ข่าวสารกรุงเทพฯ

เทียบ ‘มินต์ช็อก’ กับ ‘กาแฟส้ม’ เครื่องดื่มเล่าเรื่องจัดตั้งรัฐบาล 2023


‘มินต์ช็อก’ (Mint Chocolate) กับ ‘กาแฟส้ม’ (Orange Juice Espresso) 2 เมนูเครื่องดื่มที่ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองไทย ยุคเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลแห่งปี 2566 ไปอย่างเต็มตัว

เมื่อการจัดตั้งรัฐบาลที่เปลี่ยนไม้จาก พรรคอันดับหนึ่ง ‘ก้าวไกล’ มาเป็น พรรคอันดับสอง ‘เพื่อไทย’ เครื่องดื่มแก้วโปรดของ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคเพื่อไทย อย่าง ‘มินต์ช็อก’ ถูกนำมาเสิร์ฟ แขก จาก 5 พรรคการเมืองขั้วรัฐบาลเดิม ประกอบด้วย ภูมิใจไทย, ชาติพัฒนากล้า, รวมไทยสร้างชาติ, ชาติไทยพัฒนาและพลังประชารัฐ

โดยปรากฏเป็นภาพแกนนำจากพรรคเพื่อไทย ‘ชนแก้วมินต์ช็อก’ กับแกนนำจาก 5 พรรคดังกล่าว ตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหลากหลาย เพราะแม้ทางพรรคเพื่อไทยยืนยันว่า เป็นเพียงการเชิญหารือ แต่การชนแก้วมินต์ช็อก แบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับแกนนำ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ที่เซ็น MOU กันไว้ ก็ทำให้บางคนเกิดความไม่สบายใจ

จนเกิดข่าวในโซเชียลฯ มีบางร้านคาเฟ่ ออกมาประกาศงดขายเครื่องดื่มเมนูมินต์ช็อกไปเลยทีเดียว

‘มินต์ช็อก’ เริ่มเป็นที่รู้จัก จากรายการ เพื่อไทย พรรคนี้เป็นไงบ้าง? ในช่องยูทูบ FAROSE ตอนนั้นเป็นช่วงเลือกตั้ง ‘อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร’ ที่กำลังตั้งครรภ์ เปิดตัวเครื่องดื่มที่ชื่นชอบจากร้าน Think Lab ร้านคาเฟ่ ที่อยู่ภายในพรรคเพื่อไทย ต่อมา ช่วงหลังเลือกตั้งเกิดกระแส ‘รับหลักการ’

เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 66 อุ๊งอิ๊ง ปล่อยคลิปรีแอค ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ชิมมินต์ช็อก แล้วบอกว่า อร่อย จากนั้นนักการเมืองโดยเฉพาะคนของเพื่อไทย ก็พากันชิม ‘มินต์ช็อก’ ตามๆ กัน

ขณะที่ ‘กาแฟส้ม’  ได้รับความนิยมจากนักดื่มกาแฟไทยมาสักพักใหญ่แล้ว แต่ที่ได้กลายมาเป็นเครื่องดื่มอีกเมนูที่คอการเมืองสนใจ เพราะว่า ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ว่า ชอบดื่ม อีกทั้งเป็นกาแฟที่มีส่วนผสมจากน้ำส้ม ตรงกับสีส้มสีประจำพรรคก้าวไกลด้วย

เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 66 ‘พิธา’ ได้แวะร้านกาแฟ Think Lab ที่ตั้งอยู่ในที่ทำการพรรคเพื่อไทย เขาซื้อทั้ง มินต์ช็อก และ กาแฟส้ม มาชิม โดยวันนั้น ‘พิธา’ ที่ยังอยู่ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ได้บอกว่า กินมินต์ช็อกก่อนต้องให้เกียรติเจ้าบ้าน รสชาติดีเกินร้อย ส่วนกาแฟอเมริกาโนส้ม รสชาติคล้ายร้าน Sol Bar ของพรรคก้าวไกล รสชาติทั้งสองแก้วแตกต่างกัน แต่กินด้วยกันรสกลมกล่อม รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน กินพร้อมๆ กันได้

นอกจากเรื่องราวทางการเมือง ที่ ‘มินต์ช็อก’ กับ ‘กาแฟส้ม’ ได้กลายเป็น เครื่องดื่มเล่าการเมืองไทยในยุคนี้ สำนักข่าว TODAY เลยไปหาข้อมูลว่า แล้วระหว่างเครื่องดื่ม 2 เมนูนี้ ทางด้านสุขภาพดื่มแบบไหนจะดีกับร่างกายมากกว่ากัน

