Lady Parking มีเพื่ออะไร? กีดกันทางเพศจริงหรือ? – Lifestyle |
ผู้หญิงที่ขับรถคนเดียวแล้วต้องไปจอดรถในที่จอดที่ทั้งมืดและเปลี่ยว แน่นอนความคิดแรกที่พุ่งออกมาคือ “ฉันจะปลอดภัยมั้ย” ดังนั้นบางสถานที่จึงได้มีการสร้าง “Lady Parking” หรือที่จอดรถสำหรับผู้หญิงขึ้นมา แต่ก็มีประเด็นในเรื่องของความไม่เท่าเทียมกันทางเพศเข้ามาให้ได้ยินเรื่อยๆ แล้วคุณล่ะ…คิดยังไงกับเรื่องนี้?
Lady Parking มีเพื่ออะไร? กีดกันทางเพศจริงหรือ?
ประเด็นในเรื่องของเพศมีเข้ามาได้ทุกวัน ก่อนหน้านี้มีผู้ชายคนหนึ่งได้ถ่ายภาพเซลฟี่กับที่จอดรถสำหรับผู้หญิงในปั้มน้ำมันลงโซเชียล มีสีหน้าตั้งคำถามพร้อมกับเขียนแคปชั่นว่า “ไม่ได้ว่าอะไรนะ แต่ไหนคือที่จอดรถสำหรับผู้ชาย” จริงๆ แล้วในเรื่องนี้ก็ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้าง Sensitive ทีเดียว แต่เราต้องมาท้าวความก่อนว่าทำไมเราถึงต้องทำที่จอดรถสำหรับผู้หญิงขึ้นมา
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1990 มีประเด็นจากเรื่องของประเทศเยอรมันตะวันตกและเยอรมันตะวันออกรวมชาติกัน ประชากรในประเทศจึงเพิ่มมากขึ้น ความกังวลในเรื่องของอาชญากรรมและความปลอดภัยในสาธารณะก็เพิ่มมากขึ้นตามมา ดังนั้นจึงเกิดเป็นข้อถกเถียงกันเพื่อลดความไม่ปลอดภัยของประชาชน จึงได้เกิดแนวคิดเรื่องที่จอดรถสำหรับผู้หญิงขึ้นมา และสาเหตุก็มาจากจำนวนประชากรของเยอรมัน เป็นเพศหญิงจำนวน 41.2 ล้านคน ซึ่งมากกว่าเพศชายถึง 2.7 ล้านคน ดังนั้นผู้หญิงจึงกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของสังคมขณะนั้น
ไม่ใช่เหตุผลในเรื่องของจำนวนที่มากกว่าเท่านั้น จากการรายงานสถิติอาชญากรรมทั่วโลกในปี 1989 ระบุอย่างชัดเจนว่าผู้หญิงมักตกเป็นผู้เสียหายมากกว่าผู้ชาย ทั้งอาชญากรรมทางเพศ และอาชญากรรมเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่นการล้วงกระเป๋า ด้วยเหตุนี้ลานจอดรถที่มีแสงสว่างน้อยและเปลี่ยว จึงเป็นอีกหนึ่งจุดก่อเหตุสำคัญ ควรที่จะเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษโดยเฉพาะสุภาพสตรี และนอกจากนี้ยังมีการเคลื่อนไหวต่างๆ ของกลุ่มเฟมินิสต์ในโซนยุโรปในแง่ของสวัสดิการของเพศหญิง และนี่คือประเด็นสำคัญของการสนับสนุนให้เกิด Lady Parking อีกหนึ่งแรง
สำหรับประเทศไทยของเรา ที่จอดรถสำหรับผู้หญิงเริ่มมีมาเมื่อช่วงปี 2013 โดยเกิดเหตุการเขย่าขวัญจากกรณีที่มีผู้หญิงรายหนึ่งเดินเข้าที่จอดรถในห้างสรรพสินค้า โดยขณะที่เดินอยู่นั้นถูกชายคนร้ายใช้มีดจี้หวังจะชิงทรัพย์ แต่เธอเกิดขัดขืน ชายคนร้ายจึงแทงเธอเข้าที่ลำคอจึงเป็นเหตุให้เธอเสียชีวิต จากเหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความตื่นตระหนกให้กับสังคมไทยเป็นอย่างมาก ต่อมาไม่กี่สัปดาห์จึงมีการสร้างที่จอดรถสำหรับผู้หญิงขึ้นมา โดยจะมีเจ้าหน้าที่ รปภ. ที่เป็นผู้หญิงอยู่ประจำการในโซนดังกล่าว
ทีนี้เรามาว่ากันต่อในเรื่องของความเท่าเทียมกัน กรณีที่จอดรถสำหรับผู้หญิง มันคือการให้สิทธิพิเศษกับคนเฉพาะกลุ่ม…จริงหรือ? แน่นอนว่านี่คือการแก้ไขจากปลายเหตุ เพราะมันไม่ใช่ทางออกสำหรับแนวทางการป้องกันอาชญากรรมทางเพศที่ยั่งยืน แต่ตราบใดที่สังคมยังเต็มไปด้วยการล่วงละเมิดทางเพศ และกลุ่มบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อยังคงเป็นผู้หญิง การหาทางป้องกันกลุ่มเปราะบาง ย่อมเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลไม่ว่าการป้องกันนั้นจะมีส่วนช่วยเหลือได้มากหรือน้อยก็ตาม
อันที่จริงแทนที่เราจะตั้งคำถามว่าทำไมถึงมีสิทธิเฉพาะสำหรับผู้หญิง แต่ควรเปลี่ยนมาตั้งคำถามว่าทำไมผู้หญิงจำนวนมากจึงตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ? ทำไมเราถึงไม่สามารถสร้างความปลอดภัยให้ได้กับคนทุกเพศล่ะ? ซึ่งแน่นอนว่าในลานจอดรถรวมถึงสถานที่ต่างๆ ควรเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัยสำหรับทุกคน ควรมีแสงไฟที่เพียงพอ ไม่มีมุมอับหรือจุดบอดที่เสี่ยงต่อการก่ออาชญากรรม และมีการติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัย รวมถึงระบบขอความช่วยเหลือฉุกเฉินอย่างทั่วถึง
ซื้อขายรถมือสองออนไลน์ ต้องที่ ตลาดรถมือสอง One2car ซื้อรถง่าย ขายรถไว ทั้งรถเก๋งมือสอง รถตู้มือสอง รถกระบะมือสอง ราคาดี ฟรีดาวน์ ผ่อนถูก คุณภาพพร้อมใช้งาน
อัปเดตข่าวรถล่าสุด ดูรีวิวรถยนต์ รีวิวรถมอเตอร์ไซค์ ทุกยี่ห้อ โดยทีมงานมืออาชีพ เช็คราคา ตารางผ่อน พร้อมเกาะติดข่าวสารรถยนต์ไฟฟ้า EV ได้ที่ Autospinn.com