็นใจ ยังมีการตั้งข้อสังเกตุว่า การตั้งราคาจองซื้อ IPO ที่สูงเกินไปก็เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดวิกฤตไอพีโอในปีนี้เช่นกัน

 

ขณะที่ “ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ออกมาระบุถึงมูลเหตุที่ทำให้ราคา IPO ปีนี้ร่วง เกิดจาก 3 ปัจจัย นั่นคือ 1.เงินทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ปีนี้โฟลว์ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน,2.บรรกาศการลงทุนที่หายไป และ3.ตลาดหุ้นไทยเกิด 2 เคส คือกรณีของหุ้น บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) และบมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK ) จึงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ส่วนด้านที่ปรึกษาทางการเงินหลายแห่ง ยอมรับหุ้น IPO ไม่ประสบความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา เพราะหลายตัวที่ราคาต่ำกว่าราคาจองในวันแรกที่เข้าซื้อขายและมีผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน พร้อมปรับแผนเลื่อนส่งหุ้น IPO เข้าเทรดยาวเป็นปีหน้าแทน

 

*** STARK หุ้นเหี้ยมแห่งปี

 

ยกให้เป็นหุ้นที่โหดเหี้ยมประจำปี 66 สำหรับ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) หรือ STARK ที่เคยเป็นบริษัทมูลค่า 60,000 ล้านบาท ถูกคำนวณดัชนี SET100 แต่ปัจจุบันกลายเป็นบริษัทที่มีความเสี่ยงจะถูกเพิกถอนออกจากตลาด จากประเด็นแรกเริ่มจากการล้มดีลใหญ่ระดับ 2 หมื่นล้านบาท ต่อด้วยเลื่อนส่งงบการเงิน ตามมาด้วยคณะกรรมการลาออกยกชุด การผิดนัดชำระหุ้นกู้ ก่อนจะลุกลามไปสู่การทุจริตทางบัญชีครั้งใหญ่ระดับหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งข้อมูลล่าสุด ปัญหาของ STARK สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนรายย่อยกว่า 4 พันล้านบาท (ข้อมูลจากสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย) ขณะที่ตัวการสำคัญอย่าง นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการ ที่อยู่เบื้องหลังการทุจริตในครั้งนี้ ได้หลบหนีออกไปยังต่างประเทศ

 

ปัจจุบันคดี STARK อยู่ในขั้นตอนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และล่าสุด ทางนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินคดีและหาตัวผู้กระทำความผิด ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งคดีที่ท้าทายอำนาจตลาดทุนและหน่วยงานกำกับดูแลครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย จนทำให้เกิดคำถามถึงกระบวนการคัดกรองและการตรวจสอบงบการเงินบริษัทจดทะเบียนในปัจจุบันว่า เข้มข้นเพียงพอหรือยัง และในอนาคตจะมีหุ้นอย่าง STARK เกิดขึ้นตามมาอีกหรือไม่

 

*** “ทองคำ” สินทรัพย์สุดว้าว ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

 

ทองคำในปี 66 ถือเป็นสินทรัพย์ให้ผลตอบแทนสูงสุดอันดับต้นๆ ของปี หลังจากทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่องตลอดทั้งปีโดยเมื่อ 4 ธ.ค. 66 ราคาทองคำในตลาดโลก (Gold Spot) ทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,152 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และทองคำแท่งไทยขายออกสูงสูดเป็นประวัติการณ์วันเดียวกันที่ 34,400 บาทต่อบาททองคำ หรือหากคิดเป็นผลตอบแทนในปี 66 ตลอดทั้งปี ราคาทองคำโลกปรับตัวขึ้นมาแล้วกว่า 200 ดอลลาร์ หรือประมาณ 13% ส่วนทองคำไทยราคาถือว่าปรับตัวขึ้นมาประมาณ 4,000 บาท ให้ผลตอบแทนประมาณ 13% เช่นกัน

 

