ข่าวสารกรุงเทพฯ

Bi-2 วงร็อกรัสเซียที่ยืนหยัดต้าน “ปูติน” เสี่ยงถูกไทยเนรเทศไปเผชิญอันตราย – BBC News ไทย


ที่มาของภาพ, Би-2/B-2

คำบรรยายภาพ,

วงดนตรีร็อก Bi-2 ที่กำลังเสี่ยงถูกไทยส่งกลับไปรัสเซีย หลังถูกจับกุมที่ภูเก็ต ฐานไม่ได้ขอวีซ่าทำงานเพื่อจัดแสดงคอนเสิร์ตในไทย

“ทางการรัสเซียต้องการให้รัฐบาลไทยส่งตัวตัววงร็อก BI-2 กลับไปรัสเซีย… ซึ่งพวกเขาอาจถูกดำเนินคดีและกดขี่ เราต้องไม่ให้มันเกิดขึ้น”

นี่คือสิ่งที่ นางชเวียตลานา ชีคาโนว์สกายา นักการเมืองชาวเบลารุสและนักเคลื่อนไหว โพสต์ในเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์เดิม) เมื่อ 27 ม.ค. 2567

วงร็อก BI-2 มีสมาชิก 7 คน ประกอบด้วยชาวรัสเซียอย่างน้อยสองคนอาจจะถูกส่งกลับไปยังรัสเซีย นอกจากนี้ยังมีบุคคลที่ถือสองสัญชาติ คือ สัญชาติรัสเซียกับอิสราเอล และชาวออสเตรเลีย พวกเขาเป็นวงดนตรีที่มีจุดยืนต่อต้าน “ปฏิบัติการทางทหารพิเศษ” ของรัสเซียในยูเครน จนถูกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียกล่าวหาว่า วงร็อก BI-2 “สนับสนุนการก่อการร้าย” เพราะต่อต้านรัสเซียและประกาศสนับสนุนยูเครน

พวกเขาเดินทางมาเล่นคอนเสิร์ตที่เมืองพัทยา และ จ.ภูเก็ต ของไทย ก่อนถูกตำรวจจับกุมเมื่อ 24 ม.ค. ที่ จ.ภูเก็ต ในข้อหาไม่ได้ขอวีซ่าทำงานเพื่อแสดงคอนเสิร์ตอย่างถูกต้อง

นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรต์วอทช์ ประจำประเทศไทย บอกกับบีบีซีไทยว่า หากไทยส่งตัวสมาชิกวงร็อก Bi-2 กลับรัสเซีย ไปเผชิญกับ “อันตราย” จะถือเป็น “กรณีแรกในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” และถือเป็นการละเมิดสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่นายกรัฐมนตรีเคยประกาศไว้ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก เมื่อ ก.ย. 2566

และจะถือเป็นกรณีแรกที่ไทยส่งพลเรือนรัสเซียกลับประเทศ นับแต่สงครามรัสเซีย-ยูเครน ปะทุขึ้น

“คุณเศรษฐาให้สัญญาว่า รัฐบาลใหม่จะเคารพหลักสิทธิมนุษยชน ไม่ส่งคนกลับไปเผชิญอันตราย นี่จึงเป็นบททดสอบสำคัญมาก” สุณัย ระบุ

ผู้สื่อข่าวสอบถาม นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถึงกรณีการส่งตัววงร็อก Bi-2 กลับรัสเซีย เขาตอบว่า “ยังไม่ได้รับรายงาน เพราะประชุมคณะรัฐมนตรีอยู่”

และเมื่อถามถึงกระแสข่าวว่า ไทยจะไม่ส่งตัวพวกเขาไปรัสเซีย นายปานปรีย์ ตอบเพียงว่า “ผมยังไม่ได้รับรายงาน”

แสดงคอนเสิร์ตมาทั่วโลก แต่มาถูกจับในไทย

แฟนเพจของวง Bi-2 ที่อ้างอิงคำพูดของหัวหน้าวง คือ นายอีกอร์ บอร์ตนิค มิไคโลวิช เล่าว่า พวกเขาจัดคอนเสิร์ตตามกฎหมายและระเบียบปฏิบัติทุกประการ เมื่อปีที่แล้ว ได้เดินสายจัดคอนเสิร์ตกว่า 60 ครั้งในหลายสิบประเทศทั่วโลก รวมถึง 2 ครั้งในไทย

ภายหลังถูกจับกุม สมาชิกทั้งหมดของวงถูกคุมขังในห้องขังของสถานีตำรวจ ก่อนขึ้นศาลพิจารณาคดีในวันต่อมา