เราขอความรู้จาก ดร.วนะพร ทองโฉม นักสุขศึกษา (วิชาชีพนักกำหนดอาหาร) งานสร้างเสริมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งถ้าเทียบกันแบบแก้วต่อแก้วแล้ว ‘มินต์ช็อก’ ให้พลังงานมากกว่า ‘กาแฟส้ม’ แต่สายเฮลตี้ก็ยังต้องระวังอยู่ดี

(ภาพ เจมส์ วิลสัน/Thai News Pix)

เครื่องดื่มมินต์ช็อก มีส่วนประกอบ 4 อย่าง คือ

1. ผงโกโก้ 2 ช้อนโต๊ะ

2. มินต์ไซรัป 20 มิลลิลิตร

3. ครีมเทียมข้นหวาน 20 มิลลิลิตร

4. นมสดจืด 100 มิลลิลิตร

ในส่วนข้อมูลโภชนาการ เครื่องดื่มมินต์ช็อก ให้ พลังงาน 260 กิโลแคลอรี คาร์โบไฮเดรต 40 กรัม น้ำตาล 33 กรัม หรือ 8 ช้อนชา โปรตีน 7 กรัม ไขมัน 8 กรัม และคาเฟอีน (Caffeine) 12.4 มิลลิกรัม

ดร.วนะพร บอกว่า เครื่องดื่มมินต์ช็อก มีข้อควรระวัง เนื่องจากมีน้ำตาลสูง ตามคำแนะนำปริมาณน้ำตาลที่ได้รับต่อวัน ไม่ควรเกิน 6 ช้อนชาและมีไขมันอิ่มตัวจากนมสด ครีมเทียม พลังงานต่อแก้วจะเทียบเท่ากับการกินข้าว 3 ทัพพี

“หากกินบ่อยๆ ส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ทั้งจากเครื่องดื่ม และคาร์โบไฮเดรตที่ดูดซึมได้ง่ายจะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงเร็วก่อนถึงมื้อหลัก เพราะอินซูลินจะหลั่งออกมามากเพื่อจัดการน้ำตาลที่เพิ่มสูงเร็ว ทำให้กินจุบจิบก่อนมื้ออาหารหลัก สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานหากดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงส่งผลให้ระดับน้ำตาลเพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว การกินน้ำตาลที่มากเกินไปเสี่ยงต่อการเกิดไขมันพอกตับ ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง และไขมันอิ่มตัวที่อยู่ในนมสดและครีมเทียมข้นหวาน อาจส่งผลให้ระดับไขมัน LDL เพิ่มสูงขึ้นได้ ซึ่งไขมันในเลือดที่สูงนี้ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้”

มาต่อกันที่ เครื่องดื่มกาแฟส้ม

(ภาพ เจมส์ วิลสัน/Thai News Pix)

ส่วนประกอบของกาแฟส้ม มีเพียง 2 อย่างคือ

1. กาแฟ (Espresso) 1 shot หรือกาแฟผง 2 ช้อนชา ปริมาณ 100 มิลลิลิตร

2. น้ำส้ม 30% 150 มิลลิลิตร

โดยข้อมูลโภชนาการ กาแฟส้ม ให้พลังงาน 73 กิโลแคลอรี น้ำตาล 16 กรัม หรือ 4 ช้อนชา ส่วนไขมันเป็น 0 และมีคาเฟอีน (Caffeine) 63 มิลลิกรัม

ข้อควรระวังสำหรับเครื่องดื่มกาแฟส้ม ดร.วนะพร บอกว่า เป็นเรื่องน้ำตาลที่ได้จากน้ำผลไม้ ตามคำแนะนำปริมาณน้ำตาลที่ได้รับต่อวัน ไม่ควรเกิน 6 ช้อนชา

สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานหรือผู้ที่มีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ไม่ควรดื่ม กาแฟส้ม เกินวันละ 1 แก้ว เนื่องจากน้ำตาลจากน้ำหวานของน้ำส้มส่งผลให้ระดับน้ำตาลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน และผู้ที่มีไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง ปริมาณน้ำตาลที่มากเกินไป จะส่งผลให้มีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงได้ ดังนั้นไม่ควรดื่มเกินวันละ 1 แก้ว

ทั้งนี้เนื่องจากกาแฟจะส่งผลต่อการนอน ดังนั้นหากจะดื่มกาแฟส้ม ให้เว้นห่างจากเวลานอนอย่างน้อย 6 ชั่วโมง





Source link