ซึ่งปัจจัยสำคัญทำให้ราคาทองคำร้อนแรง มีเข้ามาตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นที่ชะลอตัวอย่างหนัก ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มฮามาสและอิสราเอล – ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า นอกจากนี้ราคาทองคำยังได้รับแรงสนับสนุนการคาดการณ์ของนักลงทุนต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจลดอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1/67 เพราะภาวะเศรษฐกิจตลาดโลกมีความเสี่ยงถดถ้อย ยิ่งตอกย้ำว่าสินทรัพย์ทองคำยังเป็นทางเลือกน่าลงทุนต่อเนื่องในปี 67

 

*** “บางจาก-เอสโซ่ , ADVANC – 3BB” 2 บิ๊กดีลท้าชิงเบอร์ 1

 

เป็นเพียงไม่กี่ข่าวดีในปีนี้ สำหรับ 2 ดีล ยักษ์ใหญ่ในตลาดหุ้นไทย ทั้ง การเข้าซื้อกิจการ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ESSO ของบริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP มูลค่าเกือบ 3.5 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้แบรนด์ ‘เอสโซ่’ ที่ดำเนินธุรกิจในไทยมานานถึง 129 ปี ต้องปิดฉากลง การควบรวมครั้งนี้ทำให้บางจากมีกำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็น 294,000 บาร์เรลต่อวัน กลายเป็นโรงกลั่นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งสถานีบริการของเอสโซ่ทั้งหมดจะถูกเปลี่ยนเป็นสถานีบริการบางจากภายใน 2 ปี โดยผู้บริหาร BCP คาดว่าปี 67 รายได้จะสามารถเติบโตแตะระดับ 5 แสนล้านบาท หลังมีการรับรู้สถานีบริการน้ำมันเอสโซ่เข้ามาเต็มปี และมีจำนวนสถานีบริการน้ำมันรวม 2,300 แห่ง และมั่นใจว่าจะคืนทุนภายใน 5 ปี

 

ส่วนอีก 1 บิ๊กดีลที่ปิดไปสดๆ ร้อนๆ ช่วงปลายปี หลังจากยืดเยื้อมานานตั้งแต่ปี 65 คือการซื้อบริษัททริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3BB ของบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC มูลค่า 2.8 หมื่นล้านบาท เพื่อรุกธุรกิจบอร์ดแบรนด์ หรือเน็ตบ้านของไทย ซึ่งดีลดังกล่าวส่งผลให้ ADVANC ขึ้นแท่นเป็นเบอร์ 1 อินเตอร์เน็ตบ้าน โดยมีลูกค้ารวมแตะ 4.7 ล้านราย ทิ้งห่างจาก “True online” ซึ่งมีลูกค้าอินเตอร์เน็ตบ้านแตะ 3.79 ล้านราย ที่ในอดีตเคยเป็นเบอร์ 1 มาก่อนทันที

 

*** โดมิโนแบงก์สหรัฐฯ ล้ม สู่การอวสานของ “เครดิต สวิส”

 

ฝั่งต่างประเทศ มีข่าวใหญ่ในวงการตลาดเงินตลาดทุนเกิดขึ้นมากมาย ซึ่ง 1 ในข่าวที่ส่งผลกระทบวงกว้างกับตลาดหุ้นทั่วโลก คงหนีไม่พ้นกรณีที่ 3 ธนาคารยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ได้แก่ ซิลเวอร์เกต แคปิตอล, ซิลิคอน วัลเลย์ (SVB) และซิกเนเจอร์ แบงก์ เผชิญภาวะล้มละลายในช่วงต้นปี กลายเป็นไฟลามทุ่งไปถึงยุโรป กระทบเครดิต สวิส ก่อนขยายวงไปจนถึงสถาบันการเงินต่าง ๆ เป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่สะเทือนไปทั่วโลก

 