“พวกเขาไม่จัดหาล่าม และเราอ่านเนื้อหาในเอกสารคดีไม่ได้เลย” นายอีกอร์ ระบุในเฟซบุ๊กแฟนเพจ ซึ่งเรื่องจบด้วยการจ่ายค่าปรับ และยังไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมใด ๆ ก่อนถูกส่งมาควบคุมตัวที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในกรุงเทพมหานครเพื่อรอส่งตัวกลับประเทศ

ที่มาของภาพ, Би-2/B-2

คำบรรยายภาพ,

ห้องขังในสถานีตำรวจที่ภูเก็ต ที่สมาชิกวง Bi-2 ถูกควบคุมตัว 1 คืน

แต่ทางวงดนตรี เชื่อว่า “มีแรงกดดันภายนอกจากรัสเซียที่ทำให้พวกเราถูกควบคุมตัว เรารู้ว่าแรงกดดันนี้ เป็นการตอบโต้ความคิดสร้างสรรค์ ทัศนคติ และจุดยืนของเรา” แถลงการณ์ในเฟซบุ๊กแฟนเพจของวง Bi-2 ระบุ

ย้อนไปเมื่อกลางปี 2565 สมาชิกรัฐสภารัสเซียกล่าวหาวงร็อก Bi-2 ว่า “บั่นทอนความน่าเชื่อถือของกองทัพรัสเซีย” และเรียกร้องให้หน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐ เปิดการสืบสวนทางอาญาต่อ “จุดยืนต่อรัสเซีย” ของวงดนตรีวงนี้

ต่อมาในเดือน พ.ค. 2566 กระทรวงยุติธรรมรัสเซียขึ้นบัญชี นายอีกอร์ บอร์ตนิค หรือ “ลีวา” หัวหน้าวงว่าเป็น “ตัวแทนต่างชาติ” ฐานต่อต้านปฏิบัติการทางทหารพิเศษของรัสเซียในยูเครน

สื่อต่างประเทศ รวมถึงบีบีซี และสื่อมวลชนไทยบางสำนักรายงานถึงกรณีที่เกิดขึ้น จนเกิดกระแสเรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวสมาชิกวงดนตรี และเรียกร้องไม่ให้ส่งตัวพวกเขาไปเผชิญอันตรายในรัสเซีย

“ทางการไทยควรปล่อยตัวสมาชิกวง Bi-2 ที่ถูกควบคุมตัวทั้งหมดในทันที” น.ส.อีเลน เพียร์สัน ผู้อำนวยการเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวในแถลงการณ์

“พวกเขาไม่ควรถูกส่งตัวไปรัสเซีย ที่พวกเขาจะเสี่ยงถูกจับกุม หรือสิ่งที่เลวร้ายกว่านั้น เพียงเพราะพวกเขาวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน และสงครามของรัสเซียในยูเครน”

ไทย (ไม่ใช่) แดนสวรรค์ของนักเคลื่อนไหว

ประเทศไทยมีประวัติการส่งตัวนักเคลื่อนไหวและชาวต่างชาติ กลับไปประเทศต้นทาง ซึ่งพวกเขาจะเผชิญการประหัตประหารและดำเนินคดี ฐานเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล

ส่วนใหญ่จะเป็นพลเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน คือ สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม ที่ 101 Public Policy Think Tank เรียกว่า “พันธมิตรเผด็จการอาเซียน” ที่สนับสนุน ร่วมมือ และปราบปรามผู้ลี้ภัยทางการเมือง ในรูปแบบของ “ความร่วมมือระหว่างประเทศ”

“รัฐภาคีต้องไม่ขับไล่ ส่งกลับ (ผลักดันกลับออกไป) หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะตกอยู่ภายใต้อันตรายที่จะถูกทรมาน” อนุสัญญา ระบุ

แต่ นายสุณัย ชี้ว่า นับแต่รัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา กรณีการอุ้มหาย การสูญหาย และส่งตัวกลับประเทศต้นทางไปเผชิญอันตราย ยังคงเกิดขึ้น ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว

ที่มาของภาพ, Sunai Pasuk

คำบรรยายภาพ,

นายสุณัย ผาสุก ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยของฮิวแมนไรท์วอทช์

บีบีซีไทย รวบรวมกรณีการส่งตัวนักเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างชาติที่สำคัญ ซึ่งเคยเกิดขึ้นในไทย ดังนี้

