smart watch เพื่อตรวจจับภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
การใช้นาฬิกา smart watch เพื่อตรวจจับภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
อ.นพ.อนุรุธ ฮั่นตระกูล
แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจ เชี่ยวชาญระบบไฟฟ้าหัวใจ
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
————————
ปัจจุบันนาฬิกา smart watch หลายรุ่น สามารถตรวจจับชีพจร และคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้ โดยเทคโนโลยีที่ใช้ในการตรวจจับชีพจรคือการใช้ photoplethysmography (PPG) sensor โดยใช้ light-sensitive photodiodes และแสง LEDs ในการจับความแรงของชีพจร ซึ่งจะสามารถบอกได้ว่าอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่กี่ครั้งต่อนาที และใน smart watch บางรุ่น เช่น Apple watch series 1+ (Watch OS 5.1.2) ขึ้นไป สามารถตรวจจับได้ว่าชีพจรมีความไม่สม่ำเสมอ (irregular heart rate notification) ซึ่งอาจเกิดจากภาวะหัวใจเต้นระริกหรือ atrial fibrillation โดยการสุ่มตรวจด้วยแสง LEDs จากหลังนาฬิกา
ส่วนการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ จะใช้การแตะที่ electrical heart sensor ที่เม็ดมะยม เพื่อให้ได้คลื่นไฟฟ้าหัวใจออกมา 1 vector (โดยทั่วไปการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วยเครื่องตาม รพ. จะได้ออกมา 12 vectors) ก็จะสามารถทำได้ใน Apple watch series 4 ขึ้นไป Sumsung galaxy 4 ขึ้นไป Fitbit Sense/Charge 5 และ Hauwei watch D ก็สามารถทำได้เช่นกันในต่างประเทศ แต่ยังไม่รองรับการใช้งาน feature นี้ในประเทศไทย ซึ่งเครื่องจะแปลผลออกมาเป็น
1. Sinus rhythm ซึ่งคือจังหวะหัวใจปกติ
2. Atrial fibrillation คือหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดสั่นระริก
3. Low or high heart rate กรณีที่ชีพจรเต้นช้ากว่า 50 ครั้ง หรือเร็วกว่า 120 ครั้งต่อนาที
4. Inconclusive หรือแปลผลได้ไม่ชัดเจน และ
5. Poor recording คือการที่ไม่สามารถตรวจจับคลื่นไฟฟ้าได้นิ่งพอที่จะแปลผลได้
โดยปัจจุบันยังไม่มีคำแนะนำให้ใช้ smart watch ในการตรวจจับภาวะหัวใจเต้นปกติในกลุ่มประชากรทั่วไป เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ในแง่การลดอัตราการเสียชีวิตหรือการเจ็บป่วย ในทางปฏิบัติการสามารถนำ smart watch มาใช้ได้ในกรณีที่มีอาการที่สงสัยว่าเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น ใจเต้นเร็วหรือแรงผิดปกติขณะพัก ใจเต้นไม่สม่ำเสมอ โดยควรมีอาการนานเกิน 2-3 นาที เพราะการตรวจจับคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วย smart watch จะใช้เวลาประมาณ 30 วินาที – 1 นาที หรืออาจนำ smart watch มาใช้ตรวจจับภาวะ atrial fibrillation ในกรณีที่มีปัจจัยเสี่ยงในการเป็น stroke หรืออัมพาตเช่น อายุเกิน 65 ปี มีโรคร่วมคือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจล้มเหลว เส้นเลือดหัวใจ/สมอง/ส่วนปลายตีบ เป็นต้น และยังมีการนำมาใช้ในกรณีที่รู้ว่าเป็น atrial fibrillation อยู่แล้วเพื่อตรวจติดตามความถี่ของการเกิดโรค หากไม่สามารถบอกได้จากอาการ
อ่านต่อได้ที่ https://www.facebook.com/share/p/1BnEtjE9Tr/