ซิลเวอร์เกต แคปิตอล เป็นธนาคารแห่งแรกของสหรัฐฯ ที่ประกาศปิดกิจการ ตามด้วยธนาคาร SVB และซิกเนเจอร์ แบงก์ ทั้ง 3 แห่งปิดตัวในเวลาเพียง 5 วัน ก่อนที่ธนาคาร First Republic จะเป็นรายล่าสุดที่ล้มละลายเช่นกัน สาเหตุสำคัญคือทิศทางดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถรับมือได้ทัน วิกฤติครั้งนี้ข้ามทวีปไปถึงธนาคารเครดิต สวิสในยุโรป หลัง Saudi National Bank ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แจ้งยกเลิกสนับสนุนเงินทุนเพิ่มเติม ก่อให้เกิดความวิตกกังวลต่อตลาดมากขึ้น โดยเครดิต สวิส ถือเป็นเสาหลักทางการเงินของโลก เนื่องจากมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งที่เชื่อมโยงกับธนาคารหลายแห่งในยุโรปและสหรัฐฯ

 

ปัจจุบันธนาคารเครดิต สวิส ถูกธนาคารยูบีเอส เทคโอเวอร์ ในวงเงิน 3.25 พันล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน ตลอดจนรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ขณะที่การล้มละลายของธนาคารในสหรัฐฯ ทำให้เฟดต้องออกโรงใช้มาตรการฉุกเฉิน เพื่อป้องกันเงินฝาก โดยปธน.โจ ไบเดน ได้ออกแถลงการณ์ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า ระบบมีความปลอดภัยและเงินฝากของลูกค้าในธนาคารที่ถูกสั่งปิดไปจะได้รับการเยียวยา

 

*** บจ.แห่เบี้ยวหนี้หุ้นกู้กว่า 2 หมื่นลบ.

ไม่เพียงตลาดหุ้นที่ดิ่งหนักในปีนี้ ตลาดหุ้นกู้ก็เผชิญกับวิกฤตไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในปี 66 มีบริษัทจดทะเบียนประกาศผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ออกมาเป็นว่าเล่น โดยข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เมื่อเดือนพ.ย.66 มีหุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระหนี้รวมแล้วถึง 7 บริษัท วงเงินรวมกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งหลายบริษัทในนั้น ก็หนีไม่พ้นหุ้นที่ถูกนักลงทุนยกให้เป็นหุ้นตัวแสบแห่งปี

 

ยกตัวอย่าง บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ที่มีหุ้นกู้ 5 ชุด มูลหนี้รวม 9,198.4 ล้านบาท ที่ล่าสุดบริษัทอยู่ในคดีความเรื่องการทุจริตตกแต่งบัญชี ตามมาด้วย บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ (ALL) ที่มีหุ้นกู้ 7 ชุด มูลหนี้รวม 2,334.2 ล้านบาท จนมีความเสี่ยงเข้าฟื้นฟูกิจการ และสดๆ ร้อนๆ กับ บมจ.เจเคเอ็นโกลบอล กรุ๊ป (JKN) ที่มีหุ้น 7 ชุด มูลหนี้รวม 3,212.15 ล้านบาท ที่กำลังอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ จากปัญหาเรื่องการลงทุนที่เกินตัว

 

ปรากฏการณ์เบี้ยวหนี้หุ้นกู้ครั้งใหญ่ในปีนี้ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ในวงการตราสารหนี้ของไทย และทำให้วงการหันมาตระหนัก และระแวดระวังกับบริษัทที่ออกหุ้นกู้มากขึ้น บริษัทที่ชอบนำเรื่องอัตราดอกเบี้ยสูงมาเป็นจุดขาย หรือบริษัทที่ผู้บริหารประเภทที่มีวาทะศิลป์เก่งๆ หรือเป็นพวกจอมโปรเจ็กต์ แต่ประสิทธิภาพในการบริหารธุรกิจอาจตรงข้ามกับสิ่งที่พูดก็เป็นได้

 

 





Source link