  • ก.ค. 2558 – รัฐบาลไทยส่งตัวชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอุยกูร์ 109 คนที่หลบหนีเข้ามาประเทศไทย กลับประเทศจีน ตามคำร้องขอของรัฐบาลจีน
  • ก.พ. 2562 – นายเจือง ซุย เญิ๊ต – สื่อมวลชนอิสระชาวเวียดนามและผู้จัดรายการของสำนักข่าวเรดิโอ ฟรี เอเชีย ผู้เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเสรีภาพสื่อในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง และเคยถูกตัดสินจำคุก 2 ปี เขาเดินทางมายื่นคำขอลี้ภัยกับ UNHCR ที่กรุงเทพฯ แต่กลับถูกจับกุมโดยบุคคลนิรนามและถูกส่งกลับเวียดนาม ปัจจุบัน นายเญิ๊ตถูกตัดสินจำคุก 10 ปีในข้อหาโฆษณาชวนเชื่อเพื่อต่อต้านรัฐ
  • พ.ย. 2564 – นายเวือน เวียสนา, นายเวือง สมนาง และนายฐาวรี ลันห์ นักกิจกรรมทางการเมืองและเป็นสมาชิกพรรค Cambodia National Rescue Party พรรคฝ่ายค้านที่กำลังได้รับความนิยมจากประชาชนกัมพูชา ซึ่งภายหลังถูกศาลตัดสินยุบพรรคในปี 2560 พวกเขาลี้ภัยมาที่ประเทศไทย แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ไทยจับกุม และส่งกลับกัมพูชา ปัจจุบัน ผู้ลี้ภัยทั้งสามยังคงถูกควบคุมตัวที่เรือนจำในกรุงพนมเปญ

นี่ยังไม่นับรวม “อีกแบบที่อยู่ ๆ หายตัวไปเลย จู่ ๆ ก็หายตัวจากไทยไปเลย ซึ่งเกิดขึ้นในยุค พล.อ.ประยุทธ” ทั้งที่ นับแต่ ม.ค. 2563 มีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย การคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในไทยและไม่สามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาได้ ที่ระบุถึงคนต่างด้าวที่คัดกรองแล้วและได้สถานะ “ผู้ได้รับความคุ้มครอง” คือมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะได้รับอันตรายจากการถูกประหัตประหาร

ครั้งแรกในรัฐบาลเศรษฐา ?

นายสุณัย ชี้ว่าในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา “ถ้าเทียบกันแล้ว ถือว่าดีกว่าประยุทธ”

และนับแต่ขึ้นสู่อำนาจ ก็ยังไม่มีกรณีผู้ลี้ภัยหรือชาวต่างชาติถูกส่งกลับไปเผชิญอันตรายและการประหัตประหาร แม้ช่วงปลายปี 2566 จะเกิดกรณีที่องค์กรสิทธิมนุษยชนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างหนัก เพราะตำรวจตรวจคนเข้าเมืองและสันติบาล ได้บุกจับนักกิจกรรมทางการเมืองชาวกัมพูชาและเวียดนาม 10 คน ระหว่างการอบรมด้านสิทธิมนุษยชนในย่านรังสิต ในจำนวนนี้ 8 คน เป็นผู้ลี้ภัยที่สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR รับรอง

แต่ท้ายสุด “ทางการไทยส่งตัวพวกเขาไปยังประเทศที่ 3 ไปที่แคนาดา” นายสุณัย เปิดเผย ดังนั้น หากรัฐบาลไทยส่งตัวสมาชิกวงร็อก Bi-2 ไปรัสเซีย จะถือเป็น “กรณีแรกในรัฐบาลเศรษฐา”

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

“ถ้าเทียบกันแล้ว ถือว่าดีกว่าประยุทธ” สุณัย กล่าว

บีบีซีไทยถามนายสุณัยว่า กรณีวงร็อก Bi-2 รัฐบาลไทยควรระมัดระวังแค่ไหน

“ทางออกที่ดีที่สุดต่อประเทศไทย คือ ให้พวกเขาเดินทางต่อไปประเทศที่ปลอดภัย เพราะหลายคนก็ถือพาสปอร์ตที่ไม่ใช่รัสเซีย ยังมีทางเลือกไป ยังไงก็อยู่ไทยไม่ได้” หรือ “ส่งไปประเทศที่ 3 ที่ไม่ใช่รัสเซีย”

แต่หากไทยส่งตัวสมาชิกวงร็อกนี้ไปรัสเซียตามคำร้องขอของรัฐบาลรัสเซีย “ไทยจะถูกประณามจากประชาคมโลก จากองค์กรสิทธิมนุษยชน และสวนทางเป้าหมายด้านการต่างประเทศ ที่ไทยอยากยกระดับในเวทีโลก ทั้งกรอบการค้าเสรี และการเข้าสู่ที่นั่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ” ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทยวิเคราะห์

ท้ายสุด “ถ้าไม่เป็นข่าวก็คงไม่รอด” นายสุณัย ทิ้งท้าย



Source link